การศึกษาวิจัยเรื่อง "ศึกษาการใช้ประโยชน์และความพึงพอใจต่อคอมพิวเตอร์ ของนิสิตมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และของนักศึกษา มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย" มีจุดมุ่งหมายเพื่อศึกษาถึงลักษณะการใช้ประโยชน์จากคอมพิวเตอร์ของนิสิตและนักศึกษา ของมหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้ง ๒ แห่ง และความพึ่งพอใจที่เกิดจากการใช้ พร้อมทั้งศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างการใช้ประโยชน์กับความพึงพอใจเพื่อเป็นการสำรวจข้อมูลเสนอต่อทางมหาวิทยาลัย จะได้ใช้เป็นแนวทางแก้ไขปรับปรุงพัฒนาการเรียนการสอนวิชาทางด้านคอมพิวเตอร์ให้ตรงกับความต้องการของนิสิตและนักศึกษาผู้เรียนเพื่อที่จะเอาไปใช้งานได้จริง การศึกษาวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงสำรวจ (Survey Research) เก็บข้อมูลโดยการใช้แบบสอบถาม (Questionnaire) โดยศึกษากับกลุ่มตัวอย่างที่เป็นนิสิตและนักศึกษาของมหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้ง ๒ แห่งในส่วนกลาง ที่กำลังศึกษาอยู่ในระดับปริญญาตรี ทุกคณะที่เปิดสอนไม่น้อยกว่า ๔ ปี สำหรับการวิเคราะห์ข้อมูลใช้สถิติเชิงพรรณาในการวิเคราะห์คุณลักษณะทางประชากร ลักษณะและพฤติกรรม โปรแกรมที่ใช้ วัตถุประสงค์ที่ใช้คอมพิวเตอร์ ได้แก่ จำนวนและร้อยละ การทดสอบสมมติฐาน ใช้สถิติ t = test และ ไคส-แควร์ (Chi-Square Test) ซึ่งผลการวิจัยเป็นดังนี้ ๑. นิสิตและนักศึกษาของมหาวิทยาลัยสงฆ์มีการใช้ประโยชน์จากคอมพิวเตอร์ ในระดับไม่สูง และมีความพึงพอใจในระดับไม่สูงเช่นกัน ๒. นิสิตและนักศึกษา ที่มีคุณลักษณะทางประชากรแตกต่างกัน โดยรวมมีการใช้ประโยชน์และความพึงพอใจไม่แตกต่างกัน เมื่อแยกย่อยสำรวจที่ละข้อ มีบางข้อที่มีการใช้ประโยชน์และความพึงพอใจแตกต่างกัน ๓. นิสิตและนักศึกษาที่มีเครื่องคอมพิวเตอร์กับไม่มีเครื่องคอมพิวเตอร์และที่มีความถี่ในการใช้เครื่องแตกต่างกัน จะมีการใช้ประโยชน์และความพึงพอใจแตกต่างกันออกไป ๔. การใช้ประโยชน์จากคอมพิวเตอร์ มีความสัมพันธ์กับความพึงพอใจโดยนิสิตและนักศึกษาที่มีโอกาสได้ใช้คอมพิวเตอร์เพื่องานทางด้านเอกสารและการพิมพ์เป็นหลัก และใช้เพื่อฝึกความชำนาญให้กับตัวเองรองลงมา สำหรับเรื่องปัญหาและอุปสรรคต่อการใช้คอมพิวเตอร์ของนิสิตและนักศึกษา คือ มีเครื่องคอมพิวเตอร์ไม่เพียงพอกับการใช้ ปัญหาความไม่ชำนาญในการใช้และปัญหาเรื่องข้อจำกัดที่เป็นพระสงฆ์ในการเรียนรู้และจัดหาอุปกรณ์ จากปัญหาดังกล่าวมานี้ นิสิตและนักศึกษาได้ให้ข้อเสนอแนะไว้ดังนี้ คือ ให้จัดตั้งศูนย์บริการคอมพิวเตอร์ไว้สำหรับนิสิตและนักศึกษา จัดหาเครื่องคอมพิวเตอร์ไว้ให้เพียงพอ ต้องการให้จัดการเรียนสอนให้ทันสมัยน่าสนใจ และควรสนับสนุนให้มีการเรียนการสอนคอมพิวเตอร์ให้มากขึ้น ผู้วิจัยเห็นว่า ข้อเสนอและดังกล่าวนี้ เสมือนเป็นกระจกสะท้อนให้เห็นถึงความต้องการของนิสิตและนักศึกษา ซึ่งทางมหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้ง ๒ แห่งควรพิจารณา และนำไปประยุกต์ใช้เพื่อปรับปรุงแก้ไข เพื่อประโยชน์ต่อการพัฒนามหาวิทยาลัยของสงฆ์ และเป็นแนวทางในการผลิตบุคลากรทางด้านศาสนาที่มีคุณภาพต่อไปในอนาคต