งานวิจัยนี้มีจุดหมายเพื่อศึกษาแนวคิดเรื่องมนุษยนิยมในปรัชญาขงจื๊อ โดยผู้วิจัยได้แยกเป็น ๔ ประเด็นหลัก คือ ๑. แนวเรื่องมนุษย์นิยมทั่วไป ๒. มนุษยนิยมพิจารณาจากโลกทรรศน์ของขงจื๊อ ๓. มนุษยนิยมพิจารณาจากคำสอนของขงจื๊อ และ ๔. อิทธิพลมนุษย์นิยมขงจื๊อที่มีต่อสังคม จากการศึกษาโดยใช้กรอบดังกล่าวทำให้พบว่า โลกทรรศน์ของขงจื๊อ เป็นโลกทรรศน์แบบมนุษยนิยม ไม่ว่าจะพิจารณาจากแง่มุมของอภิปรัชญา ญาณวิทยา จริยศาสตร์ หรือสุนทรียศาสตร์ และจากโลกทรรศน์ดังกล่าว ทำให้คำสอนของขงจื๊อเป็นคำสอนแบบมนุษยนิยมด้วย โดยที่คำสอนดังกล่าวได้ผูกติดอยู่กับสัมพันธภาพทางสังคม ขณะเดียวกันก็เร่งเร้าให้ปัจเจกชนมุ่งฝึกฝนตนเองเพื่อความดีงาม และความสงบสุขของสังคมไปพร้อม ๆ กับการปฏิบัติตนให้เหมาะสมตามสถานภาพ ในส่วนอิทธิพลที่มีต่อสังคมก็พบว่า ปรัชญาขงจื๊อได้มีอิทธิพลต่อสังคมในระดับรากฐานหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านสังคม การเมือง เศรษฐกิจ วรรณกรรม ศิลป ประเพณี หรือวัฒนธรรม อิทธิพลดังกล่าวไม่ใช่มีเฉพาะแต่ในสังคมจีนเท่านั้น แต่ยังรวมถึงสังคมอื่น ๆ ในแถบเอเชียด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมญี่ปุ่น ปรัชญาขงจื๊อได้มีส่วนสำคัญยิ่งในการสร้างชาติมาตั้งแต่ต้น ทำให้ญี่ปุ่นโดดเด่นอย่างรวดเร็วดังที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน