งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ ๑) เพื่อศึกษาความเชื่อและพิธีกรรมในพระพุทธศาสนา ๒) เพื่อศึกษาความเชื่อและพิธีกรรมต่อประเพณีงานบุญบั้งไฟของชุมชนบ้านธาตุ ตำบลบ้านธาตุ อำเภอเพ็ญ จังหวัดอุดรธานี ๓) เพื่อศึกษาคุณค่าของประเพณีงานบุญบั้งไฟที่มีต่อวิถีชีวิตของชุมชนบ้านธาตุ ตำบลบ้านธาตุ อำเภอเพ็ญ จังหวัดอุดรธานี
ดำเนินการวิจัยโดยวิธีการเลือกแบบเจาะจง (Purposive Sampling) โดยการสัมภาษณ์เชิงลึก (IN-depth Interview) ผู้ให้ข้อมูลสำคัญ (key Informants) ซึ่งประกอบด้วย พระสงฆ์ ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำชุมชน และประชาชนตำบลบ้านธาตุ อำเภอเพ็ญ จังหวัดอุดรธานี จำนวน ๒๕ รูป/คน เพื่อให้ได้ข้อมูลเชิงประจักษ์ ตามระเบียบวิธีการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research)
ผลจากการวิจัยพบว่า แนวคิดเกี่ยวกับความเชื่อและพิธีกรรมในพระพุทธศาสนา ชาวพุทธส่วนใหญ่ ยังคงมีความเชื่อในเรื่องพิธีกรรมต่าง ๆ และสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ หรือวัดวาอาราม รวมถึงวัตถุมงคลที่มีความเชื่อว่าจะเป็นสิ่งที่ทำให้มีกำลังใจ จะทำให้เกิดสิริมงคลแก่ชีวิต และผลที่เกิดจากการปฏิบัติย่อมมีแก่ผู้ปฏิบัติเอง ความเชื่อและพิธีกรรมต่อประเพณีงานบุญบั้งไฟของชุมชนบ้านธาตุ ตำบลบ้านธาตุ อำเภอเพ็ญ จังหวัดอุดรธานี เกิดจากความเชื่อและพิธีกรรมที่มีต่อประเพณีบุญบั้งไฟ เพื่อบูชาองค์พระศรีมหาธาตุ และบูชาปู่ม้าคำไหล มีการบนบานศาลกล่าว เพื่อให้ชีวิตของชุมชน มีความสุขความเจริญในหน้าที่การงาน ความสงบสุขของครอบครัว เมื่อประสบความสำเร็จก็จะจุด บั้งไฟเพื่อเป็นการถวายแด่องค์พระศรีมหาธาตุ หรือบางกลุ่มก็มีความเชื่อว่า เพื่อบูชาพระยาแถน เพื่อให้ฟ้าฝนตกตามฤดูกาลในชุมชนนั้น ๆ ทำให้เกิดคุณค่าของประเพณีงานบุญบั้งไฟที่มีต่อวิถีชีวิตของชุมชนบ้านธาตุ ตำบลบ้านธาตุ อำเภอเพ็ญ จังหวัดอุดรธานี ทั้ง ๕ ด้าน คือ ๑) ด้านจิตใจ คุณค่าทางด้านจิตใจของชุมชนบ้านธาตุ มีความเชื่อและศรัทธาว่าการจุดบั้งไฟเพื่อบูชาในสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ปกปักรักษาบริเวณชุมชนนั้นๆ เพื่อความสบายใจ เพื่อความสุขความเจริญของตนเองและครอบครัว ไม่เกิดภัยพิบัติหรือความเจ็บไข้ได้ป่วยในชุมชนนั้น ๒) ด้านเศรษฐกิจ งานบุญบั้งไฟในปัจจุบันเป็นเทศกาลประจำปีที่ได้รับการสนับสนุนส่งเสริมจากทางราชการ เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวจากที่ต่างๆ ให้มาเที่ยวชมงานขบวนแห่บั้งไฟ และยังเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เข้ามาในชุมชน เพื่อเป็นการสร้างรายได้ให้กับชุมชนได้เป็นอย่างดี ๓) ด้านสังคม ถ้าหากประชาชนคนใด ไม่ปฏิบัติตามกรอบประเพณี จะไม่เป็นที่ยอมรับของคนในชุมชนเป็นการอนุรักษ์รักษาไว้ ซึ่งขนบธรรมเนียมประเพณี บุคคลนั้นก็จะถูกมองในแง่ที่ไม่ค่อยดีเท่าที่ควรอาจจะกลายเป็นคนที่ถูกมองว่าเป็นคนที่ผิดทำนองคลองธรรมก็เป็นได้ ๔) ด้านการเมืองการปกครองท้องถิ่น การปฏิบัติตนของคนในหมู่บ้านที่มาร่วมงานและประชาชนทั่วไปที่เข้ามาเที่ยวชมมีความเป็นระเบียบเรียบร้อย จึงมีความมั่นใจในความปลอดภัยและเก็บเกี่ยวความสนุกและความประทับใจจากการเที่ยวงานบุญบั้งไฟได้อย่างเต็มที่ ๕) ด้านการสืบทอดประเพณี และวัฒนธรรม งานบุญบั้งไฟมีอิทธิพลคือ ทำให้ชาวบ้านธาตุเป็นคนสนุกสนาน ชอบทำบุญสุนทาน สะท้อนวัฒนธรรมและความเชื่อของชาวอีสานว่า ยังเคารพบูชาศรัทธาในสิ่งที่บอกต่อ ๆ กันมาจากรุ่นสู่รุ่นจนกลายเป็นประเพณี
ประเพณีบุญบั้งไฟที่มีมาแต่บรรพบุรุษให้ลูกหลานได้อนุรักษ์ไว้ เป็นภูมิปัญญาหรือ กุศโลบายของบรรพบุรุษหรือผู้นำชุมชนในสมัยโบราณที่ทำให้เกิดการร่วมแรงร่วมใจเกิดความสามัคคีอีกทั้งทำให้ลูกหลานได้เข้าวัดทำบุญนับว่า บรรพบุรุษหรือผู้นำชุมชนมีความคิดที่หลักแหลมสามารถดึงลูกหลานให้ทำความดีประกอบกับการทำกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกันได้เป็นอย่างดี
Download |