หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
วังน้อย
มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย อยุธยา
Mahachulalongkornrajavidyalaya University
  คุณคือผู้เข้าชมลำดับที่
๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๔๗๖๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๓๑๓๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐
 
 
 
Untitled Document
มหาวิทยาลัยนาลันทา
 
มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย จากนาลันทาถึงมหาจุฬาฯ โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย กรุงเทพมหานคร ๒๕๔๒ หน้า ๒๓ - ๒๔


: จากศรัทธาสู่อศรัทธา และ จากปัญญาวิมุตติสู่ปรัชญาวิเคราะห์

พัฒนาการของวัด(วิหาร)จากการที่เคยเป็นที่พักจำพรรษาของพระสงฆ์ กลายมาเป็นศูนย์การศึกษาทั่วไปและแหล่งเพาะบ่มทางวิชาการ ภาพเหตุการณ์อย่างนี้เริ่มปรากฏชัดเจนแล้วในยุคที่พระพุทธศาสนาแตกเป็น ๑๘ นิกาย(หรือ ๒๐ นิกายตามหลักฐานฝ่ายสันสกฤต) การศึกษา พระพุทธศาสนาในยุคดั้งเดิม เป็นการศึกษาด้วยศรัทธา โดยศรัทธา ตามศรัทธา และสร้างศรัทธาขึ้นเรื่อยๆ จนถึงขั้น อจลศรัทธา คือมีศรัทธาไม่หวั่นไหวในพระรัตนตรัย ในที่สุดตัดกิเลสได้ เรียกกระบวนการนี้ว่า เริ่มต้นด้วยศรัทธาแล้วจบลงด้วยความไม่มีศรัทธา (นั่นคือวิมุตติ) พระพุทธเจ้า ทรงแสดงธรรมจักรปวัตตนสูตรแก่พระปัญจวัคคีย์ เมื่อพระอัญญา- โกณฑัญญะได้ฟังธรรมแล้วดวงตาเห็นธรรม(บรรลุโสดาบัน) ข้อความในพระวินัยปิฎก บรรยาย เหตุการณ์ตอนนี้ว่า๓๑
ท่านพระอัญญาโกณฑัญญะได้เห็นธรรมแล้ว บรรลุธรรมแล้ว รู้แจ้งธรรมแล้ว หยั่งลงสู่ธรรมแล้ว ข้ามความสงสัยแล้ว ปราศจากความแคลงใจ ถึงความเป็นผู้แกล้วกล้า ไม่ต้องเชื่อผู้อื่น(อัสสัทธะ) ในคำสอน ของพระศาสดา...
คำว่า ไม่ต้องเชื่อผู้อื่น หมายความว่าอย่างไร ? หมายความว่า เมื่อบรรลุ อริยภูมิตั้งแต่ขั้นพระโสดาบันขึ้นไปแล้ว ไม่ต้องอาศัยผู้อื่นคอยแนะนำพร่ำสอน แต่จะรู้เองว่าอะไรควรอะไรไม่ควร การศึกษาพระพุทธศาสนาแบบดั้งเดิมเน้นพระไตรปิฎก เพื่อสร้างศรัทธาในความเป็นพระสงฆ์ จุดเปลี่ยนแห่งวัตถุประสงค์อยู่ที่ความแพร่ขยาย ของการศึกษาในแนวราบและแนวลึก


คำว่า แนวราบ หมายถึง ได้มีการขยายฐานการศึกษาออกไปตามที่ต่างๆ ที่มีวัด(วิหาร)ตั้งอยู่ พัฒนาวัดให้เป็นศูนย์การศึกษา และเป็นไปได้ว่ามีการขยายการศึกษาไปสู่กลุ่มเป้าหมายไม่ใช่เฉพาะ พระสงฆ์ในวัดเท่านั้น แต่ยังรวมถึงคฤหัสถ์และแม้กระทั่งคนที่นับถือลัทธิอื่นด้วย นอกจากนี้ สาขาที่ศึกษาได้ขยายครอบ คลุมวิชาการของพวกชาวบ้านและของลัทธิศาสนาอื่น
คำว่า แนวลึก หมายถึง ได้มีการเพิ่มขอบข่ายเนื้อหาวิชาที่ศึกษา จากเดิมที่ศึกษา เน้นเฉพาะพระพุทธพจน์ พระไตรปิฎก (canonical study) ได้มีการศึกษาเชิงวิเคราะห์วิจารณ์มากขึ้น มีการประมวลแนว คิดทฤษฎีของสำนักต่างๆ ที่เกิดขึ้นหลังพุทธปรินิพพานแล้วศึกษาวิเคราะห์ นอกจากนี้ ยังมีการตีความพระพุทธพจน์เชิงปรัชญา ทำให้เกิดสำนักพุทธปรัชญา จุดเปลี่ยนแห่งทฤษฎีที่สำคัญ เช่น แนวคิดเรื่อง พุทธภาวะ เรื่องโพธิสัตว์ เรื่องธรรมกาย๓๒ ปรัชญาและวัตถุประสงค์ของการจัดการศึกษาในยุคประมาณ พ.ศ. ๖๐๐ เป็นต้นไป คือ ศรัทธาสู่ปัญญา เสรีภาพและมวลชน
จากปรัชญาและวัตถุประสงค์ที่ว่า เสรีภาพและมวลชน นี่เอง ทำให้บรรยากาศการศึกษาพระพุทธศาสนาในยุคนี้น่าตื่นตาตื่นใจมาก และมีการขยายการศึกษาไปสู่โลกภายนอกอย่างไม่มีเขตจำกัด ผู้ศึกษามุ่งตอบสนองความอยากรู้ สร้างภูมิปัญญาเชิงปรัชญาเพื่อการอภิปรายโต้เถียงเป็นสำคัญ นิสิตจากนานาประเทศเข้ามาศึกษาพระพุทธศาสนา กลับไปเผยแผ่และประดิษฐานพระพุทธศาสนาในประเทศของตน เช่น กรณีของธอนมี สัมโภตะ ชาวทิเบตมีตำแหน่งเป็นที่ปรึกษาราชสำนัก มาศึกษาที่นาลันทา กลับไปประดิษฐานพระพุทธศาสนาในทิเบตและประกาศให้พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งรัฐ กระแสอิทธิพลที่หลั่งไหลจากมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาในอินเดีย ไปสู่โลกภายนอก ไม่เพียงทำให้มีการประกาศเผยแผ่ความรู้และให้ความสำคัญต่อหลักคำสอนของพระพุทธเจ้าเท่านั้น แต่ยังทำให้มีการเปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์เกี่ยวกับการศึกษาพระพุทธศาสนาอีกด้วย
กลับด้านบน
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕