งานวิจัยฉบับนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างการจัดเนื้อหาในแบบเรียนวิชาพระพุทธศาสนา กับจุดประสงค์ของหลักสูตรพระพุทธศาสนา หน่วยการเรียนคาบ เวลาเรียน การวัดและประเมินผลการเรียน และช่วงวัยของผู้เรียน ในระดับมัธยมศึกษาทั้ง ๒ ระดับ ตามหลักสูตรมัธยมศึกษาตอนต้น พุทธศักราช ๒๕๒๑ (ฉบับปรับปรุง พ.ศ. ๒๕๓๓) และหลักสูตรมัธยมศึกษาตอนปลาย พุทธศักราช ๒๕๒๔ (ฉบับปรับปรุง พ.ศ. ๒๕๓๓)
ผลการวิจัย พบว่า ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น เนื้อหาในแบบเรียนมีความสอดคล้องกับจุดประสงค์ของหลักสูตรอย่างครบถ้วน โดยแต่ละหัวข้อเรื่องมีความสอดคล้องต่างกัน หัวข้อเรื่องที่สามารถเอื้อให้บรรลุจุดประสงค์ได้มากที่สุด คือ หัวข้อเรื่องหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาสามารถเอื้อให้บรรลุจุดประสงค์ได้ครบทั้ง ๕ ข้อ และหัวข้อเรื่องที่สามารถเอื้อให้บรรลุจุดประสงค์ได้น้อยที่สุด คือ หัวข้อเรื่องประวัติและความสำคัญของพระพุทธศาสนา สามารถเอื้อให้บรรลุจุดประสงค์ได้ ๑ ข้อ ได้แก่ข้อที่ ๑ ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย เนื้อหาในแบบเรียนมีความสอดคล้องกับจุดประสงค์ของหลักสูตรอย่างครบถ้วน โดยแต่ละหัวข้อเรื่องมีความสอดคล้องต่างกัน หัวข้อเรื่องที่สามารถเอื้อให้บรรลุจุดประสงค์ได้มากที่สุด คือ หัวข้อเรื่องหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา และหัวข้อเรื่อง พระไตรปิฎก พุทธศาสนาสุภาษิต ภาษาบาลี และคพศัพท์ทางพระพุทธศาสนา โดยสามารถเอื้อให้บรรลุจุดประสงค์ได้ครบทั้ง ๕ ข้อ และหัวเรื่องที่สามารถเอื้อให้บรรลุจุดประสงค์ได้น้อยที่สุด คือ หัวข้อเรื่องหน้าที่ชาวพุทธ และหัวข้อเรื่องมารยาทชาวพุทธศาสนพิธี และวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา โดยสามารถเอื้อให้บรรลุจุดประสงค์ได้ ๑ ข้อ ได้แก่ข้อที่ ๕ ผลการวิเคราะห์ด้านความสัมพันธ์ระหว่างการจัดเนื้อหาในแบบเรียนกับคาบเวลาเรียน พบว่าการจัดเนื้อหาในระดับมัธยมศึกษาทุกชั้นเรียน ให้เวลาเรียนสำหรับหัวข้อเรื่องต่างๆ แตกต่างกันโดยหัวข้อเรื่องที่มีคาบเวลาเรียนมากที่สุด คือ หัวข้อเรื่องหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา มีคาบเวลาเรียน ตั้งแต่ ๑๖ คาบ คิดเป็นร้อยละ ๒๒.๒ ถึง ๑๘ คาบ คิดเป็นร้อยละ ๒๕ ของคาบเวลาเรียนในแต่ละชั้นเรียน และหัวข้อเรื่องที่มีคาบเวลาเรียนน้อยที่สุด คือ หัวข้อเรื่องหน้าที่ชาวพุทธ ทุกชั้นเรียนมีคาบเวลาเรียน ๒ คาบ คิดเป็นร้อยละ ๒.๗ ของคาบเวลาเรียนตอลดชั้นเรียน ผลการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างการจัดเนื้อหาในแบบเรียนกับการวัดและประเมินผลการเรียนพบว่า เนื้อหาโดยรวมในแบบวิชาพระพุทธศาสนาทั้ง ๒ ระดับ สามารถที่จะวัดและประเมินผลได้ครบทั้ง ๓ ด้าน ๑๖ พฤติกรรม ตามความมุ่งหมายของหลักสูตร โดยแต่ละหัวข้อเรื่องที่แบ่งออกได้เป็น ๘ หัวข้อเรื่อง สามารถที่จะวัดและประเมินผลได้ต่างกัน โดยหัวข้อเรื่องที่วัดและประเมินผลได้เพียงด้านพุทธิพิสัย และเจตพิสัย แต่ไม่เอื้อให้วัดและประเมินผลด้านทักษะพิสัย คือ หัวข้อเรื่อง หัวข้อเรื่องประวัติและความสำคัญของพระพุทธศาสนา หัวข้อเรื่องพุทธประวัติ ประวัติพระสาวก สาวิกาและชาวพุทธตัวอย่าง หัวข้อเรื่องหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา หัวข้อเรื่องพระสงฆ์ และการปฏิบัติตนที่เหมาะสมต่อพระสงฆ์ และหัวข้อเรื่องหน้าที่ชาวพุทธ หัวข้อเรื่องที่สามารถวัดและประเมินผลได้ครบทั้ง ๓ ด้าน คือ หัวข้อเรื่อง หัวข้อเรื่องพระไตรปิฎก พุทธศาสนสุภาษิต ภาษาบาลีและคำศัพท์ทางพระพุทธศาสนา หัวข้อเรื่องการบริหารจิตและเจริญปัญญา และหัวข้อเรื่องมารยาทชาวพุทธ ศาสนพิธี และวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา ผลการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างเนื้อหาในแบบเรียนกับวัยของผู้เรียน พบว่า การจัดเนื้อหาในแบบเรียน ในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ได้เน้นให้ผู้เรียนมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับหัวข้อเรื่องต่างๆ นั้นเป็นสำคัญแต่ในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายเน้นกระบวนการคิดวิเคราะห์เกี่ยวกับหัวข้อเรื่องต่างๆ เหล่านั้นโดยเห็นความแตกต่างระหว่างการรับรู้ของผู้เรียนในแต่วัย โดยปัจจัยที่สำคัญที่จะทำให้การนำเนื้อหาในแบบเรียนไปสู่การจัดกิจกรรมการเรียนการสอนให้ได้ผลตามความมุ่งหมายของหลักสูตรและบรรลุจุดประสงค์ของหลักสูตรได้อย่างครบถ้วน คือการมีคาบเวลาเรียนที่เพียงพอสำหรับการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนสำหรับเนื้อหาที่มีมาก และครูผู้สอนต้องมีความรู้ความเข้าใจในเนื้อหาเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาเป็นอย่างดีด้วย |