การศึกษาเรื่องนี้ มีจุดมุ่งหมายเพื่อศึกษาคำอุปมา-อุปไมย ในคัมภีร์มิลินทปัญหา เพื่อศึกษาเป็นแนวทางในการเผยแผ่พระพุทธศาสนายุคปัจจุบัน
ผู้วิจัยได้แบ่งการศึกษาเรื่องนี้ออกเป็น ๕ บท ซึ่งมีเนื้อหา ดังนี้
บทที่ ๑ บทนำ ผู้วิจัยได้ศึกษาความสำคัญของปัญหา ความเป็นมาของคัมภีร์ในพระพุทธศาสนา มิลินทปัญหาเป็นคัมภีร์ชั้นรองพระไตรปิฎก ชาวพุทธในประเทศพม่ายกย่องให้เป็นส่วนหนึ่งของพระไตรปิฎกขุททกนิกาย เล่มที่ ๑๑ หนังสืออธิบายมิลินทปัญหาจัดเป็นอรรถกถา ชาวพุทธไทยจัดมิลินทปัญหาไว้ในชั้นอรรถกถา คัมภีร์อธิบายมิลินทปัญหาจัดเป็นชั้นฎีกา
บทที่ ๒ ผู้วิจัยได้ศึกษากำเนิดและพัฒนาการของคัมภีร์มิลินทปัญหา ไม่มีหลักฐานระบุชื่อผู้แต่งคัมภีร์มิลินทปัญหา นักวิชาการเชื่อว่า ผู้แต่งคัมภีร์นี้นับถือพระพุทธศาสนานิกายสรวาสติวาทิน ในประเทศอินเดียตอนเหนือ (แคว้นแคชเมียร์) ส่วนภาษาเดิมคงเป็นภาษาสันสกฤตหรือภาษาปรากฤต และได้สูญหายไปหมดแล้ว
นักประวัติศาสตร์สันนิษฐานว่า พระเจ้าเมนันเดอร์ปกครองอาณาจักรบัคเตรียระหว่าง พ.ศ.๓๙๒-๔๑๓ ซึ่งไม่ตรงกับที่ระบุในมิลินทปัญหาว่า ระหว่าง พ.ศ. ๕๐๐-๕๕๐
บทที่ ๓ ผู้วิจัยได้ศึกษาชีวประวัติของพระนาคเสน และพระเจ้ามิลินท์แยกเป็นประวัติในอดีตชาติ และประวัติในปัจจุบันชาติ
บทที่ ๔ ผู้วิจัยศึกษาวิธีโต้ตอบปัญหาปฏิภาณไหวพริบของพระนาคเสน ที่นำเอาสิ่งเป็นนามธรรมมาเปรียบกับสิ่งที่เป็นรูปธรรมจนทำให้พระเจ้ามิลินท์เข้าใจ โดยวิธีอุปมาเปรียบเทียบ
บทที่ ๕ สรุปและเสนอแนะ
|