วิทยานิพนธ์นี้ มีจุดมุ่งหมายเพื่อการศึกษาเปรียบเทียบแนวคิดเรื่องทฤษฎีการเปลี่ยนแปลงในทัศนะพุทธปรัชญาเถรวาทกับมาร์กซิสม์ โดยผู้วิจัยได้แบ่งประเด็นที่สำคัญในการศึกษาออกเป็น ๓ ประการคือ (๑) ทฤษฎีการเปลี่ยนแปลงในทัศนะพุทธปรัชญาเถรวาท (๒) ทฤษฎีการเปลี่ยนแปลงในลัทธิ มาร์กซิสม์ (๓) การศึกษาเปรียบเทียบทฤษฎีการเปลี่ยนแปลงในทัศนะพุทธปรัชญากับมาร์กซิสม์ จากการศึกษาโดยใช้กรอบดังกล่าวทำให้ได้ข้อสรุปที่สำคัญคือ (๑) เรื่องการเปลี่ยนแปลงในทัศนะพุทธปรัชญาเถรวาท เป็นคำสอนที่อธิบายถึงกฎเกณฑ์เกี่ยวกับธรรมชาติของสรรพสิ่งทั้งหลายว่า มีการเกิดขึ้นในเบื้องต้น ดำรงอยู่ในท่ามกลาง และเสื่อมสลายไปในที่สุด ซึ่งเป็นหลักทั่วไปของสรรพสิ่งที่มีลักษณะเสมอเหมือนกันแก่สังขารทั้งปวง ทั้งที่เป็นอุปาทินกสังขาร และอนุปาทินกสังขาร เพราะตกอยู่ภายใต้การปรุงแต่งของเหตุปัจจัย (๒) กลุ่มมาร์กซิสม์ มีทัศนะเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงว่า ปรากฏการณ์ทั้งปวงในโลกธรรมชาติ เมื่อกล่าวถึงที่สุดแล้ว ได้เกิดขึ้นตามแบบวิภาษวิธี คือ ธรรมชาติทุกอย่าง จากสิ่งที่เล็กที่สุดจนถึงสิ่งที่ใหญ่ที่สุด จากเม็ดทรายถึงดวงอาทิตย์ จากเซลล์ชีวิตเล็กๆ จนถึงมนุษย์ล้วนมีอยู่ในรูปของการเกิด และดับสบายไปอยู่ตลอดเวลา มีการเคลื่อนไหลไม่มีที่สิ้นสุดอยู่ในรูปของการเคลื่อนไหว และเปลี่ยนแปลงอย่างไม่หยุดยั้งตลอดเวลา (๓) ทั้งพุทธปรัชญาเถรวาทและมาร์กซิสม์ ต่างก็มองปรากฏการณ์ทั้งมวลว่าเป็นกระบวนการของการเคลื่อนไหว เปลี่ยนแปลง และขึ้นอยุ่กับเหตุปัจจัย พุทธปรัชญาเรียกกระบวนการนี้ว่า สามัญลักษณะขณะที่ มาร์กซิสม์ เรียกว่า วิภาษวิธี พุทธปรัชญาเน้นย้ำเรื่อง “ทุกข์” โดยที่ความทุกข์นี้ตั้งอยู่บนพื้นฐานแนวคิดเรื่อง “อนัตตา” (ความไม่มีตัวตน) พุทธปรัชญามองปรากฏการณ์ทั้งมวลในรูปของกระบวนการแห่งความเป็นสาเหตุ และด้วยกระบวนการนี้เองที่เป็นสาเหตุก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง การแก้ไขปัญหา จึงต้องทำความเข้าใจอย่างแจ่มแจ้งถึงกระบวนการแห่งความเป็นสาเหตุ พร้อมทั้งปฏิบัติให้ถูกต้องตามวิถีทางนั้นๆ ปรัชญามาร์กซิสม์ เน้นย้ำที่ “การเปลี่ยนแปลง” การเปลี่ยนแปลงนี้ตั้งอยู่บนพื้นฐานแนวคิดเรื่อง “ความขัดแย้ง” เพราะปรัชญามาร์กซิสม์มองปรากฏการณืทั้งมวลในรูปของความขัดแย้งทางชนชั้น การแก้ไขปัญหาดังกล่าวจึงต้องทำลายชนชั้นทางสังคมให้หมดไป ปรัชญามาร์กซิสม์ มุ่งสนองตอบความสุขแบบโลกๆ ในขณะที่พุทธปรัชญาสองทั้งเรื่องความสุขบนโลกนี้ และความสุขที่เหนือโลก อันได้แก่มรรคผลนิพพาน