การศึกษาวิจัยเรื่อง “ การศึกษาความเชื่อและพิธีกรรมทางพระพุทธศาสนาของร่างทรง :กรณีศึกษาในเขตกรุงเทพมหานคร ” นั้น มีวัตถุประสงค์คือ เพื่อศึกษาแนวคิดและทฤษฎีเกี่ยวกับร่างทรง,เพื่อวิเคราะห์หลักธรรมทางพระ พุทธศาสนาเกี่ยวกับการทรงเจ้า,เพื่อศึกษาการประยุกต์หลักพุทธธรรมในการ ประกอบพิธีกรรมของร่างทรง,เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างร่างทรงกับพระรัตน ตรัย และเพื่อศึกษาอิทธิพลของร่างทรงที่มีต่อสังคมไทย การเก็บข้อมูลได้จากเอกสารต่างๆ การเข้ามีส่วนร่วมในพิธีกรรมไหว้ครู และจากการสัมภาษณ์ รวมทั้งจากแบบสอบถามที่ได้จากกลุ่มตัวอย่าง ๙๕ คน การวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้โปรแกรม SPSS for windows version 11 หาค่าความถี่ ร้อยละ ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และทดสอบค่าที (t-test )แจกแจงในรูปตาราง
ผลการศึกษาพบว่า
๑. แนวคิดและทฤษฎีเกี่ยวกับร่างทรง ใช้แนวความคิดทางมานุษยวิทยา ,สังคมวิทยา ,จิตวิทยา รวมทั้งวิญญาณนิยมและลัทธิเจตนิยม เป็นแนวทางในการสร้างแบบสอบถาม เก็บข้อมูล และการวิเคราะห์เนื้อหา
๒. หลักธรรมทางพระพุทธศาสนาเกี่ยวกับการทรงเจ้า ในทัศนะทางพระพุทธศาสนาร่างทรงและการทรงเจ้า จัดอยู่ในกลุ่มอุปาทาน๔ ชนิด อัตตวาทุปาทานและสีลัพพตุปาทานและเป็นเดรัจฉานวิชา แต่มีหลักธรรมหลายหมวดที่น่าจะส่งผลต่อแนวคิดเรื่องร่างทรง(วิญญาณนิยม) คือ เรื่องโอปปาติกะ(ในโยนิ๔) ,เรื่องเทพ/เทวดา(ในเทพ๓,ภูมิ๔,คติ๕) ,เรื่องสัตวโลก (ในโลก๓) , เรื่องสังขารและวิญญาณ(ในขันธ์๕) และเรื่องกรรมกับการเกิดใหม่(สังสารวัฏ) ที่ยืนยันถึงการมีอยู่จริงของ ปรโลก และสวรรค์ อันเป็นสาระหลักของความเชื่อเรื่องเทพเจ้าและพิธีทรงเจ้าเข้าผี ส่วนหลักธรรมที่ส่งผลต่อการประกอบพิธีกรรมนั้นประกอบด้วย
๑.๑ หลักศรัทธา เป็นความเชื่อในระบบความคิดอย่างหนึ่งโดยไม่มีการพิสูจน์ ไม่ต้องการเหตุผล ภาพความเชื่อของร่างทรงจะปรากฎอยู่ในพิธีกรรมที่ร่างทรงได้กำหนดขึ้น
๑.๒ หลักกรรม ในบริบทกรรมตามนัยทางพระพุทธศาสนา แต่มิใช่ทฤษฎีกรรมที่ถูกต้องในทางพุทธศาสนา เช่นการทำสิ่งดี เพื่อที่จะได้สิ่งตอบแทนที่เป็นความดีงาม ทั้งในส่วนของวัตถุ และความพึงใจที่เป็นนามธรรม
๑.๓ การบำเพ็ญบารมี ทำให้เกิดระบบของการเสียสละ ในรูปแบบต่างๆ ของผู้ปฏิบัติตามคำแนะนำของร่างทรง
๓. การประยุกต์หลักศรัทธา กรรม และการบำเพ็ญบารมี ในการประกอบพิธีกรรมของร่างทรงนั้น ไม่ได้แยกอย่างเด็ดขาดออกเป็นส่วน แต่จะมีความเกี่ยวเนื่องจนเป็นเนื้อเดียวกัน สำเร็จเป็นพิธีกรรมที่มีความแนบแน่นในแนวเดียวกัน เช่นในพิธีกรรมไหว้ครู ปรากฏชัดเจนถึงการนำหลักพุทธธรรมไปประยุกต์ใช้ในพิธีกรรม เป็นการ แสดงให้เห็นถึงหลักความเชื่อ ที่มีการระลึกถึงพระรัตนตรัย แต่มีลักษณะไสยศาสตร์แทรกปนอยู่
๔. ร่างทรงกับพระรัตนตรัย มีความสัมพันธ์กันในภาวะแบบความเชื่อถือ น้อมรับมา และปรับใช้ให้เข้ากับการดำเนินชีวิตของตนเอง และสังคม ร่างทรงเป็นผู้ที่ทำหน้าที่เผยแผ่พระรัตนตรัย และเป็นผู้มีความเชื่อมั่นในพระรัตนตรัย ได้รับประสบการณ์ตรง มีการแนะนำคนอื่น ให้ศรัทธาเชื่อมั่นในพระรัตนตรัย ซึ่งถูกยกไว้เป็นที่เคารพในระดับสูง
๕. ร่างทรงมีบทบาทสูงในด้านให้คำแนะนำ ส่วนอิทธิพลของร่างทรงที่มีต่อสังคมไทย ทางด้านวัฒนธรรม เศรษฐกิจ และการเมืองการปกครอง พบว่าอยู่ในระดับปานกลาง
จากการสัมภาษณ์ร่างทรง ๑๖ คน พบว่า ส่วนใหญ่เป็นร่างแฝง “องค์” สายฤๅษีมาก ที่สุด ความเชื่อทางพระพุทธศาสนาของร่างทรงส่วนใหญ่คือ ความเชื่อเรื่องบุญ-บาป ความเชื่อเรื่องการปฏิบัติธรรม ความเชื่อในพระรัตนตรัย ความเชื่อเรื่องนรก-สวรรค์ และความเชื่อเรื่องนิพพานตามลำดับ ความเชื่อเหล่านี้นำไปสู่พิธีกรรมตามบริบทของความเชื่อนั้นๆ พิธีกรรมทางพระพุทธศาสนาของร่างทรงที่ประกอบส่วนใหญ่คือ การสวดมนต์ ไหว้พระ รองลงมาคือ การรักษาศีล การปฏิบัติธรรม การทำบุญทอดกฐิน-ผ้าป่า สร้างพระพุทธรูป การเลี้ยงพระ ถวายสังฆทาน พรมน้ำมนต์ตามลำดับ ความสัมพันธ์ระหว่างความเชื่อทางพระพุทธศาสนากับพิธีกรรมทางพระพุทธศาสนาของ ร่างทรง พบว่า ความเชื่อส่วนใหญ่ของร่างทรงที่เกี่ยวข้องกับพิธีกรรมทางพุทธศาสนาคือ ความเชื่อในการปฏิบัติธรรม รองลงมาคือความเชื่อในเรื่องการสวดมนต์ ความเชื่อในเรื่องการถือศีล กินเจ เลี้ยงพระ ถวายสังฆทาน และความเชื่อในการทอดกฐิน ผ้าป่า ทำบุญ สาธารณประโยชน์ ร่างทรงที่มีความเชื่อทางพระพุทธศาสนา พิธีกรรมที่กระทำสูงสุดคือการปฏิบัติธรรม รองลงมาคือการสวดมนต์ ร่างทรงที่มีความเชื่อด้านอื่นๆ พิธีกรรมที่กระทำสูงสุดคือ พิธีการไหว้ครู รองลงมาคือ การรับขัน
Download : 254935.pdf |