Mahachulalongkornrajavidyalaya University
MCU Home Search Contacts Study Events Site Map Thai/Eng
 
MCU

First Page » พระมหาสุทัศน์ ติสฺสรวาที (นักการเรียน)
 
Counter : 19972 time
อนิจจตาในพุทธปรัชญาเถรวาท (๒๕๔๐)
Researcher : พระมหาสุทัศน์ ติสฺสรวาที (นักการเรียน) date : 17/08/2010
Degree : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(ปรัชญา)
Committee :
  พระมหาสมจิณต์ สมฺมาปญฺโญ
  อาจารย์บรรจบ บรรณรุจิ
  -
Graduate : ๑๐ เมษายน ๒๕๔๐
 
Abstract

งานวิจัยนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อการศึกษาแนวความคิดเรื่องอนิจจตาในพุทธปรัชญาเถรวาท ตามที่ปรากฏในคัมภีร์พระไตรปิฎก  โดยศึกษาในเชิงอภิปรัชญาและจริยศาสตร์  แยกออกเป็น ๔ ประเด็น คือ  (๑)  อนิจจตาที่พุทธปรัชญาอธิบายไว้   (๒)  อนิจจตาในฐานะปฏิเสธแนวคิดเรื่องสัสสตทิฏฐิและอุจเฉททิฏฐิ  (๓) คุณค่าของอนิจจตาในเชิงจริยธรรม  (๔) อนิจจตาในฐานะเป็นพื้นฐานและแกนกลางในการอธิบายหลักธรรมอื่น ๆ

          ผลของงานวิจัยทำให้ทราบว่า
          ๑. พุทธปรัชญาแสดงว่า อนิจจตาคือความเปลี่ยนแปลงเป็นลักษณะที่เสมอเหมือนกันของ สังขารธรรม สังขารธรรมไม่เที่ยง เปลี่ยนแปลง เกิดดับอยู่ทุกขณะ ไม่มีความสมบูรณ์พร้อมในตัวเอง เกิดจากส่วนประกอบต่าง ๆ มาประชุมกัน มีความสัมพันธ์เนื่องอาศัยกันเป็นเหตุเป็นปัจจัยแก่กันและกัน มีอยู่ในรูปของกระแสการเกิดดับสืบต่อกันไปเรื่อย ๆ ไม่ขาดสาย ความเปลี่ยนแปลงนี้เป็นปรากฎการณ์ซึ่งไม่เกี่ยวกับผู้สร้างหรือเทพเจ้าใด ๆ ทั้งสิ้น เป็นไปตามธรรมดา แม้กระนั้น ก็ไม่ใช่เกิดขึ้นโดยบังเอิญ แต่อาศัยเหตุปัจจัยเกิดขึ้น มีระเบียบ กฎเกณฑ์และทิศทางที่แน่นอน

           ๒. ความเปลี่ยนแปลง (อนิจจตา) เป็นทัศนะสายกลาง ปฏิเสธความเห็นว่าเที่ยง (สัสสตทิฏฐิ) และความเห็นว่าขาดสูญ (อุจเฉททิฏฐิ) ตามพุทธปรัชญา เรากล่าวไม่ได้ว่าโลกและอัตตาเที่ยง ในขณะเดียวกันก็กล่าวไม่ได้ว่าขาดสูญ สิ่งที่พุทธปรัชญายืนยัน ก็คือ สรรพสิ่งเปลี่ยนแปลง ไม่เที่ยง ไม่คงที่ ดำเนินไปโดยอาศัยเหตุปัจจัย สัมพันธ์สืบเนื่องกันอยู่ตลอดเวลา แม้ดับสลายไปแล้วก็ยังเป็นเหตุปัจจัยแก่สิ่งอื่นและเกิดสิ่งใหม่ขึ้นทดแทน ไม่ใช่เป็นการขาดสูญเสียทีเดียว

          ๓. เมื่อมาเกี่ยวข้องกับมนุษย์  อนิจจตาอันเป็นทัศนะทางอภิปรัชญาซึ่งแสดงความจริงที่ปรากฏอยู่ ก็มีคุณค่าในเชิงจริยธรรม ๒ ประการ คือ

                ๓.๑ เมื่อประสบความเปลี่ยนแปลง ก็สามารถทำใจได้ เพราะรู้เท่าทันกฎธรรมดา มีจิตเป็นอิสระไม่ถูกครอบงำกดดันจากสิ่งภายนอกและภายใน เป็นคุณค่าด้านจิตใจ

                ๓.๒ ก่อให้เกิดความไม่ประมาท เร่งทำกิจที่ควรทำต่อไปให้ดีที่สุดด้วยใจที่เป็นอิสระ เพราะรู้ว่าความเปลี่ยนแปลงนั้นเป็นไปตามเหตุปัจจัย เป็นคุณค่าด้านทำกิจ

          ๔. อนิจจตาเป็นพื้นฐานและแกนกลางให้เข้าใจทุกขตา อนัตตตา และหลักธรรมอื่น ๆ ของพุทธปรัชญาเถรวาท เพราะหลักธรรมต่างก็มีความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องสืบเนื่องมาจากสัจธรรมอันเดียวกัน และเป็นไปเพื่อจุดมุ่งหมายเดียวกัน
 

Download : 254006.pdf
 
 
Copyright © Mahachulalongkornrajavidyalaya University All rights reserved 
Maintained by: webmaster@mcu.ac.th 
Last Update : Thursday February 9, 2012