หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
วังน้อย
มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย อยุธยา
Mahachulalongkornrajavidyalaya University
  คุณคือผู้เข้าชมลำดับที่
๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๔๗๖๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๓๑๓๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐
 
 
 
Untitled Document
การศึกษาพระพุทธศาสนา
 
 

มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย จากนาลันทาถึงมหาจุฬาฯ โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย กรุงเทพมหานคร ๒๕๔๒


ระบบการศึกษา ในพระพุทธศาสนาดั้งเดิม

๑. ปรัชญา วัตถุประสงค์ และอุดมการณ์ : บทสะท้อนการศึกษาพระพุทธศาสนา
พระพุทธเจ้าขณะทรงพระเยาว์ ทรงได้รับการศึกษาเหมือนสามัญชน แต่ทรงมี พระปรีชาสามารถพิเศษเหนือคนอื่น จึงศึกษาศิลปศาสตร์ครบ ๑๘ ประการ และมีความเชี่ยวชาญเป็นพิเศษ เมื่อเสด็จออก มหาภิเนษกรมณ์(บวช) ทรงเริ่มการศึกษากับอาจารย์อาฬาระและอุททกะ ได้รับความรู้ ในระดับหนึ่ง แต่ยังไม่เป็นที่พอพระทัย เนื่องจากประสงค์มากยิ่งขึ้นไปกว่านั้น จึงออกแสวงหาสัจธรรมด้วยพระองค์เอง ทรงใช้วิธีการลองผิดลองถูกอยู่เป็นเวลานาน ในที่สุดทรงบรรลุวัตถุประสงค์ นับจากนั้นมา ทรงประกาศพระศาสนา ทรงวางรากฐานการศึกษาพระพุทธศาสนาโดยใช้เวลา ๔๕ ปี เมื่อทรงพิจารณาเห็นว่ามั่นคงดีแล้ว จึงเสด็จ ดับขันธปรินิพพาน การที่พระพุทธองค์ทรงเชื่อมั่นว่าพระพุทธศาสนามั่นคงดีแล้ว เพราะ ทรงเห็นว่า สิ่งที่เป็นแก่นเพื่อการธำรง ศาสน์ได้รับการจัดสรรไว้อย่างเป็นระบบ แล้วนั่นเอง
แก่นที่จะธำรงศาสน์มี ๓ อย่าง คือ
(๑) ปริยัติสัทธรรม คือ คำสั่งสอนที่จะต้องเล่าเรียน ได้แก่ พระพุทธพจน์
(๒) ปฏิบัติสัทธรรม คือ ปฏิปทาซึ่งจะต้องปฏิบัติ ได้แก่ มรรคมีองค์ ๘
(๓) ปฏิเวธสัทธรรม คือ ผลที่จะพึงบรรลุด้วยการปฏิบัติ ได้แก่ มรรค ผล นิพพาน
ใน ๓ อย่างนี้ ปริยัติสัทธรรมถือเป็นแก่นพื้นฐานที่จะธำรงศาสน์ เป็นเกณฑ์กำหนดว่าพระพุทธศาสนายังมั่นคงดีหรือไม่ เมื่อปริยัติยังอยู่ พระพุทธศาสนาชื่อว่ายังมั่นคงอยู่ ความจริง ข้อปฏิบัติทั้งหมดในพระพุทธศาสนา เรียกว่า สิกขา ซึ่งแปลว่า การศึกษา ชีวิตของพระภิกษุสามเณรจึงอยู่ด้วยการศึกษามาแต่ครั้งพุทธกาล วัดเป็นศูนย์การศึกษามาแต่ครั้งพุทธกาล เป็นการศึกษาของมวลชนอย่างแท้จริง เพราะเปิดโอกาสให้คนทุกระดับชั้นทุกเพศทุกวัย คำว่า วัด ซึ่งนิยมใช้อยู่ในปัจจุบัน ตรงกับคำว่า วิหาร ในสมัยพุทธกาล เช่น เวฬุวันวิหาร เชตวันวิหาร
ประวัติศาสตร์การศึกษาพระพุทธศาสนา (Buddhist Education) นับเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์เกี่ยวกับลัทธิการ สร้างวัด การศึกษาทั้งหมดอยู่ในความดูแลของพระสงฆ์ ซึ่งได้รับความเคารพสูงส่งเป็น ปูชนียบุคคลตั้งแต่ต้น กิจกรรมการศึกษาของพระสงฆ์ มีพื้นฐานอยู่บนคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ที่จะให้พระสงฆ์จาริก ออกไปในโลกภายนอก เพื่อแสดงธรรมแก่ชาวโลก๓ ปรัชญา วัตถุประสงค์ อุดมการณ์ ด้านการศึกษาพระพุทธศาสนา เห็นได้จากพระพุทธดำรัสในคราวส่งพระอรหันต์ ๖๐ รูป ไปประกาศศาสนาว่า๔
ภิกษุทั้งหลาย เราพ้นแล้วจากบ่วงทั้งปวง ทั้งที่เป็นทิพย์ ทั้งที่เป็นของมนุษย์ แม้พวกเธอก็พ้นแล้วจากบ่วงทั้งปวง ทั้งที่เป็นทิพย์ ทั้งที่เป็นของมนุษย์ ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงจาริกไป เพื่อประโยชน์สุขแก่ชนจำนวนมาก เพื่ออนุเคราะห์ชาวโลก เพื่อประโยชน์เกื้อกูลและความสุขแก่ทวยเทพและมนุษย์...
จากพระพุทธดำรัสนี้ ทำให้วิถีชีวิต ของพระสงฆ์ต้องเที่ยวจาริกไปเพื่อสั่งสอนประชาชน ตลอดเวลา ก่อนที่จะมีการสร้างวัดเป็นที่อยู่อาศัย พระสงฆ์ผู้ทำหน้าที่สั่งสอน อาศัยอยู่ตามโคนไม้บ้าง กลางแจ้งบ้าง เมื่อมี การสร้างวัดถวายเป็นที่พักแก่พระสงฆ์อย่าง แพร่หลาย การศึกษาพระพุทธศาสนายิ่งเจริญรุ่งเรืองมากขึ้น ข้อความในพระไตรปิฎก ขุททกนิกาย นิทเทสและปฏิสัมภิทามรรค เป็นเครื่องยืนยันถึงความเจริญรุ่งเรืองแห่งการวิพากษ์วิจารณ์เชิงพุทธิปัญญา ลัทธิเชิง วิชาการ และสถานะของวัดเชิงวิชาการ๕
กฎแห่งการศึกษาพระพุทธศาสนา คือส่วนหนึ่งของวินัยของพระสงฆ์ ซึ่งกฎเหล่านี้บัญญัติขึ้น เพื่อมหาชนมากกว่า ที่จะเป็นกฎของพระในวัด เห็นได้จากพิธี บรรพชาอุปสมบทเป็นพระสงฆ์เหมือนกันกับพิธีเข้าสู่ศาสนาพราหมณ์(initiation) นั่นเอง๖

๒. บรรพชาและอุปสมบท : กรอบในการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างครูกับศิษย์

การศึกษาพระพุทธศาสนาเริ่มต้น เมื่อพระพุทธเจ้าทรงอุปสมบทให้อัญญา โกณฑัญญะ ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แขวงเมืองพาราณสี พระองค์ตรัสว่า จงเป็น ภิกษุมาเถิด ธรรมอันเรากล่าวดีแล้ว จงประพฤติพรหมจรรย์เพื่อทำที่สุดทุกข์โดย ชอบเถิด๗
สังคมแห่งสังฆะเริ่มต้นโดยการรวม กัน(union) ของครูกับศิษย์ และความสัมพันธ์นี้เป็นไปอย่างใกล้ชิดตลอดระยะ ๕ ปีแรกแห่งการบวช ศิษย์ต้องถือ นิสสัย
ส่วนกระบวนการศึกษาในพระพุทธศาสนา เริ่มต้นเมื่อพระพุทธเจ้าทรงอนุญาต ให้พระภิกษุบรรพชาอุปสมบทกุลบุตรได้ โดยวิธีการเปล่งวาจาถึงพระรัตนตรัย (ติสรณคมนูปสัมปทา) ทรงกำหนดให้ผู้ที่เข้ามาบวชต้องมีครูซึ่งเรียกว่า อุปัชฌาย์ หน้า ที่ของอุปัชฌาย์เรียกว่า สัทธิวิหาริกวัตร ส่วนศิษย์ซึ่งเรียกว่า สัทธิวิหาริก มี หน้าที่ซึ่งต้องปฏิบัติต่ออุปัชฌาย์เรียกว่า อุปัชฌายวัตร ต่อมา เมื่อทรงอนุญาตให้สงฆ์อุปสมบทกุลบุตรได้ด้วยพิธีที่เรียกว่า ญัตติจตุตถกรรมอุปสัมปทา มีกระบวนการซับซ้อนยิ่งขึ้น ทรงกำหนดหน้าที่ของอาจารย์ซึ่งต้องปฏิบัติต่อศิษย์ เรียกว่า อันเตวาสิกวัตร และทรงกำหนดหน้าที่ ซึ่งศิษย์ต้องปฏิบัติต่ออาจารย์ เรียกว่า อาจรยวัตร นอกจากนี้ หน้าที่ระหว่างครูกับศิษย์นี้ ถือเป็นวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามต่อกัน๘ ความสัมพันธ์ระหว่างครูกับศิษย์อยู่ในฐานะเหมือนบิดากับบุตร ดังพระพุทธดำรัสว่า
ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตอุปัชฌาย์ อุปัชฌาย์จักเข้าไปตั้งจิตสนิทสนมในสัทธิวิหาริกฉันบุตร สัทธิวิหาริกจักเข้าไปตั้งจิตสนินสนมในอุปัชฌาย์ฉันบิดา เมื่อเป็นเช่นนี้ อุปัชฌาย์และสัทธิวิหาริกจักมีความเคารพ ยำเกรงประพฤติกลมเกลียวกัน จักถึงความเจริญงอกงามไพบูลย์ ในธรรมวินัยนี้

๓. หลักสูตร วัตถุประสงค์ และการเรียนการสอน

การศึกษาในพระพุทธศาสนาดั้งเดิมแบ่งเป็น ๒ ฝ่าย คือ (๑)คันถธุระ การศึกษาพระไตรปิฎก (๒)วิปัสสนาธุระ การฝึกหัดขัดเกลาจิตโดยพิจารณานามรูป แต่ส่วนที่เป็นหลักสูตรจริงๆ เน้นอยู่ ๓ เรื่อง คือ
๓.๑ สีลสิกขา ศึกษาเรื่องศีล
๓.๒ สมาธิสิกขา ศึกษาเรื่องสมาธิ
๓.๓ ปัญญาสิกขา ศึกษาเรื่องปัญญา
คำว่า ภิกษุ มีความหมาย ๑๒ นัย ซึ่ง ๑ ใน ๑๒ นัยนั้น คือ เสโขติ ภิกฺขุ แปลว่า ผู้ยังต้องศึกษา พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตฺโต) กล่าวว่า*
ข้อปฏิบัติทั้งหมดในพระพุทธ-ศาสนาเรียกว่า สิกขา แปลว่า การศึกษา ฉะนั้น ชีวิตของพระจึงอยู่ด้วยการศึกษา เมื่อพระบวชเข้ามาแล้ว พระอุปัชฌาย์ก็บอกว่า สีลํ สมฺม- ทกฺขาตํ, สมาธิ สมฺมทกฺขาโต, ปฺา สมฺมทกฺขาตา แล้วก็จะสรุปให้ทราบว่า พระจะต้องตั้งใจศึกษาตามสิกขา ๓ ประการนี้ คือ สกฺกจฺจํ อธิสีลสิกฺขา สิกฺขิตพฺพา, อธิจิตฺตสิกฺขา สิกฺขิตพฺพา, อธิปญฺาสิกขา สิกฺขิตพฺพา นี่คือชีวิตของพระ...
วัตถุประสงค์ของหลักสูตร คือ เพื่อให้ผู้ศึกษาบรรลุนิพพาน ภาวะบริสุทธิ์แห่งจิตซึ่งเป็นจุดหมายสูงสุด ประเด็นนี้เห็นได้จากการแบ่งบุคคลผู้เข้ามาสู่พระพุทธ-ศาสนาเป็น ๒ กลุ่ม คือ (๑) ผู้มีภารกิจยังต้องศึกษาเรียกว่า เสขะ (๒) ผู้สำเร็จการศึกษาแล้วเรียกว่า อเสขะ
ทั้งเสขะและอเสขะล้วนเป็นพระอริย-บุคคล มีภูมิธรรมสูงส่ง เสขบุคคลซึ่งมีถึง ๗ ระดับนั้น ระดับสูงสุดกำจัดกิเลสได้ ๕ ส่วน คือ ความเห็นว่าเป็นตัวของตน (สักกายทิฏฐิ) ความลังเลสงสัย(วิจิกิจฉา) ความถือมั่นศีลพรต(สีลัพพตปรามาส) ความกำหนัดในกาม(กามราคะ) และความหงุดหงิดขัดเคือง(ปฏิฆะ) ส่วนอเสขบุคคลกำจัดกิเลสได้ทั้งหมด โดยกำจัด ๕ ส่วนข้างต้นและกำจัดเพิ่มได้อีก ๕ ส่วน คือ ความติดใจในรูปฌาน(รูปราคะ) ความติดใจในอรูปฌาน(อรูปราคะ) สำคัญตนว่าเป็นนั่นเป็นนี่(มานะ) ฟุ้งซ่าน(อุทธัจจะ) และความไม่รู้(อวิชชา)
เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาฝ่ายคันถธุระหรือวิปัสสนาธุระ มีจุดประสงค์สูงสุดเพียงหนึ่งเดียวคือบรรลุนิพพาน ภาวะบริสุทธิ์แห่งจิต ประเด็นที่น่าพิจารณา คือ การศึกษาพระพุทธศาสนาดั้งเดิมไม่ได้ขึ้นอยู่กับข้อเขียนตำรา แต่เน้นความทรงจำ ถ่ายทอดกันปากต่อปาก (มุขปาฐะ) ในวัดหนึ่งจะต้องมีภิกษุอย่างน้อยหนึ่งรูปทรงจำพระปาติโมกข์ได้
รูปแบบการเรียนการสอน เน้นการโต้วาทีและอภิปราย โดยเฉพาะเมื่อสอนคนที่นับถือลัทธิอื่นอยู่ก่อนแล้ว มีอาจารย์ประจำ คือ อุปัชฌาย์และอาจารย์ และอาจารย์พิเศษซึ่งหมายถึงผู้เชี่ยวชาญ พิเศษเฉพาะเรื่อง เช่น พระอุบาลีเชี่ยวชาญในพระวินัย พระอานนท์เชี่ยวชาญในพระสูตร พระสารีบุตรเชี่ยวชาญในเรื่องปัญญา พระโมคคัลลานะเชี่ยวชาญในเรื่องฤทธิ์ พระ อนุรุทธะเชี่ยวชาญในเรื่อง ฌาน ท่านเหล่านี้ จะบรรยายพิเศษในบางโอกาส*

๔. การศึกษาสำหรับสตรีและคฤหัสถ์
ปรัชญาชีวิตตามหลักพระพุทธศาสนา ทำให้สตรีถูกกำหนดบทบาทให้อยู่ในฐานะเป็นผู้ให้ความอุปถัมภ์มากกว่าที่จะเข้ามาเป็นนักบวช วิถีชีวิตของสมณะต้องจาริกไปในโลกกว้าง ต้องอดทนต่อความลำบาก ต้องต่อสู้กับสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้ออำนวย ข้อนี้น่าจะเป็นเหตุผลหนึ่งที่พระพุทธเจ้าไม่ทรงบวชให้สตรีในยุคแรก
เหตุผลข้อต่อมา น่าจะเป็นเพราะพระพุทธองค์ไม่ประสงค์จะให้ภิกษุใกล้ชิดกับสตรีมากเกินไป ภิกษุสงฆ์กับภิกษุณี สงฆ์ แม้โดยหลักการแล้วจะพำนักอยู่แยกกันเป็นสัดส่วน แต่มีกิจกรรมหลายอย่างที่ต้องติดต่อสัมพันธ์กัน มีบทบัญญัติแห่งพระวินัยหลายข้อที่สะท้อนพุทธประสงค์ นี้ เช่น ภิกษุพูดเกี้ยวหญิง ต้องอาบัติสังฆาทิเสส ภิกษุจับต้องกายหญิง ต้องอาบัติสังฆาทิเสส ภิกษุนอนในที่มุงที่บังเดียวกันกับสตรีแม้คืนแรก ต้องอาบัติ ปาจิตตีย์ เป็นต้น
พระพุทธเจ้าไม่ได้ให้เหตุผลอะไรในการตรัสห้ามพระนางมหาปชาบดีออกบวช พระองค์เพียงแต่ตรัสว่า อย่าเลย โคตมี เธออย่าชอบใจการที่มาตุคาม(สตรี)ได้ ออกจากเรือน บวชเป็นบรรพชิตในธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศไว้เลย เหตุผลที่พระพุทธเจ้าไม่ประสงค์จะให้สตรีบวชเป็นภิกษุณี เห็นได้ชัดเจนที่สุดคือเหตุผลทางกายภาพ
อานนท์ ธรรมวินัยที่มีมาตุคาม ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต จะไม่ตั้งอยู่ได้นาน เปรียบเหมือนตระกูลหนึ่งที่มีสตรีมาก มีบุรุษน้อยจะถูกโจรปล้นทรัพย์ทำร้ายได้ง่าย*
อย่างไรก็ตาม ในที่สุด พระพุทธเจ้าก็ทรงอนุญาตให้สตรีเข้ามาบวชเป็นภิกษุณี ได้ เพราะทรงตระหนักถึงความจริงและทรงเห็นด้วยกับคำกราบทูลถามของพระอานนท์ ที่ว่า มาตุคาม(สตรี)ออกจากเรือนบวช เป็นบรรพชิตในพระธรรมวินัยที่ตถาคต ประกาศไว้ จะสามารถทำให้แจ้งโสดาปัตติผล สกทาคามิผล อนาคามิผล หรืออรหัตตผลได้หรือไม่ พระพุทธองค์ตรัสตอบว่า สามารถบรรลุได้** จะเห็นว่าเหตุผลทางกายภาพดังกล่าวไม่ใช่ประเด็นสำคัญที่สุด แต่เป็นประเด็นรองที่ผ่อนผันได้ สตรีจึงมีโอกาสได้รับการศึกษาพระพุทธศาสนาเหมือนกับบุรุษ ทั้งผู้ที่เข้ามาบวชเป็นภิกษุณีและผู้ดำเนินชีวิตคฤหัสถ์ทั่วไป ประเด็นที่แสดงว่าพุทธบริษัทและศาสนิกของศาสนาอื่น มีโอกาสได้รับการศึกษาจากพระสงฆ์เหมือนกัน คือพระพุทธดำรัสว่า พวกเธอจงเที่ยวไปเพื่อประโยชน์สุขแก่ชนจำนวนมาก เพื่ออนุเคราะห์ชาวโลก...
กลับด้านบน
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕