วิทยานิพนธ์นี้เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาในหลักสูตรพุทธศาสตรมหาบัณฑิตสาขาปรัชญา ซึ่งผู้วิจัยได้นำเรื่องการพนันโดยเฉพาะประเด็นการเปิดบ่อนถูกกฎหมายในประเทศไทยมาศึกษาวิเคราะห์ เพื่อนำเสนอข้อสรุปอันจะสามารถนำไปใช้เป็นแนวคิด เพื่อเลือกตัดสินใจและหาวิธีการที่เหมาะสมสอดคล้องต่อสภาพการณ์ของสังคมไทย ที่จะนำไปสู่การสร้าง "ประโยชน์สุข" และ "การพัฒนายกระดับคุณภาพชีวิต" ที่ยั่งยืนของคนในชาติเป็นสำคัญ
ทั้งนี้ เนื่องจากปัญหาการพนันในปัจจุบันได้ขยายวงกว้างตามกระแสโลกาภิวัตน์โดยอาศัยวิวัฒนาการทางการสื่อสาร จนกลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมสากล และวิกฤติการณ์ที่เกิดขึ้นนี้กำลังจะถูกทำให้เกิดเป็นโอกาสทางธุรกิจอย่างชอบธรรม ดังนั้นการศึกษาในประเด็นดังกล่าวจึงถือว่ามีความสำคัญอย่างมาก
ผู้วิจัยได้ดำเนินการรวบรวมข้อมูลจากแหล่งต่างๆ อาทิ งานวิจัย วิทยานิพนธ์พระราชบัญญัติการพนันและรายงานผลการสัมมนาและอภิปรายทางวิชาการ รวมถึงการให้สัมภาษณ์ทางสื่อมวลชนของบุคคลที่เกี่ยวข้องฝ่ายต่างๆ ทั้งจากฝ่ายที่คัดค้านและฝ่ายที่สนับสนุนประเด็นดังกล่าว
เนื้อหาวิทยานิพนธ์แบ่งออกเป็น ๕ บท ดังนี้
บทที่ ๑ บทนำ เป็นการเสนอความสำคัญของปัญหาที่ศึกษา วัตถุประสงค์ของการศึกษา และสมมติฐานของการวิจัย
บทที่ ๒ คำจำกัดความของการพนัน เป็นการนำเสนอความเป็นมา ความหมายประเภทของการพนันชนิดต่างๆ และวิวัฒนาการบ่อนการพนันในสมัยต่างๆ รวมถึงแรงจูงใจในการเล่นและปัญหาต่างๆ ที่เกิดจากการพนัน
บทที่ ๓ ความผิดที่เกิดจากการพนันในด้านต่างๆ เป็นการนำเสนอข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับการพนัน ความผิดทางกฎหมายและปัญหาในเชิงจริยธรรม รวมถึงทัศนะของผู้สนับสนุนและทัศนะของผู้คัดค้านการเปิดบ่อนการพนันถูกกฎหมาย
บทที่ ๔ วิเคราะห์ปัญหาการพนันทางจริยศาสตร์ เป็นการนำเสนอผลการศึกษาปัญหาการพนันตามหลักทางจริยศาสตร์ โดยอาศัยทฤษฏีประโยชน์นิยม ทฤษฏีพันธนิยมและ ทัศนะทางพุทธจริยศาสตร์
บทที่ ๕ บทสรุป เป็นการนำเสนอผลสรุปของการศึกษาวิเคราะห์และข้อเสนอแนะต่างๆ โดย มีสาระสำคัญ ๓ ประเด็น คือ
๑. ด้านเศรษฐกิจและสังคม
การเปิดบ่อนการพนันถูกกฎหมายในประเทศไทยจะทำให้เกิดผลกระทบทั้งด้านบวกและด้านลบต่อระบบเศรษฐกิจและสังคม ผลด้านบวกเป็นการสร้างรายได้มหาศาลให้แก่รัฐ หากรัฐสามารถมีการบริหารจัดการให้เป็นระบบที่มีประสิทธิผล จนทำให้การพนันกลายเป็น "ธุรกิจที่อยู่ภายใต้กรอบกฎหมาย" ได้เหมือนธุรกิจค้าเหล้าหรือบุหรี่ ในด้านลบ คือ บ่อนต่างๆ จะต้องแข่งขันกันกระตุ้นให้มีผู้มาใช้บริการมากขึ้น ซึ้งจะต้องทำให้เกิดศึกแย่งชิงลูกค้าระหว่างบ่อนในประเทศต่างๆ โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้านที่มีพรมแดนติดต่อกัน ก็จะทำให้เกิดปัญหาความมั่นคงของประเทศในที่สุดได้ และเมื่อยอมรับการพนันว่าเป็นสิ่งที่ชอบธรรม ผลกระทบต่อระบบสังคมที่สำคัญคือ ผู้คนก็จะไม่สนใจประกอบสัมสอาชีวะเพราะหวังรายได้จากการพนันแทน และเกิดการเสพติดการพนันยิ่งขึ้น อันจะนำมาซึ่งความอ่อนแอทางจริยธรรมและความล้มเหลวทางศีลธรรมในสังคมไทยซึ่งมีพื้นฐานเป็นสังคมชาวพุทธ
๒. ด้านจริยศาสตร์และพุทธปรัชญา
ทฤษฎีประโยชน์นิยม เป็นทัศนะที่เน้น "ผล" ของการกระทำว่า กฎหรือการกระทำที่มีแนวโน้มว่าก่อให้เกิดผล คือ ความสุข ถือว่าถูกต้อง แต่ถ้าเกิดผลตรงกันข้ามถือว่าผิด
ทฤษฎีพันธนิยม เป็นทัศนะที่เน้น เจตนาอันเป็นเหตุของการกระทำ คือ เจตนาดี ได้แก่ เจตนาที่จะทำตามหน้าที่ทางศีลธรรม ซึ่งมีลักษณะเป็นคำสั่งเด็ดขาด ไม่ขึ้นอยู่กับผลประโยชน์หรือการบีบคั้นจากอารมณ์หรือแรงจูงใจใดๆ ทั้งสิ้น
พุทธจริยศาสตร์ ทัศนะที่เน้นความเป็นกลาง (มัชฌิมาปฏิปทา) คือการมองสิ่งทั้งหลายตามเป็นจริง และเลือกการกระทำหน้าที่ตามหลัก กุศล ได้แก่ความไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลง โดยตัดสินว่า การกระทำที่มาจากเจตนาที่เป็นกุศลนั้น ถูกต้อง แต่ถ้าตรงกันข้าม (อกุศล) ก็ผิด
ดังนั้น การที่ใช้ทัศนะทั้ง ๓ มาวิเคะาะห์ปัญหาการเปิดบ่อนการพนันจึงทำให้ได้มุมมองที่น่าสินใจอย่างยิ่ง
๓. บทสรุป
รัฐไม่ควรส่งเสริมการใช้อบายมุขมาแสวงหาผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากคนส่วนใหญ่ในชาติ ซึ่งพื้นฐานจิตสำนึกยังขาดจริยธรรม ในทางตรงข้าม รัฐควรมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมการศึกษาและพัฒนา เพื่อยกระดับจิตสำนึกทางจริยธรรม เน้นการปลูกฝังระเบียบวินัยและความซื่อสัตย์ รวมถึงรณรงค์ให้เห็นโทษของอบายมุขและการเศพติดการพนัน เพราะพื้นฐานประชากรที่มีคุณภาพทางจริยธรรมและจิตสำนึกที่ถูกต้องจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาที่ต้นตอ และเกิดการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนในที่สุดได้เอง |