วิทยานิพนธ์นี้ มีจุดมุ่งหมายที่จะวิเคราะห์เชิงปรัชญาเรื่องสันโดษจากพระไตรปิฎก ซึ่งเป็นคัมภีร์บันทึกคำสอนของพระพุทธเจ้าในกรอบของเถรวาท เพื่อให้ทราบความหมายที่แท้จริงของสันโดษ และวิธีการที่จะนำหลักสันโดษไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อขจัดกระแสความเข้าใจผิดในเรื่องสันโดษให้หมดไป เพราะมีผู้เข้าใจในเรื่องของสันโดษผิดไปจากหลักของความจริง โดยอ้างว่าสันโดษเป็นหลักธรรมที่ขัดต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ ทำให้ประชาชนไม่อยากทำอะไร ประเทศชาติบ้านเมืองจึงไม่เจริญเท่าที่ควร จากการศึกษาพระไตรปิฎก และการศึกษาหนังสือที่มีเนื้อหาสอดคล้องกันกับพระไตรปิฎกพบว่า ปัญหาของชีวิตมนุษย์ที่ไม่มีสันโดษในแง่เศรษฐกิจ มีสาเหตุมาจากการสร้างระบบความคิดและการกระทำของมนุษย์เอง เพราะขาดความรู้ความเข้าใจเชิงอัตวิสัย คือ ชีวิตร่างกายและจิตใจของตน ที่เป็นตัวผลักดันให้การกระทำกิจกรรมเป็นปัญหาแก่มนุษย์เอง แต่การศึกษาตามแนวพระไตรปิฎกยังมีอีกมุมมองหนึ่ง ที่ยอมรับความสามารถของมนุษย์ ซึ่งสามารถพัฒนาไปสู่เป้าหมายในการแก้ปัญหาของมนุษย์และสังคมที่มีอยู่ได้ ด้วยการศึกษาให้เข้าใจในชีวิตจิตใจของตนเองและสิ่งแวดล้อมอย่างถ่องแท้และ เป็นขั้นเป็นตอน ซึ่งจะทำให้จัดการกับปัญหาทางเศรษฐกิจสังคมและสิ่งแวดล้อมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ระบบชีวิตในพระพุทธศาสนา มี ๒ ระดับ คือระดับธรรมดาทั่วไป เป็นชีวิตผู้ครองเรือนต้องอยู่ในระบบแผนของสังคม ต้องยอมรับระบบเศรษฐกิจที่สังคมสร้างขึ้นด้วยความเข้าใจ ส่วนอีกระบบหนึ่งเป็นชีวิตของบรรพชิตที่ไม่ต้องดำเนินไปตามระบบแบบแผนเศรษฐกิจ เพราะไม่มีกิจกรรมทางด้านวัตถุ ถ้าจำเป็นต้องเกี่ยวข้อง ไม่พึงคิดเป็นกำไรหรือขาดทุน แต่มุ่งหมายให้เป็นอยู่อย่างบริสุทธิ์ทางจิตวิญญาณ ช่วยสร้างสรรค์ให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตทางธรรม หลักสันโดษ เป็นหลักธรรมในพระพุทธศาสนาที่เน้นการแก้ปัญหาจากภายในมาหาภายนอก เหมือนกับหลักธรรมในพระพุทธศาสนาโดยทั่วไป ปัญหาภายใน หมายถึงปัญหาที่เกิดในจิตใจของมนุษย์ที่มีความโลภ โกรธ หลง รักสุขเกลียดทุกข์เป็นธรรมดา ปัญหาภายนอก คือ ปัญหาที่เกิดจากเศรษฐกิจ การเมือง สังคม เมื่อศึกษาหลักสันโดษให้เข้าใจอย่างถ่องแท้แล้ว นำมาประยุกต์ใช้กับชีวิตประจำวัน จะช่วยให้การแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นแก่ตนเองได้ทั้งภายในและภายนอกอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น