Mahachulalongkornrajavidyalaya University
MCU Home Search Contacts Study Events Site Map Thai/Eng
 
MCU

First Page » พระมหาสุรเดช สุรสกฺโก (อินทรศักดิ์)
 
Counter : 21046 time
อิทธิพลของพระพุทธศาสนาที่มีต่อวรรณคดีไทย : ศึกษาเฉพาะกรณี เสภาเรื่องขุนช้าง ขุนแผน (๒๕๓๗)
Researcher : พระมหาสุรเดช สุรสกฺโก (อินทรศักดิ์) date : 17/08/2010
Degree : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
Committee :
  พระครูปลัดสุวัฒนพรหมคุณ
  รศ.บำรุง สุขพรรณ์
  ดร.ถนอมวงศ์ ล้ำยอดมรรคผล
Graduate : ๕ ตุลาคม ๒๕๓๙
 
Abstract

งานวิจัยนี้ มีจุดมุ่งหมายจะศึกษาวิเคราะห์    อิทธิพลของพระพุทธศาสนาที่มีต่อวรรณคดีไทย : ศึกษาเฉพาะกรณี เสภาเรื่องขุนช้าง ขุนแผน

          ในการวิจัยครั้งนี้ ผู้วิจัยได้แบ่งเนื้อหาออกเป็น ๒ ส่วน คือ ส่วนแรก เป็นการศึกษาในเรื่องความเชื่อทั่ว ๆ ไป ส่วนที่สอง เป็นการศึกษาในเรื่องหลักธรรมทางพุทธศาสนาว่ามีอิทธิพลต่อเรื่องนี้มากน้อยเพียงไร

          ผลของการวิจัยสรุปได้ว่า ส่วนแรก ในเรื่องความเชื่อ แม้ว่าความเชื่อของคนในสังคมไทยส่วนใหญ่ จะได้รับอิทธิพลจากหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาก็ตาม แต่อีกส่วนหนึ่ง ไม่อาจจะหลีกพ้นความเชื่อทางเรื่องผีสางเทวดา และภูติผีปีศาจ ซึ่งเป็นความเชื่อดั้งเดิมของคนไทยโบราณ โดยมีมาตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน เมื่อว่าโดยสรุป ก็จะเป็นความเชื่อในลักษณะผสมผสานระหว่างความเชื่อทางศาสนากับความเชื่อทางไสยศาสตร์ ทั้งในวิถีชีวิตจริง ก็ไม่อาจแยกออกจากกันได้ ความเชื่อลักษณะนี้จะปรากฏเด่นชัดในการประกอบพิธีธรรม    เพราะพิธีกรรมต่าง ๆ จะเข้าไปเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของคนไทยตั้งแต่เกิดจนตาย ทั้งยังได้รับความเชื่อถือจากคนทุกชั้น ตั้งแต่พระเจ้าแผ่นดินลงมาจนถึงสามัญชนอีกด้วย เช่น พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญและประเพณีการแต่งงาน

          ส่วนที่สอง หลักธรรมทางพระพุทธศาสนา คำสอนที่สอดแทรกอยู่ในเสภาเรื่องขุนช้าง ขุนแผนมีอยู่มากมาย แต่คำสอนที่สำคัญที่ส่วนใหญ่ยอมรับและนำไปปฏิบัติในวิถีชีวิตจริงก็คือเรื่องกรรมและไตรลักษณ์ โดยมีความเชื่อว่า การเวียนว่ายตายเกิดของมนุษย์และสัตว์ทั้งหลายในสังสารวัฏ เป็นไปด้วยอำนาจกรรม วิถีชีวิตของมนุษย์และสรรพสัตว์ในโลกนี้จะต้องดำเนินไปตามหลักไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ความไม่เที่ยงแท้แน่นอน ทุกขัง ความเป็นทุกข์และอนัตตา ความไม่ใช่ตัวตนที่ไม่สามารถจะบังคับได้ หลักดังกล่าวจะต้องเป็นไปอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต แม้ว่าจะมีคำสอนระดับสูงสุด คือ นิพพาน เป็นทางออกสุดท้าย ซึ่งมุ่งให้มนุษย์รู้จักพัฒนาตนจนเป็นอิสระ หลุดพ้นจากกิเลสตัณหา แต่เป็นสิ่งที่เป็นไปได้ยากสำหรับสามัญชน ดังนั้น ในวิถีชีวิตจริงแล้ว นิพพาน ในเสภา เรื่องขุนช้าง ขุนแผน เป็นเพียงหลักธรรมในอุดมคติ ที่มนุษย์ปรารถนาและหวังในภพชาติหน้าเท่านั้น  หาใช่สิ่งที่ต้องการในชีวิตปัจจุบันแต่อย่างใดไม่

          ผลสืบเนื่องที่ได้รับทราบจากการศึกษาครั้งนี้ ถ้ามองในแง่ของวรรณคดีไทยก็คือ วรรณคดีนั้นสามารถใช้เป็นภาษาสื่อสาร เป็นสื่อที่จะถ่ายทอดความรู้สึกนึกคิด และอุดมการณ์ทางสังคม จากยุคหนึ่งไปสู่อีกยุคหนึ่งได้ ทำให้เกิดการสืบทอดผลงานทางวรรณกรรมที่มนุษย์สร้างสรรค์ขึ้นมา ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่า วรรณคดีไทย เป็นบันทึกเรื่องราวในอดีตที่สะท้อนให้เห็นภาพจน์เกี่ยวกับวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม ประเพณี พิธีกรรม หรือวิถีชีวิตของคนไทยสมัยก่อน จนกระทั่งเป็นมรดกตกทอดมาจนถึงปัจจุบัน ทั้งเป็นเครื่องชี้นำทิศทางสำคัญของสังคมไทยในอนาคตอีกด้วย.

Download : 253907.pdf
 
 
Copyright © Mahachulalongkornrajavidyalaya University All rights reserved 
Maintained by: webmaster@mcu.ac.th 
Last Update : Thursday February 9, 2012