ความพยายามที่จะให้มี การตราพระราชบัญญัติเกี่ยวกับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยปรากฏขึ้นเป็นครั้งแรก
ใน พ.ศ. ๒๕๐๐ เมื่อรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ยกร่าง
พระราชบัญญัติรับรองวิทยฐานะปริญญา ของมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
เพื่อเสนอต่อสภาพผู้แทนราษฎร แต่รัฐบาลของจอมพล ป. พิบูลสงคราม
สิ้นสุดลงเพราะถูกยึดอำนาจการปกครอง ร่างพระราชบัญญัตินี้จึงตกไป
ต่อมาใน พ.ศ. ๒๕๐๙ คณะสงฆ์ได้เปิดการอบรม " พระธรรมฑูตไปต่างประเทศ
" ขึ้น โดยสำนักฝึกอบรมตั้งอยู่ที่วัดบวรนิเวศวิหาร
และมอบให้เจ้าหน้าที่ของมหามกุฏราชวิทยาลัย และมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยเป็นผู้ดำเนินงาน
และให้ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้งสองแห่งนี้
เข้ารับการฝึกอบรมเป็นหลักเมื่อการดำเนินงานบรรลุวัตถุประสงค์ด้วยดี
จึงมีโครงการที่จะขยายการศึกษาของสำนักฝึกอบรมพระธรรมฑูตขึ้นเป็นการศึกษาระดับปริญญาโทและเห็นว่า
ควรจัดตั้งบัณฑิตวิทยาลัยขึ้น
คณะอนุกรรมการที่ตั้งขึ้นมาพิจารณาเรื่องนี้ได้พบปัญหาว่า
ก่อนที่จะจัดการศึกษาขั้นปริญญาโทได้นั้น การศึกษาระดับปริญญาตรี
จะต้องได้รับการรับรองมิฉะนั้น ปริญญาโทก็จะไร้ความหมาย
ทุกฝ่ายจึงเป็นพ้องกันว่า "จะต้องให้รัฐบาลไทยรับรองฐานะและปริญญาของมหาวิทยาลัยสงฆ์เสียก่อน"
และผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ต่างเคยมีประสบการณ์ร่วมกันมาว่า
ทุกครั้งที่รัฐบาลพิจารณาเรื่องการรับรองมหาวิทยาลัยสงฆ์
รัฐบาล มักอ้างว่า "มหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้งสองแห่งนั้น
คณะสงฆ์เองก็ยังไม่รับรอง แล้วจะให้รัฐบาลรับรองได้อย่างไร"
คณะอนุกรรมการจึงตกลงกันว่าจะดำเนินการให้คณะสงฆ์รับรองเสียก่อน
จะได้ปูพื้นฐานให้รัฐบาลรับรองต่อไป ในที่สุดก็ได้มี คำสั่งมหาเถรสมาคม
เรื่องการศึกษาของมหาวิทยาลัยสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๑๒ โดยมติที่ประชุมมหาเถรสมาคม
เมื่อวันอังคารที่ ๖ พฤษภาคม ๒๕๑๒ การที่มหาเถรสมาคม ได้ออกคำสั่งนี้ถือเป็นการรับรองอย่างเป็นทางการว่า
มหามกุฏราชวิทยาลัย และมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เป็นมหาวิทยาลัยสงฆ์
และถือเป็นส่วนหนึ่งของระบบการศึกษา ของคณะสงฆ์ไทย
คำสั่งมหาเถรสมาคมฉบับ มี ๑๒ ข้อ สาระสำคัญอยู่ในข้อต่อไปนี้
ข้อ ๓ นับแต่วันประกาศใช้คำสั่งนี้ ให้การศึกษาของสภาการศึกษามหามกุฎราชวิทยาลัย
ในพระบรมราชูปถัม์ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร และของมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
ในพระบรมราชูปถัมภ์ ณ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ซึ่งดำเนินการอยู่แล้ว
เป็นการศึกษาของคณะสงฆ์
ข้อ ๗ ถ้าเป็นการสมควร มหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้งสองจะร่วมกันจัดการศึกษาขั้นบัณฑิตวิทยาลัยอีกส่วนหนึ่ง
โดยอนุมัติของสภาการศึกษาของคณะสงฆ์ก็ได้
คำสั่งมหาเถรสมาคมฉบับนี้มีความสำคัญมาก เมื่อมีความพยายามที่จะให้มีการรับรองมหาวิทยาลัยสงฆ์ในระยะต่อมา
เหตุผลสำคัญที่บุคคลผู้เกี่ยวข้องยกขึ้นชี้แจงต่อรัฐบาลคือ
การอ้างถึงคำสั่งมหาเถรสมาคมฉบับนี้ และการดำเนินงานเกี่ยวกับการศึกษาของมหาวิทยาลัยสงฆ์
ก็ได้อาศัยคำสั่งมหาเถรสมาคม พ.ศ. ๒๕๑๒ เป็นฐาน
|