วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ คือ (๑) เพื่อศึกษาหลักพุทธจริยธรรมที่ปรากฏในพระพุทธศาสนานิกายเถรวาท (๒) เพื่อศึกษาความเป็นมาของเพลงพื้นบ้านจังหวัดนครสวรรค์และ (๓) เพื่อวิเคราะห์หลักพุทธจริยธรรมที่ปรากฏในเพลงพื้นบ้านจังหวัดนครสวรรค์งานวิจัยนี้เป็นงานวิจัยเชิงเอกสาร (Documentary research) โดยศึกษาข้อมูลทางการค้นคว้าหนังสือและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องและนำมาวิเคราะห์เป็นเชิงพรรณนา
ผลการวิจัยพบว่า
๑) หลักพุทธจริยธรรมที่ปรากฏในพระพุทธศาสนานิกายเถรวาท แบ่งออกเป็น ๓ ประเภท คือ (๑) จริยธรรมระดับต้น ได้แก่ ศีล ๕, ธรรมคุ้มครองโลก ๒, พรหมวิหาร๔ อิทธิบาท ๔, ทิศ ๖ และมงคล ๓๘ ประการ (๒) จริยธรรมระดับกลาง ได้แก่ กุศลกรรมบถ ๑๐ (๓) จริยธรรมระดับสูงได้แก่ มรรคมีองค์ ๘
๒) เพลงพื้นบ้านจังหวัดนครสวรรค์ เป็นมรดกทางวัฒนธรรมของท้องถิ่นที่สะท้อนถึงวิถีชีวิตของชุมชนในอดีตซึ่งสืบเนื่องมาจากที่จังหวัดนครสวรรค์มีภูมิศาสตร์ ที่เหมาะสมกับการทำเกษตรกรรม เพราะมีแม่น้ำสายหลัก คือ แม่น้ำเจ้าพระยาไหลผ่านประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม วิถีชีวิตของชุมชนเป็นไปอย่างเรียบง่ายมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกัน เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ และสมัครสมานสามัคคี เมื่อมีงานหรือกิจกรรมต่างๆ ก็จะช่วยกันทำกิจกรรมนั้นจนสำเร็จ และเมื่อถึงฤดูการทำนาชาวบ้านก็จะรวมกลุ่มกันเพื่อช่วยกันทำนาและในระหว่างการทำนาก็จะผ่อนคลายความเหน็ดเหนื่อยด้วยการเปล่งเสียงร้องพร้อมๆ กัน เพื่อให้เกิดความพร้อมเพรียงและจังหวะในการทำงาน ต่อมาจึงเกิดเป็นเพลงขึ้น ซึ่งมีทั้งการร้องร่วมกันและร้องโต้ตอบกัน ซึ่งเพลงพื้นบ้านจังหวัดนครสวรรค์แบ่งออกเป็น ๓ ประเภท คือ เพลงรำวง, เพลงปฏิพากย์ และเพลงประกอบการละเล่นเบ็ดเตล็ด
๓) หลักพุทธจริยธรรมในพระพุทธศาสนานิกายเถรวาทที่สอดแทรกไว้ในเพลงพื้นบ้านจังหวัดนครสวรรค์ ทั้ง ๓ ประเภท คือ เพลงรำวง, เพลงปฏิพากย์ และเพลงประกอบการละเล่นเบ็ดเตล็ด ส่วนใหญ่สอดแทรกหลักพุทธจริยธรรมระดับต้น คือ ศีล ๕ ธรรมคุ้มครองโลก ๒, พรหมวิหาร ๔, อิทธิบาท ๔, ทิศ ๖ และมงคล ๓๘ ประการ เนื่องจาก หลักพุทธจริยธรรมระดับต้น เป็นหลักจริยธรรมพื้นฐานซึ่งเป็นข้อปฏิบัติของชาวพุทธที่ทำให้ทุกคนในสังคมอยู่ร่วมกันได้โดยปกติสุข.
|