การวิจัยนี้ มีวัตถุประสงค์ 3 ประการ คือ (1) เพื่อศึกษาแนวคิดและทฤษฎีการตีความคัมภีร์ในพระพุทธศาสนาเถรวาท โดยศึกษาเปรียบเทียบกับแนวคิดและทฤษฎีการตีความทางตะวันตก (2) เพื่อเสนอรูปแบบการตีความคัมภีร์ในพระพุทธศาสนาเถรวาท และ (3) เพื่อนำสู่การศึกษาวิเคราะห์แนวคิดและวิธีการตีความเรื่องมังสวิรัติของ สำนักสันติอโศก เรื่องนิพพานของสำนักวัดพระธรรมกาย และ วิธีการตีความเรื่องมังสวิรัติและนิพพานของพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) ผลการวิจัยพบว่า แนวคิดและทฤษฎีการตีความทางพระพุทธศาสนาและทางตะวันตกมีเป้าหมายเพื่อให้ เข้าใจถึงความจริง ความถูกต้องดีงามผ่านการใช้ภาษาเป็นเครื่องมือในการสื่อสารจึงมีพัฒนาการ ทั้งทฤษฎีและวิธีการตีความมาโดยลำดับเช่นกัน แต่มีความแตกต่างกันในรายละเอียดด้านทฤษฎีและวิธีการตีความ ทฤษฎีการตีความทางตะวันตกมี 3 ทฤษฎีหลักที่มีจุดเน้นที่แตกต่างกันในการค้นหาความหมายที่สมบูรณ์ คือ ทฤษฎีที่ถือผู้สื่อความเป็นศูนย์กลาง ทฤษฎีที่ถือคัมภีร์เป็นศูนย์กลาง และทฤษฎีที่ถือผู้อ่านเป็นศูนย์กลาง ในขณะที่ทฤษฎีการตีความทางพระพุทธศาสนามีนัยบ่งชี้ว่า การจะค้นหาความหมายสมบูรณ์ได้นั้น จะต้องอาศัยองค์ประกอบหลายประการ คือ ให้ความสำคัญทั้งแก่ผู้สื่อความ คัมภีร์ ผู้อ่าน และบริบททางสังคมของผู้สื่อความ คัมภีร์ และผู้อ่าน ที่ต้องมีความเชื่อมโยงอิงอาศัยกันและกัน จึงอาศัยนัยดังกล่าวนี้สร้างและเสนอเป็นรูปแบบการตีความคัมภีร์ในพระพุทธ ศาสนาเถรวาท เมื่อนำมาวิเคราะห์การตีความเรื่องมังสวิรัติของสำนักสันติอโศก และการตีความเรื่องนิพพานของสำนักวัดพระธรรมกาย พบว่า สำนักสันติอโศกใช้การตีความแบบยึดผู้อ่านเป็นหลักและบางแห่งได้ใช้การตีความ แบบยึดผู้สื่อความเป็นหลัก สำนักวัดพระธรรมกายใช้การตีความแบบยึดผู้อ่านเป็นหลักและอ้างคัมภีร์ต่าง ๆ มาสนับสนุนการตีความของตน ในขณะที่พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) ใช้การตีความแบบยึดคัมภีร์เป็นหลัก และบางแห่งยังคงใช้การตีความแบบยึดผู้สื่อความเป็นหลักประกอบด้วย
Download : 255107.pdf