การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาหลักพุทธธรรมที่เกี่ยวกับครอบครัว จากคัมภีร์พระพุทธศาสนาและพฤติกรรมของผู้ปกครองของนักเรียนโรงเรียนพุทธ ศาสนาวันอาทิตย์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในการนำหลักพุทธธรรมมาปฏิบัติภายในครอบครัว จึงได้ดำเนินการวิจัย โดยวิธีวิเคราะห์เอกสารจากคัมภีร์พระพุทธศาสนา (Documentary Analysis) และวิธีวิจัยเชิงสำรวจ (Survey Research) โดยใช้แบบสอบถามเป็นเครื่องมือในการเก็บรวบรวมข้อมูลจากกลุ่มประชากร ที่เป็นผู้ปกครองนักเรียนโรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย จำนวน ๓๙๐ คน วิเคราะห์ข้อมูล ด้วยการหาค่าความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ยเลขคณิต ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน การจัดลำดับที่ ผลการวิจัยสรุปได้ ดังนี้ ตอนที่ ๑ หลักพุทธธรรมเกี่ยวกับครอบครัว ได้แก่ หลักสมชีวิธรรม ๔, หลักพรหมวิหาร ๔ หลักฆราวาสธรรม ๔ หลักกุลจิรัฎฐิติธรรม ๔ หลักสังคหวัตถุ ๔ และหลักทิศ ๖ ตอนที่ ๒ พฤติกรรมของผู้ปกครองในการนำหลักพุทธธรรมมาปฏิบัติ เพื่อครอบครัวของผู้ปกครอง นักเรียนโรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย จากการศึกษาในตอนนี้พบว่า มีการปฏิบัติตนและอบรมสั่งสอนบุตร ตามหลักสมชีวิธรรม ๔ หลักพรหมวิหาร ๔ หลักฆราวาสธรรม ๔ หลักกุลจิรัฏฐิติธรรม ๔ หลักสังคหวัตถุ ๔ และหลักทิศ ๖ อยู่ในระดับมาก ในทุกเรื่อง เมื่อพิจารณาถึงลักษณะปัญหาของครอบครัวบุตรธิดาและสามีภรรยาพบว่า ปัญหาที่มีมากที่สุดได้แก่ ครอบครัวมีรายได้ไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่าย บุตรธิดาใช้จ่ายเงินฟุ่มเฟือย สำหรับปัญหาของสามีภรรยาที่มีมากที่สุดได้แก่ เรื่อง การอบรมสั่งสอนบุตร โดยบุตรได้แสดงความรำคาญ หงุดหงิด ดื้อรั้น ในเรื่องนี้บิดามารดาควรหาเวลาให้ความอบอุ่นกับบุตร และอบรมสั่งสอนให้บุตรได้รู้จักโทษภัยของสังคมนอกจากนี้ บิดามารดาควรปรับตัวให้เข้ากับพฤติกรรมของบุตรที่อยู่ในช่วงวัยรุ่น ต้องมีความอดทนและทำความเข้าใจในพฤติกรรมของบุตร โดยพยายามประคับประคองให้ผ่านพ้นวัยนี้ไปด้วยดี ตอนที่ ๓ แนวทางการนำหลักพุทธธรรมมาปฏิบัติภายในครอบครัว โดยการปฏิบัติตนตามหลักธรรมคำสอนของพระพุทธศาสนา จะสร้างความเข้าใจภายในครอบครัว โดยปรับให้มีทัศนคติที่ดีต่อกัน มีความคิดเห็นตรงกันยอมรับซึ่งกันและกันไม่ขัดแย้งกัน เมื่อทำได้ดังนี้สมาชิกในครอบครัวจะมีความปรารถนาดี ให้ความช่วยเหลือเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อกัน การปรับปรุงแก้ไขข้อบกพร่องนี้เป็นสิ่งสำคัญต่อการอยู่ร่วมกันของสังคมและ การดำรงชีวิต ดังนั้นการปรับตนให้รู้จักความจำเป็นในเรื่อง การใช้จ่ายทรัพย์ การรู้จักเก็บออม การรู้จักหา เพื่อการใช้จ่ายที่ถูกต้อง จะเป็นการสร้างอุปนิสัยที่ดีสำหรับสมาชิกในครอบครัว อนึ่งการแบ่งเวลาเพื่อให้สมาชิกได้ทำกิจกรรมร่วมกัน เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับครอบครัวและเป็นการเปิดโอกาสให้สมาชิก ได้แสดงความรู้สึกที่ดีต่อกัน นอกจากนี้การพูดถ้อยคำที่ไพเราะอ่อนหวาน จะสามารถประสานมิตรไมตรีต่อกันและการรู้จักหน้าที่ของตนจะช่วยลดปัญหาต่างๆ ได้ พระพุทธศาสนาถือว่าหลักพุทธธรรมเป็นหลักของการปฏิบัติความดีต่อกัน สมาชิกในครอบครัว ควรนำหลักพุทธธรรมมาเป็นแนวทางปฏิบัติ ในการดำเนินชีวิต เพื่อสร้างสันติสุขให้แก่สมาชิกในครอบครัว
Download : 254903.pdf