Mahachulalongkornrajavidyalaya University
MCU Home Search Contacts Study Events Site Map Thai/Eng
 
MCU

First Page » นางสาวนัตติมา ชูดวงแก้ว
 
Counter : 19989 time
การศึกษาเปรียบเทียบเจตสิกธรรมในพระอภิธรรมปิกฎกับพระสุตตันตปิกฎ (๒๕๔๕)
Researcher : นางสาวนัตติมา ชูดวงแก้ว date : 17/08/2010
Degree : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
Committee :
  พระมหาเทียบ สิริญาโณ
  นายอดิศักดิ์ ทองบุญ
  นายสนิท ศรีสำแดง
Graduate : ๑๐ เมษายน ๒๕๔๕
 
Abstract

วัตถุประสงค์หลักของงานวิจัยนี้เพื่อการศึกษาเจตสิกในพระอภิธรรมปิฎกในพระสุตตันตปิฎก ศึกษาต้องการรู้ความเหมือนและความแตกต่างของเจตสิกในด้านต่างๆ เช่น ในด้านความหมาย ด้านลักษณะพิเศษ และด้านการนำไปใช้เป็นต้น ในทั้งสองคัมภีร์ งานวิจัยนี้เป็นงานค้นคว้าทางเอกสาร แหล่งข้อมูลประกอบด้วยแหล่งปฐมภูมิ คือ พระไตรปิฎก อรรถกถา เป็นต้น และแหล่งทุติยภูมิ ได้แก่ ปกรณ์พิเศษและงานของปราชญ์รุ่นหลังที่เกี่ยวข้อง เช่น คัมภีร์วิสุทธิมรรค การวิจัยนี้แบ่งเป็น ๕ บท บทที่ ๑ บทนำว่าด้วยความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา บทที่ ๒ ว่าด้วยเจตสิกในพระอภิธรรมปิฎก บทที่ ๓ ว่าด้วยเจตสิกในพระสุตตันตปิฎก บทที่ ๔ การเปรียบเทียบเจตสิกในพระอภิธรรมปิกฎกับพระสุตตันปิฎก บทที่ ๕ สรุปและเสนอแนะ จากการศึกษาผู้วิจัยพบประเด็นสำคัญของเรื่องเจตสิกดังต่อไปนี้ เจตสิกหรือเจตสิกธรรม เป็นสภาวธรรมที่ประกอบกับจิตเกิดพร้อมกับจิตมีหน้าที่ปรุงแต่งจิต ทำให้จิตมีความแตกต่างกัน เจตสิก ได้แก่ ความรัก ความโกรธ ความจำ ความรู้สึกสุข ทุกข์ เป็นต้น เจตสิกเป็น ๑ ในปรมัตถธรรม (สภาวะที่มีอยู่จริง) ๔ ประการ คือ จิต เจตสิก รูป และพระนิพพาน เป็นสภาวธรรมที่ส่วนใหญ่รู้จักกันเฉพาะในกลุ่มผู้ที่ศึกษาพระอภิธรรม ไม่ค่อยจะรู้จักแพร่หลายในผู้ที่ศึกษาเฉพาะพระสูตรหรือพระวินัย เนื่องจากพระพุทธองค์ได้ทรงรวบรวมเจตสิกทั้งหมดแสดงไว้ในคัมภีร์พระอภิธรรมปิฎกเล่มแรก คือ ธัมมสังคณี ส่วนในพระสูตรและพระวินัยนั้นพระพุทธองค์ทรงแสดงเจตสิก คือ สภาวธรรมที่ปรุงแต่งจิตไว้กระจัดกระจายอยู่ทั่วไป ผู้วิจัยจึงได้มุ่งศึกษาเจตสิกธรรมที่ปรากฎในพระอภิธรรมและที่ปรากฎในพระสูตรแล้วนำมาเปรียบเทียบกันว่า มีความเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร พบว่า ๑. ความหมายคล้ายกัน คือ เป็นธรรมที่ประกอบกับจิต ๒. ลักษณะทั่วไปเหมือนกัน ๓. ขอบข่ายและการแสดงแตกต่างกัน ๔. ความสัมพันธ์ระหว่างจิตกับเจตสิกคล้ายกัน ๕. ความสำคัญของเจตสิก การแสดงเจตสิกในพระสูตรและพระอภิธรรมนั้น ทรงเน้นความสำคัญที่แตกต่างกัน ๖. การจำแนกประเภทและการจัดกลุ่มคล้ายกัน ๗. การประกอบของจิตกับเจตสิกในปิฎกทั้ง ๒ ทรงแสดงไว้คล้ายกัน ประโยชน์ที่ได้จากการศึกษาเจตสิกในพระอภิธรรม คือ ทำให้มีความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับจิตและเจตสิกทั้งหมดอย่างเป็นระบบ มีการจำแนกเป็นประเภทใหญ่และแยกย่อยให้เห็นลักษณะของจิตและเจตสิกที่ประกอบอย่างชัดเจน เป็นความรู้ในเชิงทฤษฎีมากกว่าที่จะนำมาปฏิบัติ ส่วนการศึกษาเจตสิกธรรมในพระสูตร ทำให้มีความรู้เกี่ยวกับเจตสิกที่กว้างขวางยิ่งขึ้น เพราะทรงแสดงถึงสภาวธรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น สาเหตุการเกิดของเจตสิก การนำเจตสิกแต่ละดวงมาจำแนกเป็นประเภทต่างๆ การปฏิบัติเพื่อละอกุศลเจตสิกและการปฏิบัติเพื่อให้กุศลเจตสิกเกิดขึ้น เป็นต้น การแสดงในพระสูตร ทรงมุ่งเน้นการนำความรู้ไปปฏิบัติมากกว่าการแสดงทฤษฎี อย่างไรก็ตาม การแสดงเจตสิกในพระอภิธรรมและในพระสูตรมีเนื้อหาที่คล้ายคลึงกันไม่ขัดแย้งกัน เจตสิกมีอิทธิพลต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิตของบุคคล ดังจะเห็นได้ว่าความสุขและความทุกข์ของคนเรานั้นล้วนเกี่ยวข้องกับเจตสิกทั้งสิ้น เจตสิกที่มีอิทธิพลทำให้สุขภาพจิตไม่ดีเป็นจิตที่เศร้าหมองคือ อกุศลเจตสิก ได้แก่ โลภะ โทสะ และโมหะ ที่ตรัสว่าเป็นรากเหง้าของอกุศลและจิตที่มีสุขภาพดี คือ จิตที่ประกอบด้วยกุศลเจตสิก ได้แก่ ปัญญา สติ ศรัทธา เมตตา กรุณา เป็นต้น เป็นจิตที่ผ่องแผ้วเหมาะแก่การทำการงานทั้งทางโลกและการปฏิบัติเพื่อบรรลุเป้าหมายในพระพุทธศาสนา การปฏิบัติเพื่อการพัฒนาจิตให้มีสุขภาพดีจึงหมายถึงการปฏิบัติเพื่อให้กุศลเจตสิกเกิดขึ้น การปฏิบัตินี้ ทรงแสดงไว้เป็นจำนวนมาก เมื่อกล่าวโดยรวมแล้วได้แก่การปฏิบัติตามหลัก ศีล สมาธิ ปัญญา นั่นเอง

Download : 254501.pdf
 
 
Copyright © Mahachulalongkornrajavidyalaya University All rights reserved 
Maintained by: webmaster@mcu.ac.th 
Last Update : Thursday February 9, 2012