Mahachulalongkornrajavidyalaya University
MCU Home Search Contacts Study Events Site Map Thai/Eng
MCU
ON THIS SITE
Curriculum
Academic Articles

First Page » Assoc. Prof. Ven. Phramaha Hansa Dhammahaso, Ph.D. » No Justice No Unity
 
counter : 23506 time

''No Justice No Unity''
 
phramaha Hansa dhammahaso (2553)

ความยุติธรรมไม่มา สามัคคีไม่เกิดจริงหรือ
โดย
พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส, ผศ.ดร.
ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิชาการ
อาจารย์ประจำบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

๑. เกริ่นนำ
ในขณะที่สังคมไทยกำลังเผชิญหน้ากับวิกฤติการณ์ของความขัดแย้งจนนำไปสู่ความรุนแรงในมิติต่างๆ ดังเช่นที่ปรากฏตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา และจากการศึกษาวิเคราะห์จะพบว่า มีตัวแปรสำคัญหลายประการที่นำไปสู่การแสดงออกในลักษณะดังกล่าว เช่น การแย่งชิงผลประโยชน์ และความต้อง การนำเสนอ และเข้าใจข้อมูลคนละชุด ความสัมพันธ์ที่แปลกแยกระหว่างคนสองกลุ่ม และความเห็นต่างกันอย่างสุดขั้วเกี่ยวกับการพัฒนาโครงสร้างทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม
อย่างไรก็ดี นอกเหนือจากสาเหตุของความขัดแย้งที่นำไปสู่ความรุนแรงดังกล่าวแล้ว ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาได้มีการพูดถึงตัวสำคัญอีกประเด็นหนึ่ง กล่าวคือ ตลอดเวลาที่ผ่านมานั้น ได้มีกลุ่มคนจำนวนมากกล่าวว่า “หากขาดความยุติธรรมในสังคม ย่อมเป็นเรื่องยากที่จะเรียกร้องให้กลุ่มคนต่างๆ ในสังคมสมัครสามัคคี และปรองดองกัน”
คำถามของบทความนี้คือ “ความยุติธรรม” ดังกล่าวสำคัญอย่างไร จึงทำให้เกิดประเด็นที่ว่า “สามัคคียุติธรรม” กล่าวคือ “ความสามัคคี” (Unity) จะเกิดขึ้นในสังคมไทย หรือสังคมโลกไม่ได้ หากขาดความ “ยุติธรรม” (Justice) ด้วยเหตุนี้ ความยุติธรรมเป็นตัวแปรสำคัญที่จะทำให้ประชาชนในสังคมไทยอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขได้อย่างไร และในขณะเดียวกัน ความยุติธรรมนำไปสู่ความปรองดอง และสมัครสมานสามัคคีของคนในสังคมได้อย่างไร
๒. “ความยุติธรรม” สำคัญต่อการอยู่ร่วมกันอย่างไร
ศ.นพ. ประเวศ วะสี ชี้ว่า “สังคมต้องมีความยุติธรรมความยุติธรรมในสังคมเป็นรากฐานของความเจริญ สังคมใดก็ตามที่ขาดความยุติธรรมไม่อาจก้าวไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองได้ ไม่ว่าจะเป็นความเจริญทางเศรษฐกิจ สังคมหรือจิตใจ” ที่น่าสนใจคือ ท่านได้ชี้เพิ่มเติมถึงผลเสียที่จะตามมาหากสังคมขาดความยุติธรรมว่า “หากสังคมไร้ซึ่งความยุติธรรมจะก่อให้เกิดความทุกข์ ความขัดแย้ง การเสียกำลังใจ และนำไปสู่วิกฤติด้านต่าง ๆ รวมทั้งวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจที่เรากำลังเผชิญอยู่ ฉะนั้น ความยุติธรรมในสังคมจึงเป็นเรื่องสำคัญ แต่เท่าที่ผ่านมา สังคมไทยยังให้ความสำคัญกับเรื่องนี้น้อยเกินไป”
จากประเด็นดังกล่าว ศ.นพ.วันชัย วัฒนศัพท์ นักสันติวิธี และผู้ทรงคุณวุฒิของสถาบันพระปกเกล้าจึงชี้ชัดเพิ่มเติมว่า “ความรู้สึกไม่ยุติธรรม มักนำไปสู่ความขัดแย้ง และบางครั้งกลายเป็นความรุนแรงในทุกสังคม และชุมชน เพื่อเปลี่ยนแปลงไปสู่กระบวนการที่ทำให้เขาเกิดความรู้สึกร่วมกันว่ายุติธรรม”
คำถามก็คือ “ความรู้สึกไม่ยุติธรรม” ดังกล่าว เราจะสามารถประเมินจากได้จากอะไร มาร์ตอน ด๊อยท์ (Morton Deutsch) ได้ชี้ว่า “การแบ่งปัน วิธีการ การได้รับการตอบแทน หรือฟื้นฟู ขอบเขตและระบบคุณธรรม” ที่ “ไม่ชัดเจน” “บกพร่อง” และ “ไร้ความเป็นธรรม” จะกลายเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้บุคคล หรือกลุ่มบุคคลเกิด “ความรู้สึกไม่ยุติธรรม” ฉะนั้น เขาจึงเสนอว่า “ควรยึดหลักความเสมอภาค หรือความเที่ยงธรรม” (Equity) “ความเท่าเทียม” (Equality) และ “ความจำเป็น” (Need)
รศ.ดร.มารค ตามไท มิได้ละเลยประเด็นดังกล่าว ดังเห็นได้จากการตอบคำถามดังกล่าวในประเด็นที่ว่า “อะไรคือหัวใจ” หรือ “แกนกลาง” ของสันติวิธี คำตอบก็คือ “สันติยุติธรรม” (Just – Peace) คือ “หัวใจของสันติวิธี” ซึ่ง “สันติยุติธรรม” นั้น มีนัยที่ครอบคลุมถึง “สันติ” ตามที่ศาสนาต่าง ๆ ได้นำเสนอ ซึ่งเป็น “สภาวะสันติ” ที่มีคำว่า “ความยุติธรรม” รวมอยู่กับคำอื่น ๆ ด้วย เช่น ความรัก ความเสมอภาค เป็นต้น
ฉะนั้น ไม่ว่ารัฐ บุคคล หรือกลุ่มบุคคลต่าง ๆ จะใช้สันติวิธีในมิติใดก็ตาม สันติวิธีนั้น ต้องเป็นสันติวิธีที่มี “ความยุติธรรม” (Justice) เสมอ ซึ่งไม่ได้หมายความว่า “ยุติ” แต่ “ไม่เป็นธรรม” ซึ่งหลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคมไทย และสังคมโลกพบว่าปัญหาต่าง ๆ “ยุติ” แต่มักจะ “ไม่เป็นธรรม”
อย่างไรก็ตาม ผู้วิจัยมีข้อสังเกตเพิ่มเติมว่า เมื่อมองในมิติของศาสนา คำที่เป็น “กุญแจสำคัญของสันติวิธี” น่าจะเป็นคำว่า “ธรรม” เพราะคำนี้กินความกว้างกว่าคำว่า “ยุติธรรม” แต่เพียงประการเดียว ฉะนั้น หากใช้คำว่า “สันติ” ต้องคู่กับคำว่า “ธรรม” เสมอ คำตอบที่ได้ก็คือ ไม่ว่าเราจะเรียกสันติวิธีออกเป็นกี่ชุดของวิธีก็ตาม หาก “สันติวิธี” ดังกล่าว “ไม่ประกอบไปด้วยธรรม” แล้ว แนวทางนั้นย่อมไม่เรียกว่า “สันติวิธี” ตามแนวทางของสันติวิธีในบริบทของ “การจัดการความขัดแย้ง” ฉะนั้น วิธีการที่จะใช้เป็นคู่มือสำหรับจัดการความขัดแย้งต้องเป็นสันติวิธีที่ “มีธรรม” หรือ “เป็นธรรม” ซึ่งคำว่าวิธีที่เป็น “ธรรม” นั้น จะใช้วิธีอะไรก็ได้ แต่สิ่งที่ต้องเป็นวิธีถูกนำเสนอด้วย “เจตนาที่ดี” “ทุกคนยอมรับและปฏิบัติได้” และ “ทุกคนมีความสุข”
๓. “ความสามัคคี” บนวิถีแห่งความยุติธรรม
นิธิ เอียวศรีวงศ์ ตั้งข้อสังเกตในประเด็นนี้ว่า ความสามัคคี หรือความพร้อมใจกันจะเกิดขึ้นได้ในสังคมนั้น ต้องเกิดจาก “ความเท่าเทียม” ของคนในสังคม ทั้งในด้านผลประโยชน์ หรือการต่อรอง “สามัคคีของผม หมายถึงความพร้อมใจ ซึ่งเกิดจากการเจรจาต่อรองกันอย่างเท่าเทียมกัน รู้ข้อมูลของกันและกันด้วย ตรวจสอบกันได้ด้วย จนเกิดความไว้วางใจซึ่งกันและกัน”
แต่ประเด็นที่ท่านไม่เห็นด้วยก็คือการนำเสนอประเด็น “สามัคคี” บนฐานของอำนาจที่ไม่เท่าเทียม “ผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองมักจะเรียกร้องให้เราสามัคคีกันในมิติของคำว่า ‘อย่าหือ’ อันเป็นความสามัคคีในลักษณะของการกดทับ…เพื่อให้คนเล็กต้องยอมรับคนใหญ่อยู่ตลอดเวลา” ซึ่งหากความสามัคคีถูกตีความในลักษณะ “อย่าหือ” เช่นนี้ท่านมองว่าเป็นไปไม่ได้ที่จะสร้าง “กติการ่วมกัน
ในการสร้างกติการ่วมกันนั้น ”มารค ตามไท มองว่า “ ความสามัคคี คือ ศักยภาพของสังคมที่จะทำบางอย่างร่วมกันในบางสถานการณ์ที่เกิดขึ้น” ปัญหาที่ยิ่งใหญ่ในสังคมไทยในปัจจุบันนี้ก็คือ “เป้าหมาย” ที่แต่ละคนในสังคมกำลังจะทำ “ร่วมกัน” นั้น ต้องถามให้ชัดเจนว่า “เป็นเป้าหมายเดียวกันหรือไม่ เป็นจุดหมายปลายทางเดียวกันหรือไม่”
จะเห็นว่า หากทุกคน และแต่ละคนมีเป้าหมายต่างกัน มีค่านิยมต่างกัน มีทัศนคติ มีวัฒนธรรม หรือพื้นฐานทางความเชื่อที่แตกต่างกันแล้ว ความสามัคคีจะถูกนำมาใช้ได้อย่างไร และจะอยู่ร่วมกันได้อย่างไร คำตอบก็คือ การให้ทุกคนในสังคมนั้น หา “กติการ่วมกัน” เพื่อใช้เป็นพื้นฐานทางการปฏิบัติสำหรับก้าวไปสู่เป้าหมายเดียวกัน มากกว่าการที่จะให้คนในสังคมพยายามจะหา “คุณค่าหรือโลกทัศน์ร่วมกัน” ท่านสรุปว่า “หากทุกคนหากติการ่วมกันจะทำให้ ‘สามัคคี’ ทำงานได้ และเกิดขึ้นได้ในสังคม”

ในขณะที่ประเวศ วะสี นั้น ได้นำเสนอแนวคิดเรื่อง “พลังงานทางสังคม” (Social Energy) ซึ่งผู้วิจัยมองว่าสามารถนำมาเสริมแนวคิดในการสร้าง “กติการ่วม” ของมารค ตามไท ได้อย่างน่าสนใจ เพราะว่าการสร้างกติกาทางสังคมจะเกิดขึ้นไม่ได้หากคนในสังคมขาด “พลังงานทางสังคม” พลังในบริบทนี้คืออะไร เกิดจากอะไร และจะนำไปสู่เป้าหมายร่วมกันได้อย่างไร ประเวศ วสี ชี้ว่า “พลังที่เกิดจากการร่วมกันคิด และร่วมกันกระทำ” ที่แต่ละคนมีอยู่เป็นหน่วยเล็ก ๆ และก่อให้เกิดพลังทางสังคมขึ้น เมื่อ “พลังงานทางสังคมนั้นเกิดจากการร่วมมือกันจากหลายฝ่าย” เหตุผลที่ต้องใช้พลังทางสังคมก็เพราะว่า “การใช้อำนาจไม่สามารถแก้ไขปัญหาที่มีความซับซ้อนได้” ฉะนั้น “จำเป็นต้องอาศัยการร่วมมือของผู้ที่เข้ามาเกี่ยวข้องทั้งหมด”
ด้วยเหตุนี้ ท่านจึงนำเสนอหลัก “อปริหานิยธรรม” ขึ้นมา “เสริม” เพื่อให้ “สามัคคี” ทำงานได้อย่างคล่องตัวมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะทำให้การสร้างกติการ่วมกันของคนในสังคมเป็นไปอย่างมีเป้าหมาย ชัดเจนและเกิดความสมานฉันท์ได้ง่ายขึ้น
จะเห็นว่าประเวศ วะสี นิธิ เอียวศรีวงศ์ และมารค ตามไท ได้นำเสนอประเด็นไว้ในบริบทที่แตกต่างกัน แต่แง่มุมที่น่าศึกษาอย่างยิ่งก็คือ ประเวศ วะสีและ มารค ตามไทนั้นมอง “สามัคคี” ในเชิง “มหภาค” และค่อนข้างจะ “เสริม” กันและกันในบางมิติ อย่างไรก็ดี ประเด็นที่ประเวศ และมารคได้นำเสนอเกี่ยวกับการสร้างกติการ่วมโดยใช้ “พลังทางสังคม” เข้ามาช่วยนั้น เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ หากสังคมใดสังคมหนึ่งได้ใช้อำนาจเหนือ (Power Over) อันเป็นการใช้อำนาจใหญ่กว่า “กดทับ” อำนาจที่มีขนาด และกำลังที่เล็กกว่า ฉะนั้น เมื่อใดก็ตามอำนาจทางผลประโยชน์ การเจรจาต่อรอง หรือการแบ่งปันทรัพยากร ความยุติธรรมมีความเท่าเทียมกันในสังคม เมื่อนั้นการสร้าง “กติการ่วม” นับเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ในสังคม
๔. บทส่งท้าย: ความยุติธรรมไม่มา สามัคคีไม่เกิดจริงหรือ
เมื่อวิเคราะห์จากนักวิชาการและปฏิบัติการด้านสันติวิธีในเบื้องต้นพบคำตอบที่น่าสนใจว่า ความยุติธรรมเป็นเครื่องมือประการหนึ่งที่สำคัญอย่างยิ่งที่จะสร้างความ “สามัคคี” ให้เกิดขึ้นในสังคมปัจจุบัน หากมองในมิตินี้จะพบว่า สามัคคีคือเป้าหมาย (Goal) ส่วนความยุติธรรมคือเครื่องมือ หรือตัววิธีการที่จะนำไปสู่เป้าหมายดังกล่าว
อย่างไรก็ดี ในขณะที่สังคมไทยเป็นสังคมแบบพหุนิยม (Pluralism) ที่ประกอบด้วยกลุ่มคน กลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ และกลุ่มขัดแย้งหลายกลุ่ม ฉะนั้น การนิยาม หรือให้ความหมายของคำว่า “ยุติธรรม” ย่อมมีความเห็น มุมมอง และแนวทางในการปฏิบัติที่แตกต่างกัน และย่อมเป็นเรื่องยากที่จะหาบทสรุป หรือหาความหมายร่วมกันในระยะเวลาอันสั้น
ถึงกระนั้น ประเด็นเรื่องการสร้าง “กติการ่วม” (Ground Rules) นับเป็นความจำเป็นอย่างเร่งด่วนที่สังคมไทยจะต้องสร้างเวทีเพื่อหาบทสรุปร่วมกันโดยอาศัยความร่วมมือจากองคาพยพต่างๆ ในสังคมบนบาทฐานหลักการต่างๆ เช่น หลักอปริหานิยธรรมตามที่ ศ.นพ.ประเวศ วะสีนำเสนอ โดยการดึงภาคส่วนต่างๆ ที่มีความเห็นต่างเข้ามาพบปะ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ในเวลา และสถานที่ที่เหมาะสม (Inclusive Society) เพื่อให้เกิดกระบวนแบ่งปันข้อมูลที่รอบด้าน โดยไม่พยายามที่จะผลักคนที่เห็นต่างออกไปจากสังคมไทย (Exclusive Society)
กรณีศึกษาที่สำคัญยิ่งในประเด็นนี้คือ หากมองในเชิงพุทธ สังคมที่พระพุทธเจ้าปรารถนาจะเห็นคือ “สังคมแห่งความพร้อมเพรียง” เพราะว่า “ความพร้อมเพียงแห่งหมู่คณะ นำความสุขมาให้” สังคมแบบพหุนิยมนั้นเป็นสังคมที่จะต้องเปิดพื้นที่ให้กลุ่มคนต่างๆ ได้ดำรงอยู่อย่าง “มีศักดิ์ศรี” และ “เคารพให้เกียรติซึ่งกันและกัน” และสิ่งสำคัญอย่างยิ่งคือ “การสร้างกฎเกณฑ์ในการอยู่ร่วมกัน” ที่ทุกฝ่ายยอมรับได้ เพื่อทำให้สังคมของพระองค์เพียงพอที่จะรองรับกลุ่มคนต่างๆ ให้ได้รับความยุติธรรมอย่างเท่าเทียม เพื่อใช้ความยุติธรรมเป็นเครื่องสร้าง “สามัคคีธรรม” ให้เกิดขึ้น และพร้อมที่จะรองรับบรรยากาศแห่ง “สันติธรรม” ในลำดับต่อไป.

 

(Source: Article)
 
 
 
Copyright © Mahachulalongkornrajavidyalaya University All rights reserved 
Maintained by: webmaster@mcu.ac.th 
Last Update : Thursday February 9, 2012