วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความเป็นมาของบทอาขยานที่เคยมีมาในอดีตและวิเคราะห์หลักธรรมทางพระพุทธศาสนาที่ปรากฏในบทอาขยานภาษาไทยซึ่งกระทรวงศึกษาธิการกำหนดไว้เมื่อปี ๒๕๔๒ ทั้งบทหลัก บทรอง ระดับประถมศึกษาปีที่ ๑-๖ และระดับมัธยมศึกษาปีที่ ๑-๖ รวมสี่ช่วงนั้น ผู้วิจัยวิเคราะห์คำสอนทางพระพุทธศาสนาที่ปรากฏในบทอาขยาน และคุณค่าของ บทอาขยานที่มีต่อสังคมไทย เพื่อยืนยันความสำคัญของบทอาขยาน
บทอาขยานนับเป็นมรดกทางวัฒนธรรม สะท้อนภาพการศึกษาในอดีตที่ผูกพันกับพระพุทธศาสนาโดยเฉพาะ การท่องจำบทอาขยานเป็นกระบวนการศึกษาที่เรียกว่า “มุขปาฐะ” โดยการถ่ายทอดความรู้จากปากต่อปาก เช่นเดียวกับการจำพระไตรปิฏกของพระพุทธศาสนาและเพื่อง่ายแก่การจำก็มักแต่งเป็นคำประพันธ์ประเภทร้อยกรองชนิดต่างๆ เมื่อศึกษาวิเคราะห์ บทอาขยานภาษาไทยพบว่ามีคำประพันธ์ที่แต่งด้วยร้อยกรองหลายประเภทเช่น ประเภทกาพย์ ประเภทกลอน ประเภทโคลง ประเภทฉันท์ ประเภทร่าย พบหลักฐานการเกิดขึ้นของบทอาขยานภาษาไทยครั้งแรกสมัยรัชกาลที่ ๕ ที่ทรงให้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชนุภาพ และกวีอีกหลายคนช่วยกันแต่งบทดอกสร้อยสุภาษิตเพื่อเด็กท่องจำ
บทอาขยานทั้งสิ้นมีการสอดแทรกหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา ระดับประถมศึกษาจัดไว้ สิบสี่หมวด คือ หลักธรรมเกี่ยวกับความกตัญญูกตเวที ความสามัคคี วิริยะความเพียร ปัญญา ทาน กรรม วาจาการพูด สัจจะ อบายมุข เมตตา อิทธิบาท ๔ สติ ศีล และไตรลักษณ์ ส่วนระดับมัธยมศึกษา มี ๑๗ หมวด คือ หลักธรรมเกี่ยวกับความกตัญญูกตเวที การคบมิตร
|