งานวิจัยนี้ เป็นการศึกษารูปแบบและแนวทางการเผยแผ่ธรรมทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่ง ประเทศไทย : ศึกษาเฉพาะกรณี การแสดงพระธรรมเทศนาในวัน ธัมมัสสวนะ ระหว่าง พ.ศ. ๒๕๓๙-๒๕๔๒ โดยตั้งวัตถุประสงค์การวิจัยไว้ ๓ ประการ คือ ๑. เพื่อศึกษารูปแบบและแนวทางการเผยแผ่พระพุทธศาสนา ทั้งในอดีตและปัจจุบัน ๒. เพื่อศึกษาเนื้อหาสาระหลักคำสอนของพระพุทธศาสนา ที่พระสงฆ์นำเสนอ ณ สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย กรมประชาสัมพันธ์ ๓. เพื่อเปรียบเทียบความสอดคล้องของบทพระธรรมเทศนา ที่พระสงฆ์นำมาแสดงกับพุทธวิธีการสอนและการสื่อสารตามหลักนิเทศศาสตร์ วิธีในการศึกษา เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ ( Qualitative Research) ซึ่งเน้นการวิจัยทางเอกสาร ( Documentary Research) เป็นหลัก ผลของการศึกษาวิจัยครั้งนี้พบว่า ๑. รูปแบบและแนวทางการเผยแผ่ธรรมของพระธรรมกถึก ทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย ทั้งอดีตและปัจจุบัน พบว่า มีรูปแบบและแนวทางการเผยแผ่ธรรมะที่เหมือนกัน คือ รูปแบบเทศนาโวหารพูดเพื่อให้ความรู้ โน้มน้าวใจ และความบันเทิง เป็นการสื่อสารเพื่อให้ผู้ฟังได้เรียนรู้ธรรมะได้อย่างชัดเจนแจ่มแจ้ง จูงใจให้เกิดศรัทธา ความแกล้วกล้าอาจหาญร่าเริง เป็นการสื่อสารแบบทางเดียวโดยมีพระสงฆ์เป็นสื่อบุคคล มีแนวทางการนำเสนอเนื้อหาที่เป็นประโยชน์ น่าสนใจ โดยใช้สำนวนภาษา คือ พุทธศาสน สุภาษิต สุภาษิต คำคม คำพังเพย กลอน นิทาน และอุปมาอุปมัย เพื่อเปรียบเทียบให้เนื้อหาของธรรมะปรากฏชัดเจนยิ่งขึ้น ๒. เนื้อหาสาระของหลักคำสอนส่วนมากตรงตามพระไตรปิฎก มีเนื้อหาบางส่วน เท่านั้นที่ยังขาดความสมบูรณ์ ความพอดี และคลาดเคลื่อนจากพระไตรปิฎกเล็กน้อย เนื้อหาที่กล่าวถึงเรื่องทาน มีความเหมาะสมตามสภาพเศรษฐกิจ และความประหยัด ของประชาชน เรื่องศีล สมควรเพิ่มเนื้อหาเล็กน้อย เป็นการสอนให้ประชาชนมีระเบียบวินัยมากยิ่งขึ้น ส่วนเรื่องภาวนา คือการปฏิบัติธรรมโดยตรงตามแนวแห่งสติปัฎฐาน ๔ มีเพียงเล็กน้อย สมควรเพิ่มเนื้อหาให้มากยิ่งขึ้น ส่วนบทธรรมะทั่วไปที่กล่าวถึงความสุขความเจริญ มีการนำมาแสดงมากทั้งในอดีตและปัจจุบัน สมควรลดเนื้อหาลง เพราะเป็นคำสอนที่ใช้แสดงได้ทุกโอกาส ไม่ต้องคำนึงถึงวันสำคัญ สถานการณ์ หรือผู้รับฟังแต่ประการใด เนื้อหาธรรมะส่วนใหญ่มีลักษณะที่คล้ายคลึงกัน คือ ไม่มีการประยุกต์เนื้อหาธรรมะ ให้เข้ากับเหตุการณ์ปัจจุบัน ทำให้ประสิทธิภาพในการนำไปใช้แก้ไขปัญหาชีวิตประจำวันได้ไม่เต็มที่ ในแต่ละสำนวนยกหัวข้อธรรมะขึ้นแสดงมากเกินไป ขาดการตรวจสอบและ เรียบเรียงเนื้อหาให้ต่อเนื่องถูกต้องและชัดเจน สำนวนภาษาสูงเกินความสามารถที่ผู้ฟังระดับชาวบ้านจะเข้าใจได้อย่างแจ่มแจ้ง ยกหัวข้อธรรมะและภาษาบาลีขึ้นแสดงมากเกินไป ใช้อุปมาที่ไกลตัว และนำเนื้อหาธรรมะไปเปรียบเทียบกับสิ่งที่ผู้ฟังไม่รู้จักและคุ้นเคย ๓. เนื้อหาธรรมะที่พระสงฆ์นำมาแสดง ทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย ส่วนมากมีความสอดคล้องกับพระไตรปิฎกตามหลักพุทธวิธีการสอน แต่มีบท พระธรรมเทศนาบางสำนวนเท่านั้นที่ไม่สอดคล้อง เพราะผู้แสดงไม่ได้เตรียมและตรวจสอบเนื้อหาของธรรมะ ให้ถูกต้อง ทำให้เนื้อหาไม่ต่อเนื่อง มีความผิดพลาดทั้งความหมาย ตัวอักษร และอธิบายธรรมะตามความคิดเห็นของตนเอง มีความสอดคล้องกับขบวนการการสื่อสารตามหลักนิเทศศาสตร์ คือ ผู้ส่งสาร หมายถึงพระธรรมกถึกที่มีความรู้ความสามารถในการเผยแผ่ธรรมะเป็นอย่างดี สาร หมายถึงสำนวนบทพระธรรมเทศนาทั้ง ๒๘๙ สำนวน ช่องทาง หมายถึงสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย และผู้รับสารหมายถึงประชาชนผู้รับฟังโดยทั่วไป เป็นการสื่อสารแบบทางเดียวมีพระสงฆ์เป็นผู้ส่งสาร หัวข้อธรรมะบางข้อพระสงฆ์นำมาแสดงซ้ำ ผู้ฟังได้ฟังบ่อย ๆ ก็สามารถจำได้ นับว่า เป็นการสอดคล้องที่สมบูรณ์ทั้งภาคทฤษฏีและภาคปฏิบัติ. ผลการวิจัยครั้งนี้ น่าจะนำไปใช้ในการพัฒนารูปแบบการเผยแผ่ธรรมะ ทางสถานีวิทยุแห่งประเทศไทย เช่น การเทศนาแบบปุจฉาวิสัชนา หรือการสื่อสารธรรมะแบบสองทาง เปิดโอกาสให้ผู้รับฟังได้สอบถาม ประยุกต์ธรรมะให้เข้ากับเหตุการณ์ปัจจุบัน ยกหัวข้อธรรมะขึ้นแสดงให้พอเหมาะ ไม่แสดงธรรมะโดยอัตโนมัติ และควรพัฒนา แนวทางการใช้ภาษา ให้มีการเรียบเรียงและตรวจสอบเนื้อหาให้เข้าใจง่ายและถูกต้อง ตรงตามพระไตรปิฎก แก้ไขปรับปรุงในส่วนที่บกพร่อง ลดการใช้ภาษาบาลีให้น้อยลง ทำบทพระธรรมเทศนาให้ถูกต้องตามหลักการทำบทวิทยุกระจายเสียง ระมัดระวังการใช้ภาษา ที่ต่ำกว่ามาตรฐาน เช่น ภาษาที่รุนแรง ไม่สุภาพ แสดงธรรมะไปตามหลักปริยัติ ปฏิบัติ และปฏิเวธ ได้ถูกต้องชัดเจน หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควรจัดทำแผนและระบบในการเผยแผ่ เพื่อปรับปรุงพัฒนารูปแบบวิธีการที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ควบคุมการนำเสนอเนื้อหาธรรมะของพระธรรมกถึก เพื่อให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน ถูกต้องตามพระไตรปิฎก ย่อมเป็นความมั่นคงของพระพุทธศาสนา และเป็นประโยชน์อย่างสูงสุดต่อประชาชน ผู้รับฟัง สามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างมีประสิทธิภาพ.
Download : 254868.pdf