วิทยานิพนธ์เล่มนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาเปรียบเทียบพุทธวิธีการสอนในอรรถกถาธรรมบทกับกระบวนการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ เพื่อต้องการทราบว่ามีลักษณะของกิจกรรมการเรียนรู้เหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร โดยแบ่งเนื้อหาออกเป็น ๕ บท ดังนี้ บทที่ ๑ ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา บทที่ ๒ พุทธวิธีการสอนในอรรถกถาธรรมบท บทที่ ๓ กระบวนการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ บทที่ ๔ เปรียบเทียบพุทธวิธีการสอนในอรรถกถาธรรมบท กับกระบวนการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ บทที่ ๕ สรุปผลการวิจัย อภิปรายผล และข้อเสนอแนะสำหรับการศึกษาเพิ่มเต็มต่อไป จากการศึกษาเปรียบเทียบพุทธวิธีการสอนในอรรถกถาธรรมบทกับกระบวนการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ผู้วิจัยพบว่าพุทธวิธีการสอนในอรรถกถาธรรมบท มีความสอดคล้องกับลักษณะของกิจกรรมการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ๕ ประการ คือ (๑) เรียนรู้อย่างมีความสุข (๒) เรียนรู้แบบองค์รวม (๓) เรียนรู้จากการผิด การปฏิบัติจริง และการสรุปองค์ความรู้ด้วยตนเอง (๔) เรียนรู้ร่วมกับบุคคลอื่น และ (๕) เรียนรู้กระบวนการเรียนรู้ของตนเอง ดังนั้น จึงสรุปได้ว่า พุทธวิธีการสอนในอรรถกถาบทกับกระบวนการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ เป็นการสอนที่มีลักษณะคล้ายคลึงกัน ซึ่งอยู่บนพื้นฐานของหลักการสำคัญ ๓ ปรการ คือ เน้นความแตกต่างระหว่างบุคคล เน้นให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการคิดการปฏิบัติจริงและสรุปองค์ความรู้ด้วยตนเอง และมุ่งให้ผู้เรียนได้รับประโยชน์สูงสุดจากการเรียนรู้ พุทธวิธีการสอนในอรรถกถาธรรมบทเน้นให้ผู้เรียนได้เข้าใจตนเอง โดยเฉพาะด้านจิตใจของตนเอง เพื่อให้ผู้เรียนได้ปรับปรุงแก้ไขตนเองจนได้บรรลุธรรมชั้นใดชั้นหนึ่งตามอุปนิสัยสมบัติที่เคยอบรมสั่งสมมา ในขณะที่ลักษณะของกิจกรรมการเรียนรู้ที่แตกต่างกันนั้น ผู้วิจัยพบว่าแตกต่างกันอยู่เล็กน้อย คือกระบวนการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ เน้นให้ผู้เรียนได้เรียนรู้กระะบวนการเรียนรู้ของตนเอง เพื่อให้ผู้เรียนได้เทคนิคและวิธีการในการแสวงหาความรู้ใหม่ๆ ต่อไป