ดุษฎีนิพนธ์นี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อศึกษาและวิเคราะห์ปฏิจจสมุปบาทในเชิงลึก โดยจะศึกษาปฏิจจสมุปบาทในเนื้อหาที่เป็นปรมัตถสัจจะ หรือเนี้อหาที่เป็นธรรมาธิษฐาน คือใช้ขันธ์ 5 ล้วนๆในการอธิบายกระบวนการทำงานของปฏิจจสมุปบาท ซึ่งมีการแสดงอยู่ 2 นัย คือ 1. แสดงตามนัยพระสูตร (สุตตันตภาชนียนัย) 2. แสดงตามนัยพระอภิธรรม (อภิธรรมภาชนียนัย) นอกจากจะศึกษากระบวนการทำงานของปฏิจจสมุปบาทในเนื้อหาที่เป็นปรมัตถสัจจะแล้ว ในแต่ละนัยผู้วิจัยยังได้วิเคราะห์หาอำนาจปัจจัยทั้งหมดที่อยู่เบื้องหลังกระบวนการทำงาน ของปฏิจจสมุปบาทตามหลักปัฏฐานไว้โดยละเอียดด้วย องค์ความรู้ที่ได้รับจากการวิจัยเรื่องนี้ คือ 1. จากการศึกษาวิเคราะห์ปฏิจจสมุปบาทในแนวปรมัตถสัจจะตามนัยพระสูตร ทำให้เกิดองค์ความรู้ในการอธิบายปฏิจจสมุปบาทแบบข้ามภพข้ามชาติด้วยปรมัตถสัจจะที่เชื่อมโยงธรรมชาติการทำงานของขันธ์ 5 เข้ากับเรื่องกิเลส กรรม วิบาก และการเวียนว่ายตายเกิดในภพภูมิต่างๆอีกทั้งสามารถแสดงอำนาจปัจจัยสงเคราะห์ที่อยู่เบื้องหลังกระบวนการทำงานของปฏิจจสมุปบาทแบบข้ามภพข้ามชาติ เพื่อให้เห็นว่าสภาวธรรมทั้งหลายล้วนเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไปตามอำนาจของกระแสแห่งเหตุและปัจจัย อันปราศจากความมีอัตตาตัวตนโดยสิ้นเชิง ซึ่งจะช่วยยุติปัญหาข้อโต้แย้งที่ว่า “การอธิบายปฏิจจสมุปบาทแบบคล่อม 3 ชาติ เป็นสัสสตทิฏฐิ”2. การศึกษาวิเคราะห์ปฏิจจสมุปบาทในแนวปรมัตถสัจจะตามนัยพระอภิธรรม ทำให้เห็นและเข้าใจกระบวนการทำงานอย่างครบวงจรของปฏิจจสมุปบาทที่เกิดขึ้นในขณะจิตเดียว (ในจิตแต่ละดวง) ซึ่งงานวิจัยนี้ได้แสดงปฏิจจสมุปบาทที่เกิดขึ้นในจิต 121 ดวง พร้อมทั้งอำนาจปัจจัยสงเคราะห์ตามหลักปัฏฐานไว้อย่างละเอียด โดยแบ่งการแสดงออกเป็น 6 นิทเทสตามคัมภีร์วิภังค์ อันประกอบด้วย 1. อกุศลนิทเทส 2. กุศลนิทเทส 3. อัพยากตนิทเทส 4. อวิชชามูลกกุศลนิทเทส 5. กุศลมูลกวิปากนิทเทส 6. อกุศลมูลกวิปากนิทเทส
Download : 255178.pdf