หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
วังน้อย
มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย อยุธยา
Mahachulalongkornrajavidyalaya University
  คุณคือผู้เข้าชมลำดับที่
๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๔๗๖๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๓๑๓๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐
 
 
 
Untitled Document
มหาวิทยาลัยนาลันทา
 
มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย จากนาลันทาถึงมหาจุฬาฯ โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย กรุงเทพมหานคร ๒๕๔๒ หน้า ๑๐-๑๒


คำว่า นาลันทา วิเคราะห์เชิงนิรุกติศาสตร์ได้ ๕ นัย ดังนี้

นัยที่ ๑ โบราณาจารย์บอกว่านาลันทา เลือนมาจากประโยคว่า น อลม ทา แปลว่า ฉันจะไม่ให้ มีตำนานเสริมว่า สมัยหนึ่งพระโพธิสัตว์บำเพ็ญทานบารมี เป็นที่รู้จักกันดี จนไม่มีใครได้ยินคำว่า ฉันจะไม่ให้

นัยที่ ๒ นาลันทา มาจากคำ ๒ คำ คือ นาลัน แปลว่า ดอกบัว และ ทา แปลว่า ให้ หมายถึง ให้ดอกบัว มีตำนานเสริมว่า บริเวณนี้มีดอกบัวมาก แม้ปัจจุบันก็ยังมี ดอกบัวมากอยู่ จึงเป็นเหมือนสถานที่ให้ดอกบัว

นัยที่ ๓ นาลันทา เป็นชื่อพญานาคซึ่งอาศัยอยู่ในสระบัวใหญ่ ณ บริเวณมหาวิทยาลัยนาลันทาปัจจุบัน ตรงกับคตินิยมของชาวอินเดียในปัจจุบันที่บูชางู มีพิธีเรียกว่า นาคปัญจมี มีเมืองชื่อ นาคปุระ

นัยที่ ๔ นาลันทา ประกอบด้วยคำ ๓ คำ คือ น, อลัง, และ ทา แปลตามตัวอักษรว่า ให้ไม่พอ แต่ความหมายก็คือ ให้ไม่รู้จักพอ

นัยที่ ๕ สมณะอี้จิงบันทึกไว้ว่า นาลันทา แผลงมาจากคำว่า นาคนันทะ ซึ่งอาจตั้งชื่อตามชื่อพญานาคที่ยึดครองที่นั้น และต่อมา พญานาคนี้เป็นที่รู้จักกันดีว่า นาคแห่งนาลันทา หรือ นาลันทานาค ท่านธรรมสวามีชาวทิเบตซึ่งเดินทางมาเยี่ยมที่นี้เมื่อ พ.ศ.๑๗๗๗ บันทึกไว้ว่า คำว่า นาลันทา หมายถึง เจ้าแห่งมนุษย์ (Lord of men)*


ความหมายนัยที่ ๑ นัยที่ ๓ และนัยที่ ๔ สอดคล้องกับบันทึกของสมณะเฮี่ยนจั๋งที่ว่า ที่ได้ชื่อว่านาลันทา เพราะ

สมัยหนึ่ง พระโพธิสัตว์อาศัยอยู่ ณ ที่แห่งนี้ ให้ทานโดยไม่หยุดหย่อน นั่นคือ ให้ไม่รู้จักพอ และอีกนัยหนึ่งตั้งชื่อตามชื่อของนาค ซึ่งอาศัยอยู่ในสระกลางสวนมะม่วง

ความจริงก็คือว่า (๑) พระพุทธเจ้าสมัยเป็นพระโพธิสัตว์ เป็นกษัตริย์ครอง เมืองนี้ ให้ทานโดยไม่หยุด (charity without intermision) (๒) พญานาค ซึ่งอาศัยอยู่ในสระกลางสวนมะม่วง เป็นที่เคารพสักการะของประชาชน เมื่อได้มีการสร้างสังฆาราม (วิหาร-วัด) ด้านเหนือของสวนมะม่วงนี้ จึงตั้งชื่อว่า นาลันทา**

ความหมายนัยที่ ๔ ที่ว่า ให้ไม่รู้จักพอ อาจมองได้อีกมุมหนึ่งซึ่งสอดคล้องกับสถานภาพของนาลันทา ไม่ว่าจะอยู่ในยุค ไหน ความยิ่งใหญ่ของนาลันทามีอยู่ ๒ เรื่อง คือ (๑) การศึกษา (๒) การให้ทาน นาลันทาเป็นแหล่งสรรพวิทยาทาน โดยเฉพาะด้านพระพุทธศาสนา คนทั่วโลกหลั่งไหลมาหาความรู้ บางคนมีความสงสัยในบางเรื่องเป็นเวลาครึ่งค่อนชีวิต แต่เมื่อมาถึงนาลันทา สามารถกำจัดความสงสัยได้ คณาจารย์แห่งนาลันทาให้วิชาการอย่างไม่ปิดบัง คือให้ไม่รู้จักพอ และ ประเด็นต่อมา เพราะเป็นศูนย์การศึกษาพระพุทธศาสนานั่นเอง ทำให้พุทธศาสนิกชนหลั่งไหลมาให้ทาน การให้วัตถุสิ่งของ การให้ทุนการศึกษา ณ ที่นี้ไม่รู้จักพอเช่นเดียวกัน การให้ความอุปถัมภ์พระสงฆ์ผู้เดินทางมาศึกษา ณ ที่นี้จาก ๔ ทิศ เป็นภาพที่เห็นกันปกติที่ นาลันทา แม้ทูตพลวรมันและกษัตริย์พาลปุตรเทวะแห่งไศเลนทรวงศ์ในสุวรรณทวีป (สุวรรณภูมิ ?-ชวา-สุมาตรา) ซึ่งเป็นพระโอรสของมเหสีตารา พระธิดาของธรรมเสตุ ก็ยังมีส่วนร่วมอุปถัมภ์***
กลับด้านบน
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕