โลกเรานี้เกิดขึ้นมาโดยธรรมชาติ มนุษย์ สัตว์ พืชพันธุ์ และสิ่งของต่างๆ ในโลกนี้ก็เกิดขึ้นโดยธรรมชาติเช่นกัน แต่สิ่งที่ประเสริฐที่สุดคือมนุษย์หรือคน เพราะคนรู้จักพัฒนาตนเอง เพื่อให้ตน ครอบครัว สังคมและประเทศชาติมีความสุขความเจริญ มีความก้าวหน้าสืบต่อกันไป ศาสนาและกฎหมายเป็นเครื่องมือในการพัฒนาคน เพราะศาสนาสั่งสอนให้คนทำความดี ละเว้นความชั่วและทำจิตใจให้บริสุทธิ์โดยการปลูกสำนึก ส่วนกฎหมายนั้นบังคับให้คนอยู่ในระเบียบวินัย ประเทศไทยเรานั้นมีพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ พระมหากษัตริย์ทรงเป็นพุทธมามกะ ตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย กรุงศรีอยุธยา ตลอดมาจนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ จึงกล่าวได้ว่าพระพุทธศาสนาได้พัฒนาคนไทย ครอบครัว สังคม และประเทศชาติไทย ควบคู่กันกับกฎหมายของบ้านเมืองที่พระมหากษัตริย์ ทรงมีพระบรมราชโองการประกาศใช้ตลอดมาจนบัดนี้ วิทยานิพนธ์นี้จึงต้องการศึกษาเปรียบเทียบกระบวนการยุติธรรมในพระวินัยปิกฎของพระพุทธศาสนากับกระบวนการยุติธรรมของกฎหมายไทยว่าทั้ง ๒ ระบบนี้มีกำเนิดและพัฒนาการมาอย่างไร เช่นต้นบัญญัติพระวินัยปิฎกเริ่มต้นตั้งแต่เมื่อใด บทบัญญัติของกฎหมายไทยนั้นเริ่มตั้งแต่เมื่อใด เมื่อภิกษุผู้ต้องอาบัติตามบทบัญญัติพระธรรมวินัยแลัวยังต้องรับโทษทัณฑ์ตามกฎหมายของบ้านเมืองอยู่อีกหรือไม่ มีวิธีการใดบ้างที่จะทำให้ผู้กล่าวหาและผู้ถูกกล่าวหาในทั้ง ๒ ระบบ ได้รับความสะดวกรวดเร็ว และยุติธรรมมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ทั้งนี้เพื่อให้สังคมแห่งสงฆ์ของฝ่ายศาสนจักรหรือพุทธจักร กับสังคมแห่งคฤหัสถ์ของฝ่ายอาณาจักรหรือราชอาณาจักรมีความสงบสุขร่มเย็นความเจริญก้าวหน้ายิ่งๆ ขึ้นไป