วิทยานิพนธ์เรื่องนี้ มีจุดหมายเพื่อวิเคราะห์จิตในพระพุทธศาสนาเถรวาทและเพื่อให้เกิดความกระจ่างชัดในเรื่องการพัฒนาจิตตามแนวทางของอริยมรรคมีองค์ ๘ เหตุผลของการวิเคราะห์ จิตก็เพื่อให้เห็นความแตกต่างระหว่างจิต กับ Mind ตามความหมายของพระพุทธศาสนาและตามความหมายที่ใช้กันอยู่โดยทั่วไป การที่จะใช้คำว่า Mind แทนคำว่า จิต ทั้ง ๆ ที่คำทั้งสองนี้มีความหมายไม่ตรงกันนั้น ผู้อ่านต้องทำความเข้าใจความหมายของคำทั้งสองให้แจ่มชัด เพราะตามหลักคำสอนของพระพุทธศาสนา จิตเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงและไม่คงที่ ในขณะที่ Mind ซึ่งเป็นคำที่ใช้กันอยู่โดยทั่วไปนั้น เป็นสิ่งที่มั่นคงและนิรันดร เพื่อให้ผู้อ่านได้มีความรู้ความเข้าใจเรื่องจิตได้อย่างถูกต้อง ผู้วิจัยได้แบ่งหัวข้อวิทยานิพนธ์ ฉบับนี้ออกเป็น ๔ ตอน คือ ๑. ความหมายของจิต ๒. หน้าที่ของจิต ๓. วิธีการปฏิบัติ และ ๔. ประโยชน์ที่จะได้รับจากการปฏิบัติ เหตุผลที่เน้นความสำคัญของจิต ก็เพื่อให้การพัฒนาจิตมีความสมดุลหรือเท่าเทียมกันกับการเจริญทางวัตถุหรือมากกว่านั้น เพราะการขาดดุลยภาพของความเจริญระหว่างจิตกับวัตถุ จะทำให้ชาวโลกมีความเป็นอยู่อย่างปราศจากสันติสุข ความเชื่อมั่นที่ว่าวิทยาศาสตร์จะเป็นเครื่องมือสำหรับใช้แก้ปัญหาได้ทุกอย่างโดยเฉพาะอย่างยิ่งความเชื่อมั่นของมนุษยชาติในยุคโลกาภิวัตน์นี้ เป็นเหตุผลที่ทำให้เกิดแรงบันดาลใจให้ผู้วิจัยต้องเขียนเรื่องนี้ วิถีทางแห่งการปฏิบัติเพื่อพัฒนาจิตนั้นจะต้องเป็นวิธีที่มีประโยชน์สำหรับตนเองและผู้อื่น กล่าวคือ ตนเองจะต้องไม่เดือนร้อนและต้องไม่มีผลกระทบต่อผู้อื่นในทางลบ สังคมโลกในปัจจุบันนี้เต็มไปด้วยการขัดแย้งชิงดีชิงเด่น ชิงความได้เปรียบเสียเปรียบจนกระทั่งก่อให้เกิดสงคราม ทั้งระหว่างปัจเจกบุคคลและระหว่างประเทศ ซึ่งการขัดแย้งดังกล่าวจะสามารถแก้ไขได้ ก็ต่อเมื่อคนเราประพฤติปฏิบัติตามแนวแห่งการพัฒนาจิตโดยยึดหลักคำสอนของพระพุทธศาสนาเป็นบรรทัดฐาน หนทางแห่งการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมนั้น ต้องอาศัยหลักการประพฤติปฏิบัติตามอริยมรรคมีองค์ ๘ (The Noble Eightfold Path) หรือที่เรียกว่า "มัชฌิมาปฏิปทา" คือข้อปฏิบัติอันเป็นทางสายกลางที่ถูกต้องอย่างแท้จริง ซึ่งมวลมนุษยชาติควรยึดถือเป็นแนวปฏิบัติโดยไม่มีขอบเขต เพื่อยุติปัญหาความขัดแย้งทั้งมวลได้โดยสิ้นเชิง