งานวิจัยนี้ประสงค์ที่จะศึกษาทัศนะทางปรัชญาการศึกษาของพระธรรมปิฎก ในการศึกษา ผู้วิจัยได้แบ่งเนื้อหาออกไปเป็น ๓ ส่วนหลัก ๆ ด้วยกัน คือ ส่วนแรก : เป็นการศึกษาวิเคราะห์ทั่วไปเกี่ยวกับปรัชญาแม่บท ได้แก่ อภิปรัชญา ญาณวิทยา ปรัชญาชีวิตและปรัชญาสังคม ส่วนที่สอง : เป็นการวิเคราะห์ปรัชญาการศึกษาในทัศนะของพระธรรมปิฎก อันประกอบด้วยองค์ประกอบทางการศึกษา ได้แก่ โรงเรียน ครูและนักเรียน หลักสูตร และวิธีการเรียนการสอน ส่วนที่สาม : เป็นการชี้ให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างปรัชญาแม่บทกับปรัชญาการศึกษาในทัศนะของพระธรรมปิฎกตลอดถึงการนำแนวความคิดไปประยุกต์ใช้กับการศึกษาไทย ผลจากการศึกษาสรุปได้ว่า ๑) ในส่วนแรก : ตามแนวพุทธธรรม อภิปรัชญาเป็นการศึกษาเรื่องความจริงของสิ่งทั้งหลายมีกฎไตรลักษณ์ ปฏิจจสมุปบาท เป็นต้น ญาณวิทยาศึกษาเรื่องการปฏิบัติสมถกรรมฐานและวิปัสสนากรรมฐาน เพื่อที่จะปฏิบัติให้บรรลุถึงความจริงสูงสุด ส่วนจริยศาสตร์นั้นเป็นการดำเนินชีวิตโดยการศึกษาและปฏิบัติให้สอดคล้องกับกฎธรรมชาติ ๒) ในส่วนที่สอง : เป้าหมายของการศึกษา คือ ความมีอิสรภาพทั้งภายในและภายนอกอย่างแท้จริงไม่ถูกครอบงำด้วยอวิชชา การศึกษาจึงเป็นการพัฒนาชีวิตให้เจริญงอกงามเพื่อความพ้นทุกข์ องค์ประกอบทางการศึกษานั้นโรงเรียน ครูและนักเรียน หลักสูตร และวิธีการเรียนการสอน ต้องมีความสอดคล้องเกี่ยวพันกันอยู่เสมอ โดยเฉพาะครูและนักเรียนต้องสร้างจิตสำนึกเกี่ยวกับหน้าที่ของตนให้ดีที่สุด ๓) ในส่วนที่สาม : ทัศนะทางการศึกษาของพระธรรมปิฎกมีความคล้ายคลึงกับลัทธิสารัตถนิยมและพิพัฒนาการนิยม จุดเด่นก็คือ พระธรรมปิฎกให้ความสำคัญต่อครูและนักเรียนเท่าเทียมกันในด้านหน้าที่ อีกทั้งการศึกษาในทัศนะของพระธรรมปิฎกมิได้แยกออกไปจากศาสนา การนำพุทธธรรมไปประยุกต์ใช้จึงทำให้การศึกษาคือการพัฒนาชีวิตและสามารถแก้ปัญหาชีวิตได้ แนวคิดทางการศึกษาของพระธรรมปิฎกจึงมีพุทธธรรมเป็นพื้นฐาน ซึ่งมีลักษณะประยุกต์เข้าได้กับทุกสถานการณ์