วิทยานิพนธ์นี้ มีวัตถุประสงค์ ๓ ข้อ ดังนี้ คือ ๑) เพื่อศึกษาแนวคิดเรื่อง สุญญตาของนาคารชุน ๒) เพื่อศึกษาแนวคิดเรื่องสุญญตาของพุทธทาสภิกขุ ๓) เปรียบเทียบแนวคิดเรื่องสุญญตาของนาคารชุนกับสุญญตาของพุทธทาสภิกขุ
ผลการวิจัยพบว่า
สุญญตาของนาคารชุน คือ สภาพการรับรู้ ความมีก็ไม่ใช่ ความไม่มีก็ไม่ใช่ ไม่ใช่ความมีก็ไม่ใช่ ไม่ใช่ความไม่มีก็ไม่ใช่ ทั้ง ๔ สภาวะสุดขั้วนี้มิใช่สุญญตา สภาพการรับรู้ตรงกลางนั้นคือ สุญญตา หรือจะกล่าวว่า ในโลกแห่งสมมตินี้ การรับรู้สภาพที่สรรพสิ่งเป็นมายา เป็นความว่าง นี่คือ สุญญตา ในโลกปรมัตถ์ของพุทธะ สรรพสิ่งอิงอาศัยกันและกันให้มีขึ้น เกิดขึ้น ดังเช่น อริยสัจ, ทางสายกลาง, ปรตีตยสมุทปาท ทั้งมวลนี้คือ สุญญตา นอกจากนี้นาคารชุนถือว่า สรรพสิ่งไร้รูปแบบที่แท้จริง สังขตธรรมเป็นดังความฝัน เป็นภาพมายา ควรละทิ้งทั้งกุศลธรรมและอกุศลธรรม เมื่อว่าโดยปรมัตถ์แล้ว ไม่มีอะไรที่เป็นสารัตถะแท้จริง แม้แต่ธรรมเป็นเพียงอุปกรณ์ คือ แพข้ามสังสารวัฏไปสู่พระนิพพานเท่านั้น
พุทธทาสภิกขุกล่าวถึงสุญญตาว่าเป็นแก่นของพระพุทธศาสนาที่พระพุทธองค์ทรงสอนให้มนุษย์ได้รู้จักและเข้าใจความจริงของชีวิตว่า ขันธ์ ๕ มีลักษณะเป็นไตรลักษณ์ และที่สุดเป็นมายา ไร้ตัวตน ไม่ควรที่จะยึดมั่น ถือมั่น จนเกิดอัตตา ยึดมั่นว่าเป็นตัวกู ของกู ตลอดเวลา
เมื่อเปรียบเทียบสุญญตาของนาคารชุนกับพุทธทาสภิกขุได้พบว่า มีทั้งความเหมือนและความแตกต่างกัน คือ
- ความเหมือนกันของเนื้อหาในเรื่องสุญญตาของนาคารชุนกับสุญญตาของพุทธทาสภิกขุ ได้แก่ มีความหมาย ลักษณะ ความเป็นขันธ์และหลักปฏิจจสมุปบาทแห่งสุญญตาที่เหมือนกัน
- ความแตกต่างกันของสุญญตาของนาคารชุนกับสุญญตาของพุทธทาสภิกขุ ได้แก่ เรื่องการเข้าถึงหลักสุญญตา โดยนาคารชุนเข้าถึงหลักสุญญตาโดยใช้การบำเพ็ญบารมีตามแบบพระโพธิสัตวธรรม ส่วนพุทธทาสภิกขุเข้าถึงหลักสุญญตาโดยการพิจารณา เรื่องพระนิพพาน นาคารชุนกล่าวว่าพระนิพพานเป็นภาวะทางปัญญาหรือระดับการเข้าใจอย่างแจ่มแจ้ง ถึงความเป็นไปตามธรรมชาติของสิ่งทั้งหลายในโลก ส่วน พุทธทาสภิกขุกล่าวว่า นิพพาน คือ ความว่างจากความทุกข์ ว่างจากกิเลสที่เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ คือว่างจากตัวกูของกู
Download |