วิทยานิพนธ์ เรื่อง "ศึกษากระบวนการฝึกอบรมบุคลากรทางพระพุทธศาสนา ของพระโพธิญาณเถระ ( ชา สุภทฺโท)" มีจุดมุ่งหมายเพื่อศึกษาถึงจุดมุ่งหมาย รูปแบบและวิธีการในการฝึกอบรมบุคลากรทางพระพุทธศาสนาอันได้แก่ พระภิกษุ สามเณร อุบาสกและอุบาสิกาของพระโพธิญาณเถระ ตลอดจนศึกษาถึงกระบวนการในการอบรมพระสงฆ์ผู้นำของท่านด้วย การวิจัยนี้เป็นการวิจัยเอกสาร (Documentary Research) โดยรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวกับชีวประวัติ และผลงานของพระโพธิญาณเถระ (ชา สุภทฺโท) จากบันทึกคำสอนที่มีอยู่ ในรูปหนังสือ ที่พิมพ์เผยแผ่มากที่สุด ๑๕ เล่มร่วมกับการศึกษาแบบกรณีศึกษา(Case Study) โดยการใช้การสัมภาษณ์แบบเจาะลึกศิษย์ผู้ใกล้ชิดที่เคยศึกษาปฏิบัติธรรมกับพระโพธิญาณเถระ ๒ ท่าน แล้วนำเสนอผลการวิจัยโดยวิธีพรรณนาวิเคราะห์ ผลการวิจัยปรากฏ ดังนี้ พระโพธิญาณเถระ (ชา สุภทฺโท) ได้ใช้หลักธรรมทางพระพุทธศาสนามาใช้สำหรับฝึกอบรมบุคลากรทั้งฝ่ายบรรพชิต คฤหัสถ์ และการฝึกอบรมผู้นำ ในส่วนบรรพชิต ท่านได้นำกระบวนการ ๓ อย่าง มาใช้ในการฝึกอบรมได้แก่ หลัก ไตรสิกขา หลักธุดงควัตรและหลักวัตร ๑๔ ซึ่งการอบรมตามหลักไตรสิกขามุ่งให้พระภิกษุสามเณรรักษาพระวินัยโดยเคร่งครัด ฝึกฝนสมาธิ และให้มีความคิดถูกต้องคือ สัมมาทิฎฐิโดยใช้วิธีการ อบรมด้วยการออกกฏระเบียบ ฝึกอานาปานสติ และส่งเสริมสัมมาทิฏฐิคือความคิดที่ถูกต้องซึ่งมีส่วนให้พระภิกษุสามเณรในวัดหนองป่าพง มีความมั่นคงในพระวินัย จิตสงบและมีความเห็นถูกต้องตามพระธรรมวินัย สำหรับการฝึกอบรมตามหลักธุดงควัตร ๑๓ ท่านเน้นให้ปฏิบัติด้วยศรัทธา และถือว่าเป็นการสนับสนุนการปฏิบัติตามหลักไตรสิกขาด้วย โดยที่ใช้เป็นเอกลักษณ์ของวัดหนองป่าพง ได้แก่ การฉันในบาตร การฉันหนเดียว และการอยู่เสนาสนะที่เขาจัดให้ สำหรับการฝึกอบรมด้วยวัตร ๑๔ ท่านมุ่งให้พระภิกษุสามเณรได้ปฏิบัติตนถูกต้อง และเหมาะสมต่อบุคคล สถานที่ตามกาละเทศะ โดยใช้ วิธีการให้ฝึกฝนปฏิบัติจริง คอยพร่ำสอนแนะนำ และให้ออกเป็นกฎระเบียบ เพื่อปฏิบัติโดยเท่าเทียมกัน สิ่งที่ท่านเน้นในวัตร ๑๔ ประการ คือ มารยาทในการบิณฑบาต การฉัน การรักษา เสนาสนะ การใช้บริขารอย่างประหยัด และการอุปัฏฐากครูบาอาจารย์ ท่านพระโพธิญาณเถระได้ฝึกอบรมฆราวาสด้วยหลักบุญกิริยาวัตถุ ๑๐ ฆราวาสธรรม ๔ และอนุปุพพิกถา ๕ โดยในหลักบุญกิริยาวัตถุ ๑๐ ท่านเน้นการให้ทานด้วยปัญญา การเสียสละกิเลส การฟังธรรมด้วยความเคารพและการทำความเห็นให้ถูก โดยใช้วิธีการแสดงธรรมในวัน ธัมมัสสวนะ(วันพระ) และวันสำคัญและการสนทนาธรรมเฉพาะตัวและเป็นกลุ่ม ในหลักฆราวาสธรรม ๔ ท่านเน้นไปที่การรักษาศีลและการละเว้นอบายมุข โดยการแสดงธรรมในวันสำคัญ การทำบุญในโอกาสต่างๆ แนะนำเป็นรายบุคคล และการให้ข้อคิด ทำให้ฆราวาสครองเรือนด้วยความสุข มีหลักธรรมประจำใจ สำหรับหลักอนุปุพพิกถา ๕ ท่านมุ่งให้อุบาสกอุบาสิกา และแม่ชีปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวันไปจนถึงการประพฤติพรหมจรรย์ โดยเน้นการรักษาศีลที่ถูกต้อง การเห็นโทษของกิเลส การปฏิบัติสมาธิ และการเจริญวิปัสสนา ผลการฝึกอบรมทำให้อุบาสก อุบาสิกา แม่ชีที่วัดหนองป่าพงและสาขาได้รับความสงบจาการรักษาศีลและฝึกสมาธิ การฝึกอบรมผู้นำสาขา เพื่อให้ผู้นำที่มีประสิทธิภาพไปทำหน้าที่บริหารสาขา โดยใช้หลักธรรม คือ คารวะ ๖ และกัลยาณมิตตธรรม ๗ เป็นหลักในการอบรม โดยใช้วิธีการแนะนำ การให้มีโอกาสฝึกฝนปฏิบัติกิจวัตรต่างๆ จนมีความมั่นคงผลการฝึกอบรมทำให้เกิดสำนักสาขาทั้งในและต่างประเทศ จำนวน ๑๙๖ แห่ง ซึ่งคณะสงฆ์น่าจะได้ศึกษาและนำกระบวนการฝึกอบรมบุคลากรดังกล่าวนี้ไปปรับใช้ในการบริหารและปกครองคณะสงฆ์เพื่อความเป็นเอกภาพและช่วยแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในคณะสงฆ์ต่อไป