วิทยานิพนธ์เล่นนี้ มีจุดมุ่งหมายเพื่อศึกษาเชิงวิเคราะห์แนวความคิดเรื่อง ความเคารพในพระพุทธศาสนาเถรวาท อิทธิพลของความเคารพในพระพุทธศาสนาต่อสังคมไทย โทษของการขาดความเคารพและประโยชน์ของการมีความเคารพ ตลอดทั้งความเคารพกับแนวทางแก้ปัญหาและการพัฒนาชีวิต ผลของการศึกษาทำให้ทราบว่า ความเคารพเป็นหลักธรรมสำคัญประการหนึ่งพระพุทธเจ้าตรัสว่า เป็นมงคลอันสูงสุด พื้นฐานสำคัญของความเคารพ ได้แก่ ศีลหรือวินัยอันเป็นข้อวัตรปฏิบัติเพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยของคนในสังคม และพึงศึกษาให้ครบกระบวนการของการศึกษาตามหลักพระพุทธศาสนา คือ ไตรสิกขา ได้แก่ ศีล สมาธิ และปัญญา หลักการทั้ง ๓ ประการนี้ ช่วยเสริมสร้างให้คนมีหลักครองใจและมีวินัยยิ่งขึ้นส่งผลให้เกิดความเคารพในตัวบุคคลและสิ่งต่างๆ โดยการมองเห็นและตระหนักถึงคุณค่าที่มีอยู่ในตัวบุคคลและสิ่งต่างๆ เหล่านั้น นอกจากนี้แล้ว ศรัทธา ได้แก่ ความเชื่อและความเลื่อมใส ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ก่อให้เกิดความเคารพ แต่ศรัทธาที่ดีนั้น ต้องเป็นศรัทธาที่มีปัญญาเป็นเครื่องกำกับ จึงจะเป็นศรัทธาที่ถูกต้องแท้จริง หลักธรรมที่ส่งเสริมความเคารพ ได้แก่ สาราณียธรรม คือ ธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความระลึกถึงกัน ทำให้มีความเคารพกัน ช่วยเหลือกัน และสามัคคีพร้อมเพรียงกัน และอปริหานิยธรรม คือ ธรรมไม่เป็นที่ตั้งแห่งความเสื่อม ช่วงเสริมสร้างให้มีความเคารพกันตามลำดับผู้ใหญ่ผู้น้อย สอนให้รู้จักเคารพผู้หลักผู้ใหญ่ ทำให้เป็นคนอ่อนน้อมถ่อมตน และมีสัมมาคารวะ มารยาทไทย เช่น การกราบ การไหว้ ได้รับอิทธิพลมาจากพระพุทธศาสนา แสดงให้เห็นว่า คนไทยมีสัมมาคารวะ มีความอ่อนน้อมถ่อมตนนับตั้งแต่อดีตเป็นต้นมา แต่ในปัจจุบัน สภาพสังคมได้เปลี่ยนแปลงไปเป็นสังคมวัตถุนิยมและบริโภคนิยม ทำให้เรื่องความเคารพกันอย่างที่เคยปฏิบัติมา เริ่มมีทีท่าว่าจะลดน้อยถอยลง เช่น ลูกไม่เคารพพ่อแม่ เพราะฉะนั้น หากบุคคลทุกฝ่ายในสังคม ได้ศึกษาหลักการเกี่ยวกับความเคารพ รู้คุณค่าของความเคารพ ประโยชน์และโทษที่จะได้รับ และสามารถนำหลักการเหล่านั้นมาประยุกต์ใช้ในสังคม ย่อมมีส่วนช่วยแก้ปัญหาสังคม อันจะส่งผลให้สังคมมีความเจริญก้าวหน้าและผาสุกมั่นคงสืบต่อไป