การวิจัยนี้ มีจุดมุ่งหมายเพื่อการศึกษาเปรียบเที่ยบแนวคิดเรื่องจิตกับกายในปรัชญาของเรเน เดส์การ์ตส์กับพุทธปรัชญาเถรวาท เพื่อให้ทราบถึงแนวคิดเรื่องจิตกับกายที่เหมือนกันและแตกต่างกัน พร้อมทั้งความสัมพันธ์ระหว่างจิตกับกายของทั้งสองฝ่าย
การวิจัยครั้งนี้ เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) ซึ่งเน้นวิจัยทางเอกสาร (Documentary Research) โดยผู้วิจัยได้แบ่งการศึกษาออกเป็น ๕ บท ในแต่ละบทมีเนื้อหาดังนี้
บทที่ ๑ บทนำ บทที่ ๒ แนวคิดเรื่องจิตกับกายในปรัชญาของเดส์การ์ตส์ ตลอดถึงความสัมพันธ์จิตกับกาย พร้อมทั้งทรรศนะที่คัดค้านเรื่องจิตกับกาย ของเดส์การ์ตส์ และบทสรุปวิจารณ์ของผู้วิจัย บทที่ ๓ แนวคิดเรื่องจิตกับกายในพุทธปรัชญาเถรวาท ความสัมพันธ์จิตกับกาย ตลอดถึงทรรศนะที่คัดค้านเรื่องจิตกับกายของพุทธปรัชญาเถรวาท และบทสรุปวิจารณ์ของผู้วิจัย บทที่ ๔ ศึกษาเปรียบเทียบแนวคิดจิตกับกายในปรัชญาเดส์การ์ตส์กับพุทธปรัชญาเถรวาทโดยใช้หลักการวิเคราะห์เปรียบเทียบจิตกับกาย และความสัมพันธ์จิตกับกายพร้อมทั้งทรรศนะของผู้วิจัยกับการวิเคราะห์เปรียบเทียบทั้งสองฝ่าย บทที่ ๕ สรุปผลของการวิจัยและข้อเสนอแนะ
ผลจากการวิจัยพบว่า แนวคิดเรื่องจิตกับกายและความสัมพันธ์จิตกับกายของทั้งสองฝ่ายระหว่างเดส์การ์ตส์กับพุทธปรัชญาเถรวาทมีทั้งความเหมือนและความแตกต่างกัน เดส์การ์ตส์มองว่า จิตเป็นผู้คิด (thinker) เป็นอวัตถุแต่คิดได้ ส่วนกายเป็นสิ่งที่กินที่ (Extended substance) เป็นวัตถุคิดไม่ได้ไม่ต้องอาศัยกันในการดำรงอยู่ สามารถอยู่ได้ด้วยตัวเอง แต่จะเชื่อมโยงกันได้โดยอาศัยจุดพิเนียล หรือต่อมสมอง (Pineal Gland) ส่วนพุทธปรัชญาเถรวาท มองว่า การเป็นรูปประกอบด้วยมหาภูตรูป ๔ และอุปาทายรูป ๒๔ มาประกอบกันจึงเป็นร่างกายไม่เป็นสาร อาศัยสิ่งอื่น (จิต) เกิดขึ้น ส่วนจิต คือ ความคิด ไม่เป็นสาร อาศัยสิ่งอื่น (กาย) เกิดขึ้นการรับรู้อารมณ์ต่างๆ จิตกับกายมีความสัมพันธ์กันและกันอยู่โดดๆ ไม่ได้ ทั้งกายกับจิตเกิดมาอาศัยกันและกัน ในพุทธปรัชญาเถรวาทเน้นเรื่องจิตเป็นสำคัญ |