Mahachulalongkornrajavidyalaya University
MCU Home Search Contacts Study Events Site Map Thai/Eng
MCU
ON THIS SITE
Curriculum
Academic Articles

First Page » Assoc. Prof. Ven. Phramaha Hansa Dhammahaso, Ph.D. » พระพุทธเจ้าในฐานะนักเจรจาไกล่เกลี่ยคนกลาง
 
counter : 19770 time

''พระพุทธเจ้าในฐานะนักเจรจาไกล่เกลี่ยคนกลาง''
 
Assist. Prof. Ven. Phramaha Hansa Dhammahaso, Ph.D. (2553)

พระพุทธเจ้าในฐานะนักเจรจาไกล่เกลี่ยคนกลาง

โดย

พระมหาหรรษา  ธมฺมหาโส, ผศ.ดร.

ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิชาการ

ผู้อำนวยการสำนักงานสมาคมมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนานานาชาติ

มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

 

๑. เกริ่นนำ

เพราะเหตุใดมนุษย์และสังคมจึงต้องขัดแย้งกัน หรือว่าบนฐานของความขัดแย้ง แท้ที่จริงแล้ว  เหตุผลที่ต้องขัดแย้งก็เพราะความขัดแย้งเป็นสิ่งจำเป็น (Necessary) หรือเป็นธรรมชาติ (Nature) ของมนุษย์และสังคมนั่นเอง ฉะนั้น มนุษยและสังคมจึงไม่สามารถหลีกหนีความขัดแย้งดังที่ชัยวัฒน์ สถาอานันท์  ให้ความเห็นว่า ประวัติศาสตร์ของมนุษย์ชาติไม่เคยว่างเว้นจากความขัดแย้ง  ไม่ว่าจะในระดับบุคคล   มนุษย์มิได้ถือกำเนิดมาเหมือนกันแต่เป็นความแตกต่างอันเป็นผลมาแต่พันธุกรรม หรือสภาพแวดล้อมทางสังคม[1]  จากสถานการณ์ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นดังกล่าว ทำให้เกิดการตั้งคำถามว่า สุดท้ายแล้ว ความขัดแย้งเป็นบุญที่ก่อให้เกิดการรังสรรค์สิ่งดีงามให้แก่สังคม หรือว่าเป็นบาปที่สาบมนุษย์และสังคมให้จมอยู่กับปัญหา และความวุ่นวายระหว่างมนุษย์และสังคม 

                      ในขณะที่นักขัดแย้งวิทยา (Conflict Theorists) ที่จัดอยู่ในกลุ่มของนักสังคมวิทยา (Social Theorists) มองว่า มนุษย์เป็นสัตว์สังคม” (Social Animals) ที่เป็นส่วนหนึ่งของสังคม และเป็นส่วนหนึ่งของผลผลิตจากการคบหาสมาคมซึ่งกันและกันของบุคคลในสังคม[2]  ซึ่งการที่มนุษย์จะสามารถดำรงชีวิตอยู่รอดในสังคมได้นั้น ก็จำเป็นที่จะต้องอาศัยปัจจัยทางชีวภาพ[3]   และปัจจัยด้านอื่น ๆ  เพื่อสนอง ความต้องการของตนเอง  คำถามมีว่า ความอยาก หรือความต้องการ ได้เข้าไปสัมพันธ์กับความขัดแย้งอย่างไร เพราะการที่มนุษย์และสังคมไม่เข้าใจธรรมชาติของความอยากหรือความต้องการอย่างแท้จริงใช้หรือไม่ จึงทำให้ ติดกับดัก ของความขัดแย้ง

                      โดยเฉพาะอย่างยิ่ง  ประเด็นที่ซามูเอล ฮันติงตัน (Samuel Huntington)[4] ให้ความเห็นเรื่อง การปะทะกันทางวัฒนธรรม จนทำให้ธีรยุทธ บุญมี[5] และสุรชาติ  บำรุงสุข[6] ได้ตอกย้ำว่า รากฐานสำคัญของความขัดแย้งในลักษณะดังกล่าวเป็นเพราะชาติพันธุ์-ชาตินิยม (Ethno-Nationalism) ซึ่ง ชัยวัฒน์ สถาอานันท์[7] และรอฮีม ปรามาส[8] ก็มองว่า   ลัทธิเผ่าพันธุ์- ลัทธิเชื้อชาตินิยม (Ethnocentrism)  และการยึดหลักโดยเน้นศาสนาของตัวเองเป็นศูนย์กลาง (Religion Centric) นั้นเป็นตัวแปรสำคัญที่จะทำให้เกิดความขัดแย้งในยุคปัจจุบัน ซึ่งประเด็นเหล่านี้ สัมพันธ์กับความอยาก โดยเฉพาะประเด็น ความอยากมี อยากเป็น ในพระพุทธศาสนาด้วยหรือไม่

พระพุทธศาสนาซึ่งถือได้ว่าเป็น ศาสนาแห่งสันติ[9]  มีท่าทีต่อปัญหาข้างต้นอย่างไร พระพุทธศาสนายอมรับได้หรือไม่ว่า ความขัดแย้งเป็นธรรมชาติของมนุษย์และสังคม[10]  พระพุทธเจ้าทรงมองความขัดแย้งอย่างไร  ทรงมองว่าเป็น ธรรมชาติของมนุษย์  ซึ่งถือได้ว่าเป็น สิ่งที่มนุษย์หลีกเลี่ยงไม่พ้นใช่หรือไม่  หรือทรงมองว่า ความขัดแย้งไม่ใช่ธรรมชาติของมนุษย์

ในขณะเดียวกัน เมื่อมนุษย์ และสังคมเกิดความขัดแย้ง พระพุทธเจ้าทรงมีพุทโธบายในการจัดการความขัดแย้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง  กระบวนการในการทำหน้าหน้าที่นักเจรจาไกล่เกลี่ยคนกลางอย่างไร เมื่อพระพุทธเจ้าดำรงตนอยู่ในสถานะนักเจรจาไกล่เกลี่ยคนกลาง พระองค์สามารถที่จะดำเนินการไกล่เกลี่ยได้ทุกกรณี หรือว่ามีกรณีใดที่พระองค์ไม่สามารถที่จะทำให้คู่กรณีสามารถเลือกทางเลือกที่ดีที่สุดให้แก่ตัวเอง  ฉะนั้น ก่อนที่จะค้นหาคำตอบดังกล่าว จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเข้าใจความขัดแย้งในมิติของพระพุทธศาสนา เพื่อจะตอบประเด็นที่ว่า พระพุทธเจ้าเข้าไปไกล่เกลี่ยคู่กรณีที่เกิดความขัดแย้งอย่างไร

 

 

 

 

๒. ความขัดแย้งเป็นสิ่งจำเป็น หรือเป็นธรรมชาติของมนุษย์หรือไม่

                      กฎไตรลักษณ์ เป็นชุดแนวคิดที่สามารถอธิบายกฎการเปลี่ยนแปลงในเชิงกายภาพ  หรือรูปธรรมได้ครอบคลุมที่สุด  ในขณะเดียวกัน กฎนี้ไม่ได้รับการออกแบบเพื่ออธิบายความเปลี่ยนแปลงเชิงกายภาพ หรือรูปธรรมแต่เพียงประการเดียว  แต่ครอบคลุมความเปลี่ยนแปลงเชิงจิตภาพ หรือนามธรรมด้วย  โดยเฉพาะอย่างยิ่งนามธรรมที่ว่าด้วย สภาวะของความขัดแย้ง  กฎนี้อธิบายให้เห็นว่า  ความเป็นจริงแล้วสรรพสิ่งในโลกนี้ล้วนตกอยู่ภายใต้การควบคุมของ  ความไม่เที่ยง  (อนิจจัง)  การคงอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้” (ทุกขัง)  และ เราไม่สามารถที่จะบังคับสิ่งใดสิ่งหนึ่งให้เป็นไปตามความต้องการ หรืออำนาจของเราได้” (อนัตตา) 

                      แม้ว่านักคิดบางท่านย้ำว่า ความขัดแย้งนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง  ถึงกระนั้น ความเปลี่ยนแปลงก่อให้เกิดความขัดแย้งได้เช่นเดียวกัน เพราะความคิด หรือการกระทำของมนุษย์เปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง  เพราะว่าสรรพสิ่ง หรือสภาวะต่าง ๆ  (ยกเว้นพระนิพพาน) นั้นคงอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ (ทุกขัง) ด้วยเหตุนี้ เราจึงไม่สามารถบังคับให้บุคคล หรือสิ่งใดก็ตามเป็นไปตามความปรารถนาของเรา ฉะนั้น  ความขัดแย้งจึงเกิดขึ้น  ซึ่งเป็นการเกิดขึ้นบนฐานที่เรามี            ความคาดหวังว่า เขาต้องคิด พูด หรือกระทำเหมือนกับเรา  หรือคาดหวังว่าสิ่งต่าง ๆ ต้องไปเป็นตามความต้องการของเรา 

                      การเข้าใจความจริงดังกล่าว ทำให้ง่ายต่อการอธิบายว่า ความขัดแย้งเป็น      ธรรมชาติของมนุษย์หรือไม่  และเพื่อตอบคำถามดังกล่าวนั้น สิ่งที่จะต้องตั้งคำถามต่อไปก็คือว่า มนุษย์ในบริบทนี้หมายถึงใคร  คำว่า มนุษย์  หมายถึง มนุษย์ในฐานะที่เป็นปุถุชน   หรือว่า  มนุษย์ในฐานะที่เป็นพระอรหันต์ด้วย

                      กล่าวถึง มนุษย์ในความหมายของ ปุถุชนเมื่อวิเคราะห์ภายใต้กรอบของ กฎไตร-ลักษณ์  ก็ย่อมง่ายที่ตอบปัญหาดังกล่าว เพราะมนุษย์ปุถุชนนั้นยังมีสภาพจิตที่ถูกปกคลุมได้ด้วยกิเลสในลักษณะต่าง ๆ ไม่ว่าความโลภ ความโกรธ  ความหลง หรือความไม่รู้ ความอยาก และความยึดมั่นถือมั่น เป็นต้น  ฉะนั้น  เมื่อมนุษย์ ปุถุชนเคลื่อนไหวร่างกายไปพร้อมกับสภาพจิตที่หวั่นไหวดัวยแรงผลักดันของ อกุศล[11] หรือ กุศล  ย่อมเป็นธรรมดาที่จะต้องเผชิญกับความขัดแย้งในมิติต่าง ๆ  ที่เกิดจากการคิด การพูด หรือกระทำที่แตกต่างกันดังจะเห็นได้จากปรากฏการณ์ความขัดแย้งตามที่สถานการณ์ความขัดแย้งที่ปรากฏในพระไตรปิฎกหลายแห่ง เช่น ความขัดแย้งกันเกี่ยวกับการแย่งที่อยู่อาศัยของพระภิกษุ  หรือความขัดแย้งกันของสาวกนิครนถ์ นาฏบุตร    ซึ่งความขัดแย้งเหล่านี้เริ่มต้นจากการมีความเห็นในทิศทางที่แตกต่างกัน  จนสถานการณ์ลุกลามไปสู่ความรุนแรง

                      จะเห็นว่า เมื่อมองในมิติของโลกิยะวิสัย ความขัดแย้งเป็นเรื่องธรรมดา และฝังรากลึกในสังคมซึ่งมนุษย์มิสามารถที่จะหลีกเลี่ยงข้อเท็จจริงดังกล่าวได้   จะเห็นว่า ธรรมชาติของความขัดแย้งในลักษณะนี้  มีอยู่ และดำรงอยู่ในภายในของมนุษย์เอง   รวมไปถึงการที่มนุษย์ปฏิสัมพันธ์กับบุคคล หรือกลุ่มบุคคล ไม่ว่าจะเป็นเรื่องครอบครัว การทำงาน  เศรษฐกิจ การเมือง และสังคม  ซึ่งการเข้าไปเกี่ยวข้องในลักษณะดังกล่าว ในฐานะที่มนุษย์เป็น  สัตว์สังคม (Social Animal) ย่อมเป็นเรื่องยากที่จะหลีกเลี่ยงความขัดแย้งได้   ฉะนั้น ความขัดแย้งเป็นธรรมดาสามัญของสิ่งต่าง ๆ ที่อาศัยอยู่ในโลกไม่ว่าจะเป็นความขัดแย้งที่ซ่อนตัวอยู่ในธรรมชาติ หรือการดำเนินชีวิตของมนุษย์ที่เป็นปุถุชน

 

๓. พระอรหันต์ขัดแย้งกันได้หรือไม่

                      คำถามมีว่า  พระอรหันต์ยังมีธรรมชาติแห่งความขัดแย้งอยู่ภายในหรือไม่  การตอบคำถามนี้จำเป็นต้องแยกคำว่า ความจริงในเชิงปรมัตถ์   (ปรมัตถสัจจะ) ” กับ ความจริงในเชิงสมมติ” (สมมติสัจจะ)  ออกจากกัน  เหตุผลสำคัญที่ต้องแยกเพราะสภาวธรรมของความเป็น       พระอรหันต์กับบัญญัติเป็นคนละประเด็น   คำว่า อรหันต์หมายถึง ผู้ไกลจากกิเลส   กล่าวคือ สภาวะจิตที่ไร้ภาวะความขัดแย้งเพราะนิพพานเป็นการดับกิเลสจึงทำให้เกิดภาวะที่ไม่มีความขัดแย้ง  ฉะนั้น  คำว่า ไม่มีความขัดแย้งมีนัยบ่งถึงภาวะจิตที่สมบูรณ์โดยปราศจากการกระทำอันก่อให้เกิด กุศลหรือ อกุศล  การแสดงออกทางกาย วาจา ใจของพระอรหันต์จึงยืนอยู่บนฐานของคำว่า กิริยาหรือ การกระทำล้วน ๆ 

                      กล่าวโดยสภาวธรรม  พระอรหันต์จึงไม่มีความขัดแย้ง หรือไร้ภาวะความขัดแย้ง  ไม่มีใคร หรือสิ่งใดเป็นแรงผลักให้เกิดความขัดแย้งได้ดังพุทธพจน์ที่ว่า อัคคินิเวสสนะ  ภิกษุผู้มีจิตหลุดพ้นแล้วอย่างนี้  ย่อมไม่ทะเลาะวิวาท ทุ่มเถียงกับใคร ๆ   โวหารใดที่ชาวโลกนิยมพูดกัน  ก็ไม่ยึดมั่นกล่าวไป ตามโวหารนั้น[12] และ มุนีผู้มีปัญญาเครื่องพิจารณานั้น  รู้จักสมณพราหมณ์  ผู้เป็นเจ้าลัทธิเหล่านี้ว่า เป็นผู้เข้าไปอาศัยทิฐิและรู้จักเป็นที่อาศัย   นักปราชญ์ครั้นรู้จักแล้ว  ก็หลุดพ้น ไม่ถึงการวิวาทกัน[13]  พุทธพจน์บทนี้ย้ำเตือนว่า บุคคลที่เข้าถึงความจริงขั้นสูงสุดในทางพระพุทธศาสนาแล้ว  ย่อมไม่มีความขัดแย้งในสภาวธรรม ไม่มีความสงสัย หรือตั้งข้อสังเกตต่อสภาวธรรม และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ย่อมเป็นไปไม่ได้ที่ผู้บรรลุธรรมจะก่อความบาดหมาง ทะเลาะวิวาทกัน

                      ประเด็นคำถามที่น่าสนใจก็คือ  พระอรหันต์คิดต่างกัน  หรือมีมุมมองที่แตกต่างกันได้หรือไม่  จากการศึกษาค้นคว้าทำให้ได้รับคำตอบว่า คิด หรือมีมุมมองที่แตกต่างกันได้  สิ่งที่   ทำให้พบคำตอบในลักษณะนี้ก็เพราะคำว่า บัญญัติหรือ ความจริงเชิงสมมตินั้นเป็นกุญแจสำคัญที่นำเราไปสู่คำตอบดังกล่าว          คำว่า บัญญัติหรือ ความจริงเชิงสมมติเป็นสื่อกลางในการที่จะใช้เป็นสะพาน หรือเป็นคู่มือสำหรับเรียนรู้ หรือเข้าใจร่วมกันระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ดังที่พุทธทาสภิกขุใช้คำว่า ภาษาคน  ฉะนั้น เมื่อวิเคราะห์ในบริบทนี้ทำให้เกิดคำถามว่า เป็นไปได้หรือไม่ว่าผู้ที่เข้าใจโลกแห่งปรมัตถ์ จะสามารถเข้าใจโลกแห่งสมมติได้ทั้งหมด  คำตอบข้อนี้ไปปรากฏอยู่ในคัมภีร์มิลินทปัญหาว่า การรู้สิ่งทั้งปวงนั้น ไม่ใช่วิสัยของพระอรหันต์ทั่วไป  สิ่งที่พระอรหันต์ไม่รู้ก็มี  เช่น นาม และโคตรแห่งสตรีบุรุษ เป็นต้น พระอรหันต์รู้ได้เฉพาะวิมุตติก็มี    พระอรหันต์ชั้นอภิญญา ๖ ก็รู้เฉพาะในวิสัยของตน  พระสัพพัญญูเท่านั้นจึงจะรู้หมด[14]

                      วิเคราะห์จากคำพูดของพระนาคเสนพบว่า   พระพุทธเจ้าผู้ทรงเป็นสัพพัญญูบุคคลเท่านั้นที่ทรงทราบ และเข้าใจโลกแห่งปรมัตถ์และโลกแห่งสมมติได้อย่างตลอดสาย  ส่วนสาวกท่านอื่น ๆ ที่บรรลุพระอรหันต์มิได้หมายความว่าสามารถรู้ทั้งสองโลก  ความจริงข้อนี้ทำให้พบคำตอบว่า พระอรหันต์ไม่สามารถรับรู้เรื่องราวต่างในโลกนี้ได้ทั้งหมด  หรือจะกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ พระอรหันต์มีข้อจำกัดในการรับรู้  ฉะนั้น พระอรหันต์ก็ย่อมคิด หรือมีมุมมองที่แตกต่างกันได้หลักฐานชิ้นสำคัญที่สามารถยืนยันความจริงข้อนี้ก็คือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในคราวทำสังคายนาครั้งที่ ๑

                      จากการศึกษาพบว่า ก่อนที่พระพุทธเจ้าปรินิพพานได้ตรัสกับพระอานนท์ว่า อานนท์  เมื่อเราล่วงไป  สงฆ์หวังอยู่ก็พึงถอนสิกขาบทเล็กน้อยได้  พระดำรัสในประเด็นนี้ได้กลายเป็นปัญหาในที่ประชุมสงฆ์  ๕๐๐ รูปว่า  สิกขาบทข้อไหนที่จัดว่าเป็นสิกขาบทเล็กน้อย  การยกประเด็นเรื่อง สิกขาบทเล็กน้อยขึ้นมานำเสนอเพื่อหาข้อยุตินั้น ทำให้พระอรหันต์ได้พากันวิเคราะห์ ตีความ และตั้งข้อสังเกตออกเป็นหลายนัยด้วยกัน[15]  ซึ่งการตีความดังกล่าวนั้น สามารถแยกสรุปออกเป็น ๕  กลุ่มด้วยกัน  กล่าวคือ[16]

                      () ยกเว้นปาราชิก ๔ สิกขาบท   ที่เหลือจัดเป็นสิกขาบทเล็กน้อย

                      () ยกเว้นปาราชิก ๔  สิกขาบท   สังฆาทิเสส  ๑๓ สิกขาบท   ที่เหลือจัดเป็นสิกขาบทเล็กน้อย

                      () ยกเว้นปาราชิก ๔ สิกขาบท  สังฆาทิเสส  ๑๓  สิกขาบท อนิยต ๒  ที่เหลือจัดเป็นสิกขาบทเล็กน้อย

                      () ยกเว้นปาราชิก ๔ สิกขาบท  สังฆาทิเสส ๑๓  สิกขาบท  อนิยต ๒                         นิสสัคคิยปาจิตตีย์ ๓๐ สิกขาบท  ปาจิตตีย์  ๙๒ สิกขาบท  ที่เหลือจัดว่าเป็นสิกขาบทเล็กน้อย

                      () ยกเว้นปาราชิก ๔  สิกขาบท  สังฆาทิเสส ๑๓  สิกขาบท  อนิยต ๒                        นิสสัคคิยปาจิตตีย์ ๓๐ สิกขาบท  ปาจิตตีย์  ๙๒ สิกขาบท  ปาฏิเทสนียะ ๔ สิกขาบท  ที่เหลือจัดว่าเป็นสิกขาบทเล็กน้อย

                      กรณีศึกษาที่ว่าด้วยความคิดเห็น หรือการตีความที่แตกต่างกันในประเด็นที่ว่าด้วย สิกขาบทเล็กน้อยนี้เป็นหลักฐานสำคัญที่ทำให้ผู้เขียนมองว่าในแง่บัญญัติ  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บัญญัติดังกล่าว  จัดได้ว่าเป็น พุทธบัญญัติ  แต่เมื่อพระองค์ไม่ได้ตรัสชี้แจงให้ทราบว่านัยของ   คำว่า เล็กน้อยคืออะไรนั้น  กลายเป็นประเด็นที่ทำให้พระอานนท์ถูกพระสงฆ์จำนวน ๔๙๙ รูปปรับอาบัติท่านในฐานะที่ไม่ถามให้ชัดเจนว่า อะไรคืออาบัติเล็กน้อย  การปรับอาบัติพระอรหันต์ในท่ามกลางสงฆ์นั้น ผู้เขียนมองว่าเป็นประเด็นใหญ่ ฉะนั้น ข้อขัดแย้งเกี่ยวกับการตีความที่แตกต่างกันดังกล่าว  ต้องเป็นประเด็นที่มีความสำคัญต่อการสังคายนาครั้งที่ ๑ เป็นอย่างมากเช่นเดียวกัน

                      กล่าวโดยสรุปแล้ว  ความขัดแย้งที่เกี่ยวกับความคิดเห็น จัดได้ว่าเป็น ธรรมดาหรือ ธรรมชาติของมนุษย์   ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์ในระดับที่เป็นปุถุชนหรือพระอรหันต์ก็ตาม  สาเหตุที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่ามีข้อจำกัดในการรับรู้เรื่องราวต่างๆ ในโลกนี้แตกต่างกัน ดังที่พระธรรมปิฎกได้ย้ำในประเด็นนี้ว่า ความขัดแย้งนั้น ในแง่หนึ่งก็เป็นเรื่องธรรมดา  คือ มันเป็นธรรมชาติของสิ่งทั้งหลาย ที่แต่ละอย่างมีความเป็นไปของมัน เมื่อต่างอย่างต่างส่วนเป็นคนละทาง ก็ย่อมขัดแย้ง[17] 

 

๔. บุญ  ๖ อย่างของความขัดแย้ง (ที่สร้างสรรค์มนุษย์และสังคม)

                      ดังที่ได้กล่าวในเบื้องต้นแล้วว่า ความขัดแย้งนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว  เป็นการเปลี่ยนทั้งในเชิงกายภาพ และจิตภาพ  หรือเชิงมหัพภาค และจุลภาค  พระพุทธศาสนายอมรับว่า มนุษย์ปุถุชน (มนุสฺส มนุสฺโส)  มีความขัดแย้ง และความแปลกแยกในตัวเองอันเกิดจากแรงผลักของความโลภ ความโกรธ และความหลง  อย่างไรก็ตาม   ผลของความแปลกแยก หรือความขัดแย้งภายในลักษณะดังกล่าวได้ทำให้เกิดแง่มุมที่สำคัญหลายประการด้วยกัน

                      .๑ ความขัดแย้งเป็นที่มาของการพัฒนาศักยภาพมนุษย์ในเชิงปัจเจก

                      ความขัดแย้ง หรือความแปลกแยกในตัวเองกลายเป็นเครื่องมือสำคัญที่ทำให้ เจ้าชายสิทธัตถะได้พัฒนาจิตของตัวเองเพื่อเลื่อนสถานะจากความเป็นมนุษย์ไปสู่ ความเป็นพระพุทธเจ้าที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะสาเหตุสำคัญดำเนินมาจากความขัดแย้งภายในเกี่ยวกับการเกิด  แก่ เจ็บ ตาย และการตอบคำถามของตัวเองว่า อะไรคือความสุขที่แท้จริง” “มนุษย์ไม่เกิด  แก่ เจ็บ และตายได้หรือไม่การตั้งคำถามในลักษณะนี้ก็เพราะเกิดความขัดแย้งเกี่ยวกับทวิลักษณะของสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากประสบการณ์ตรงของพระองค์

                      ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนประการหนึ่งก็คือ  คำกล่าวของพระยสะที่ว่า ที่นี่วุ่นวายหนอ  ที่นี่ขัดข้องหนอ  ก็เกิดขึ้นมาจากความขัดแย้งภายในที่สิ้นหวังกับความสุขในเชิง วัตถุนิยม  และ สภาวะไร้ความขัดแย้งได้เกิดขึ้นพร้อม ๆ กับคำตรัสของพระพุทธเจ้าที่ว่า ที่นี่ไม่วุ่นวายหนอ ที่นี่ไม่ขัดข้องหนอ  และ เพราะความขัดแย้งภายในดังกล่าว  จึงทำให้พระเจ้ามหานามะต้องเสด็จเข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้าเพื่อให้พระองค์ช่วยหาทางออก[18]

                      ฉะนั้น  เมื่อถามว่า ความขัดแย้งมีความสำคัญต่อมนุษย์ในเชิงปัจเจกได้อย่างไรนั้น  คำตอบก็คือ ความขัดแย้งเป็นสื่อ หรือเป็นสะพานที่ทรงคุณค่าในการทำให้มนุษย์ได้ทอดเดินไปสู่ ภาวะไร้ความขัดแย้ง  อันเป็นทางเดินทางที่เข้าใจความจริงว่าเส้นทางเดิมสามารถเติมเต็มความสุขให้แก่มนุษย์ได้ในระดับหนึ่ง  แต่เส้นทางดังกล่าวก็เป็นพื้นทางที่ดีที่ทำให้มนุษย์ได้พยายามที่จะรู้จักกับทางเลือกใหม่ อันเป็นทางเลือกที่ปราศจากความขัดแย้ง หรือไร้ความขัดแย้งอย่างแท้จริง

                      อย่างไรก็ตาม เมื่อมองในมิติของโลกแบบสามัญชน หรือแบบฆราวาสวิสัย           ความขัดแย้งมีส่วนสำคัญในการผลักดันให้มนุษย์ต้องพัฒนาตัวเองอยู่ตลอดเวลาพบว่า มนุษย์มีความแปลกแยกในตัวเอง หรือขัดแย้งในตัวเองเกี่ยวกับการสนองความต้องการของมนุษย์เอง ไม่ว่าจะเป็นความต้องการความสำเร็จในชีวิต ความต้องการการนับหน้าถือตา  ความต้องการด้านความรัก และความต้องการด้านความปลอดภัย   ความขัดแย้งในตัวเองดังกล่าวก็กลายเป็นพื้นฐานสำคัญที่ทำให้มนุษย์สร้างแรงจูงใจใฝ่สำเร็จ (ธัมมฉันทะ)  เพื่อแสวงหาสิ่งต่าง ๆ มาสนองความต้องการของมนุษย์เอง

                      .๒ ความขัดแย้งเป็นที่มาของการเมืองการปกครอง

                       เมื่อมองความขัดแย้งในมิติของ รัฐศาสตร์ พบว่า ความขัดแย้งได้กลายเป็นพื้นฐานสำคัญของระบบการเมืองการปกครอง  สิ่งที่สามารถยืนยันข้อสมมติฐานดังกล่าวก็คือหลักการสำคัญตามที่ปรากฏในอัคคัญญสูตรที่ย้ำให้เห็นว่าการถือกำเนิดของระบบกษัตริย์เพราะว่าประชาชนทั่วไปมีความขัดแย้งเกี่ยวกับการแย่งชิงข้าวสาลี   ปัญหาที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย   จนนำไปสู่ข้อตกลงร่วมกันว่า เราควรแบ่งปันข้าวสาลี  และปักปันเขตแดนกัน[19]  การหาข้อตกลงร่วมกันในรูปแบบ ทวิภาคี กลายเป็นข้อตกลงที่มีวาระซ่อนเร้น (Hidden Agenda) เพราะไม่ได้มีผลในทางปฏิบัติแต่ประการใด  ด้วยเหตุนี้  สถานการณ์การแย่งชิงพืชผลทางการเกษตรคือข้าวสาลีดำเนินไปอย่างลับ ๆ  เนื่องจากประชาชนบางคนไม่พอใจในสิ่งที่ตนมีอยู่ จึงเก็บรักษาสิ่งที่ตัวเองมีอยู่แล้วไปแย่งชิงทรัพยากรของคนอื่นๆ สัตว์ผู้มีนิสัยโลภ รักษาส่วนของตนไว้  ถือเอาส่วนอื่นที่เขาไม่ได้ให้มาบริโภค[20]  จะเห็นว่า  เมื่อแต่ละฝ่ายไม่เคารพในกฎกติกาจึงทำให้ความขัดแย้งดังกล่าวได้ขยายตัวไปสู่การตำหนิกันและกันว่า คุณทำกรรมชั่ว  ที่รักษาส่วนของตนไว้แล้ว  ถือเอาส่วนอื่นที่เขามิได้ให้มาบริโภค  คุณอย่าทำอย่านี้อีกก่อนที่จะใช้ฝ่ามือบ้าง ก้อนดินบ้าง ท่อนไม้บ้าง ทำร้ายกันและกัน

                      ดังที่ได้กล่าวแล้วว่า  เมื่อประชาชนประสบความล้มเหลวในการหาทางออกร่วมกันแบบ ทวิภาคี  ด้วยเหตุนี้  จึงหาทางออกร่วมกันแบบ พหุพาคี โดยการนำเสนอประเด็นปัญหาว่า ท่านผู้เจริญ  บาปธรรมปรากฏในหมู่สัตว์แล้ว  คือ การถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้จักปรากฏ การตำหนิติเตียนกันปรากฏ การพูดเท็จปรากฏ และการถืออาวุธเพื่อทำร้ายกันก็ปรากฏ ฉะนั้น พวกเราควรสมมติ (แต่งตั้ง) สัตว์ผู้หนึ่ง  ซึ่งจะว่ากล่าวผู้ที่ควรว่ากล่าว  ติเตียนผู้ที่ควรติเตียน  ขับไล่ผู้ที่ควรขับไล่โดยชอบ

                      ฉะนั้น  บทสรุปที่ได้จากการประชุมดังกล่าว  จึงเป็นที่มาของคำว่า มหาสมมติ” “กษัตริย์  และ ราชา  ซึ่งทั้งสามคำนั้นมีความหมายที่มุ่งเน้นไปที่การทำหน้าที่ในการแบ่งปันทรัพยากรธรรม และวินิจฉัยคดีต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น  ซึ่งผลจากการทำหน้าที่ดังกล่าว กษัตริย์จะได้รับข้าวสาลีเป็นการตอบแทน  เพื่อจะได้มีหน้าที่บริหารและจัดการความขัดแย้งได้อย่างเต็มที

                       ด้วยเหตุดังกล่าวจึงเกิดระบบการปกครองแบบ กษัตริย์ขึ้นมาเพื่อบริหารจัดการ ความขัดแย้งเกี่ยวกับการแบ่งปันพืชผลทางการ เกษตรให้เกิดความเท่าเทียมกัน[21]  กษัตริย์ในบริบทนี้ก็คือ เกษตรที่ทำหน้าที่ในการแบ่งปันพืชผลทางการเกษตรคือข้าวสาลี และแบ่งปัน    เขตแดน เพื่อให้ความพอใจสูงสุดแก่คู่กรณี  เพราะฉะนั้น กษัตริย์จึงได้ชื่อว่า ราชาด้วย[22]

                      กล่าวโดยสรุป  กษัตริย์ หรือพระราชาจึงเป็น บุคคลพิเศษที่ได้รับการสมมติให้ทำหน้าที่ในการปกครอง และบริหารกิจการต่างๆ ภายในชุมชน ก่อนที่พัฒนาเป็นรัฐ และประเทศต่อไป  ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ สถานะของความเป็นพระมหากษัตริย์นั้น พัฒนาการขึ้นมาจาก สมมติบุคคลไปสู่ สมมติเทพในลำดับต่อมา

                       อย่างไรก็ตาม  ความขัดแย้งดังกล่าวนั้นได้ก่อให้เกิดระบบการเมืองการปกครองขึ้น  ไม่ว่าจะเป็นระบบสมบูรณาญาสิทธิราช หรือการปกครองในระบบประชาธิปไตยก็ตาม  ดังที่ได้กล่าวแล้ว มีเป้าหมายสำคัญอยู่ที่การเป็นสื่อกลางในการจัดการความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในชุมชน และสังคม  โดยประชาชน และเพื่อประชาชน

                      ๔.๓ ความขัดแย้งเป็นที่มาของการจัดระเบียบสังคม

                      แนวคิดที่ว่าด้วย ความไร้ระเบียบ (Disorder)  หรือ ภาวะยุ่งเหยิง” (Chaos) นั้น เป็นแนวคิดที่ชี้ให้เห็นถึงการที่สังคม หรือโลกมนุษย์เต็มไปด้วยความขัดแย้ง ความรุนแรง และความไร้ศีลธรรมของมวลมนุษย์อันนำไปสู่สงครามกลางเมือง  สงครามระหว่างรัฐต่อรัฐ หรือสงครามประเทศต่อประเทศเพื่อแย่งชิงทรัพยากรทางธรรมชาติ  แย่งชิงดินแดน หรือทำลายเผ่าพันธุ์มนุษย์ก็ตาม ซึ่งความยุ่งเหยิงดังกล่าวนั่นเองจึงเป็นที่มาของคำว่า จัดระเบียบโลก[23] (Order World) หรือหากจะกล่าวในวงแคบก็คือ แนวคิดดังกล่าวเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้เกิดคำว่า การจัดระเบียบสังคม” (Order Social)   นัยของ การจัดระเบียบสังคม  มิได้ปรากฏมีเฉพาะในยุคปัจจุบันเท่านั้น   เพราะเมื่อวิเคราะห์แนวคิดดังกล่าวก็ปรากฏมีในพระไตรปิฎกเช่นเดียวกัน ปัญหาคือ ในพระไตรปิฎกได้นำเสนอประเด็นความขัดแย้งอันเป็นที่มาของการจัดระเบียบสังคมอย่างไร

                      จักกวัตติสูตร  ได้ชี้ให้เห็นสภาพสังคมที่เต็มไปด้วยความยุ่งเหยิง  ความไร้ระเบียบของประชาชน  เพราะเกิดความขัดแย้งระหว่างพระราชากับประชาชนในประเด็นเกี่ยวกับมาตรฐานในการพระราชทานทรัพย์แก่คนขโมยสิ่งของของบุคคลอื่น ถ้าเราจักให้ทรัพย์แก่คนที่ถือเอาสิ่งของที่คนผู้อื่นไม่ได้ให้โดยอาการขโมย   อทินนาทาน (การถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้)     จักแพร่หลายด้วยอาการอย่างนี้  ทางที่ดี เราควรให้คุมตัวบุรุษนี้อย่างแข็งขัน แล้วตัดต้นคอ ตัดศีรษะของบุรุษนั้นเสีย[24]  สาเหตุสำคัญที่ทำให้พระองค์ดำริเช่นนี้ก็เพราะว่า ทุกคราวที่จับโจรได้พระองค์จะพระราชทานทรัพย์แก่โจรเหล่านั้น  ผลที่ตามก็คือพฤติกรรมเลียนแบบ เพราะประชาชนมองว่า พฤติกรรมดังกล่าวทำให้พระราชาทรงสนพระทัย และใส่ใจต่อความเป็นอยู่ของพวกเขา

                      เมื่อพระราชาไม่ทรงพระราชทรัพย์ และประหารชีวิตทุกคนที่มีพฤติกรรมในการเป็นขโมย  ประชาชนเกิดความขัดสน ไม่มีทรัพย์จึงมีการฆ่ากันเพื่อแย่งชิงทรัพย์ ทำให้ อทินนาทานแพร่หลาย...ศัสตราแพร่หลาย...ปาณาติบาตแพร่หลาย...มุสาวาทแพร่หลาย...ปิสุณวาจาแพร่หลาย...กาเมสุมิจฉาจารแพร่หลาย...อภิชฌาและพยาบาทแพร่หลาย...”[25]  ผลที่ตามมาก็คือ ไม่เกื้อกูลมารดา  บิดา  สมณพราหมณ์ และไม่อ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่ก็แพร่หลาย[26] มากยิ่งขึ้น

                      จากสภาพการณ์ดังกล่าว จึงทำให้ความโกลาหลจึงเกิดขึ้น  เพราะ มนุษย์เหล่านั้น ไม่ว่าจะเป็นมารดากับบุตร  บิดากับบุตร  พี่ชายกับน้องสาว เป็นต้น ก็จักเกิดความอาฆาต ความพยาบาท ความคิดร้าย ความคิดจะฆ่ากันอย่างแรงกล้า[27]  มนุษย์บางกลุ่มได้ตระหนักรู้ในเบื้องต้นเกี่ยวกับ ภาวะไร้ระเบียบของสังคมที่เกิดขึ้นในสังคม   ว่า พวกเราอย่าฆ่าใคร ๆ  และใคร ๆ ก็อย่าฆ่าเรา[28]  ด้วยเหตุนี้จุดเริ่มต้นของกระบวนการของ การจัดระเบียบสังคมจึงเกิดขึ้นบนฐานของความขัดแย้ง  มนุษย์กลุ่มดังกล่าวจึงได้ปลีกตัวออกจากสังคมดังกล่าวเพื่อสานเสวนา (Citizen’s Dialogue) ระหว่างกลุ่มของประชาชนด้วยกัน   การปรึกษาหารือกันในเบื้องต้นนั้น ได้มีการปรารภปัญหาที่เกิดขึ้นว่า พวกเราสูญสิ้นญาติมากมายขนาดนี้  เพราะยึดถืออกุศลธรรมเป็นเหตุ  ทางที่ดี พวกเราควรทำกุศลอย่างไรดี    ทางที่ดี  พวกเราควรงดเว้นจากปาณาติบาต (การฆ่าสัตว์) ควรสมาทานประพฤติกุศลธรรมนี้[29]

                      หลังจากได้ข้อสรุปแล้ว   จึงพากันประพฤติ และปฏิบัติตนอยู่ในศีลธรรมอันดีงาม โดยงดเว้นจากการฆ่าสัตว์  การลักทรัพย์  การประพฤติผิดในกาม  การพูดเท็จ เป็นต้น และช่วยกันดูแลเอาใจใส่ต่อมารดาบิดา  สมณพราหมณ์ มีความอ่อนน้อมถ่อมตนต่อผู้ใหญ่เป็นต้น  พระพุทธเจ้าได้ชี้ให้เห็นว่า การจัดระเบียบสังคมโดยการประพฤติปฏิบัติตนอยู่ในกุศลธรรมทำให้มนุษย์เจริญด้วยอายุ วรรณะ และสังคมก็จะอุดมไปด้วยสันติสุขอย่างแท้จริง[30]

                      กล่าวโดยสรุป  ความมีระเบียบของสังคมจะมีขึ้นไม่ได้หากมนุษย์ไม่มีส่วนสำคัญในการแก้ไข หรือจัดการความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในชุมชนต่าง ๆ  ซึ่งการจัดการความขัดแย้งตามพระสูตรนี้  เป็นการจัดการความขัดแย้งโดยเริ่มจากมนุษย์แต่ละคนเป็นที่ตั้ง หลังจากนั้นจึงขยายวงของการจัดการความขัดแย้งไปสู่ครอบครัว  ชุมชน และสังคมต่อไป

                      ๔.๔ ความขัดแย้งเป็นมาของการพัฒนาสังคม และเศรษฐกิจ

                      เมื่อกล่าวถึงปัจจัย ๔  ซึ่งได้แก่  เครื่องนุ่งห่ม  อาหาร ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรค  นั้น  ถือได้ว่าเป็นปัจจัยขั้นพื้นฐานที่มีความสำคัญต่อการดำรงอยู่ของมนุษย์อย่างยิ่ง  ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดประการหนึ่งก็คือ อาหาร   พระพุทธเจ้าตรัสว่า  ความหิวเป็นโรคอย่างยิ่ง    ซึ่งความหิว หรือความต้องการนั้น  ถือว่าเป็นปัจจัย หรือตัวแปรสำคัญที่ทำให้เกิดความขัดแย้งในสังคมมนุษย์        ดังจะเห็นได้จากกรณีการแย่งชิงข้าวสาลีตามที่ปรากฏในอัคคัญญสูตร   หรือการที่ภิกษุใส่ร้าย        พระทัพพมัลลบุตรในข้อหาจัดวาระในลำดับสุดท้ายจนทำตัวเองได้อาหารไม่ประณีตก็เกิดจากความต้องการด้านอาหาร

                      ใน กูฏทัณฑสูตร[31] สะท้อนให้เรามองเห็นความสำคัญของปัญหาดังกล่าวเช่นเดียวกัน  เพราะเมื่อวิเคราะห์จากประเด็นดังกล่าวพบว่า  การที่พระเจ้ามหาวิชิตราชทรงเพียบพร้อมไปด้วยโภคสมบัติ  มนุษย์สมบัติ   และปรารถนาให้สิ่งเหล่านี้คงอยู่กับพระองค์ตลอดระยะเวลาที่พระองค์ยังทรงพระชนม์อยู่  ฉะนั้น  พระองค์ทรงดำริตามวิธีการที่นิยมกระทำในยุคนั้นคือ การบูชายัญ  โดยมุ่งหวังว่า สามารถสร้างความพอใจให้แก่เทพเจ้าผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จเหล่านั้น

                      ในขณะที่พราหมณ์ปุโรหิตมองว่า หัวใจของพระราชาคือประชาชน  ถ้าพระองค์ไม่สามารถกุมหัวใจ  หรือเข้าไปนั่งในใจของประชาชนได้  ผลที่ตามมาก็คือ การสูญเสียพลังมวลชน  จนนำไปสู่การต่อต้าน  และประท้วงเพื่อโค่นล้มราชบัลลังก์ของพระองค์   หรืออาจจะเป็นไส้ศึกให้แก่ข้าศึกที่พระองค์ทรงรบจนสามารถแย่งชิงดินแดนมาได้อย่างมากมาย

                      อย่างไรก็ตาม  โจทย์ และคำตอบของพระราชากับพราหมณ์อาจจะสอดคล้องกัน  แต่วิธีการในการแก้โจทย์นั้นเพื่อให้ได้มาซึ่งคำตอบมีความแตกต่างกัน  ด้วยเหตุนี้  พราหมณ์จึงนำเสนอสถานการณ์จริงเกี่ยวกับความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในแคว้นต่อพระราชาว่า บ้านเมืองของพระองค์ยังมีเสี้ยนหนาม  มีการเบียดเบียน  โจรยังปล้นบ้าน  ปล้นนิคม ปล้นเมืองหลวง  ดักจี้ในทางเปลี่ยว  พระองค์โปรดให้ฟื้นฟูพลีกรรมก็จะชื่อว่า กระทำสิ่งที่ไม่สมควร  และนอกจากนั้น พราหมณ์ยังได้เสนอความคิดเพิ่มเติมเกี่ยวกับผลเสียของการหาทางออกด้วยวิธีการรุนแรงว่า การปราบเสี้ยนหนามคือโจร  ด้วยการประหาร  จองจำ  ปรับไหม  ตำหนิโทษ  หรือเนรเทศ  ไม่ถือว่าเป็นการกำจัดเสี้ยนหนามคือโจรได้อย่างถูกต้อง  เพราะว่าโจรที่เหลือจากที่กำจัดไปแล้วนั้นก็จะมาเบียดเบียนบ้านเมืองได้ในภายหลัง

                      ด้วยเหตุดังกล่าวนั้น  พราหมณ์จึงได้นำเสนอ นโยบายคู่ขนาน” (Dualistic Policy)  อันเป็นการดำเนินนโยบายเชิงรัฐประศาสนศาสตร์ควบคู่ไปกับนโยบายเกี่ยวกับการพัฒนาเศรษฐกิจ  ซึ่งนโยบายคู่ขนานนั้นประกอบไปด้วย  ไตรภาค  หรือ กลยุทธ์สามเส้า  กล่าวคือ

                      () การพัฒนาเศรษฐกิจในระดับชนชั้นรากหญ้า  โดยการพระราชทานพันธุ์พืช และอาหารให้แก่พลเมืองผู้ขะมักเขม้นในเกษตรกรรม และการเลี้ยงปศุสัตว์  เพื่อให้เกษตรกรนั้นไม่ต้องเดือดร้อนเรื่องต้นทุนทางสินค้า  หรือต้นทุนในการซื้อวัตถุดิบจากแคว้นอื่นมากจนเกินไป 

                      () การพัฒนาเศรษฐกิจในระดับกลาง และระดับสูง  โดยการสนับสนุนต้นทุน   ทางการผลิต  หรือต้นทุนทางการเงินให้แก่ธุรกิจขนาดกลาง  อันเป็นธุรกิจเชิงพาณิชย์ที่คอยรับซื้อสินค้าทางการเกษตรจากเกษตรกรไปขายในแคว้นอื่น ๆ หรือภายในแคว้นของพระองค์

                      () การเสริมสร้างขวัญและกำลังใจให้แก่คณะผู้บริหารราชการแผ่นดิน  ซึ่ง              การขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์ในการพัฒนาประเทศนั้น  จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องอาศัยข้าราชการเป็นมันสมอง และผลักดันนโยบายต่าง ๆ ให้สัมฤทธิ์ผลเป็นรูปธรรม  ดังนั้น  การพระราชทานอาหาร และเพิ่มเงินเดือนให้แก่ราชการนั้นจึงถือได้ว่าเป็นมาตรการในการสร้างแรงจูงใจได้อย่างดีที่สุดทางหนึ่ง

                      นโยบาย สามเส้า  ดังกล่าวนั้น จัดได้ว่าเป็น เครื่องยนต์สามตัวในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้าต่อไป  อย่างไรก็ตาม  การดำเนินตามนโยบายดังกล่าวนับได้ว่าเป็นการทำสงคราม หรือประกาศสงครามในหลายด้านด้วยกัน  ไม่ว่าจะเป็น สงครามกับ        ความยากจน” “สงครามกับการฉ้อราษฎร์บังหลวง สงครามกับยาเสพติด” “สงครามกับการ        ก่อการร้ายและโดยเฉพาะอย่างยิ่ง สงครามกับกิเลสที่มีอยู่ในตัวเองด้วยการปฏิบัติตนตามแนวทางของศีล  สมาธิ และปัญญา

                      เมื่อกล่าวโดยสรุปแล้ว ยุทธศาสตร์ในการพัฒนาสังคม และเศรษฐกิจแบบ ไตรภาคมีส่วนสำคัญในการจัดการความขัดแย้งไม่ให้เกิดขึ้นและลุกลามในหมู่ประชาชน ผลที่ตามมาก็จักเป็นประดุจถ้อยคำของพราหมณ์ปุโรหิตที่ว่า พลเมืองเหล่านั้นจักขยันขันแข็งเอาใจใส่ในการงานของตัวเอง  ไม่เบียดเบียน  หรือเอารัดเอาเปรียบซึ่งกันและกัน   บ้านเมืองก็จะอยู่อย่างร่มเย็น  ไม่มีเสี้ยนหนาม  ไม่มีการเบียดเบียน  ประชาชนจะชื่นชมยินดี และครอบครัวมีความสุข

 

๕. บาป ๓ อย่างของความขัดแย้ง (ที่สาบมนุษย์และสังคม)

                ๕.๑ การสูญเสียความสมดุลทางจิตภาพ   ความขัดแย้งในมิตินี้ ได้ก่อให้เกิดผลลบแก่ สุขภาพจิตของมนุษย์  เพราะว่าจิตของมนุษย์นั้นได้ประสบกับการสูญเสีย ดุลยภาพอันเป็นการสูญเสียความสมดุล  เนื่องจากสถานการณ์ของความขัดแย้งในบางมิตินั้นได้ทำให้จิตมนุษย์   กวัดแกว่ง ดีใจบ้าง เสียใจบ้าง ดังที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสย้ำว่า กิเลสมาจากการทะเลาะวิวาทกันเป็นต้น  จากนัยนี้จะเห็นว่าการขัดแย้งในแง่ของการทะเลาะวิวาทนั้น ได้ถูกเติมเชื้อด้วยกิเลสที่ซ่อนอยู่ภายในจิตมนุษย์ หรือผ่านเข้ามาทางประสาทสัมผัสภายนอก  ดุลยภาพภายในจิตนั้น ได้สูญเสียไป  เพราะถูกปกคลุมด้วยอกุศลจิต ดังที่พระสภิยเถระได้พยายามที่จะชี้ แง่ลบเชิงจิตภาพ  ของการทะเลาะวิวาทว่า[32]

ชนเหล่าอื่นย่อมไม่รู้ว่า พวกเรากำลังกำลังย่อยยับอยู่ในโลกนี้

 บรรดาชนเหล่านั้น ชนเหล่าใดรู้แจ้งอยู่  ความทะเลาะวิวาทกัน

ย่อมระงับได้จากสำนักของชนเหล่านั้น  ความทะเลาะวิวาทกัน

ย่อมระงับได้จากสำนักของชนเหล่านั้น  เมื่อพวกที่ไม่รู้สึก

ยังประพฤติยึดถืออยู่เหมือนจะไม่ตาย  ความทะเลาะวิวาท

ย่อมสงบลงไม่ได้เลย  ส่วนพวกที่รู้ธรรมตามความเป็นจริง

ย่อมไม่กระสับกระส่าย  ในเมื่อสัตว์ทั้งกระสับกระส่ายอยู่’ ”

                      เถรภาษิตข้างต้นได้สะท้อนท่าทีความขัดแย้งเชิงลบในมิติของจิตภาพให้เราได้เห็นว่า  การทะเลาะวิวาทนั้น  นอกจากจะสร้างความโกลาหล และกระสับกระส่ายให้แก่คนอื่น ๆ แล้ว สภาพจิตของปัจเจกบุคคลก็ตกอยู่ในห้วงแห่งความกระสับกระส่ายเช่นเดียวกัน หากวิเคราะห์สภาพจิตในประเด็นนี้ก็ดูประหนึ่งน้ำที่ถูกกวนให้ขุ่น  เราไม่สามารถมองเห็นใบหน้าในขณะที่น้ำขุ่น ฉันใด  ปัจเจกบุคคลก็ไม่สามารถมองเห็นความสะอาด สงบ และสว่างในใจได้ หากบรรยากาศภายนอก และภายในเต็มไปด้วยการทะเลาะวิวาทกันและกัน ฉันนั้น ดังที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสว่า พึงเป็นผู้งด  งดเว้น เว้นขาด ออก สลัดออก หลุดพ้น ไม่เกี่ยวข้องกับการทะเลาะ  การบาดหมาง การแก่งแย่ง การวิวาท การมุ่งร้าย  มีใจเป็นอิสระ (จากกิเลส) อยู่[33]

                      ๕.๒ การสูญเสียทรัพย์สิน  กรณีศึกษาเกี่ยวกับผลเสียของการวิวาทสามารถวิเคราะห์ได้จากการที่พระองค์ทรงนำประเด็นเกี่ยวกับนากสองตัวที่ทะเลาะวิวาทกันเพราะไม่สามารถหาบทสรุปเกี่ยวกับการแบ่งปลาว่า ใครควรได้ส่วนไหน   แต่วาระสุดท้ายได้ขอร้องให้สุนัขจิ้งจอกเป็นคนกลางทำหน้าที่ในการแบ่ง   ความจริงที่ปรากฏก็คือ นากสองตัวได้หางและหัวปลา ส่วนกลางตัวของปลานั้นสุนัขจิ้งจอกได้นำไปให้ภรรยาของตัวเอง  ด้วยเหตุนี้ สุนัขจิ้งจอกจึงได้เปรยว่า เพราะการทะเลาะ  สัตว์จึงผ่ายผอม  ทรัพย์จึงสิ้นไป  พวกนากเสื่อมเพราะการทะเลาะวิวาทกัน [34]  ในขณะที่นากสองตัวได้ปรับทุกข์กันว่า ถ้าเราไม่วิวาทกันไซร้  ท่อนกลางก็จักเป็นอาหารไปได้นานวัน   เพราะวิวาทกัน สุนัขจิ้งจอกจึงนำเอาปลาตะเพียนแดงที่ไม่ใช่หัวไม่ใช่หาง คือท่อนกลางไป  จากประเด็นดังกล่าวพระพุทธเจ้าทรงสรุปว่า [35]

                          ในหมู่มนุษย์ก็เช่นเดียวกัน  เกิดการทะเลาะวิวาทกันในที่ใด  ก็จะพากันไปหาผู้ตั้งอยู่ในธรรมในที่นั้น  ผู้วินิจฉัยคดีนั้นเป็นผู้ตัดสินให้พวกเขา  ในการทะเลาะนั้น  ก็จะพากันหมดสิ้นทรัพย์ไป  พระคลังหลวงก็จะเพิ่มพูน

                      ๕.๓ การสูญเสียความสมานฉันท์ในสังคม  สังคมสงฆ์  ถือได้ว่าเป็นสังคมที่พระพุทธเจ้าทรงออกแบบ และสร้างขึ้นมาเพื่อเป็นสังคมแห่งการรองรับการพัฒนาตนเอง หรือเป็นสังคมที่เป็นพื้นฐานของการปฏิบัติตนเพื่อแสวงหาความจริงสูงสุด  ฉะนั้น พระองค์ทรงให้ความสำคัญต่อคำว่า สงฆ์มากกว่า พระองค์ไม่ว่าจะเป็นการถวาย สังฆทานหรือพิธีกรรมที่ต้องให้ครบองค์สงฆ์[36]    ฉะนั้น  หากใครก็ตามพยายามที่จะทำลายสงฆ์นั้น หรือก่อความวุ่นวายในสงฆ์ พระองค์บัญญัติให้การกระทำในลักษณะดังกล่าวนั้นผิดทั้งวินัย[37] และผิดธรรม[38]ด้วย

                      ด้วยเหตุที่พระองค์ทรงออกแบบให้สังคมสงฆ์เป็น สังคมแห่งสมานฉันท์และ เอื้อต่อการปฏิบัติธรรม  ดังกล่าว จึงตรัสโทษของการวิวาทที่เกิดจากการทะเลาะวิวาทเอาไว้อย่างน่าสนใจว่า ทิฐิ[39]  ความยินดียินร้าย[40] การมุ่งหวังการแพ้ชนะ[41]  เพื่อให้ได้มาซึ่งโลกธรรม ไม่ว่าจะเป็นลาภ ยศ สรรเสริญ  และความสุขส่วนตน[42] แล้วกล่าวคำย่ำยี  ดูหมิ่น[43] และกล่าวเสียดสีคนอื่น ๆ[44]  เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากการทะเลาะกัน การบาดหมางกัน การแก่งแย่งกัน การวิวาทกัน และการมุ่งร้ายกัน ฉะนั้น  บุคคลเห็นโทษนี้แล้ว จึงควรงด  เว้นขาด ออก สลัดออก หลุดพ้น ไม่เกี่ยวข้องกับการทะเลาะ การบาดหมาง การแก่งแย่ง การวิวาท การมุ่งร้าย  มีใจเป็นอิสระ (จากกิเลส) อยู่ [45]

                      เมื่อสรุป บาป ของการทะเลาะวิวาทตามนัยดังกล่าวพบว่า ข้อขัดแย้งอย่างระหว่างบุคคล หรือกลุ่มบุคคลก่อให้เกิดผลเสียแก่โจทย์และจำเลยในหลายประเด็นด้วยกัน

                      () เสียทรัพย์  การนำคดีขึ้นสู่ศาลโดยไม่ได้ดำเนินการเจรจาไกล่เกลี่ยนั้น จะทำให้โจทย์และจำเลยต้องจ้างทนาย  ในขณะเดียวกัน หากแพ้คดีอาจจะต้องเสียเงินเพื่อชดใช้ค่าเสียหาย หรือถูกศาลปรับในบางกรณี

                      () เสียเวลา  โจทย์และจำเลยจะต้องสละเวลาเพื่อไปขึ้นศาล  ซึ่งบางคดีนั้นจะต้องเสียเวลาในการสืบพยานปากต่าง ๆ หลายปีด้วยกันกว่าคดีจะจบ  โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ามีการอุทธรณ์ และว่ารายการคดีที่มีอยู่ในศาลนั้นก็มีมากมายอยู่แล้ว  จึงจำเป็นต้องใช้เวลานานในการตัดสิน

                      () เสียความรู้สึก  ในขณะที่มีการสืบพยานนั้น ทนายอาจจะมีการซักโจทย์หรือจำเลยเพื่อให้ได้ข้อมูลที่จริง  และนอกจากนั้น หากมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งชนะ ก็จะทำให้อีกฝ่ายเสียความรู้สึก และไม่พอใจในคำตัดสินของศาล

                      ) เสียมิตรภาพ  บางคดีนั้น  โจทย์และจำเลยเป็นเพื่อนรัก หรือเป็นเพื่อนบ้านกัน แต่เมื่อเกิดข้อขัดแย้งในด้านใดด้านหนึ่ง  ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งฟ้องร้อง  การฟ้องร้องในลักษณะดังกล่าวนั้นได้ทำให้เพื่อนบ้าน หรือมิตรต้องกลายเป็นศัตรูกันจนเป็นเหตุทำร้ายกันจนเสียชีวิต

                      () เสียโอกาส  การนำคดีขึ้นสู่ศาลนั้น  ในบางกรณีอาจจะทำให้เสียโอกาส เพราะในความเป็นจริงแล้ว  คู่กรณีสามารถหาทางออกร่วมกันโดยการพูดคุยกันโดยผ่านผู้ใหญ่หรือคนกลางก็ได้  แต่เมื่อนำคดีขึ้นสู่ศาล และศาลประทับรับฟ้องเพื่อนำสืบคดีแล้ว  หากคู่กรณีสามารถที่จะค้นหาทางออกร่วมกันได้  ก็จะทำให้เสียโอกาสดังกล่าว

 

๖. กรณีศึกษา: พระพุทธเจ้าในฐานะนักเจรจาไกล่เกลี่ยคนกลาง

                      เมื่อวิเคราะห์จากกรณีศึกษาต่างๆ ตามที่ปรากฏในคัมภีร์พระไตรปิฏกและอรรถกถาเกี่ยวกับบทบาทของพระพุทธเจ้าในฐานะนักเจรจาไกล่เกลี่ยคนกลาง พบประเด็นที่น่าสนใจดังต่อไปนี้

                      ๖.๑ บทบาทของพระพุทธเจ้าในการไกล่เกลี่ยกรณีสงครามน้ำ

                      สงครามน้ำ[46] เป็นสงครามเกิดจากการแย่งชิงทรัพยากรน้ำระหว่างชาวศากยะ และโกลิยะ ซึ่ง ที่มา ของสงครามก็คือ ทาสและกรรมกร ที่อ้างสิทธิ์ในการใช้ทรัพยากรน้ำในแม่น้ำโรหิณี  ในขณะที่ทรัพยากรมีจำนวนน้อย แต่ความต้องการของประชาชนทั้งสองกลุ่มมีมากกว่า  ฉะนั้น เมื่อทั้งคู่ไม่ได้นำเอา ผลประโยชน์ มาเป็นตัวตั้ง แต่กลับยืนอยู่บน จุดยืน ของตัวเองอย่างเหนียวแน่น  การเจรจาต่อรองเพื่อผลประโยชน์ทางทรัพยากรน้ำจึงเกิดความ ล้มเหลว  และผลจากความล้มเหลวดังกล่าวจึงทำให้สถานการณ์ลุกลามไปสู่ความรุนแรงด้วยการทะเลาะวิวาท และทำร้ายร่างกายซึ่งกันและกัน และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง การนำประเด็นเรื่อง ชาติพันธุ์ ของกษัตริย์แต่ละฝ่ายมาเป็น ตัวช่วย  สถานการณ์ขัดแย้งไม่ได้ จำกัดวง อยู่ในกลุ่มของทาสและกรรมกรเท่านั้น หากแต่ได้ขยายวงจากกรรมกรไปสู่อำมาตย์ เสนาบดี และกษัตริย์ของทั้งสองแคว้นด้วย  จึงทำให้กษัตริย์ทั้งสองแคว้นตัดสินใจนำ กำลังรบ ทั้งทางบกและทางน้ำเพื่อทำ สงคราม ระหว่างกัน

                      ในขณะที่ สงครามน้ำ กำลังดำเนินไปอยู่นั้น  พระพุทธเจ้าทรงวิเคราะห์สถานการณ์ความขัดแย้ง (Conflict Analysis) ตั้งแต่ช่วงเช้าตรู่ ในกรุงสาวัตถี แคว้นโกศล ซึ่งไม่ไกลจากสถานที่ดังกล่าว  และพบว่าประเด็น (Issue) ของความขัดแย้งคือ น้ำ[47]  ในขณะเดียวกัน ความขัดแย้งทับซ้อนก็คือประเด็นเรื่อง ชาติพันธุ์  สิ่งที่ทำหน้าที่ชักใยอยู่เบื้องหลังพฤติกรรมดังกล่าวก็คือ ตัณหา ทิฏฐิ และมานะ[48]

                      ในฐานะนักเจรจาไกล่เกลี่ยคนกลาง  เมื่อพระองค์ทรงทราบประเด็นที่ชัดเจนแล้ว จึงทรงเริ่มต้นด้วยวิเคราะห์คู่กรณี (Party) ทั้งสองฝ่าย ซึ่งได้แก่แคว้นศากยะ และแคว้นโกลิยะเกี่ยวกับ ตัวแปร ที่ทำให้คู่กรณีเกิดความขัดแย้ง และปัญหาก็คือว่าเมื่อเราไปห้าม  การทะเลาะนี้จะระงับหรือไม่หนอ[49]

                      สิ่งที่สามารถยืนยันข้อสมมติฐานเกี่ยวกับการวิเคราะห์คู่กรณีก็คือ การที่พระองค์ออกแบบ คัดสรร และเลือกชุดของวิธีที่จะนำไปจัดการข้อพิพาทว่า ควรจะเลือกวิธี หรือชุดของวิธีใดจึงจะดีที่สุด และเหมาะแก่บุคคล และสถานการณ์มากที่สุด และท้ายที่สุดแล้ว พระองค์ทรงตัดสินพระทัย (Decision Making)  ใช้ชุดของแนวคิดต่างๆ ๓ ชุด เพื่อจัดการความขัดแย้งใน ๓ ขั้นตอน ซึ่งรายละเอียดจะนำเสนอข้างหน้า

                      เมื่อพระองค์สามารถ คัดกรอง ชุดวิธีที่ใช้เป็นเครื่องมือในการจัดการข้อพิพาทแล้ว จึงตัดสินพระทัยเดินทางไปยืนประทับอยู่ท่ามกลางกษัตริย์ทั้งสองแคว้น  สิ่งที่น่าสนใจก็คือ พระองค์ได้ใช้กระบวนการ สานเสวนาประชาลุ่มน้ำโรหิณี (Rohinee’s Dialogue) โดยการสนทนาพูดคุยอย่างมีเป้าหมายเพื่อแสวงหาข้อเท็จจริง (Fact Finding) เกี่ยวกับที่มาและแรงจูงใจในการทำสงครามของกษัตริย์ทั้งแคว้น ดังจะเห็นได้จากประเด็นของการสนทนาที่ว่า  ดูก่อนมหาราชทั้งหลาย เพราะเหคุไร พวกท่านจึงมาที่นี่[50]  ทั้ง ๆ ที่พระองค์ทอดพระเนตรเห็นว่ามีอาวุธที่กองเรียงรายอยู่ข้างกายของกษัตริย์เหล่านั้น

                      เมื่อวิเคราะห์ประเด็นที่พระพุทธเจ้าเปิดประเด็นการสนทนาด้วยคำถามพบว่า เป็นการถามนำเพื่อให้พระญาติของพระองค์เปิดเผยประเด็นต่าง ๆ ออกมาเอง  แล้วนำคำตอบที่ได้รับนั้นมาขยายผลต่อ หม่อมฉันไม่ได้มาที่นี่เพื่อจะดูแม่น้ำ  เพื่อต้องการเที่ยวเล่น  และก็ไม่ได้ที่นี่เพื่อดูความร่มรื่นของป่าไม้  หากแต่มาเพื่อต้องการเริ่มสงคราม[51]   จากการตอบคำถามของพระพุทธองค์ก็ทำให้เราทราบชัดว่า ความร้าวฉานที่เกิดขึ้นนั้นมิได้มีสาเหตุหลักมาจากน้ำ เพราะหมู่ญาติถวายบังคมทูลว่า ไม่ได้มาที่นี่เพื่อจะดูแม่น้ำ[52]

                      เมื่อพระองค์ทราบชัดว่าการมาที่นี่ของเหล่ากษัตริย์ก็เพื่อทำ สงคราม  พระองค์จึงถามต่อไปว่า ก็แล้วพวกเธอทะเลาะกันเพราะเรื่องอะไรเล่า[53]  การถามในลักษณะนี้เป็นการถามเพื่อเสาะหาสาเหตุที่แท้จริงของการที่จะทำ สงคราม  เพราะว่าลำพังเพียงแค่การทะเลาะวิวาทกันคงไม่สามารถทำให้เกิดสงครามขึ้นมาได้

                      แต่เมื่อถูกซักถามในลักษณะนี้  กษัตริย์ทั้งหลายก็พากันงงงันและเงียบงัน  เพราะหากบอกว่าความร้าวฉานเกิดมาจากการที่ตัวเองถูกดูหมิ่นดูแคลนเกี่ยวกับที่มาของการเกิดขึ้นแห่ง    ขัตติยวงศ์ก็จะทำให้ถูกตั้งข้อสังเกตว่า เป็นการก่อสงครามด้วยเหตุผลที่ไม่สมเหตุสมผล และอาจถูกแย้งได้ว่าข้อมูลดังกล่าวนั้นมิได้เป็นข้อมูลที่เกินเลยไปจากแง่มุมทางประวัติศาสตร์แต่ประการใด  

                      แต่หากกษัตริย์เหล่านั้นตอบว่า ทะเลาะ หรือร้าวฉานกันเพราะน้ำ  ก็ทำให้เกิดการตั้งคำถามเช่นเดียวกันว่า จริง ๆ แล้ว กษัตริย์เหล่านั้นทะเลาะกันเพราะน้ำจริงหรือไม่?  เพราะว่าจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นทำให้เราเห็นว่า ทาสและกรรมกรของแคว้นทั้งสองทะเลาะกันเพราะการแบ่งปันทรัพยากรน้ำเป็นเหตุผลที่กษัตริย์ซึ่งมีวุฒิภาวะที่สูงกว่าน่าจะสามารถหาทางออกด้วยการไกล่เกลี่ยได้  แต่สถานการณ์กลับดำเนินไปในลักษณะที่ว่า กษัตริย์เป็นผู้มีส่วนสนับสนุนข้อพิพาทดังกล่าว 

                      อย่างไรก็ตาม ในประเด็นดังกล่าว  พระอรรถกถาจารย์บางแห่งได้ชี้ให้เห็นว่า  เมื่อกษัตริย์ถูกถามว่า ทะเลาะกันเพราะอะไร[54] กษัตริย์จึงพากันตอบอย่างฉับพลันทันทีว่า ทะเลาะกันเพราะน้ำ[55]  แต่ผู้เขียนมองว่า การตอบในลักษณะนี้เป็นการตอบเพื่อปกปิดปมด้อยของตนเองมากกว่า  โดยการนำเอาประเด็นเรื่องน้ำมากลบเกลื่อนประเด็นปัญหาเรื่องที่มาของกษัตริย์  เพราะเมื่อพิจารณาจากบริบทต่าง ๆ พบว่า ในความเป็นจริงแล้ว กษัตริย์เหล่านั้นก็ไม่ได้ทะเลาะกันเพราะการแย่งชิงทรัพยากรน้ำแต่ประการใด  หากแต่ถูกพาดถึงในเชิงดูหมิ่นเกี่ยวกับที่มาของวงศ์ดังจะเห็นได้จากถ้อยคำที่ว่า พวกเราจักแสดงเรี่ยวแรงและกำลังของเหล่าชนผู้ที่อยู่ร่วมกับพวกพี่สาวน้องสาวและ พวกเราจักสำแดงเรี่ยวแรงและกำลังของเหล่าชนผู้อยู่ที่ต้นกระเบาเมื่อพิจารณามิติของถ้อยคำของกษัตริย์ทั้งสองแคว้นพบว่า มิได้มีร่องรอยของการทะเลาะกันเพราะประเด็นเรื่องน้ำ

                      ฉะนั้น เมื่อกษัตริย์ไม่กล้าตอบปัญหาของพระพุทธเจ้า  เนื่องจากเหตุผลเหตุผลดังที่ได้กล่าวแล้วในเบื้องต้น  คำตอบที่เหล่ากษัตริย์มองว่าน่าจะเหมาะกับบรรยากาศเช่นนี้ก็คือคำว่า ไม่ทราบ  แม้การตอบในลักษณะนี้อาจจะถูกตำหนิได้ว่า  สถานการณ์ที่ทำให้เกิดภาวะสงคราม  โดยกษัตริย์ทั้งสองแคว้นได้พากันยกทัพ และขนอาวุธยุทโธปกรณ์มากมายขนาดนี้ จะไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริงได้อย่างไร

                      พระพุทธเจ้ากลับมิได้ตอกย้ำถึงปมด้อยดังกล่าวแต่ประการใด  เพราะการถามเพื่อจี้ไปที่จุดด้อยในบรรยากาศเช่นนั้นอาจทำให้กษัตริย์เหล่านั้นเกิดความอับอาย และการสร้างความสมานฉันท์ให้เกิดขึ้นในหมู่พระญาติทำได้ยากยิ่งขึ้น ด้วยเหตุนี้พระองค์จึงกลบเกลื่อนประเด็นดังกล่าวด้วยการถามต่อไปว่า บัดนี้ใครจักทราบ   สถานการณ์ของความตึงเครียดได้ทุเลาเบาบางลง  เมื่อจะต้องมีการมองหาบุคคลที่ทำให้เกิดความร้าวฉาน  เมื่อซักถามไปโดยลำดับตั้งแต่อุปราชลงไปเป็นทอด ๆ สุดท้ายผู้ที่ไม่สามารถจะหนีความรับผิดชอบไปได้ก็คือ ทาสและกรรมกรถือได้ว่า เป็นเจ้าภาพที่แท้จริงในความผิดดังกล่าว

                      เมื่อพระองค์ได้ วัตถุดิบ หรือ ข้อมูลจากการ สานเสวนา อย่างเพียงพอแล้ว  จึงได้นำเสนอกระบวนการในการสร้างทางเลือกที่ดีที่สุด (Best Alternative)  แทนการแก้ปัญหาด้วยการใช้ความรุนแรง ดังจะเห็นได้จากการตั้งคำถามของพระองค์ว่า  น้ำตีราคาเท่าไร   ถึงแม้คำตอบที่ได้รับว่า มีราคาน้อย  กษัตริย์ทั้งหลาย มีราคาเท่าไร  ขึ้นชื่อว่ากษัตริย์ทั้งหลายหาค่ามิได้  จากการตอบคำถามดังกล่าวทำให้พบว่า ทางเลือกที่ดีที่สุดแทนการแก้ปัญหาด้วยความรุนแรงก็คือ การที่ท่านทั้งหลาย ยังพวกกษัตริย์ซึ่งหาค่ามิได้ให้ฉิบหาย เพราะอาศัยน้ำ ซึ่งมีประมาณน้อย  ควรแล้วละหรือ   

                      ประโยคเหล่านี้ ถือได้ว่าเป็น ชุดของถ้อยคำที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อ ฉุดปัญญาของกษัตริย์เหล่านั้นให้กลับคืนมาอีกครั้ง  กษัตริย์เหล่านั้นก็ยอมรับในประเด็นนี้  หากวิเคราะห์แล้วพบว่า เป็นการยอมรับตั้งแต่เริ่มแรกของความร้าวฉานแล้วว่า น้ำมีค่าสู้กษัตริย์ไม่ได้  แต่ที่กษัตริย์ยอมไม่ได้ก็เพราะ มานะ และทิฐิที่ถูกสร้างขึ้นมาจากเมฆหมอกของ อวิชชา

                      ขั้นตอนต่อไปซึ่งถือได้ว่าเป็นขั้นตอนที่สำคัญที่สุดของของพระพุทธเจ้าในฐานะ นักเจรจาไกล่เกลี่ยคนกลาง ก็คือ  การนำเสนอชุดของแนวคิดที่ได้ คัดสรร และ ตระเตรียม มาตั้งแต่ช่วงใกล้รุ่ง ดังต่อไปนี้[56]

                      (๑) ชุดของแนวคิดที่ใช้ระงับความขัดแย้ง  ชุดของวิธีนี้ประกอบไปหลักการตามที่ปรากฏอยู่ใน   ชาดก ซึ่งได้แก่ ผันทนชาดก[57] ทุททภชาดก[58] และลฏุกิกชาดก[59] ซึ่งเป้าหมายของชุดนี้ก็เพื่อที่จะซ่อมแซมความรู้สึกของทั้งสองฝ่ายที่กำลังทำสงคราม และเสริมสร้าง สันติภายใน

                      (๒) ชุดของแนวคิดที่สร้างความสามัคคี และสมานฉันท์ให้เกิดขึ้นแก่ทั้งสองฝ่าย ชุดของวิธีนี้ประกอบไปด้วยหลักการตามที่ปรากฏใน ๒ ชาดก กล่าวคือ รุกขชาดก[60]  และวัฏฏกชาดก[61] เป้าหมายสำคัญของชุดนี้คือการเสริมสร้าง สันติภายนอก

                      (๓) แนวคิดถอนรากเหง้าของตัณหา ทิฏฐิ และมานะ  แนวคิดนี้ปรากฏอยู่ใน          อัตตทัณฑสูตร[62] อันเป็นการแก้ไขปัญหา ความอยากในเรื่องน้ำ  การยึดมั่นในความคิดเห็นของแต่ละคน และ ปัญหาเรื่องชาติพันธุ์

                      ภายหลังที่พระองค์ได้นำเสนอ แนวคิดทั้ง ๓ ชุด ดังกล่าวแล้ว กษัตริย์ และประชาชนทั้งสองแคว้นได้พากัน ยุติสงครามน้ำ  จากการทำหน้าที่เป็น นักเจรจาไกล่เกลี่ยคนกลาง ของพระพุทธเจ้านั้น มีประเด็นที่น่าศึกษาวิเคราะห์เพิ่มเติมใน ๒ ประเด็นใหญ่คือ การใช้ วิธีการ เพื่อเป็นเครื่องมือในการดำเนินกลยุทธ์ของพระองค์ และปัจจัยสำคัญที่ทำให้กระบวนการจัดการความขัดแย้งบรรลุผลสำเร็จ

                      (ก) การใช้ วิธีการ เพื่อเป็นเครื่องมือในการดำเนินกลยุทธ์  จากการวิเคราะห์วิธีการที่พระองค์ได้นำไปใช้ในการจัดการความขัดแย้งนั้นพบว่าประกอบไปด้วยวิธีการดังต่อไปนี้

                      (๑) กลยุทธ์ในการเผชิญหน้ากับคู่กรณีทั้งสองฝ่าย  ในสถานการณ์นี้ พระองค์ทรงเริ่มต้นด้วยการเข้าไปเผชิญหน้ากับสถานการณ์ความขัดแย้งโดยตรง  เพื่อแสวงหาทางออกร่วมกันกับกษัตริย์ทั้งสองฝ่าย  แต่จุดอ่อนของวิธีนี้ก็คือ หากความสัมพันธ์ของคู่กรณีกับผู้ไกล่เกลี่ยไม่ดีแล้ว อาจจะทำให้เกิดปัญหาตามมาในหลายๆ ด้านได้

                      (๒) กลยุทธ์ในการโน้มน้าว (Persuasion)   เป็นวิธีการที่พระพุทธเจ้าเน้นหนัก และให้ความสำคัญสูงมากในการเข้าไปเจรจาไกล่เกลี่ย ดังจะเห็นได้จากกรณีนี้  หรือกรณีอื่น ๆ ที่จะนำเสนอต่อไป จุดเด่นของวิธีการนี้คือ การสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับผลเสียที่จะเกิดขึ้นแก่คู่กรณี และโน้มน้าวให้คู่กรณีได้เห็นถึงความสำคัญของความสามัคคี  แต่จุดอ่อนคือ ทุนทางสังคม ของผู้ไกล่เกลี่ยว่าจะส่งผลต่อความน่าเชื่อถือของการสื่อหรือไม่

                      (ข) ปัจจัยสำคัญที่ทำให้กระบวนการจัดการความขัดแย้งบรรลุผลสำเร็จ  ผู้เขียนมองว่า การที่พระพุทธเจ้าสามารถทำให้คู่กรณียุติความขัดแย้งนั้น เกิดจากปัจจัยที่สำคัญบางประการดังต่อไปนี้

                      () สร้างความสัมพันธ์กับคู่กรณี  จากการศึกษาวิเคราะห์บริบทต่าง ๆ ของพระองค์นั้นทำให้เราประจักษ์ความจริงประการหนึ่งว่า พระพุทธองค์ทรงมี ต้นทุนทางสังคมสูงมาก  กล่าวคือ สถานะทางสังคมก่อนที่จะบวชพระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์เช่นเดียวกันกษัตริย์ศากยะและโกลิยะ  แม้ว่าพระองค์จะทรงเจริญวัยในแคว้นศากยะ และมีพระบิดาเป็นชาวศากยะ

                       ประเด็นที่มองข้ามคือพระองค์ทรงมีพระมารดาเป็นชาวโกลิยะ  ด้วยเหตุนี้  เลือดเนื้อเชื้อไขของพระองค์ประกอบด้วยความเป็นวงศ์ของกษัตริย์ทั้งในแคว้นศากยะและโกลิยะ  ฉะนั้น ความเป็น กลุ่มเดียวกันหรือ ชาติพันธุ์เดียวกันระหว่างพระองค์กับกษัตริย์เหล่านั้นจึงเป็นสิ่งที่ไม่สามารถที่จะหลีกได้   การนำเสนอหรือเปิดฉากให้กษัตริย์เหล่านั้นไว้วางใจในพระองค์ได้เป็นประเด็นแรก ๆ ของการไกล่เกลี่ยก็คือ การบอกให้เขาเหล่านั้นได้ทราบว่า เราเป็นกลุ่มชาติพันธุ์เดียวกัน 

                      นอกจากนั้นแล้ว  การไปปรากฏตัวของพระองค์เป็นการดำรงอยู่ท่ามกลางกลุ่มชนทั้งสองแคว้น ที่กำลังขัดแย้งกันโดยการ ประทับนั่งโดยบัลลังก์ในอากาศ ณ ท่ามกลางแม่น้ำโรหิณีทำให้มวลทั้งสองแคว้นได้บังเกิดความเข้าใจว่าพระองค์มิได้ฝักไฝ่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง  หากแต่พระองค์ดำรงตนอยู่ในสถานะของ ผู้เจรจาไกล่เกลี่ยคนกลาง” (Mediator)  เพื่อทำให้เกิดความเป็นเอกภาพในหมู่ญาติ

                       () การสร้างความเชื่อมั่น และความร่วมมือจากคู่กรณี     ต้นทุนที่สำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ สถานะของความเป็นพระพุทธเจ้า  ที่พระองค์มีอยู่เหนือบุคคลเหล่านั้น และบุคคลเหล่านั้นมิได้มีในสิ่งที่พระองค์มี  ในประเด็นนี้พระองค์มักจะตรัสอยู่เสมอว่า ในหมู่ชนที่ถือตระกูลเป็นใหญ่  กษัตริย์ประเสริฐที่สุด  ส่วนท่านผู้เพียบพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ  จัดได้ว่าประเสริฐที่สุดในหมู่เทวดาและมนุษย์[63] 

                      การประกาศในลักษณะนี้มีนัยที่ชี้ให้เห็นว่า แม้ว่ากษัตริย์จะได้ชื่อว่าประเสริฐที่สุดในหมู่มนุษย์   พระองค์ก็มีสถานะเป็นกษัตริย์เช่นเดียวกัน แต่สถานภาพของความเป็นกษัตริย์ที่พระญาติ หรือพระองค์มีนั้น  จัดได้ว่าเป็นสถานะทางสังคมชั้นนอก  มิได้เป็นสถานะที่สูงสุดแต่ประการใด  หากแต่สิ่งที่สูงสุดคือผู้ที่เพียบพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ  คุณสมบัติข้อนี้ถือได้ว่าเป็นสถานะภายในที่พระองค์มี แต่พระญาติของพระองค์ไม่มี 

                      อย่างไรก็ตาม สิ่งที่สามารถยืนยันข้อเท็จจริงอีกประการหนึ่งว่าพระองค์อยู่เหนือกษัตริย์อื่น ๆ ในโลกด้วย พวกศากยะเป็นผู้ใกล้ชิด และอยู่ในอำนาจของพระราชาปเสนทิโกศลก็พวกศากยะย่อมทำการต้อนรับ ทำการอภิวาท  ลุกขึ้นยืนรับ  ทำอัญชลีกรรมและสามีจิกรรมในพระราชา    ปเสนทิโกศลพวกศากยะกระทำการต้อนรับเป็นต้น  แก่พระราชาปเสนทิโกศลอย่างไร  พระราชา ปเสนทิโกศลย่อมทำการต้อนรับเป็นต้น แก่ตถาคตอย่างนั้น[64] ซึ่งกรณีนี้ปรากฏชัดในสงครามฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ดังที่ได้กล่าวแล้ว

                      อย่างไรก็ตาม จากคุณสมบัติภายในและภายนอกดังกล่าวนั้น สิ่งที่สามารถสะท้อนให้เห็นจากพฤติภาพของกษัติรย์ของทั้งสองแคว้นที่เห็นพระวรกายของพระองค์เท่านั้น ก็ได้พากันทิ้งอาวุธ และถวายการบังคม  กล่าวโดยสรุป  ไม่ปรากฏพระดำรัสตอนใดเลยที่ทรงแนะนำให้กษัตริย์ได้ทราบถึง วิธีจัดสรร หรือการแบ่งปันทรัพยากรน้ำ  ว่าควรจะทำอย่างไร ว่า สาเหตุที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะปัญหาที่แท้จริงไม่ได้เกิดจากปัจจัยภายนอก หากเกิดจากปัจจัยภายใน เมื่อปัจจัยภายในได้รับการแก้ไข  จึงไม่มีความจำเป็นต้องกล่าวถึงปัจจัยภายนอกซึ่งสำคัญน้อยกว่า    ฉะนั้น ความสามัคคี  จึงเป็นตัวขับเคลื่อนที่ทำให้เกิดกระบวนการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการแสวงหาเวทีเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ข้อมูล และพร้อมที่จะแบ่งปันความต้องการ  ความรัก และความเข้าใจระหว่างกันและกัน อันส่งผลให้เกิดสังคมแห่งสันติได้

                      ๖.๒ บทบาทของพระพุทธเจ้าในการไกล่เกลี่ยกรณีโกสัมพีศึกษา

                      การทำหน้าที่ในฐานะนักเจรจาไกล่เกลี่ยคนกลางของพระพุทธเจ้าในกรณี โกสัมพีศึกษา เป็นกรณีที่มี ตัวแปร มากกว่ากรณีสงครามน้ำ ไม่ว่าจะเป็นจำนวนของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย หรืออุณหภูมิของการทะเลาะวิวาทได้ขยายตัวจนไม่สามารถควบคุมได้ด้วยบุคคลอื่น และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง บุคคลอื่นที่กล่าวถึงคือ พระพุทธเจ้า

                      ดังที่ได้กล่าวแล้วในเบื้องต้นว่า ประเด็นของการทะเลาะวิวาทได้ก่อตัวขึ้นจากพระธรรมกถึกและพระวินัยธรที่มีความเห็นแตกต่างกันในเรื่อง การเหลือน้ำชำระเอาไว้ในกระบวย ว่า เป็นอาบัติ หรือไม่เป็นอาบัติ และการทะเลาะวิวาทได้ขยายตัวออกไปอีกเมื่อพระวินัยธรรม และสานุศิษย์ได้รวมตัวกันลง อุปเขปนียกรรม แก่พระธรรมกถึก 

                      จะเห็นว่าความขัดแย้งในประเด็นแรกยังไม่ยุติ ความขัดแย้งประเด็นที่สองก็เกิดขึ้นอีก กรณีนี้เป็นความขัดแย้งในประเด็นที่มองต่างกันว่า นี้เป็นวินัย นี้ไม่ใช่วินัย ที่สงฆ์ควรกระทำต่อกัน  จากความเห็นที่ขัดแย้งกันใน ๒ กรณีใหญ่จึงทำให้เกิดการแบ่งแยกกันอย่างชัดเจนระหว่างกลุ่มของพระวินัยธร และพระธรรมกถึก อีกทั้งผู้มีส่วนได้ส่วนเสียก็ขยายก็เพิ่มมากยิ่งขึ้นด้วย

                      ในขณะที่บรรยากาศของความคิดเห็นที่คลุมเครืออยู่เช่นนี้ พระพุทธเจ้ามิได้เข้ามา ชี้ถูกชี้ผิด ตั้งแต่เริ่มเกิดความขัดแย้ง แต่หลังจากที่การทะเลาะวิวาทได้เริ่มก่อตัวมากขึ้นแล้ว พระองค์จึงได้เข้ามาทำหน้าที่ของการเป็นนักไกล่เกลี่ยอย่างเต็มรูปแบบ  กรณีนี้ผู้เขียนคิดว่าคล้ายคลึงกับการตัดสินปัญหาตามที่ปรากฏในกรณีอื่น ๆ การที่พระองค์นำเสนอประเด็นข้อเสนอแนะต้องมีพระภิกษุได้เข้าไปทูลถามข้อขัดข้อง หลังจากนั้นพระองค์จึงให้ความเห็นเพื่อนำเสนอทางออก หรือตัดสินปัญหา แต่ในกรณีนี้กลับมิได้ปรากฏร่องรอยของการเข้าไปถามประเด็นดังกล่าวกับพระพุทธเจ้า

                      ประเด็นที่น่าวิเคราะห์สำหรับการทำหน้าที่ของนักเจรจาไกล่เกลี่ยคนกลางของพระองค์ก็คือ เมื่อทรงทราบเรื่องราวต่าง ๆ จากพระภิกษุที่เข้ามาทูลรายงานนั้น ทรงเริ่มต้นที่จะเข้าไปหาพระวินัยธร และลูกศิษย์ก่อน  หลังจากนั้นจึงได้เข้าไปหาลูกศิษย์ของพระธรรมกถึก  ซึ่งประเด็นนี้มีข้อที่น่าสังเกตดังนี้คือ

                      (๑) การเข้าไปหาพระวินัยธรและลูกศิษย์นั้น นอกจากจะตำหนิการลงอุปเขปนิยกรรมที่อาจทำให้เรื่องราวบานปลายจนทำให้สงฆ์แตกกันแล้ว ผู้เขียนมองว่า น่าจะเป็นการ ป้องปราม พระวินัยธร และลูกศิษย์มากกว่า  เพราะทั้งพระองค์และพระวินัยธรก็ตระหนักดีกว่า ต้นเหตุ สำคัญนั้นเกิดขึ้นจากพระวินัยธรเป็นผู้จุดประเด็นก่อน

                      (๒) การเข้าไปหาลูกศิษย์ของพระธรรมกถึกก่อน แทนที่จะเข้าไปหาพระธรรมกถึกโดยตรงก็เป็นประเด็นที่ต้องพิจารณาเช่นกัน ว่า เพราะเหตุไร จึงต้องทำเช่นนั้น  จากการศึกษาพบประเด็นที่น่าสนใจอย่างยิ่งว่า พระองค์ได้ทรงแนะนำภิกษุทั้งหลายว่า เมื่อเกิดความขัดแย้งควรเข้าไปหาพระภิกษุที่ตักเตือนได้ง่ายกว่า[65] โดยเหตุนี้จึงทำให้พระองค์ตัดสินพระทัยเข้าไปหาลูกศิษย์ของพระธรรมกถึกก่อน ในขณะเดียวกันก็จะน่าจะเป็นการหวังผลโดยอ้อมที่จะให้ลูกศิษย์นั้นได้นำข้อเท็จจริงดังกล่าวไปบอกว่าอาจารย์ของตัวเองว่า ท่านต้องอาบัติจริง ตามที่พระพุทธเจ้าได้วินิจฉัยผ่านลูกศิษย์

                      อย่างไรก็ตาม แม้ว่าพระองค์จะใช้วิธีการ โน้มน้าว ในประเด็นดังกล่าว แต่หาได้เกิดผลในทางปฏิบัติไม่ เพราะพระภิกษุทั้งสองฝ่ายได้ทะเลาะวิวาทกันในโรงครัวจนนำไปสู่ความรุนแรงด้วยการตบตีกัน  พระพุทธเจ้าก็ได้เข้าไประงับเหตุดังกล่าว และสิ่งที่ทำได้ดีที่สุดในขณะนั้นก็คือ การตำหนิ การกระทำของพระภิกษุเหล่านั้น

                      ถึงกระนั้น พระพุทธเจ้าก็ได้เสด็จเข้าไปห้ามปรามอีก ๒ ครั้งว่า อย่าเลย ภิกษุทั้งหลาย พวกเธออย่าบาดหมาง อย่าทะเลาะ อย่าขัดแย้ง อย่าวิวาทกันเลย  แต่พระภิกษุฝ่ายพระธรรมกถึกก็ได้ทูลพระพุทธเจ้าขึ้นในท่ามกลางสงฆ์ว่า ขอให้พระองค์โปรดรอไปก่อน ขอจงทรงขวนขวายน้อยเถิด... อันเป็นการแสดงให้พระพุทธเจ้าได้ประจักษ์ว่า พวกเราจะบาดหมาง ทะเลาะวิวาทกันต่อไป

                      แต่ในครั้งที่ ๓ พระองค์ก็ยังไม่ทรงละความพยายามที่จะสร้างความสมานฉันท์ให้แก่พระสงฆ์สองฝ่าย  ในครั้งนี้พระองค์ทรงนำเสนอข้อคิดโดยยกตัวอย่างของพระเจ้าทีฆาวุกุมารที่ไม่ผูกใจโกรธพระเจ้าพรหมทัตกาสีราชที่ปลงพระชนม์พระราชบิดาของพระองค์ โดยได้ทรงสรุปในประเด็นนี้ว่า เวรย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร และย้ำเน้นเพิ่มเติมว่า การที่เธอบวชในพระธรรมวินัยนี้ ควรที่จะมีความอดทนและความสงบเสงี่ยมประดุจพระราชา

                      อย่างไรก็ตาม พระภิกษุฝ่ายพระธรรมกถึกก็ยืนยันในเจตนารมณ์เดิมของตัวเองว่าจะทะเลาะวิวาทกันต่อไป  จนทำให้พระองค์ต้องดำริว่า พวกโมฆบุรุษเหล่านี้ดื้อรั้นนัก จะทำให้สามัคคีกันไม่ใช่ง่าย

                      จากกรณีดังกล่าวนี้ทำให้ผู้เขียนตั้งข้อสังเกตต่อกระบวนการจัดการความขัดแย้งด้วยสันติวิธีของพระพุทธเจ้าว่า เพราะเหตุไร  วิธีการโน้มน้าวจึงไม่บรรลุผล ในขณะที่วิธีเดียวกันนี้เคยใช้ได้ผลในกรณีสงครามน้ำ  ผู้เขียนคิดว่า น่าจะมาจาก ตัวแปร ต่อไปนี้

                      (๑) ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมีจำนวนมาก จึงทำให้ยากต่อการโน้มน้าวให้ทุกกลุ่มยอมรับให้เห็นคล้อยตามกันได้  เพราะดังที่ได้กล่าวแล้วว่า ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในกรณีนี้ เริ่มจากพระธรรมกถึก และพระวินัยธร ลูกศิษย์  เพื่อนสหธรรมิกในเมือง และชนบท ญาติโยมของแต่ละกลุ่ม ซึ่งบางคัมภีร์บอกว่ามีเทวดาเข้าไปร่วมด้วย ฉะนั้น จึงเป็นการยากที่พระพุทธเจ้าซึ่งเป็นผู้ไกล่เกลี่ยรูปเดียวจักสามารถจัดการความขัดแย้งที่เกิดขึ้นได้ในระยะเวลาดังกล่าว

                      (๒) ฐานรากของการของข้อพิพาท นั้น ผู้เขียนมองว่า หยั่งรากลึก จนกลายเป็นประเด็นเรื่อง ทิฏฐิ ที่ยากต่อการแก้ไข และนอกจากนั้น มานะ ซึ่งเป็นประเด็นที่ว่าด้วยเรื่องของ หน้าตา  เกียรติ และ ศักดิ์ศรี นั้นก็เป็นตัวจักรสำคัญที่ทำงานอยู่เบื้องหลังความขัดแย้งดังกล่าว  ฉะนั้น การแก้ปัญหาข้อพิพาทที่ยั้งยืนต่อกรณีนี้ก็คือ การถอนรากเหง้าของความขัดแย้งภายใน ออกไปจึงจะสามารถแก้ไขได้

                      จะเห็นว่า จุดเริ่มต้นของการใช้สันติวิธีในรูปของการ เผชิญหน้า เพื่อดำเนินการ ประนีประนอมพระภิกษุทั้งสองฝ่าย จนนำไปสู่การใช้วิธีการ โน้มน้าว ประสบ ความล้มเหลว พระพุทธเจ้าก็มิได้ทรงลดความพากเพียรในการจัดการความขัดแย้งที่เกิดขึ้น  ด้วยเหตุนี้ พระองค์จึงเลือกใช้สันติวิธีในรูปของการ การหลีกหนี หรือ หลีกเลี่ยง ซึ่งเป็นวิธีการหนึ่งที่นักสันติวิธีมักนำมาใช้ในกรณีที่สถานการณ์กำลังสันสนวุ่นวายจนยากที่จะควบคุม  ฉะนั้น การควบคุมที่ดีที่สุดก็คือการไม่ควบคุม

                      เมื่อตัดสินพระทัยที่ใช้วิธีการดังกล่าว พระองค์จึงเก็บบาตรและจีวรเสด็จไปท่ามกลางสงฆ์แล้วประกาศว่า

ภิกษุมีเสียงดังเป็นเสียงเดียวกัน  ที่จะรู้สึกว่าตนเป็นพาลนั้นไม่มีเลยสักรูปเดียว ยิ่งเมื่อสงฆ์แตกกันก็ไม่ได้คำนึงถึงเรื่องอื่น พวกเธอขาดสติ  แสดงตนว่าเป็นบัณฑิต เจ้าคารม พูดได้ตามที่ปรารถนา  จะยื่นปากพูดก็ไม่รู้สึกถึงการทะเลาะ... การเที่ยวไปคนเดียวประเสริฐกว่า เพราะคุณเครื่องความเป็นสหายไม่มีในคนพาล  บุคคลนั้นพึงเที่ยวไปคนเดียว และไม่ทำบาป...

                      การตรัสในเชิงตำหนิในลักษณะนี้ย่อมเป็นการบ่งชี้ได้อย่างชัดเจนว่า พระองค์ได้ทรงตระเตรียมใช้กลยุทธ์ หลีกเลี่ยง  สอดรับกับพระดำรัสที่ตรัสว่าการเที่ยวไปคนเดียวประเสริฐกว่า  ซึ่งการกระทำในลักษณะนี้ดูประหนึ่งว่า ยอมแพ้  ในความเป็นจริงแล้ว  หากกล่าวถึงยุทธวิธีในทางการทหารพบว่า เป็นการแสดงออกให้ดูประหนึ่งว่าพ่ายแพ้เชิงกลยุทธ์ แต่ในความเป็นจริงเป็นการชนะในเชิงยุทธศาสตร์

                      หลังจากนั้นพระองค์ทรงเสด็จไปเยี่ยมพระภคุที่พาลกโลณกคาม และพระอนุรุทธ พระนันทิยะ และพระกิมพิละที่ปาจีนวังสทายวัน และเสด็จเข้าไปปฏิบัติธรรมในป่าปาลิเลยยกะ โดยมีพญาช้าง และลิงคอยให้การอุปัฏฐาก  การแสดงออกในลักษณะนี้ทำให้ดูประหนึ่งว่าพระองค์เสด็จไปเยี่ยมพระภิกษุอันเป็นสิ่งที่พระองค์จะพึงทำเท่านั้น จนถึงการเข้าไปอยู่ในป่า  แต่กรณีนี้ผู้เขียนมีข้อสังเกตว่า นี่คือที่มาของคำว่า แพ้ในเชิงกลยุทธ์ แต่ชนะเชิงยุทธศาสตร์

                      สิ่งที่ต้องตระหนักคือ การที่พระพุทธเจ้าเสด็จไปเยี่ยมเยียนพระภิกษุในที่ต่างๆ รวมไปถึงการเสด็จเข้าไปในป่านั้น เพียงเพราะต้องการ รอเวลา และ รอโอกาส ที่จะเอาชนะในทางยุทธศาสตร์  สิ่งที่สามารถตอกย้ำข้อสมมติฐานดังกล่าวก็คือ การที่พระองค์เลือกเสด็จไปกรุงสาวัตถี แคว้นโกศล แทนที่จะย้อนกลับไปที่เมืองโกสัมพีอีกครั้ง

                      คำถามมีว่า พระองค์หวังผลเลิศในประเด็นใดจึงต้องเสด็จไปที่เมืองสาวัตถี และประทับอยู่ที่พระเชตวัน ซึ่งเป็นอารามของอนาถบิณฑิกเศรษฐี  คำตอบก็ปรากฏชัดยิ่งขึ้นเมื่อสถานการณ์ในกรุงโกสัมพีได้เกิดความปั่นป่วนขึ้น  เนื่องจากอุบาสกและอุบาสิกาได้ปรึกษาหารือกันว่าพระภิกษุเมืองโกสัมพีเป็นต้นเหตุให้พระพุทธเจ้าต้องเสด็จหลีกหนีไปประทับอยู่ในกรุงสาวัตถี  การแสดงออกของพระพุทธเจ้าในลักษณะดังกล่าวนับได้ว่ามีผลในทาง จิตวิทยามวลชน อย่างสูง จนทำให้ประชาชนไม่เคารพ กราบไหว้ และถวายอาหารบิณฑบาตแก่ภิกษุเมืองโกสัมพี

                      เมื่อสถานการณ์บีบบังคับเช่นนี้ พระภิกษุเมืองโกสัมพีก็พบกับ ทางตัน ซึ่งเป็นเส้นทางที่ไม่สามารถจะพบทางออกได้ หากพระภิกษุทั้งสองฝ่ายไม่กระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งในสถานการณ์เช่นนี้  บทสรุปที่ได้ก็คือ เอาเถิด  พวกเราพึงเดินทางไปกรุงสาวัตถี แล้วระงับอธิกรณ์นี้ ในสำนักของพระผู้มีพระภาคเจ้า

                      พระพุทธเจ้าทรงตระหนักถึงเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นแก่พระภิกษุเมืองโกสัมพีทั้งสองฝ่าย จึงได้ให้ย้ำเตือนให้สาวกทั้งหลาย เช่น พระสารีบุตร พระโมคคัลลานะ  และพระราหุล เป็นต้น ได้ วางตนอยู่อย่างชอบธรรมเถิด นอกจากนั้นก็ได้ตรัสให้อนาถบิณฑิกเศรษฐี และนางวิสาขาถวายอาหารบิณฑบาตแก่พระภิกษุทั้งสองฝ่ายตามปรกติ และสั่งให้พระสารีบุตรตระเตรียมที่พักอาศัย และวัตถุสิ่งของเครื่องใช้เอาไว้ให้พร้อม

                      การดำเนินการตระเตรียมสิ่งต่างๆ ดังกล่าวสอดรับการสมมติฐานที่ผู้เขียนได้กล่าวในเบื้องต้นว่า เป็นการหวังผลในเชิงยุทธศาสตร์  ซึ่งพระองค์ไม่ได้ทำเพื่อบุคคลใดบุคคลหนึ่ง หากแต่ทรงมุ่งหวังให้สังคมสงฆ์เป็น สังคมแห่งสันติ จะเห็นว่า เมื่อกล่าวถึงกระบวนการในเจรจาไกล่เกลี่ยคนกลางนั้น ไม่ได้หมายความว่า ต้องมุ่งเน้นวิธีการเพื่อ ประนีประนอม หรือ โน้มน้าว เท่านั้น หากแต่เป็นการดำรงสถานะของความเป็นคนกลางที่พร้อมจะเอื้อเฟื้อ สนับสนุน และเปิดเวทีให้คู่กรณีสามารถพบปะพูดคุย และแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกันแบบ ทวิภาคี จนนำไปสู่การได้ข้อตกลงร่วมกันในที่สุด

                      การแสดงออกของพระพุทธเจ้าในบริบทต่าง ๆ ดังกล่าวก็เช่นเดียวกัน จะเห็นว่า เมื่อพระภิกษุทั้งสองฝ่ายมาถึงนั้น แทนที่จะพบกับฝันร้ายดังที่เคยเกิดขึ้นในกรุงโกสัมพี  แต่กลับได้รับการต้อนรับอย่างดีจากประชาชนและพระภิกษุในกรุงสาวัตถี  ด้วยเหตุปัจจัยดังกล่าวนั้น จึงทำให้พระสงฆ์ในฝ่ายของพระธรรมกถึกต้องเริ่มต้นในการที่สร้างกระบวนการในการเจรจาไกล่เกลี่ยกันเองกับฝ่ายของพระวินัยธร จนเป็นที่มาของประกาศปฏิญญาที่มีชื่อว่า สังฆสามัคคี ร่วมกันท่ามกลางสงฆ์หมู่ใหญ่ อันทำให้ข้อพิพาทยุติลงในที่สุด

                      จากการทำหน้าที่ในการเจรจาไกล่เกลี่ยคนกลางของพระพุทธเจ้าในกรณีนี้ ทำให้เกิดคำถามว่า อะไรคือตัวแปรสำคัญที่ทำให้บรรลุความสำเร็จ  ผู้เขียนมองว่าเกิดจากปัจจัย ๓ ประการด้วยกัน กล่าวคือ

                      (๑) ปัจจัยทางสังคมวิทยา  ประเด็นนี้มีผล และมีอิทธิพลอย่างสูงต่อการตัดสินใจเข้าไปพบพระพุทธเจ้าของพระภิกษุทั้งสองฝ่าย เพราะถูกแรงกดดันจากประชาชนในกรุงโกสัมพีที่พากันตำหนิ และไม่เคารพ กราบไหว้ และบูชา พร้อมทั้งถวายอาหารบิณฑบาต  ซึ่งจัดได้ว่าเป็นมาตรการในการลงโทษทางสังคมที่รุนแรงมากประการหนึ่ง

                      (๒) ปัจจัยทางจิตวิทยา  การตัดสินใจเดินทางออกจากเมืองโกสัมพี เพื่อไปในสถานที่ต่าง ๆ ก่อนที่จะไปประทับอยู่ในกรุงสาวัตถีเป็นจุดสุดท้ายนั้น นับได้ว่าเป็นการสร้าง จิตวิทยามวลชน เพื่อโหมโรงให้เกิดกระแสย้อนกลับไปลงโทษพระภิกษุเมืองโกสัมพีทางอ้อม  เพราะประชาชนก็จะมองว่า สาเหตุที่พระพุทธเจ้าอยู่ในกรุงโกสัมพีไม่ได้จนต้องหนีไปอยู่ที่อื่นเพราะมีสาเหตุมาจากพระภิกษุในเมืองโกสัมพีทะเลาะวิวาทกัน

                      (๓) ปัจจัยทางจริยศาสตร์  ปัจจัยด้านนี้เกิดจากการที่พระพุทธเจ้าพยายามกระทำทุกวิถีทางเพื่อให้พระภิกษุที่ทะเลาะบาดหมางกันเกิดความสมานฉันท์  อยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข  และเป็นสังคมแห่งสังฆสามัคคี  ฉะนั้น การสร้างเวทีเพื่อพบปะ พูดคุย และแสวงหาทางออกเชิงสมานฉันท์จึงเป็นสิ่งที่มีความจำเป็นสำหรับพระภิกษุทั้งสองฝ่าย ด้วยเหตุนี้  กระบวนการสำคัญอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นก็คือ สังฆเสวนา (Shangha’s Dialogue) ในเมืองสาวัตถีจนสามารถได้ข้อตกลงร่วมกันของพระภิกษุทั้งสองฝ่าย

              ๖.๓ บทบาทของพระพุทธเจ้าในการไกล่เกลี่ยกรณีสงครามฆ่าล้างเผ่าพันธุ์

                      คำว่า ต้นทุนทางสังคมสูง กับการทำหน้าที่เจรจาไกล่เกลี่ยคนกลางเป็นสิ่งที่มีความสัมพันธ์กันอย่างแยกไม่ออก  เพราะมีส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดความเชื่อมั่นต่อคู่กรณี  เช่น กรณีสงครามน้ำ และกรณีข้อพิพาทระหว่างพระภิกษุฝ่ายธรรมกถึก และพระวินัยธร

                      แต่บางครั้งคำว่า ต้นทุนทางสังคมของนักเจราจาไกล่เกลี่ยอาจ ไม่มีผล หรือ ใช้ไม่ได้ผล  เมื่อต้องเผชิญกับ ต้นทุนทางความเกลียดชัง ที่คู่กรณีมีต่อกันอย่างรุนแรง และยาวนาน  เห็นได้จากกรณีของ สงครามฆ่าล้างเผ่าพันธุ์

                      กรณีของพระเจ้าวิฑูฑภะ[66]ที่ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ของเจ้าศากยะ  มีปรากฏชัดอยู่ในคัมภีร์หลายแห่งด้วยกันคือ   วิฑูฑภวัตถุ[67] อรรถกถาวิฑูฑภวัตถุ อรรถกถาธรรมเจติยสูตร[68]      อรรกถาสุนทริยสูตร[69] ปราภวสูตร[70]  และอรรกถาปราภวสูตร[71]   ซึ่งบุคคลที่เข้ามาเกี่ยวข้อง(Stakeholder) กับเหตุการณ์นี้  ประกอบไปด้วยพระพุทธเจ้า  พระเจ้าปเสนทิโกศล[72] เจ้าศากยะ[73]  ทีฆการายนะ[74]  วิฑูฑภะ[75]  และนางวาสภขัตติยา[76]  ประเด็นที่น่าสนใจคือ พระพุทธเจ้าได้เข้ามาเกี่ยวข้องกับสงครามการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ได้อย่างไร  และเพราะเหตุไร พระองค์จึงไม่เข้าไปเจรจาไกล่เกลี่ย (Mediation) เพื่อหยุดยั้งสถานการณ์ดังกล่าว ซึ่งเกี่ยวข้องกับญาติของพระองค์ด้วย

                      จากการวิเคราะห์สถานการณ์ความขัดแย้ง (Conflict  Analysis)  ทำให้พบประเด็นที่น่าสนใจอย่างยิ่ง โดยเฉพาะประเด็นความขัดแย้งด้านชาติพันธุ์นั้นถือได้ว่ามีส่วนสำคัญใน          การผลักดันให้เกิดการทำสงครามฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ซึ่งสอดรับกับ ทฤษฏีขนนกของ รศ.ดร.ชัยวัฒน์  สถาอานันท์[77]

                      ปฐมบทของความขัดแย้งนั้น  เริ่มจากการที่พระเจ้าปเสนทิโกศลนั้น  ต้องการสร้างความคุ้นเคย หรือเป็นพระญาติกับพระพุทธเจ้า[78]  พระองค์จึงส่งทูตไปขอพระธิดาของเจ้าศากยะมาเป็นมเหสี    เนื่องจากเจ้าศากยะไม่สามารถปฏิเสธการร้องขอดังกล่าว     เพราะพระเจ้าปเสนทิ-โกศลนั้นทรงมีอิทธิพลทางทหาร และการเมืองระหว่างประเทศต่อกรุงกบิลพัสดุ์ ดังที่พระพุทธเจ้าได้เคยตรัสว่า พวกศากยะเป็นผู้ใกล้ชิด และอยู่ในอำนาจของพระราชาปเสนทิโกศลก็พวกศากยะย่อมทำการต้อนรับ ทำการอภิวาท  ลุกขึ้นยืนรับ  ทำอัญชลีกรรมและสามีจิกรรมในพระราชา    ปเสนทิโกศล[79]  ข้อเท็จจริงดังปรากฏชัดในขณะที่เจ้าศากยะสนทนากันในที่ประชุมว่า  พระราชาเป็นฝ่ายอื่น ถ้าพวกเราไม่ให้แล้วไซร้  ท้าวเธอจักทำให้เรา  ฉิบหายได้  จึงมอบนางวาสภขัตติยาให้แก่ทูตแทนพระธิดาองค์ใดองค์หนึ่งของตัวเอง  เหตุผลสำคัญมากประการหนึ่งที่เจ้าศากยะมีวาระซ่อนเร้น (Hidden Agenda) ต่อประเด็นดังกล่าว ก็คือประเด็นปัญหาเรื่อง ชาติพันธุ์โดยมองว่า ก็เมื่อว่าโดยสกุลแล้ว  ท้าวเธอไม่เสมอกับเราเลย   ซึ่งเหตุผลประเด็นหลังนี่เองที่ทำให้เกิดสงครามการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ของเจ้าศากยะ

                      พระเจ้าวิฑูฑภะได้ประสบกับเหตุการณ์ที่สำคัญ ๔ ประการด้วยกัน  เหตุการณ์ดังกล่าวได้กลายเป็นแรงผลักดันให้พระองค์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ของเจ้าศากยะ  กล่าวคือ

                      () พระองค์สังเกตเห็นว่า เด็กคนอื่น ๆ มักจะได้รับของฝากจากญาติที่อยู่เมืองอื่น ๆ แต่พระองค์กลับไม่ได้รับของฝากจากเจ้าศากยะเลย  จึงมีความสงสัยในสัมพันธภาพระหว่างพระองค์กับเจ้าศากยะ

                      () เมื่อพระองค์เดินทางไปเมืองกบิสพัสดุ์   เจ้าศากยะได้นำพระกุมารที่อายุน้อยไป   อยู่ต่างจังหวัด  เพราะเกรงว่ากุมารศากยะที่อายุน้อยกว่าจะต้องไหว้เจ้าชายวิฑูฑภะซึ่งเป็นบุตร    นางทาสี

                      () ในขณะที่กำลังเสด็จกลับ   มหาดเล็กคนลืมอาวุธจึงได้กลับเข้าไปในเมืองกบิลพัสดุ์  ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับประเด็นปัญหาเรื่องชาติพันธุ์จึงปรากฏขึ้น  เมื่อมหาดเล็กได้ยินเสียงนางทาสีของเจ้าศากยะด่าพระเจ้าวิฑูฑภะว่า นี้เป็นแผ่นกระดานที่บุตรของนางทาสีชื่อวาสภขัตติยานั่ง  และประเด็นสำคัญก็คือ นางทาสีได้นำน้ำนมไปล้างแผ่นกระดานที่พระกุมารนั่ง  จึงนำเหตุการณ์ดังกล่าวไปเล่าให้ไพร่พลด้วยกันฟังจนทำให้สถานการณ์บานปลายออกไปอีก

                      () พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงทราบความจริงดังกล่าว ก็พิโรธที่เจ้าศากยะมอบนางทาสีให้แก่พระองค์  จึงริบเครื่องบริหารทั้งหมดจากนางทาสีและบุตร และให้การดูแลทั้งคู่เท่าที่ฐานะของทาสและทาสีควรจะได้รับ 

                      จากเหตุการณ์ทั้ง ๔ ประการดังกล่าวนั้น  ทำให้พระเจ้าวิฑูฑภะคิดแก้แค้นเจ้าศากยะ เจ้าศากยะเหล่านั้น  จงล้างแผ่นกระดานที่เรานั่งด้วยน้ำเจือด้วยน้ำนมก่อน  แต่ในกาลที่เราดำรง  ราชสมบัติแล้ว  เราจักเอาเลือดในลำคอของเจ้าศากยะเหล่านั้น  ล้างแผ่นกระดานที่เรานั่ง

                      ทีฆการายตนะซึ่งหาช่องทางในการที่จะแก้แค้นแทนพันธุลเสนาบดี ได้ใช้โอกาสที่  พระเจ้าปเสนทิโกศลเข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้า นำเครื่องพระราชกกุธภัณฑ์ทั้ง ๕[80] ที่พระองค์       ฝากเอาไว้ไปให้พระเจ้าวิฑูฑภะ และอภิเษกพระเจ้าวิฑูฑภะเป็นพระราชาครองนครสาวัตถีแทน[81]   แต่พระเจ้าปเสนทิโกศลก็ไม่สามารถที่จะแย่งชิงพระราชสมบัติกลับคืนมาได้  เพราะเสด็จสวรรคตเสียก่อน

                      เมื่อพระเจ้าวิฑูฑภะได้ครองพระราชสมบัติแล้ว  จึงได้ยกทัพหลวงออกไปฆ่าเจ้าศากยะ  แต่พระพุทธเจ้าไม่เห็นด้วยกับการกระทำของเจ้าศากยะตั้งแต่ต้น  ทรงใช้ความพยายาม  ๓ ครั้งในการเข้าไปทำหน้าที่ในการเจรจาไกล่เกลี่ยพระเจ้าวิฑูฑภะไม่ให้ตัดสินพระทัยทำเช่นนั้น             โดยเหตุผลที่พระพุทธเจ้าพยายามจะตรัสบอกก็คือ  ชื่อว่า เงาของหมู่พระญาติเป็นของเย็น

                      เนื่องจากความแค้นส่วนตนของพระองค์ที่ถูกเหยียดหยาม และดูหมิ่นจากเจ้าศากยะ  จึงตัดสินพระทัยทำสงครามฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ของเจ้าศากยะ ไม่เว้นแม้กระทั่งทารกที่ยังต้องดื่มน้ำนมจากมารดาอยู่[82]  และนำเลือดจากลำคอของเจ้าศากยะเหล่านั้นไปล้างแผ่นกระดานที่พระองค์     เคยประทับนั่ง[83] 

                      ผู้วิจัยมองว่า ประเด็นที่พระเจ้าวิฑูฑภะทรงทำสงครามฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ของเจ้าศากยะนั้น มิได้เป็นแนวคิดที่ดำรงอยู่บนเหตุผลข้อใดข้อหนึ่งดังที่ได้นำเสนอแล้วในเบื้องต้น  หากแต่เกิด    จากการความแค้นส่วนตัวที่สะสมมาจากการที่พระองค์ได้รับการดูหมิ่นเหยียดหยาม  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง  ความเกลียดชัง  ที่เจ้าศากยะมีต่อชาติพันธุ์ของพระองค์  ฉะนั้น  เพื่อที่จะทำลาย ที่มาของความเกลียดชังดังกล่าว จึงเป็นเหตุให้พระเจ้าวิฑูฑภะต้องตัดสินใจทำสงครามฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ของเจ้าศากยะดังที่พระพุทธเจ้าได้สรุปสาเหตุสำคัญที่เจ้าศากยะถูกฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ว่า  คนใดหยิ่งเพราะชาติ  หยิ่งพระทรัพย์  และหยิ่งเพราะโคตร  ย่อมดูหมิ่นญาติของตน  นั้นเป็นทางของ          คนเสื่อม[84]

                      เมื่อกล่าวโดยสรุปเกี่ยวกับประเด็นที่ว่าด้วยความขัดแย้งด้านชาติพันธุ์ตามที่ปรากฏ    ในสองประเด็นใหญ่นั้น  พบว่า คำว่า ชาติพันธุ์นั้น เป็นประเด็นปัญหาที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งได้ง่ายที่สุด  สาเหตุที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่า นอกจากชาติพันธุ์จะยึดโยงกับคำว่า ศักดิ์ศรีแล้ว  ยังเป็นสัญลักษณ์ทางรูปธรรมที่สามารถนำมาดูถูกและเหยียดหยามได้ง่ายด้วย  ฉะนั้น ประเด็นปัญหาเรื่องชาติพันธุ์ในยุคปัจจุบันนี้  จึงเป็นปัญหาใหญ่ที่เกิดขึ้นในสังคมไทย และสังคมโลก และเป็นประเด็นปัญหาซึ่งยากต่อการแก้ไขด้วย  เพราะรากเหง้าที่แท้จริงของประเด็นปัญหานี้มาจากข้อเท็จจริงที่ซ่อนอยู่ภายในใจของแต่ละบุคคล  ดังนั้น  หากจะกล่าวถึงแนวทางของการแก้ไขย่อมเป็นเรื่องยากที่จะแก้ในมิติใดมิติหนึ่งได้  ไม่ว่าจะเป็นมิติของกายภาพ หรือจิตภาพ    ก็ตาม

 

                      ข้อสังเกตที่น่าสนใจคือ พระพุทธเจ้าได้เข้าไปทำหน้าที่ในการไกล่เกลี่ยเพื่อไม่ให้พระเจ้าวิฑูฑภะฆ่าเจ้าศากยะทั้งหลายในขณะที่ความขัดแย้งได้ดำรงอยู่ในภาวะของ ความแตกตัว หรือ ปรากฏรูปอย่างชัดเจน แล้ว และเป็นการเข้าไปไกล่เกลี่ยในขณะที่พระเจ้าวิฑูฑภะกำลังยก ทัพหลวง เพื่อไปฆ่าเจ้าศากยะ

                      ในฐานะที่พระองค์ทรงมีพระกรุณาต่อพระญาติโดยมีพระประสงค์ที่จะสงเคราะห์พระญาติของพระองค์ (ญาตัตถจริยา) นั้น พระองค์ทรงพยายามอย่างยิ่งในการใช้ พุทโธบาย ไกล่เกลี่ย และหาแนวทางเพื่อยับยั้งพระเจ้าวิฑูฑภะให้ ล้มเลิก ความตั้งใจฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เจ้าศากยะให้จงได้ พุทโธบายที่พระองค์ได้ดำเนินการคือ การนั่งใต้โคนไม้ซึ่งมีเงาโปร่ง 

                      ต้นไม้ซึ่งมีเงาโปร่ง ดังกล่าวตั้งอยู่ในเขตแดนของเจ้าศากยะ แต่ในขณะเดียวกัน ต้นไม้ซึ่งอยู่ใกล้ ๆ กันนั้น เป็นต้นไม้ที่มีใบหนา และมีเงาทึบ  แต่สิ่งที่น่าสนใจก็คือ ต้นไม้ดังกล่าวนี้ตั้งอยู่ในเขตแดนของพระเจ้าวิฑูฑภะ  พุทโธบายเช่นนี้จัดเป็นกลยุทธ์ในการสร้างจุดเด่น หรือจุดสนใจ และทำให้เกิดการตั้งคำถามได้ง่าย

                      จะพบว่า เมื่อพระเจ้าวิฑูฑภะยกทัพหลวงเดินทางผ่านบริเวณดังกล่าวได้ถามพระองค์ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เพราะเหตุไร พระองค์จึงประทับนั่งแล้วที่โคนไม้เงาปรุโปร่ง  ในเวลาร้อนเห็นปานนี้, ขอพระองค์ได้โปรดประทับนั่งที่โคนไทร มีเงาอันสนิทนั่นเถิดพระเจ้าข้า  ซึ่งพระพุทธเจ้าตรัสตอบทันทีว่า ช่างเถิด มหาบพิตร ชื่อว่าเงาของหมู่พระญาติเป็นของเย็น

                      ประเด็นนี้อธิบายได้ว่า  แม้พระองค์จะนั่งใต้ต้นไม้ร้อนเพียงใดก็ตาม หากเป็นต้นไม้ที่อยู่ในเขตของพระญาติจัดได้ว่าพระญาติคือเงาที่สามารถทำให้เกิดความเย็นได้  ต่างจากประทับนั่งใต้ต้นไม้เย็นที่มีเงาหนาทึบ  แต่ต้นไม้ดังกล่าวไม่ใช่ของพระญาติ แม้จะเย็นเพียงใดก็ยังจัดได้ว่าร้อนกว่าเงาของพระญาติ  ท่าทีเช่นนี้พระเจ้าวิฑูฑภะก็ประจักษ์เป็นอย่างดีดังจะเห็นได้จากการดำริของพระองค์ว่า พระศาสดาเสด็จมาเพื่อประสงค์จะรักษาหมู่ญาติ

                      อย่างไรก็ตาม เนื่องจาก ต้นทุนทางความเกลียดชัง ที่ฝังแน่นมาอย่างยาวนานทำให้พระองค์ตัดสินพระทัยยกทัพหลวงออกไปเพื่อทำสงครามฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เจ้าศากยะอีก แต่พระพระพุทธเจ้าก็เสด็จไปไกล่เกลี่ยถึง ๓ ครั้งด้วยกัน   เมื่อถึงครั้งที่ ๔ พระพุทธเจ้าตัดสินพระทัยที่จะยุติบทบาทของพระองค์   จึงทำให้พระเจ้าวิฑูฑภะได้มีโอกาสทำสงครามฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ของเจ้าศากยะในที่สุด

                      ประเด็นที่น่าสนใจอย่างยิ่งเกี่ยวกับการทำหน้าที่ของพระองค์ก็คือ กรณีศึกษานี้จัดได้ว่าเป็นกรณีเดียวเท่านั้น ที่พระพุทธเจ้าประสบความ ล้มเหลว ในการเจรจาไกล่เกลี่ยเพื่อให้พระเจ้าวิฑูฑภะประนีประนอมยอมความกับเจ้าศากยะ แต่วาระสุดท้ายก็ไม่สามารถทำให้พระองค์เปลี่ยนพระทัยได้ ประเด็นที่ควรพิจารณาเกี่ยวกับกรณีนี้ก็คือ เพราะเหตุไร  การทำหน้าที่เจรจาไกล่เกลี่ยของพระองค์จึงไม่ประสบความสำเร็จ ถึงแม้ว่าพระองค์จะใช้วิธีการ เผชิญหน้า เพื่อไกล่เกลี่ยให้ ประนีประนอมยอมความซึ่งกันและกัน  ด้วยวิธีการ โน้มน้าว ถึง ๓ ครั้ง  ผู้เขียนคิดว่า มีตัวแปรที่น่าสนใจหลายประการด้วยกัน กล่าวคือ

                      (๑) ประเด็นเรื่อง ความเกลียดชัง (Concentration) ที่ฝังแน่นอยู่ในใจตั้งแต่เยาว์ ด้วยสาเหตุที่เกิดจากการตั้งข้อสังเกตว่า เพราะเหตุไร เพราะญาติของตนจึงไม่เหลียวแล แต่กรณีเด็กคนอื่นๆ มักได้รับของฝากจากญาติ ๆ  และเพราะเหตุไร เมื่อกลับไปในสถานที่ที่ตัวเองคิดว่าเป็นบ้านของพระญาติ แต่ไม่ค่อยได้รับการต้อนรับตามธรรมเนียมที่กษัตริย์ควรกระทำต่อกษัตริย์  ซึ่งคำถามดังกล่าวก็ถูกเปิดเผยเมื่อพลทหารได้ฟังความจริงจากปากของนางทาสีว่า พระองค์เป็นลูกของนางทาสี ฉะนั้น จึงจำเป็นต้องล้างแผ่นกระดานที่พระองค์นั่งด้วยน้ำนม ด้วยเหตุนี้จึงเป็นที่มาของประโยคที่ถือได้ว่าเป็นหัวใจของความชิงชังเกิดจากการถูกดูหมิ่นว่า สักวันหนึ่งเราจะล้างกระดานแผ่นนั้นด้วยเลือดจากลำคอของเจ้าศากยะ  ในที่สุดพระองค์กระทำดังที่ได้ตั้งใจเอาไว้

                      (๒) ประเด็นเรื่อง ความสัมพันธ์ (Relationship) ผู้เขียนคิดว่าประเด็นนี้ไม่สมควรที่นักวิเคราะห์จะพากันมองข้าม  ด้วยเหตุที่ตั้งแต่เยาว์วัยจนถึงวินาทีที่พระเจ้าวิฑูฑภะตัดสินใจที่กระทำสงครามนั้น  ความสัมพันธ์ หรือการเกี่ยวข้องระหว่างพระองค์กับพระพุทธเจ้าไม่เคยบังเกิดขึ้นเลย ความสัมพันธ์ที่ไม่ได้มีต่อกันทำให้พระเจ้าวิฑูฑภะจึงคิดว่าพระพุทธเจ้าต้องการที่สงเคราะห์ญาติของพระองค์  จนนำไปสู่การตีความได้ว่า พระองค์ต้องการที่จะช่วยเหลือ และเข้าข้างญาติของพระองค์  การคิดอย่างนี้จึงเป็นที่มาของการ หวาดระแวง และ สงสัย ในการทำหน้าที่ของนักเจรจาไกล่เกลี่ยคนกลาง  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การนั่งใต้เงาไม้โปร่งซึ่งอยู่ในอาณาเขตของเมืองสาวัตถีอันเป็นพื้นที่ของของพระญาติแทนที่จะรงเลือกที่จะนั่งใต้ต้นไม้เงาทึบซึ่งเป็นอาณาเขตของพระเจ้าวิฑูฑภะ   ฉะนั้น  คำว่า ต้นทุนทางสังคมสูง จึงเป็นคนละประเด็นกับ ต้นทุนทางความเกลียดชังสูง

                      (๓) ประเด็นเรื่อง กรรมเก่า ของเจ้าศากยะ  เป็นประเด็นที่ทำให้พระพุทธเจ้าต้องหันกลับไปทบทวนบทบาทในการทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยของพระองค์ว่า เพราะเหตุใด จึงล้มเหลว และไม่สามารถเปลี่ยนพระทัยของพระเจ้าวิฑูฑภะให้ล้มเลิกความตั้งใจได้ เมื่อพระองค์วิเคราะห์ปัจจัยดังกล่าวด้วยพุทธญาณแล้ว จึงพบว่า เจ้าศากยะเหล่านั้นเคยโปรยยาพิษเพื่อฆ่าล้างเผ่าพันธุ์คนอื่น ด้วยเหตุนี้  เจ้าศากยะเหล่านั้นจึงต้องประสบกับวิบากกรรมที่ตัวเองเคยกระทำมาแล้ว  ประเด็นเรื่อง กรรมเก่า จึงเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่นักเจรจาไกล่จะพึงพิจารณาในขณะที่ดำเนินการเจรจาไกล่เกลี่ยแล้วเกิดความล้มเหลวขึ้นมา ซึ่งเราไม่สามารถที่จะไปกล่าวตำหนิว่า วิธีการดังกล่าวนั้นไม่ดี หรือ ไม่เหมาะกับสถานการณ์ บางครั้งหากนักไกล่เกลี่ยได้ทำหน้าที่อย่างสุดความสามารถแล้ว หากไม่สามารถที่จะช่วยเหลือคู่กรณีได้ก็จำเป็นต้องยอมรับความจริง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความจริงในเรื่องของกรรมเก่าของแต่ละบุคคล

                      เมื่อกล่าวโดยสรุปแล้ว การจัดการความขัดแย้งในความหมายทั่วไปในแง่ของธรรมนั้น  ทำให้พบชุดของวิธีการ หรือชุดของข้อปฏิบัติเพื่อจัดการความขัดแย้งโดยพุทธสันติวิธีในประเด็นใหญ่เพียงชุดวิธีเดียว คือ  จัดการความขัดแย้งโดยใช้กระบวนการเจรจาไกล่เกลี่ยคนกลาง  ผู้ที่ทำหน้าที่ดังกล่าวคือ พระพุทธเจ้า 

                      และเมื่อกล่าวถึงวิธีการ หรือข้อปฏิบัติต่าง ๆ ที่พระองค์ได้นำไปใช้เป็นเครื่องมือประกอบการเจรจาไกล่เกลี่ยคนกลางคือ การเริ่มต้นด้วย การเผชิญหน้า เข้าไปจัดการความขัดแย้ง หลังจากนั้นจึงเริ่มต้นด้วยการ ประนีประนอม ให้คู่กรณี ยอมความ  โดยใช้การ โน้มน้าว ด้วยการชี้ให้เห็นถึง จุดอ่อน (Weakness) ที่จะเกิดขึ้นจากข้อพิพาทดังกล่าว  แต่เมื่อพบทางตันอันเนื่องมาจาก ฐานรากของข้อพิพาท ใหญ่ และกินเนื้อที่ทางสังคมวิทยา และจิตวิทยามากจนเกินไป พระองค์ก็จะทรงเลือกใช้วิธี หลีกเลี่ยง  เพื่อรอให้เวลาของข้อพิพาทสุกงอมโดยใช้ การกดดันทางสังคม หรือ สงครามสื่อมวลชน เข้าไปเป็นตัว กระตุ้น ให้เกิดการสร้างทางเลือกในวิธีการใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง  การสร้างเวทีสังฆเสวนา (Shangka’s Dialogue) ขึ้นมา เพื่อให้คู่กรณีได้ใช้เวทีดังกล่าวพบปะพูดคุยและหาทางออกร่วมกันในโอกาสที่เหมาะสมต่อไป

 

๗. สรุป และวิเคราะห์

                เมื่อกล่าวโดยภาพรวมเกี่ยวกับความขัดแย้ง จะพบว่า  พระพุทธศาสนายอมรับว่า ความขัดแย้งเป็นสิ่งจำเป็น (Necessity) ในระดับโลกิยวิสัย เพราะ ความขัดแย้ง จัดได้ว่าเป็น ทุกข์ของบุคคลและสังคม ประการหนึ่ง  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การมองว่าความขัดแย้งเป็นธรรมชาติหรือธรรมดาของสังคมทั่วไป จนอาจจะกล่าวได้ว่าเป็นสิ่งจำเป็นของสังคม  เพราะสรรพสิ่งในสังคมนั้นแปรเปลี่ยนไปอยู่ตลอดเวลา (อนิจจัง)  ผลจากการแปรเปลี่ยนดังกล่าวนั้นจึงทำให้เกิดบรรยากาศของทุกข์หรือความขัดแย้ง  ซึ่งเป็นสภาวะหรือบรรยากาศที่ดำรงอยู่ในภาพเดิมไม่ได้  สาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดความขัดแย้งก็เพราะทุกสิ่งทุกอย่างนั้นในแง่ของโลกิยวิสัยนั้นไม่สามารถเป็นไปตามความต้องการ หรืออำนาจของสิ่งใด หรือบุคคลใด กล่าวคือไม่มีสิ่งใด หรือบุคคลใดบังคับให้มันไม่เปลี่ยนแปลงหรือไม่ให้ขัดแย้งกัน (อนัตตา)  ฉะนั้น เมื่อกล่าวโดยธรรมชาติแล้ว สรรพสิ่งต้องขัดแย้งกัน แต่ถึงกระนั้น พระพุทธศาสนาก็ได้เหลือพื้นที่ของความไม่ขัดแย้งเอาไว้ให้สภาวะสูงสุดนั่นก็คือพระนิพพาน 

                      อย่างไรก็ดี  ในทัศนะของพระพุทธศาสนา  ความขัดแย้งได้ก่อให้เกิดการพัฒนาคุณค่าภายในของมนุษย์ในเชิงอัตวิสัย และมีส่วนสำคัญในการพัฒนาคุณค่าในเชิงปรวิสัยเช่นเดียวกัน  กล่าวคือ  ความขัดแย้งก่อให้เกิดการพัฒนาการระบบการเมืองการปกครอง   การบัญญัติพระวินัย  การจัดระเบียบสังคม และการพัฒนาสังคม และเศรษฐกิจ  ฉะนั้น  ความขัดแย้งในพระพุทธศาสนาสะท้อนภาพทั้งที่เป็นบุญและเป็นบาป  ประเด็นจึงอยู่ที่ว่า เราจะมีท่าทีต่อความขัดแย้ง หรือวางบทบาทของตัวเองในสถานการณ์ของความขัดแย้งอย่างไร  จึงจะสามารถดำรงตนอยู่บนสถานะของความขัดแย้งได้อย่างประสานสอดคล้องกับชีวิตและสังคม

                      อย่างไรก็ดี  พระพุทธเจ้าในฐานะนักเจรจาไกล่เกลี่ยคนกลางซึ่งมีต้นทุนทางสังคมสูงและประชาชนรู้จักกิตติศัพท์ของพระองค์อยู่แล้ว  การเข้าไปทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยของพระองค์จึงเกิดจากการตระหนักรู้ถึงหายนะที่จะเกิดขึ้นจากข้อพิพาทของคู่กรณี  ฉะนั้น จะเห็นว่า พระองค์เข้าไปทำหน้าที่โดยที่คู่กรณีไม่จำเป็นต้องเข้ามานิมนต์แต่ประการใด  แต่ในบางกรณีคู่ขัดแย้ง หรือผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียกับความขัดแย้งได้พยายามที่จะส่งสัญญาเพื่อให้พระองค์เข้าไปทำหน้าที่ในการช่วยค้นหาทางเลือกที่ดีที่สุดให้แก่คู่กรณีเพื่อหาทางออกร่วมกัน

                      ในสังคมยุคปัจจุบัน แม้คู่กรณีจะเชิญคนกลางเข้าไปทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยก็ตาม แต่ถึงกระนั้น  หลายกรณีก็ประสบความล้มเหลวเช่นเดียวกัน   ตัวแปรสำคัญจึงไม่ได้อยู่ที่คนกลางแต่เพียงประการเดียว หากแต่อยู่ที่คู่กรณีด้วยว่า สามารถยอมรับแนวทางที่คู่กรณีแต่ละฝ่ายนำเสนอหรือไม่มากกว่า และประเด็นสำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ คนกลางไม่มีอำนาจในการชี้ถูกชี้ผิดให้แก่คู่กรณี  หากแต่หน้าที่สำคัญก็คือ การทำให้บรรยากาศของการพูดคุยเป็นไปอย่างมีเป้าหมาย และมีทิศทางมากยิ่งขึ้น อันเกิดจากการสร้างทางเลือกร่วมกันของคู่กรณี และคนกลาง

                      ถึงกระนั้น นักเจรจาไกล่เกลี่ยจำเป็นที่เข้าใจความจริงที่ว่า ความขัดแย้งเป็นสิ่งจำเป็น และเป็นธรรมชาติของมนุษย์และสังคมในระดับโลกิยะ  ด้วยเหตุนี้ หน้าที่สำคัญของนักเจราไกล่เกลี่ยคือการนำเสนอทางเลือกให้ครอบคลุมวัตถุประสงค์และความต้องการของคู่กรณี เพื่อให้มนุษย์และสังคมที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งได้เข้าใจว่า เมื่อเกิดความขัดแย้ง หน้าที่ของมนุษย์และสังคมจึงไม่ได้อยู่ที่ การหลบหนี หรือ สลาย ความขัดแย้ง  หากแต่ยอมรับสถานการณ์ความขัดแย้งที่เกิดขึ้น ในฐานะที่เป็น ทุกข์ ประการหนึ่งของชีวิตและสังคม  และแสวงหาคำตอบว่า ความขัดแย้งเกิดจากอะไร นำไปสู่อะไร เราควรจะมีท่าที รวมไปถึงการแสวงหาทางออก หรือหาเครื่องมือเพื่อนำไปจัดการความขัดแย้งให้ถูกต้องตามหลักเหตุ ผล ตน ประมาณ กาล บุคคล และชุมชนได้อย่างไร[85]  จึงจะทำให้มนุษย์และสังคมอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข.

 

 



                      [1] ชัยวัฒน์ สถาอานันท์, สันติทฤษฏี/วิถีวัฒนธรรม, (กรุงเทพมหานคร: เรือนแก้วการพิมพ์, ๒๕๓๙), หน้า ๓๖.

                      [2] Thoresten Sellin, Culture Conflict and Crime, (New York: Social Science Research Council, 1938).

                      [3] ...พฤทธิสาณ ชุมพล, “สันติภาพภายใต้เงื่อนไขของความขัดแย้งทางสังคมและการเมือง”, ใน มนุษย์กับสันติภาพ, (ศรีเพ็ญ ศุภพิทยากุล บรรณาธิการ),  (กรุงเทพมหานคร:  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๔๓),      หน้า ๔๑.

                      [4] นักรัฐศาสตร์ชาวอเมริกัน     ได้นำเสนอแนวคิด เรื่อง "การปะทะกันของอารยธรรม” (The Clash of Civilizations ดูเพิ่มเติมใน วารสาร Foreign Affairs ฉบับ Summer 1993                    

< http://www.zmag. org/terrorframe. htm 221144release date CPMPWBContents P. Member P>.

                      [5] ธีรยุทธ  บุญมี,  Road Map ประเทศไทย, กรุงเทพมหานคร: สายธาร, ๒๕๔๗), หน้า ๓๖-๓๗.

                      [6] สุรชาติ บำรุงสุข,   สงครามข้ามรัฐ-สงครามในรัฐ:   จากสถานการณ์โลกถึงภาคใต้”,     ใน     มติชนสุดสัปดาห์ (ฉบับที่ ๑๒๔๙): ๓๓.

                      [7] ชัยวัฒน์ สถาอานันท์, อาวุธมีชีวิต, (กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน, ๒๕๔๖), หน้า ๓๐-๓๕.

                      [8] รอฮีม ปรามาส, สงครามอนาคต และนวัตกรรมทางการทหาร, (กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์  มติชน, ๒๕๔๗), หน้า ๓๖.

[9] คำว่า “ศาสนาแห่งสันติ” นี้  สรุปและประเมินจาก ๓ หลักการใหญ่ กล่าวคือ (๑) หลักการแห่งสันติเชิงปรมัตถ์ที่ชี้ให้เห็นว่า “สุขอื่นยิ่งกว่าความสงบไม่มี” (นตฺถิ  สนฺติปรํ  สุขํ), ขุ.. (บาลี) ๒๕/๒๐๒/๕๒(๒)หลักการแห่งสันติเชิงสังคม หรือเชิงสมมติที่ไม่เห็นด้วยกับการบาดหมาง การทะเลาะ วิวาท อาฆาต ทำลายซึ่งกันและกัน  (บาลี) ๒๕/๗๘๗-๗๙๔/๔๘๘-๔๙๐, ขุ.สุ. (ไทย) ๒๕/๗๘๗-๗๙๔/๖๙๐-๖๙๑, โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำเสนอหลักการที่ว่า “บุคคลที่จะชื่อว่าประเสริฐทั้งกาย วาจา และใจ หรือเป็นคนดีนั้นไม่ใช่เพราะการเบียดเบียนสัตว์ทั้งหลาย (อหึสา  สพฺพปาณานํ)”,  (บาลี) ๒๕/๒๗๐/๖๓. ขุ.ธ. (ไทย) ๒๕/๒๗๐/๑๑๖. ขุ.อปทาน. (บาลี) ๓๒/๒๑/๓๕๘, (ไทย) ๓๒/๒๑/๔๘๖ และ (๓) องค์การสหประชาติยกย่องให้วันวิสาขบูชาเป็นวันสำคัญสากลของสหประชาติเพราะเป็นศาสนาแห่งสันติภาพใน ๒๕๔๑.

[10] นักคิดที่มองความขัดแย้งในลักษณะนี้ ประกอบไปด้วยนักคิดต่างประเทศ เช่น จอร์ด ซิมเมล ราล์ฟ  ดาห์เรนดอร์ฟ เจมส์  โค เป็นต้น ส่วนนักคิดของประเทศไทย เช่น พระธรรมปิฏก (ป.อ.ปยุตฺโต)  วันชัย วัฒนศัพท์  ชัยวัฒน์ สถาอานันท์  และสมภาร พรมทา  (ดูรายละเอียดใน พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส รูปแบบการจัดการความขัดแย้งโดยพุทธสันติวิธี: ศึกษากรณีลุ่มน้ำแม่ตาช้าง จ.เชียงใหม่, บัณฑิตวิทยาลัย มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๕๔๘.

[11] สํ..  (ไทย) ๑๕/๑๑๓/๘๔-๘๕. ดูเปรียบเทียบ ขุ.. (ไทย) ๒๙/๑๕๖/๔๓๔.

                      [12]เอวํ  วิมุตฺตจิตฺโต  โข  อคฺคินิเวสฺสน ภิกฺขุ  น เกนจิ  สํวทติ  น เกนจิ  วิวทติ  ยญฺจ โลเก  วุตฺตํ  เตน  โวหรติ อปรามสํ”. .. (บาลี) ๑๓/๒๐๖/๑๘๒, ม.. (ไทย) ๑๓/๒๗๕/๒๔๓.

                      [13] ขุ.. (ไทย) ๒๙/๑๑๒/๓๓๕.

                      [14]อวิสโย  มหาราช  เอกจฺจสฺส  อรหโต  สพฺพํ  ชานิตุน หิ ตสฺส พลํ  อตฺถิ  สพฺพํ  ชานิตุ อนญฺญาตํ  มหาราช  อรหโต  อิตฺถิปุริสานํ  นามมฺปิ  โคตฺตมฺปิ, มคฺโคปิ ตสฺส  มติยา  อนญฺญาโต  วิมุตฺตึเยว  มหาราช  เอกจฺโจ  อรหา  ชาเนยฺย  ฉฬภิญฺโญ  อรหา  สกวิสยํ  ชาเนยฺย, สพฺพญฺญู  มหาราช  ตถาคโตว สพฺพํ ชานาติ”.  มิลินฺท. _//๒๗๗-๒๗๙.

                      [15] พระอรรถกถาจารย์ขยายประเด็นนี้ว่า พระสังคาหกเถระทั้งหลายกล่าวแล้วโดยปริยายซึ่งหมายถึงการวิเคราะห์ ให้คำจำกัดความ และตีความแตกต่างกันออกไปหลายประเด็น

                      [16] วิ.จู. (ไทย) ๗/๔๔๑/๓๘๒.

                      [17] พระธรรมปิฏก (..ปยุตฺโต), สลายความขัดแย้ง, พิมพ์ครั้งที่ ๑, (กรุงเทพมหานคร: บริษัทสื่อเกษตร, ๒๕๔๖), หน้า ๒.

                      [18]พระเจ้ามหานามะเกิดความสงสัยว่า เพราะเหตุไร? พระองค์ปฏิบัติตามธรรมของพระพุทธเจ้าแล้ว แต่ราคะ โทสะ และโมหะยังคงมีอยู่  พระพุทธเจ้าได้ชี้ให้เห็นว่า ที่เป็นเช่นนี้เพราะว่าการอยู่ครองเรือนนั้น เป็นที่มาของการคลุกคลีด้วยกิเลสดูเพิ่มเติมใน ม.มู. (ไทย) ๑๒/๑๗๕-๑๗๙/๑๗๗-๑๘๕.

                      [19] ที.ปา. (ไทย) ๑๑/๑๒๙/๙๖.

                      [20] ที.ปา. (ไทย) ๑๑/๑๒๙/๙๖.

                      [21] บาลีท่านให้คำนิยาม กษัตริย์ว่า ผู้เป็นใหญ่ในนา” (เขตฺตานํ  อธิปติ) ซึ่งหมายถึงผู้ที่มีอำนาจหน้าที่ในการแบ่งปันข้าวสาลี และเขตแดน

                      [22] บาลีท่านให้คำนิยาม ราชาว่า ผู้ที่ยังบุคคลเหล่าอื่นให้ยินดีโดยธรรม” (ธมฺเมน ปเร รญฺเชติ) หมายถึงผู้ที่ทำหน้าที่ในการสร้างความพอใจให้แก่ประชาชนโดยธรรม  ซึ่งราชาตามนัยนี้สอดคล้องกับพระดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบันว่า เราจะปกครองแผ่นดินโดยธรรม  เพื่อประโยชน์สุขแก่มหาชนชาวสยาม

[23] ดูเพิ่มเติมใน  เดชา  ตั้งสีฟ้า, (เรียบเรียง), ความไร้ระเบียบของโลก: ทางเลือกในทศวรรษ 1990, สุวรรณา-ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ (บรรณาธิการ), (กรุงเทพมหานคร: ศูนย์ข่าวสารสันติภาพ, ๒๕๓๖).

                      [24] ที.ปา  (บาลี) ๑๑/๙๒/๕๖,  ที.ปา. (ไทย) ๑๑/๙๒/๖๙. 

                      [25] ที.ปา. (บาลี) ๑๑/๙๖/๕๙, ที.ปา.(ไทย) ๑๑/๙๖/๗๑.   

                      [26] ที.ปา (บาลี) ๑๑/๑๐๒/๖๐-๖๑, ที.ปา. (ไทย) ๑๑/๑๐๒/๗๓. 

                      [27] เรื่องเดียวกัน, หน้าเดียวกัน.

                      [28]ที.ปา (บาลี) ๑๑/๑๐๔/๖๒-๖๓, ที.ปา. (ไทย) ๑๑/๑๐๔/๗๕. 

                      [29] ที.ปา. (บาลี) ๑๑/๑๐๕/๖๓, ที.ปา. (ไทย) ๑๑/๑๐๕/๗๕.

                      [30] ที.ปา. (บาลี) ๑๑/๑๐๕/๖๔, ที.ปา. (ไทย) ๑๑/๑๐๕/๗๖.

                      [31] ที.สี. (บาลี) /๓๒๓-๓๕๘/๑๒๗-๑๕๐, ที.สี. (ไทย) /๓๒๓-๓๕๘/๑๒๔-๑๕๐.

                      [32] ขุ.เถร. (ไทย)  ๒๖/ ๒๗๕๒๗๖/๓๘๔.

                      [33] ขุ.. (ไทย) ๒๙/๖๓/๒๐๓.

                      [34] ขุ.ชา. (ไทย) ๒๗/๓๗/๒๖๑.

                      [35] ขุ.ชา. (ไทย) ๒๗/๓๘/๒๖๑.

                      [36] คำว่า สงฆ์ในระบบพิธีกรรม เช่นการบวชนั้น ต้องมีพระภิกษุตั้งแต่ ๔ รูปขึ้นไป.

                      [37] พระองค์ได้ปรับอาบัติสังฆาทิเสสแก่พระเทวทัตต์ หลังจากที่พระเทวทัตต์ทำสงฆ์ให้แตกจากกัน.

                      [38] การทำสงฆ์ให้แตกจากกันนั้น จัดได้ว่า เป็นอนันตริยกรรมเช่นเดียวกับการฆ่าบิดา หรือมารดา.

                      [39] ขุ.. (ไทย) ๒๙/๖๓/๒๐๓.

                      [40] ขุ.. (ไทย) ๒๙/๖๓/๒๐๙.

                      [41] ขุ.. (ไทย) ๒๙/๖๗/๒๐๓.

                      [42] ขุ.. (ไทย) ๒๙/๖๓/๒๐๓.

                      [43] ขุ.. (ไทย) ๒๙/๖๕/๒๐๕.

                      [44] ขุ.. (ไทย) ๒๙/๙๗/๓๐๐.

                      [45] ขุ.. (ไทย) ๒๙/๖๓/๒๐๓๒๐๔.

                      [46] ดูเพิ่มเติมใน ขุ.สุ.อ. ๒/๓๖๒/๑๗๖-๑๗๗, ขุ.ชา.อ. ๘/๕๓๖/๓๐๘-๓๑๒.

                      [47] ขุ.สุ.อ. ๒/๓๖๒/๑๗๖, ขุ.ชา.อ. ๒/๗๖/๑๑๘.

                      [48] ในอรรกถามองว่า ตัวที่อยู่เบื้องหลังคือ ตัณหา และทิฏฐิ แต่ผู้เขียนมองว่า เมื่อวิเคราะห์จากตอนท้ายของคาถาจะพบว่า มีประเด็นเรื่องมานะเข้าไปเกี่ยวข้องค่อนข้างชัดเจน และโดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นนี้เกี่ยวข้องกับประเด็นปัญหาเรื่องการถือตัวของกษัตริย์ทั้งสองฝ่าย ดูเพิ่มเติมในทัณฑสูตร  ขุ.สุ. (บาลี) ๒๕/๙๔๒-๙๖๑/๕๑๘-๕๒๐, ขุ.ม. (บาลี) ๒๙/๑๗๐-๑๘๙/๓๓๖-๓๗๖, ขุ.สุ.อ. ๒/๙๔๒-๙๖๑/๔๑๐-๔๑๔.

                      [49] ขุ.ชา.อ. ๘/๕๓๖/๓๐๙.

                      [50] ขุ.ชา.อ. ๘/๕๓๖/๓๑๐.

                      [51] ขุ.ชา.อ. ๘/๕๓๖/๓๑๐.

                      [52] เรื่องเดียวกัน, หน้า ๓๑๐.

                      [53] เรื่องเดียวกัน, หน้า ๓๑๐.

                      [54] เรื่องเดียวกัน, หน้า ๓๑๐.

                      [55]เรื่องเดียวกัน, หน้า ๓๑๐.

                      [56] ขุ.ชา.อ. ๘/๕๓๖/๓๐๙.

                      [57] ชาดกนี้เน้นเรื่องราวที่เกี่ยวกับรุกขเทวดาและหมีซึ่งทะเลาะวิวาทกันครั้งแล้วครั้งเล่า  แต่ในที่สุดไม้ตะคร้อที่รุกขเทวดาอาศัยอยู่ก็กลายเป็นล้อเกวียน โดยมีหนังหมีหุ้มล้อ  ขุ.ชา.อ. ๖/๔๗๕/๑๔๔-๑๔๘ โดยพระองค์ได้สรุปว่า ดูก่อนมหาราชทั้งหลาย  ขึ้นชื่อว่า การหายใจคล่อง เพราะเหตุทะเลาะวิวาทกันไม่มีเลย

                      [58] ชาดกนี้เน้นเรื่องราวของกระต่ายที่นอนอยู่ใต้ต้นมะตูม ในขณะที่นอนหลับนั้น ผลมะตูมสุกได้ล่นลงไปถูกใบตาล จึงเข้าใจว่า แผ่นดินถล่ม จึงส่งสัญญาณให้กระตายตัว และสัตว์อื่นๆ ได้รับรู้ ผลที่เกิดขึ้นก็คือ สัตว์ทั้งหลายพากันวิ่งหนี และบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก  ขุ.ชา.อ. ๔/๓๒๒/๒๗๙-๒๘๓ พระองค์จึงสรุปว่า ดูก่อนมหาราชทั้งหลาย  เกิดมาเป็นคนไม่ควรหันไปตามเหตุที่ถึงของบุคคลอื่น (คือไม่ควรเก็บเอาเรื่องของคนอื่นมาคิด)”

                      [59]  ชาดกนี้เน้นเรื่องราวของความบาดหมางระหว่างช้างกับนกไส้ ที่ช้างได้ฆ่าลูกของเธอตาย เธอจึงแกล้งทำดีกับกา แมลงวันและกบเพื่อให้กาเจาะตาช้าง แมลงวันเข้าไปไข่ใส่ และกบไปยืนรองที่ปากเหวเพื่อให้ช้างตกไปตาย  ขุ.ชา.อ. ๔/๓๕๗/๓๘๙-๓๙๒  พระองค์จึงสรุปว่าดูก่อนมหาราชทั้งหลาย  บางคราวผู้ที่มีกำลังน้อยกว่าก็หาช่องทำลายผู้ที่มีกำลังมากได้  บางคราวผู้ที่มีกำลังมากก็ได้ช่องทำลายผู้ที่มีกำลังน้อยได้  แม้แต่นางนกไซ้ยังฆ่าพญาช้างตัวประเสริฐได้

                      [60] ชาดกนี้ชี้ให้เห็นถึงเทวดาสองกลุ่ม คือกลุ่มที่พากันไปอาศัยอยู่ในป่ารังที่ประสานกันแน่น กับกลุ่มที่พากันไปอยู่ตามต้นไม้ใหญ่ที่ตั้งอยู่ต้นเดียว เมื่อพายุเกิดขึ้นได้ทำลายต้นไม้ใหญ่ที่ตั้งอยู่โดดเดี่ยวล้มลง แต่ลมพายุไม่สามารถที่จะทำลายป่ารังที่เกาะประสานกันอยู่เป็นกลุ่มเดียวกันได้  ขุ.ชา.อ. ๒/๗๔/๑๑๘-๑๒๐ ด้วยเหตุนี้พระองค์จึงสรุปว่ามหาบพิตรทั้งหลาย  ท่านทั้งหลายได้นามว่าเป็นญาติกัน  ควรจะสมัครสมานสามัคคีร่วมใจกัน  เพราะว่า  เมื่อญาติทั้งหลายยังสามัคคีกันอยู่  หมู่ปัจจามิตร (ข้าศึก) ย่อมไม่มีโอกาส

                      [61] ชาดกนี้ชี้ให้เห็นถึงกรณีที่นกกระจาบแก่งแย่งกัน และอวดดีว่าตัวเองเก่ง จึงทำให้ขาดความเป็นเอกภาพ และทำให้นายพรานจับได้ทั้งฝูง  ขุ.ชา.อ. ๒/๑๑๘/๒๖๐  ด้วยเหตุนี้พระองค์จึงสรุปว่า ดูก่อนมหาราชทั้งหลาย เมื่อฝูงนกกระจาบพร้อมเพรียงกันอยู่  นายพรานก็ไม่อาจหาช่องทำร้ายได้  ต่อเมื่อใดฝูงนกกระจาบเกิดการแก่งแย่งขึ้น  เมื่อนั้น  บุตรนายพรานคนหนึ่งจึงทำลายเอานกกระจาบเหล่านั้นไปเสีย

                      [62] พระสูตรนี้ย้ำให้เห็นว่า การทะเลาะวิวาทไม่ได้เกิดผลดีแก่บุคคลใด และยังจะส่งผลให้เกิดภัยต่างๆ ที่มาของภัยก็คือ ตัณหา และทิฏฐิอันทำให้หมู่ชนโกรธเคืองกันและกัน ฉะนั้น มุนีย่อมไม่กล่าวยกย่องตนในบุคคลที่เสมอกัน  ผู้ต่ำกว่า ผู้สูงกว่า  มุนีนั้นเป็นผู้สงบปราศจากความตระหนี่  ย่อมไม่ยึดมั่นถือมั่น

                      [63] ที.สี. (ไทย) /๒๗๗/๙๙.

                      [64] ที.ปา. (ไทย) ๑๑/๙๑/๕๑.

                      [65] ม.อุ. (ไทย) ๑๔/๓๕/๔๕.

                      [66] กรณีศึกษาเกี่ยวกับพระเจ้าวิฑูฑภะกับฮิตเลอร์มีความสอดคล้องที่สำคัญประการหนึ่งก็คือ ทั้งคู่ มีปมด้อยตั้งแต่เด็ก

                      [67] ขุ.สุ. (บาลี) ๒๕/๔๗/๒๕, ขุ.สุ. (ไทย) ๒๕/๔๗/๔๑,

                      [68] .../๓๗๔/๒๕๖.

                      [69] ในอรรถกถาของพระสูตรนี้ เรียกพระเจ้าวิฑูฑภะว่า วิฏฺฏูโภ”. .อุ.._//๓๘๓.

                      [70] ขุ.สุ. (บาลี) ๒๕/๑๐๔/๓๕๖, ขุ.สุ. (ไทย) ๒๕/๑๐๔/๕๒๖.

                      [71] ขุ.สุ.อ ๑/๑๐๕/๑๗๖.

                      [72] พระองค์เป็นโอรสของพระเจ้ามหาโกศล  และเป็นพี่ชายของพระนางเวเทหิซึ่งเป็นพระชายาของพระเจ้าพิมพิสาร และเป็นพระเจ้าลุงของพระเจ้าอชาตศัตรู ทรงเป็นผู้ปกครองประจำแคว้นโกศล  ซึ่ง       เมืองหลวงมีชื่อว่า สาวัตถี  สํ..ฏี. /๑๒๕/๑๙๘.

                      [73] ดูประวัติและความเป็นมาของเจ้าศากยะ บทเดียวกัน

                      [74] ทีฆการายนะนั้น เป็นหลานของพันธุละเสนาบดี  ซึ่งพันธุลเสนาบดีนั้น พระเจ้าปเสนทิโกศล  ได้สั่งให้ทหารลอบฆ่าพร้อมกับลูกๆ จำนวน ๓๒  คน เนื่องจากพระองค์ระแวงว่าพันธุลเสนาบดีจะแย่งชิง      พระราชสมบัติของพระองค์  แต่เมื่อส่งสายลับไปสืบแล้ว กลับพบความจริงว่า นางมัลลิกาเทวีซึ่งเป็นภรรยาของพันธุลเสนาบดีและลูกสะใภ้ไม่ได้มีความคิด และพฤติกรรมในลักษณะดังกล่าว   ด้วยความสำนึกผิดพระองค์จึงได้ตั้งหลานของพันธุลเสนาบดีขึ้นดำรงตำแหน่งเสนาบดีในโอกาสต่อมา.

                      [75] เป็นพระราชโอรสของพระเจ้าปเสนทิโกศล และนางวาสภขัตติยา

                      [76] เป็นลูกสาวของนางทาสีที่อยู่ในการดูแลของพระเจ้าศากยะมหานามะ

                      [77] รศ.ดร.ชัยวัฒน์  สถาอานันท์ อาจารย์ประจำภาควิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้อธิบาย ทฤษฎีขนนกว่า การฆ่ากัน  หรือการทำร้ายกันด้วยวิธีการที่รุนแรงนั้น  มิได้ยืนอยู่ลอยๆ บนฐานของเรื่อง หรือเหตุการณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง   หากแต่ยืนอยู่บนฐานของสภาพปัญหาที่หมักหมมมาอย่างยาวนาน  แต่ไม่ได้รับการจัดการแก้ไข  เช่น กรณีอาจารย์หนุ่มใช้ไม้กอล์ฟตีแฟนสาว จนเสียชีวิต   ประเด็นจึงไม่ได้อยู่ที่การตีแฟนสาวตาย แต่อยู่ที่การตายของหญิงสาวนั้นแสดงให้เห็นถึงความขัดแย้งที่สะสมมาอย่างยาวนาน ประดุจขนนกที่มีน้ำหนักเบาและไวต่อการเคลื่อนไหวตามแรงลม ซึ่งเปรียบได้กับการตัดสินใจฆ่าภรรยาของตัวเอง ซึ่งเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วมาก  และเราไม่สามารถสรุปได้ว่า เพียงแค่เรื่องนิดเดียว ทำไมจึงต้องใช้ไม้ตีกอล์ฟฆ่าภรรยาของตัวเองด้วย   (ผู้วิจัย) กรณีนี้คล้ายคลึงกับกรณีของกบฏ เชเชนจับนักเรียนในรัสเซียเป็นตัวประกัน  และทำให้ตัวประกันตายเกือบ ๓๐๐  คน

                      [78] พระเจ้าปเสนทิโกศลไม่สบายพระทัยกรณีที่พระองค์นิมนต์ให้พระภิกษุจำนวน ๕๐๐  รูปไปรับนิตยภัตจากพระองค์ทุกวัน  แต่เมื่อผ่านไปได้ ๗ วันพระองค์ทรงลืมออกมาถวายอาหาร  เนื่องจากพระองค์ไม่ได้สั่งไว้  จึงไม่มีใครกล้าถวายอาหารบิณฑบาตแทนพระองค์  พระภิกษุจึงไม่รอรับอาหารบิณฑบาต  เมื่อพระองค์นึกได้จึงออกมาถวายอาหาร แต่พบพระอานนท์รูปเดียวเท่านั้น  จึงไปถามพระพุทธเจ้าว่า เพราะเหตุไร? พระภิกษุ ๕๐๐ รูปจึงไม่ให้ความสำคัญแก่พระองค์  พระพุทธเจ้าได้ทรงชี้ให้เห็นว่า พระภิกษุไม่มีความคุ้นเคยกับพระองค์ จึงไม่รอรับอาหารบิณฑบาต

                      [79] ที.ปา. (ไทย) ๑๑/๙๑/๕๑.

                      [80] เครื่องประดับเกียรติของพระเจ้าแผ่นดินมี ๕ อย่างคือ แส้จามรี มงกุฎ พระขรรค์ ธารพระกร  และฉลองพระบาท  แต่บางแห่งว่า พระขรรค์  เศวตฉัตร มงกุฎ ฉลองพระบาท แบะพัดวาลวีชนี

                      [81] ประเด็นการแย่งชิงราชสมบัตินี้  พระเจ้าวิฑูฑภะไม่ได้มีส่วนรู้เห็น และร่วมวางแผนตั้งแต่แรก  เพราะจากหลักฐานในคัมภีร์อรรถกถาได้พยายามที่จะบอกว่าพระองค์ก็ไม่ทราบเรื่องราวที่เกิดขึ้น จึงได้ถาม       การายนะเสนาบดีว่า พระชนกของข้าพเจ้าไปแล้วหรือในขณะที่เสนาบดีพยายามที่จะใช้เหตุผลเชิงจิตวิทยา ด้วยการบอกว่า ถ้าท่านไม่รับตำแหน่งพระราชา ข้าพเจ้าจะเป็นพระราชาเอง  พระเจ้าวิฑูฑภะจึงยินยอมที่จะรับตำแหน่งดังกล่าว  (... ธรรมเจติยสูตร   ) ผู้วิจัยมองว่า มีเหตุผลสองประการที่ทำให้พระองค์จำเป็นต้องรับตำแหน่งดังกล่าว

                      () เหตุผลในเชิงการเมืองการปกครอง  ตำแหน่งพระราชานั้นเป็นของเสด็จพ่อของพระองค์   พระองค์จึงไม่สามารถที่จะปฏิเสธได้  เพราะหากพระองค์ปฏิเสธก็จะกลายเป็นว่าวงศ์ของพระเจ้าปเสนทิโกศลก็จะสูญไป

                      () เหตุผลในเชิงความแค้นส่วนตัว  ประเด็นนี้น่าจะเป็นเหตุผลสำคัญที่เป็นแรงผลักให้พระองค์จำเป็นต้องรับตำแหน่งดังกล่าว เพราะพระองค์เคยตั้งพระทัยแล้วว่าหากดำรงราชสมบัติเมื่อใดจะดำเนินการ       แก้แค้นเจ้าศากยะ   ฉะนั้น พระองค์จำเป็นต้องรับตำแหน่งในสถานการณ์เช่นนี้ 

                      [82] พระเจ้าวิฑูฑภะไม่ได้ฆ่าเจ้าศากยะมหานามและบริวาร  เพราะมองว่าเป็นพระเจ้าตาของพระองค์  แต่หลังจากนั้นไม่นานพระเจ้ามหานามะก็พยายามที่จะฆ่าตัวตายในสระน้ำ  เพื่อหลีกหนีการเสวย    พระกระยาหารร่วมกับพระเจ้าวิฑูฑภะ  เพราะยึดคติที่ว่า แม้กษัตริย์จะสิ้นพระชนม์ ก็ไม่ยอมเสวยพระกระยาหารร่วมกับบุตรนางทาสี

                      [83] แผ่นกระดานดังกล่าว เป็นแผ่นกระดานที่พระเจ้าวิฑูฑภะเคยประทับนั่ง แต่เนื่องจากเจ้าศากยะทรงรังเกียจแผ่นกระดานดังกล่าว จึงสั่งให้นางทาสีนำน้ำนมไปชะล้าง

                      [84] ขุ.สุ.อ. ๑/๑๐๕/๑๗๖.

[85] ผู้สนใจเครื่องมือในการจัดการความขัดยแย้งเชิงพุทธ พึ่งศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ใน พระมหาหรรษา  ธมฺมหาโส รูปแบบการจัดการความขัดแย้งโดยพุทธสันติวิธี: ศึกษากรณีลุ่มน้ำแม่ตาช้าง จ. เชียงใหม่, อ้างแล้ว.

 

(Source: Academic)
 
 
 
Copyright © Mahachulalongkornrajavidyalaya University All rights reserved 
Maintained by: webmaster@mcu.ac.th 
Last Update : Thursday February 9, 2012