วิทยานิพนธ์เรื่อง ศึกษาวิเคราะห์ "สมถยานิกะ" ในการปฏิบัติกรรมฐาน อันมีกสิณ ๑๐ เป็นอารมณ์ ฉบับนี้ มีจุดมุ่งหมายที่จะศึกษาวิเคราะห์แนวทางการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน แบบสมถยานิกะ โดยศึกษาในลักษณะงานวิจัยเชิงคุณภาพผสมผสานกับงานวิจัยเชิงปริมาณ ด้วยการใช้แบบสอบถามเพื่อสำรวจทัศนคติ ของผู้ปฏิบัติกรรมฐานแนวกสิณ ๑๐ และดำเนินวิปัสสนาต่อไป ตามแนวทางของ "สมถยานิกะ" ทั้งนี้ โดยขั้นแรกเลือกปฏิบัติ สมถกรรมฐานแนวกสิณ ๑๐ ก่อนเพื่อสร้างสมาธิในระดับอัปปนาสมาธิจนสำเร็จสมถะ คือได้อภิญญา หรือไม่สำเร็จอภิญญาแต่สามารถทำฌานให้เกิดตั้งแต่ปฐมฌานเป็นต้นไป ให้เกิดขึ้นแล้ว จึงเจริญวิปัสสนาแบบ "สมถยานิกะ" ต่อไป ในงานวิจัยครั้งนี้ได้วิเคราะห์แนวทางการเข้าสู้วิปสสนา หลักๆ ๒ แนวทาง คือ แนวทางที่หนึ่งสำหรับผู้ที่ได้รับอภิญญา แนวทางที่สองสำหรับผู้ไม่ได้อภิญญาแต่ว่าได้ในระดับฌานตั้งแต่ปฐมฌานเป็นต้นไป โดยงานวิจัยนี้ได้แสดงถึงวิธีการทั้งสองว่าควรปฏิบัติวิปัสสนาแบบ "สมถยานิกะ" ในแนวทางลักษณะต่างๆ จนสามารถบรรลุอาสวักขยญาณในที่สุด ผลจากการศึกษาทัศนคติของผู้ปฏิบัติกรรมฐานดังกล่าว จากข้อมูลทั่วไปและพฤติกรรมการปฏิบัติกรรมฐาน ส่วนมากพบว่าเป็นเพศชายมากกว่าเพศหญิง อายุอยู่ระหว่าง ๓๑-๔๐ ปี ทุกคนนับถือพระพุทธศาสนา ส่วนมากเริ่มการปฏิบัติด้วย วรรณกสิณ ๔ และส่วนมากจะเจริญวิปัสสนาไปด้วย ในด้านทัศนคติต่อการเจริญกสิณ ๑๐ ปฏิบัติอยู่ในระดับปานกลางแต่สนใจการปฏิบัติกสิณ ๑๐ อยู่ในระดับมาก ฝึกแล้วทำให้ตัวเองมีจิตใจสงบ มีความสุข ช่วยพัฒนาตัวเองและสังคมให้ดีขึ้น อยู่ในระดับมาก ส่วนใหญ่เชื่อในผลการปฏิบัติว่าได้อภิญญาจริง แต่ขาดความรู้ในทางปริยัติธรรมในแนวทางการปฏิบัติดังกล่าว ส่วนทัศนคติต่อการปฏิบัติแบบ "สมถยานิกะ" อันมีกสิณ ๑๐ เป็นอารมณ์นั้น ยังมีความรู้ในด้านนี้น้อย แต่เชื่อว่าผลการปฏิบัติมีผลดีต่อตนเองและผู้อื่น รวมทั้งต่อสังคมไทยส่วนรวมอยู่ในระดับมาก รวมทั้งเชื่อมั่นระดับมาก ว่าเป็นวิธีหนึ่งที่สามารถทำให้บรรลุมรรคผลพระนิพพานและมีปฏิสัมภิทาญาณ ๔ ได้ สำหรับทัศนคติ ปัญหา และข้อเสนอแนะจากผู้ปฏิบัติ พบว่ามีความคิดเห็นหลากหลาย ตามความเชื่อและศรัทธาของตนเอง แต่โดยส่วนรวมแล้วเห็นว่า เป็นประโยชน์มาก และควรส่งเสริมให้มีการปฏิบัติแนว "สมถยานิกะ" อันมีกสิณ ๑๐ เป็นอารมณ์ต่อไป