จากการศึกษาถึงบทบาทของพระอานนท์ในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา โดยได้เริ่มจากประวัติความเป็นมาตั้งแต่ต้น จนถึงนิพพาน ความสัมพันธ์กับบุคคลต่าง ๆ และการแสดงธรรมแก่พุทธบริษัทและบุคคลทั่วไปมาตามลำดับนั้น ได้ข้อสรุปว่า บทบาทในด้านความสัมพันธ์กับบุคคลต่าง ๆ ท่านมีความสัมพันธ์กับบุคคลต่าง ๆ คือ กับพระพุทธเจ้าในฐานะที่เป็นพุทธอนุชาเป็นพุทธอุปัฏฐาก กับภิกษุในฐานะเป็นเพื่อนสหธรรมิก เป็นที่ปรึกษา และเป็นผู้ประสานหมู่สงฆ์ให้เกิดความสามัคคี กับภิกษุณีในฐานะเป็นผู้สนับสนุนให้สตรีได้บวชในพระพุทธศาสนาและเป็นผู้ให้โอวาท กับอุบาสกอุบาสิกาในหน้าที่ปฏิคมและที่ปรึกษา กับบุคคลนอกศาสนาในการช่วยตอบปัญหาข้อข้องใจ ดังนั้นจะเห็นได้ว่าท่านต้องรับภาระและเป็นธุระในหลาย ๆ ด้าน บทบาทในด้านการเผยแผ่พระพุทธศาสนา ท่านมีบทบาทในการเผยแผ่ในลักษณะการให้คำแนะนำ ให้คำปรึกษา สนทนา ตอบปัญหาข้อข้องใจและแสดงธรรม โดยที่ท่านได้รับฟังจากพระพุทธเจ้า แล้วนำไปถ่ายทอดหรือเผยแผ่แก่ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา และบุคคลทั่วไปด้วยวิธีการที่ต่าง ๆ เช่น การบรรยาย การอธิบายขยายข้อความ เปรียบเทียบและถามตอบ เป็นต้น จนเป็นที่ศรัทธาเลื่อมใสและยอมรับนับถือพระรัตนตรัยกันอย่างแพร่หลาย แต่ก็มีบางส่วนที่มิได้หันมานับถือพระรัตนตรัย เพราะยังยึดติดอยู่กับลัทธิดั้งเดิม ถึงกระนั้นก็ยังมีความเคารพนับถือในตัวท่านเป็นกรณีพิเศษ ซึ่งก็เท่ากับว่า ท่านได้สร้างความเข้าใจอันดีระหว่างกลุ่มความเชื่อต่าง ๆ นับว่าเป็นตัวอย่างแห่งการประกอบศาสนกิจ ดำเนินชีวิต และเผยแผ่พระพุทธศาสนาของพุทธศาสนิกในปัจจุบันได้เป็นอย่างดี บทบาทในด้านการรักษาพระสัทธรรมให้คงอยู่ ท่านรักษาพระสัทธรรมไว้ได้ด้วยการศึกษาและทรงจำ ในเถรคาถากล่าวว่า ท่านสามารถ ทรงจำไว้ได้ถึง ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ ฉะนั้นในการทำปฐมสังคายนาท่านจึงได้รับการคัดเลือกให้เป็นผู้วิสัชนาพระธรรม และท่านก็ได้ทำหน้าที่นี้เป็นอย่างดี ด้วยการรวบรวมพระโอวาทและพระธรรมเทศนาที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ในที่ต่าง ๆ เสนอต่อที่ประชุมสงฆ์เพื่อให้ช่วยกันพิจารณาจัดเป็นหมวดหมู่ จนกลายมาเป็นพระสูตร พระอภิธรรมให้ได้ศึกษากันมาถึงปัจจุบัน บทบาทในการสร้างทายาทสืบต่อ ท่านก็เหมือนกับพระสาวกผู้มีชื่อเสียงอื่น ๆ คือการสร้างทายาทผู้สืบต่อในคัมภีร์สังยุตตนิกาย นิทานวรรค และอรรถกถาสังยุตตนิกาย นิทานวรรคกล่าวว่า ภิกษุผู้เป็นศิษย์ของท่าน เช่น พระสัพพกามี พระสาฬหะ พระเรวตะ พระขุชชโสภิตะ พระสาณวาสีสัมภูตะ พระยสกากัณฑบุตร เป็นต้น ส่วนใหญ่เป็นพหูสูตร(พหุสสุตา) และศิษย์ของท่านเหล่านี้ ภายหลังได้เป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการทำสังคายนาครั้งที่สอง