วิทยานิพนธ์นี้เป็นการศึกษาเชิงวิเคราะห์พุทธจริยศาสตร์กับโทษประหารชีวิต การศึกษาเรื่องนี้ได้เน้นถึงบทบาทของรัฐเกี่ยวกับการลงโทษขั้นสูงสุด โดยเปรียบเทียบกับจริยศาสตร์ทางพระพุทธศาสนา
ผู้วิจัยได้ศึกษาข้อมูลจากหลักการปรัชญา และแนวคิดทางอาชญาวิทยา และแนวคิดทางพระพุทธศาสนาแล้วนำมาวิจารณ์สรุป ผู้วิจัยได้พบว่ามีหลายแนวคิดที่สนับสนุนและคัดค้านการลงโทษขั้นสูงสุด หรือโทษประหารชีวิต สำหรับพุทธทัศนะเกี่ยวกับการลงโทษนั้น ได้กล่าวถึงหลักการที่จะป้องกันความปลอดภัยทางสังคม โดยเน้นที่การให้การศึกษาทางศีลธรรมแก่ประชาชน เช่น ศีล ๕ กุศลกรรมบท ๑๐ มรรค ๘ เป็นต้น ถ้าหากประชาชนตระหนักถึง แนวทางศาสนา พวกเขาก็จะไม่ต้องกระทำผิด หรือไม่ก่ออาชญากรรมที่รุ่นแรง ดังนั้นคุณธรรมทางพระพุทธศาสนาก็คือ บุคคลไม่ควรที่จะต้องการลงโทษผู้อื่น แต่ควรที่จะให้โอกาสเขาเพื่อที่จะปรับปรุงแก้ไขให้เป็นคนดี
ในทางกลับกัน อาชญากรในทางอาชญาวิทยาจะต้องถูกลงโทษเพื่อป้องกันการกระทำผิดซ้ำซ้อน ดังนั้น การลงโทษ เช่น การประหารชีวิต จำคุก กักขัง ปรับ ริบทรัพย์สิน ยังมีความจำเป็นในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายรัฐ
กล่าวโดยสรุปก็คือ อาชญากรสมควรที่จะถูกลงโทษ ดูแล และได้รับการบำบัดฟื้นฟูไปพร้อมๆ กัน สำหรับการลงโทษประหารชีวิตนั้น จะต้องมีบทบัญญัติที่กำหนดไว้ชัดเจนโดยกฎหมาย ในขณะเดียวกัน การพิจารณาพิพากษาลงโทษของศาลก็ควรที่จะยืดหยุ่นได้ เช่น ในกรณีของอาชญากรที่รู้จักสำนึกในความผิด และพยายามที่จะปรับปรุงตัวเองให้ดีขึ้น ก็สมควรที่จะได้รับการลดหย่อนโทษ ส่วนหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาก็จะช่วยให้ประชาชนผู้ประพฤติปฏิบัติตามเป็นผู้มีศีลธรรม |