วิทยานิพนธ์นี้ มีจุดมุ่งหมายเพื่อศึกษาเปรียบเทียบการประยุกต์ใช้หลักธรรมทางศาสนาในทางการเมืองตามทัศนะของพุทธทาสภิกขุ และมหาตมะ คานธี โดยผู้วิจัยได้แบ่งประเด็นสำคัญในการศึกษาออกเป็น ๓ ประการ คือ (๑) การวิเคราะห์หลักธรรมทางศาสนาและแนวคิดทางการเมืองของพุทธทาสภิกขุ (๒) การวิเคราะห์หลักธรรมทางศาสนา และแนวความคิดทางการเมืองของมหาตมะ คานธี (๓) เปรียบเทียบการประยุกต์ใช้หลักธรรมทางศาสนาในทางการเมืองของพุทธทาสภิกขุ และมหาตมะ คานธี
ผลจาการวิจัยมีข้อสรุปที่สำคัญคือ
๑. แนวความคิดทางการเมืองของพุทธทาสภิกขุนั้น มีพื่นฐานแนวความคิดอิงหลักทางพระพุทธศาสนาเป็นสำคัญโดยการประยุกต์ใช้หลักธรรมทางพระพุทธศาสนาเถรวาทพระพุทธศาสนานิกายเซน และศาสนาอื่นๆ เช่นคริสตศาสนาเป็นต้น คุณค่าการประยุกต์ใช้หลักธรรมทางศาสนากับแนวความคิดทางการเมืองของท่านสามารถแบ่งออกได้เป็น ๒ ส่วนคือ ส่วนแรกแนวความคิดของท่านมีคุณค่าทางด้านจิตใจ ด้วยท่านเสนอว่า ระบบการเมืองใดก็ได้ถ้าหากประกอบด้วยธรรมแล้ว ถือว่าเป็นรูปแบบการเมืองที่ดีที่สุดในทัศนะของท่าน ท่านได้เสนอแนวความคิดทางการเมืองแบบ "ธรรมิกสังคมนิยม" เราอาจนำความคิดของท่านไปเป็นระบบจริยธรรมทางการเมือง อุดมคติทางการเมืองและเป็นอุดมการณ์ทางการเมืองได้ ส่วนที่สอง ด้านการบริหารจัดการการปกครองนั้น ท่านเห็นว่าผู้ปกครองสามารถใช้วิธีการเผด็จการโดยธรรมได้ในคราวจำเป็น ท่านเสนอให้เป็นข้อเลือกของผู้ปกครองที่จะนำวิธีการนี้ในบางคราวของเหตุการณ์บ้านเมืองแต่ผู้ปกครองนั้นต้องมีธรรมกำกับ จึงจะเป็นระบบการปกครองที่ดีที่สุด ท่านเน้นการประยุกต์ใช้หลักธรรมสำหรับผู้ปกครองมากกว่าผู้อยู่ใต้ปกครอง ด้วยเหตุผลว่า การประยุกต์ใช้หลักธรรมกับผู้ปกครองเพียงคนเดียวง่ายกว่าจะทำให้ผู้อยู่ใต้ปกครองจำนวนมากมีธรรม แนวความคิดทางการเมืองแบบ "ธรรมิกสังคมนิยม" เป็นสังคมนิยมอุดมคติ ท่านเน้นการไม่สะสมส่วนเกิน การไม่เห็นแก่ตัวทุกคนคิดถึงผลประโยชน์ส่วนรวมมีความเอื้อเฟื้อแผ่เมตตากรุณาต่อกัน ต้องทำงานในส่วนของตนและเจียดจ่ายส่วนเกินให้แก่ผู้อื่น แม้ว่าแนวความคิดทางการเมืองแบบนี้จะมีความแตกต่างระหว่างชนชั้น แต่ความแตกต่างระหว่างชนชั้นเต็มไปด้วยความเมตตากรุณาต่อกัน หลักธรรมที่ พุทธทาสภิกขุ นำมาประยุกต์ใช้กับ "ธรรมิกสังคมนิยม" คือหลักทศพิธราชธรรม, มรรคมีองค์ ๘, โพชฌงค์ ๗, อิทธิบาท ๔, ศีล สมาธิ ปัญญา และหลักเมตตาธรรม เป็นต้น
๒. แนวความคิดทางการเมืองของมหาตมะ คานธี มีพื้นฐานความคิดอิงหลักทางศาสนาฮินดู โดยการประยุกต์ใช้หลักธรรมทางศาสนาฮินดูและศาสนาอื่นๆ เช่น พระพุทธศาสนาและคริสตศาสนา เป็นต้น คุณค่าแนวความคิดของท่านอาจแบ่งเป็น ๒ ส่วน คือ ส่วนแรก คุณค่าทางด้านจิตใจ โดยท่านได้นำวิธีการแบบ "อหิงสา" มาใช้กับแนวความคิดทางการเมืองของท่าน อหิงสาเป็นผลของหลักสัตยาเคราะห์ในภาคปฏิบัติ หลักการสัตยาเคราะห์เป็นหลักการที่ท่านสร้างขึ้นมาเอง โดยท่านได้รับอิทธิพลจากการขัดเกลาทางสังคมระหว่างศาสนาต่างๆ การใช้วิธีต่อสู้ทางการเมืองแบบ "อหิงสา" เป็นระบบจริยธรรมของอินเดีย คือการไม่ใช้ความรุนแรง (Non-Violence) และเน้นพลังแห่งความรัก พลังแห่งความดีงามมาแก้ปัญหาทางการเมือง รวมทั้งผู้ปกครองจะต้องเอื้ออำนวยต่อวัตถุประสงค์ดังกล่าว ท่านเน้นหลักธรรมสำหรับผู้ที่อยู่ในสังคมทุกคน ส่วนที่สอง ในทางการเมือง มหาตมะ คานธี นำวิธีการ "อหิงสา" มาเป็นวิธีการต่อต้านผู้ปกครองที่ไม่เป็นธรรมจนประสบความสำเร็จนำเอกราชมาสู่อินเดียได้ สัตยาเคราะห์เป็นทั้งกลักการ การบริหารจัดการและเป็นขบวนการต่อสู้ทางการเมืองแบบเฉพาะของ มหาตมะ คานธี หลักการเด่นของ "สัตยาเคราะห์" คือการไม่ใช้ความรุนแรง (Non-Violence) เป็นการต่อสู้ระหว่างความดีและความชั่ว สัตยาเคราะห์ขึ้นอยู่กับหลักการ ๒ อย่างคือ ๑) สัจธรรมและศรัทธาในสัจธรรม ๒) การดำเนินการอย่างต่อเนื่องและมั่นคง และหลักการสัตยาเคราะห์นี้จะต้องบรรลุถึงวัตถุประสงค์ตามหลักธรรม ๓ ประการคือ (๑) สัจธรรม (Truth) (๒) อหิงสธรรม (Non-Violence) (๓) ตปธรรม (Self-torture)
๓. ทั้งพุทธทาสภิกขุ และ มหาตมะ คานธี มองการเมืองในแง่วิวัฒนาการทางธรรมชาติและสังคมก่อให้เกิดความจำเป็นในการที่จะต้องมีผู้ปกครองที่มีธรรมเข้ามาปกครอง โดยการเน้นคุณธรรมของผู้ปกครองและผู้นำการต่อสู้ทางการเมือง แนวความคิดทางการเมืองของท่านต่างก็เน้นการพัฒนาจิตใจ และมีพื้นฐานที่เชื่อว่าทุกคนเกิดมามีความไม่เท่าเทียมกันทั้งกำลังสติปัญญาและความสามารถ สังคมมีชั้นสูงต่ำตามหน้าที่และปกครองกันตามลำดับ ทั้งสองท่านได้เสนอแนวความคิดทางการเมืองตามทัศนะของแต่ละท่านโดยการประยุกต์ใช้หลักธรรมทางศาสนาของตนเองและหลักศาสนธรรมร่วมของศาสนาอื่นๆ
พุทธทาสภิกขุ เป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนาเถรวาท วิธีนำเสนอแนวคิดทางการเมืองของท่านจำกระทำการโดยผ่านคำสอนทางศาสนา ส่วน มหาตมะ คานธี นอกจากเป็นนักการเมืองแล้ว อีกบทบาทหนึ่งท่านยังเป็นนักศาสนา นักศีลธรรม ดังนั้น แนวคิดทางการเมืองของท่านสามารถนำมาทดลองด้วยตนเองได้ อย่างไรก็ตามเมื่อดูจุดมุ่งหมายของทั้งสองท่านแล้วล้วนมีเป้าหมายอย่างเดียวกันคือความสันติสุขและสงบสุขของบ้านเมืองจะต่างกันอยู่แต่เพียงว่า พุทธทาสภิกขุ เน้นความสงบสุขทั้งแบบโลก (โลกิยสุข) และแบบความสงบสุขที่อยู่เหนือโลก (โลกุตตรสุข) อิงตามหลักทางพระพุทธศาสนาเถรวาทขณะที่ มหาตาะ คานธี มุ่งเป้าหมายให้เกิดความสงบสุขและสันติสุขในสังคมการเมืองอิงตามหลักทางศาสนาฮินดู |