งานวิจัยนี้มุ่งศึกษาเฉพาะชีวิตการศึกษา และการแปลคัมภีร์ของสมณะเสวียนจั้งเป็นหลัก ซึ่งเป็นส่วนที่มีอิทธิพลต่อสังคมพระพุทธศาสนาในประเทศจีน และสังคมโลกในยุคต่อมา สมณะเสวียนจั้งมีชีวิตในช่วงปลายราชวงศ์สุย ต้นราชวงศ์ถัง ออกบวชเมื่ออายุได้ ๑๓ ปี เป็นช่วงที่กระแสการศึกษาวิชาโยคาจารแพร่หลายอย่างกว้างขวาง ประกอบกับท่านมีอุปนิสัยที่เป็นคนชอบขบคิด จึงทำให้ท่านสนใจวิชานี้มากเป็นพิเศษ ภายหลังได้จาริกไปศึกษากับอาจารย์ที่มีชื่อเสียงตามเมืองใหญ่ๆ ในประเทศจีน กลับพบว่าอาจารย์แต่ละท่านต่างมีแนวการตีความแตกต่างกัน สาเหตุมาจากคัมภีร์ที่แปลกันหลายฝ่าย และแปลไม่ครบตลอดทั้งฉบับ ท่านจึงตัดสินใจจาริกไปชมพูทวีป ได้เข้าศึกษาที่มหาวิทยาลัยนาลันทา ฝากตัวเป็นศิษย์ของพระศีลภัทรศึกษาวิชาโยคาจาร เหตุวิทยา และภาษาสันสกฤตจนแตกฉาน การศึกษาของท่านไม่จำกัดเพียงในมหาวิทยาลัยนาลันทาเท่านั้น ท่านยังได้จาริกไปขอความรู้จากผู้ทรงคุณวุฒิตามแคว้นต่างๆ ทั่วอินเดียทั้ง ๕ (ทั้ง ๕ ภาคของประเทศอินเดียโบราณ คือ กลาง เหนือ ใต้ ตะวันออก ตะวันตก) จนมีความรู้ความเชี่ยวชาญในพระไตรปิฏกทั้งฝ่ายมหายานและสาวกยาน ได้รับสมญานามว่า "มหายานเทวะ" และ "โมกษะเทวะ" จากการโต้วาทีธรรม ภายหลังจากที่สมณะเสวียนจั้งเดินทางกลับจากประเทศอินเดีย พร้อมอัญเชิญพระไตรปิฏกฉบับภาษาสันสกฤตเป็นจำนวน ๖๕๗ ปกรณ์ ท่านได้จัดตั้งสนามแปลคัมภีร์ขึ้นภายใต้พระบรมราชูปถัมภืของพระเจ้าถังไท่จงและพระเจ้าถังเกาจง ตลอดเวลากว่า ๑๙ ปี ท่านได้ร่วมกับพระเถระผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาวิชาต่างๆ ทำการแปลคัมภีร์ออกมาเป็นจำนวน ๗๔ ปกรณ์ ๑๓๓๔ ผูก ล้วนเป็นการแปลออกมาตลอดทั้งฉบับ ผลงานการแปลคัมภีร์ของท่าน ได้มีอิทธิพลต่อวงการพระพุทธศาสนาในยุคสมัยของท่าน และยุคต่อๆ มา ทั้งนี้ไม่ว่าจะเป็นระเบียบวิธีการแปล กระแสการศึกษาวิชาโยคาจารซึ่งเป็นพระพุทธศาสนาแนวอภิปรัชญา และวิชาเหตุวิทยา จนได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งใน "สี่นักแปลผู้ยิ่งใหญ่" (พระกุมารชีพ พระปรมรรถ พระอโมฆวัชระ) เป็นผู้ทำให้มีการเจริญสัมพันธไมตรีระหว่างประเทศจีนและประเทศอินเดียขึ้นอย่างเป็นทางการ งานเขียนอีกชิ้นหนึ่งที่ส่งให้ท่านมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันไปทั่วโลก แม้ว่าท่านจะมรณภาพไปพันกว่าปีแล้วก็คือ บันทึกดินแดนตะวันตกสมัยราชวงศ์ถัง นับตั้งแต่ยุคสมัยศตวรรษที่ ๑๙ เป็นต้นมา บันทึกเล่มนี้ได้กลายเป็นเอกสารชิ้นสำคัญของนักประวัติศาสตร์ โบราณคดี ได้ใช้เป็นเข็มทิศเพื่อนำไปสู่การเปิดโลกของประเทศอินเดียโบราณ และแคว้นต่างๆ ในเอเชียกลาง ในช่วงสมัยพุทธศตวรรษที่ ๑๑-๑๒ สมณะเสวียนจั้งมีชีวิตที่ประกอบไปด้วยฉันทะวิริยะในการศึกษาคัมภีร์พระพุทธศาสนา มีผลการเรียนดีเด่นทั้งในและต่างประเทศ เป็นแบบอย่างของนักเรียนนอกและนักเรียนทุนในยุคปัจจุบัน เป็นพระธรรมทูตระดับนานาชาติที่สร้างความสัมพันธ์อันดีให้เกิดขึ้นระหว่างประเทศจีนและประเทศอินเดีย รวมไปถึงดินแดนในเอเชียกลางที่ท่านจาริกไป เป็นนักปฏิบัติโดยการนำความรู้ที่ได้ศึกษากลับไปเผยแพร่ยังบ้านเกิดเมืองนอนของตน อุทิศชีวิตให้กับพระพุทธศาสนา ด้วยการศึกษาค้นคว้าแปลพระธรรมคัมภีร์ และการเผยแพร่พระพุทธศาสนาจนกระทั้งมรณภาพ บุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยธรรมจริยาอันงดงามเช่นนี้ สมควรที่อนุชนรุ่นหลังจะได้ศึกษาเป็นแบบอย่าง