การศึกษาครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อ ๑) เพื่อศึกษาคติความเชื่อและความเป็นมาการสร้างพระเครื่อง ๒) เพื่อศึกษาอิทธิพลของพระเครื่องยอดขุนพลเมืองพะเยา และ๓) เพื่อศึกษาคุณค่าของพระเครื่องยอดขุนพล จังหวัดพะเยา มีวิธีวิจัยเชิงคุณภาพโดยเน้นเอกสารและการสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญด้านพระยอดขุนพลเมืองพะเยา จำนวน ๖ ท่านการวิจัยผลการศึกษาวิจัย ดังนี้
ผลการศึกษา พบว่า การสร้างพระเครื่องมีเหตุมาจากความศรัทธาของชาวพุทธที่ต้องการเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ หลักฐานทางโบราณคดีมีการค้นพบพระพุทธรูปในประเทศไทยสมัยอมราวดี (ศิลปะอินเดีย ช่วงพุทธศตวรรษที่ ๗-๙) เมื่อมีการคิดสร้างพระพุทธรูปขึ้นมาแล้ว การสร้างพระเครื่องต่างๆ ก็เริ่มมีการถูกสร้างตามมา พระเครื่อง เป็นพระพุทธรูปขนาดเล็กที่สามารถพกพาติดตัวได้ โดยการผ่านการทำพิธีปลุกเสกลงอักขระเลขยันต์คาถาต่างๆ โดยมีคติความเชื่อเกี่ยวกับการสร้างพระเครื่อง ประกอบด้วย สร้างขึ้นเป็นที่ระลึกในการสักการะสถานที่สำคัญทางพระพุทธศาสนา สร้างขึ้นเพื่อสืบอายุพระศาสนา สร้างขึ้นเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้ผู้ตาย และสร้างขึ้นในฐานะรูปเคารพบูชาหรือเป็นภาพเล่าเรื่อง
พระยอดขุนพลเมืองพะเยา เชื่อกันว่ามีอิทธิพลในฐานะเครื่องรางของขลัง เพราะเป็นพระเครื่องที่สามารถห้อยคอหรือพกติดตัวได้ ส่งผลให้มีพุทธคุณด้านเสริมบารมี มหาอำนาจ คงกระพัน และความอุดมสมบูรณ์ ในฐานะเป็นวัตถุบูชา โดยมีปัจจัยเชื่อมโยงคือ มีความเป็นพุทธศิลป์ อายุการสร้างห้าร้อยกว่าปี ขนาดไม่ใหญ่เกินไปสามารถใช้แขวนคอได้สะดวก มีการปลุกเสกพร้อมพระเจ้าตนหลวง มวลสารเป็นเนื้อดิน เนื้อสัมฤทธิ์ และเนื้อซินตะกั่ว และมีพุทธคุณ และในฐานะเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ พระยอดขุนพลมีพุทธคุณทางคงกระพันชาตรี พิชิตอันตราย พิชิตภัย เสริมสร้างบารมีแก่ผู้บูชา
คุณค่าของพระเครื่องยอดขุนพล จังหวัดพะเยา พระยอดขุนพล ให้ความรู้สึกในการมีที่พึ่งทางจิตใจหรือเป็นที่ยึดเหนี่ยวทางขิตใจตระหนักรู้ถึงคุณค่าในจิตใจของผู้ครอบครอง คุณค่าด้านศาสนา พระเครื่องยอดขุนพลเปรียบเสมือนเครื่องเตือนใจให้คนทำความดี คุณค่าทางพุทธศิลป์ พระยอดขุนพลส่วนมากเป็นปางมารวิชัย และปางสมาธิ รูประฆังคว่ำ มีความงดงาม อ่อนซ้อย และมีคุณค่าทางเศรษฐกิจ โดยพระยอดขุนพลเมืองพะเยา มีการวางให้เช่าบูชาในจังหวัดพะเยา และในล้านนา มีราคาระหว่าง ๑๕,๐๐๐-๖๐,๐๐๐ บาท
Download
|