การเทศน์มหาชาติ เป็นประเพณีของไทยมาแต่โบราณกาล คือ ตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัยมาจนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ การเทศน์มหาชาติมีการจัดเป็นประจำทุกปี ในระหว่างเดือน ๑๑ เดือน ๑๒ หรือเดือน ๑ (เดือนอ้าย) ในปัจจุบันนี้ได้เปลี่ยนไปตามสถานการณ์ที่เหมาะสม มหาชาติหรือเวสสันดรชาดกประกอบด้วยพระคาถาภาษาบาลี จำนวน ๑,๐๐๐ พระคาถา ลักษณะการเทศน์เรียกว่า เทศน์คาถาพัน หรือเทศน์มหาชาติ มหาชาติทั้ง ๑๓ กัณฑ์ ได้มีการแต่งเป็นร่ายยาวด้วยท่วงทำนองอันเพราะพริ้ง และการเทศน์แต่ละกัณฑ์ ก็จะมีท่วงทำนองที่แตกต่างกันออกไป เมื่อการเทศน์มหาชาติแต่ละกัณฑ์จบลงก็จะมีปี่พากย์ประโคมเพลงประจำภัณฑ์รับกัณฑ์เทศน์ด้วย การเทศน์มหาชาตินั้น เป็นการสั่งสอนคนให้รู้จักบาปบุญคุณโทษ ประโยชน์ และมิใช่ประโยชน์ รู้จักให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนา และเป็นการสรรเสริญพระเกียรติคุณขององค์ สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สมัยที่พระองค์เสวยพระชาติเป็นพระโพธิสัตว์พระนามว่า เวสสันดรในพระชาติสุดท้ายก่อนที่จะได้ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ โดยที่พระเวสสันดรทรงบำเพ็ญทาน รักษาศีล และเจริญภาวนา กล่าวคือ ทรงบำเพ็ญทาน ด้วยการพระราชทานวัตถุสิ่งของแก่ชาวเมือง พระราชทานช้างปัจจัยนาเคนทร์แก่พราหมณ์ชาวเมืองกาลิงคะ พระราชทานพระชาลีและพระกัณหา ซึ่งเป็นพระโอรสและพระธิดาแก่พราหมณ์ชูชก พระราชทานพระนางมัทรีซึ่งเป็นพระมเหสีแก่ท้าวสักกะ พระเวสสันดรทรงรักษาศีล รักษาคำสัตย์ คือ เมื่อพระองค์ตรัสว่าจะพระราชทานสิ่งใดแล้ว พระองค์ก็พระราชทานสิ่งนั้นดังที่ตรัสไว้ พระเวสสันดรได้เจริญภาวนาด้วยการเสด็จออกผนวช เจริญภาวนาอยู่ ณ เขาวงกต ทรงสละความเป็นอยู่อย่างกษัตริย์แล้วดำรงพระชนม์ชีพอย่างนักบวช จึงทำให้คนส่วนใหญ่ที่ได้ฟังเทศน์มหาชาติแล้วมีอุปนิสัยจิตใจอ่อนโยน มีศรัทธาปสาทะในพระพุทธศาสนา ยินดีในการให้ทาน รักษาศีล และเจริญภาวนา ตามพระจริยาวัตรของพระเวสสันดร นั่นคือ สามารถทำให้ความเห็นแก่ตัว หรือความยึดมั่นถือมั่นว่า “นั่นเรา นั่นของเรา” ค่อย ๆ เบาบางลง จนกระทั่งหมดสิ้นไปในที่สุด การเทศน์มหาชาติมีอิทธิพลต่อสังคมไทย ในด้านความเชื่อ คือ เชื่อว่าผู้ใดได้ฟังเทศน์มหาชาติครบ ๑๓ กัณฑ์ จบภายในวันเดียว ผู้นั้นก็จะได้รับอานิสงส์ ๕ ประการ คือ ๑. จะได้เกิดในศาสนาของพระศรีอริยเมตไตรยซึ่งจะมาอุบัติเป็นพระพุทธเจ้าในอนาคต ๒. จะได้ไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์ เสวยทิพยสมบัติอันโอฬาร ๓. จะไม่ไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต ๔. จะเป็นผู้มีลาภ ยศ ไมตรี และความสุข ๕. จะได้บรรลุมรรค ผล นิพพาน เป็นพระอริยบุคคลในพระพุทธศาสนา นอกจากนี้ ยังมีอิทธิพลต่อสังคมไทยในด้านต่าง ๆ เช่น ศีลธรรม จริยธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณี วรรณกรรม จิตรกรรม การศึกษา ตลอดถึงการเมืองการปกครองของไทยอีกด้วย