วิทยานิพนธ์เรื่อง “การศึกษาองค์ความรู้และภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ปรากฏในวรรณกรรมพระพุทธศาสนาเรื่องอานิสงส์และคัมภีร์ที่ใช้เทศน์ในเทศกาลต่างๆ ของล้านนา” เป็นการศึกษาวิจัยที่ผสมผสานระหว่างการศึกษาวิจัยเชิงเอกสารและการศึกษาเชิงประยุกต์ที่นำความรู้มาจัดการในลักษณะของการวิเคราะห์เชิงความสัมพันธ์เพื่อค้นหาแนวคิด ความหมายและทัศนคติต่อองค์ความรู้และภูมิปัญญาที่ปรากฏในวรรณกรรมพระพุทธศาสนาในล้านนา โดยมีวัตถุประสงค์หลัก คือ ๑) เพื่อศึกษาประวัติความเป็นมา และความสำคัญของวรรณกรรมพระพุทธศาสนาในล้านนา ๒) เพื่อศึกษาวิเคราะห์องค์ความรู้และภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ปรากฏในวรรณกรรมพระพุทธศาสนาเรื่องอานิสงส์และคัมภีร์ที่ใช้เทศน์ในเทศกาลต่างๆ ของล้านนา และ ๓) เพื่อศึกษาบริบททางสังคม วัฒนธรรม และพระพุทธศาสนาในล้านนา ที่มีความสัมพันธ์กับวรรณกรรมพระพุทธศาสนาในล้านนา
ผลการวิจัยพบว่า ล้านนาหรือภาคเหนือของประเทศไทยในปัจจุบัน มีความเป็นมาที่ยาวนานเริ่มตั้งแต่อาณาจักรโยนกแถบลุ่มแม่น้ำกก จังหวัดเชียงราย และอาณาจักรหิรัญนครเงินยาง หรือเมืองเชียงแสน มาปรากฏหลักฐานที่ชัดเจนในสมัยหริภุญชัย (พ.ศ.๑๒๐๔) และเจริญสูงสุดใน สมัยราชวงศ์มังรายที่มีนพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่เป็นราชธานี (พ.ศ.๑๘๓๙ -๒๑๐๑) ความเจริญของล้านนานั้นมีความเป็นมาควบคู่กับพระพุทธศาสนา ซึ่งก่อให้เกิดการรจนาวรรณกรรมพระพุทธศาสนาที่สำคัญ เช่น มังคลัตถทีปนี จักรวาฬทีปนี ที่รจนาขึ้นโดยพระสิริมังคลาจารย์ ชินกาลมาลีปกรณ์ และวชิรสารัตถสังคหะ ที่รจนาโดยพระรัตนปัญญาเถระ รวมถึงวรรณกรรมของพระเถระรูปอื่นๆ ในล้านนาที่ถือว่า เป็นวรรณกรรมชั้นครูที่มีความไพเราะและชั้นเชิงในการแต่งที่ให้อรรถรสและความรู้ในศาสตร์ต่างๆ ได้เป็นอย่างดี ซึ่งได้เป็นแบบอย่างของการรจนาวรรณกรรมหรือคัมภีร์ธรรมทางพระพุทธศาสนาล้านนาในยุคต่อมา และแต่ละเรื่องล้วนมีความสำคัญทางด้านประวัติศาสตร์ ศาสนา และวัฒนธรรมที่ทำให้ทราบถึงความเป็นมาและบริบททางสังคมในล้านนาได้เป็นอย่างดี ในบรรดาวรรณกรรมเหล่านั้น วรรณกรรมที่มีความสำคัญอีกประเภทหนึ่ง คือ วรรณกรรมเรื่องอานิสงส์และคัมภีร์ที่ใช้เทศน์ในเทศกาลต่างๆ ของล้านนา ด้วยเหตุที่คัมภีร์ธรรมทั้งสองประเภทได้มีส่วนสำคัญในฐานะที่เป็นฐานความเชื่อของการรจนาวรรณกรรมพระพุทธศาสนาในล้านนา เป็นรากฐานที่สำคัญของการส่งเสริมวัฒนธรรม จารีตประเพณี และที่สำคัญเป็นแนวคิด ความเชื่อ และวิถีการปฏิบัติขั้นพื้นฐานในทางพระพุทธศาสนาของชาวล้านนา ซึ่งปรากฏเป็นองค์ความรู้ในด้านต่างๆ คือ
๑)องค์ความรู้ที่แสดงถึงความเป็นมา แนวคิด และหลักธรรมในทางพระพุทธศาสนา
๒)องค์ความรู้ที่มีผลต่อการส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม จารีตประเพณี และค่านิยมทางสังคมของชาวล้านนา
๓)องค์ความรู้ที่สร้างกระบวนการผสมผสานความรู้ในทางพระพุทธศาสนาและความเชื่อในท้องถิ่นเข้าด้วยกัน
ซึ่งองค์ความรู้เหล่านั้น มีความเชื่อมโยงกับหลักคิด และวิธีการปฏิบัติที่นำไปสู่การสร้างกฎเกณฑ์ทางสังคม วัฒนธรรม จารีตประเพณี โดยมีอิทธิพลต่อแนวความคิด ความเชื่อ การเมือง การปกครอง จารีตประเพณีในแผ่นดินล้านนา รวมทั้งการสร้างสรรค์วรรณกรรมในสังคมไทย และที่สำคัญยิ่ง คือ เพื่อความยั่งยืนของพระสัทธรรม
ส่วนบริบททางสังคม วัฒนธรรม และพระพุทธศาสนาในล้านนาที่มีความสัมพันธ์กับวรรณกรรมพระพุทธศาสนาในล้านนานั้น พบว่า
๑)การให้การอุปถัมภ์ของกษัตริย์ ชนชั้นผู้ปกครอง
๒)การเข้ามาของพระพุทธศาสนาจากที่ต่างๆ
๓)ความแตกฉานในพระไตรปิฎกและอรรถกถาของพระเถระ และ
๔)ความเชื่อในเรื่องของอานิสงส์การสร้างธรรม/เขียนธรรมถวายวัด มีความสัมพันธ์กับการสร้างสรรค์วรรณกรรมในล้านนา ซึ่งได้ส่งผลต่อความคิด ความเชื่อ และหลักศีลธรรมของคนในสังคมปัจจุบัน
ข้อเสนอแนะ องค์ความรู้และภูมิปัญญานั้น จะได้รบการยอมรับและสืบต่อไปได้ ก็เพราะการมีส่วนร่วมของชุมชนในด้านการจัดการความรู้ และการจัดการทรัพยากรวัฒนธรรม ทั้งนี้ เพื่อเป็นการรักษามรดกทางปัญญา และนำมาสู่การประยุกต์ใช้ในสถานการณ์ที่เหมาะสม
Download : 254946.pdf |