Mahachulalongkornrajavidyalaya University
MCU Home Search Contacts Study Events Site Map Thai/Eng
MCU
ON THIS SITE
Curriculum
Academic Articles

First Page » Phradhammakosajan » พระพุทธศาสนากับความสมานฉันท์แห่งชาติ
 
counter : 28142 time

''พระพุทธศาสนากับความสมานฉันท์แห่งชาติ''
 
พระธรรมโกศาจารย์ (2550)

          ในการสัมมนาครั้งนี้ ท่านพุทธศาสตรบัณฑิตทั้งหลายได้มาประชุมกันเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากประสบการณ์ของการปฏิบัติศาสนกิจในรอบ ๑ ปีที่ผ่านมาและจะได้พินิจพิจารณาถึงบทบาทของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยที่ส่งพวกเราออกไปปฏิบัติศาสนกิจเพื่อพัฒนาสังคม

ประโยชน์ของศาสตร์ต่างๆ ต่อสังคม
          ศาสตร์ทั้งหลายต้องเป็นประโยชน์ต่อสังคมถึงจะอยู่รอดมาได้ มนุษย์คิดค้นศาสตร์ต่าง ๆขึ้นมาก็เพื่อช่วยพัฒนามนุษย์และพัฒนาสังคม ศาสตร์สาขาใดไร้ประโยชน์เพราะไม่อาจทำหน้าที่พัฒนามนุษย์และพัฒนาสังคม ศาสตร์สาขานั้นก็จะสูญพันธุ์ไปเอง
          พุทธศาสตร์ซึ่งเราได้ศึกษามาในมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยนี้ก็เช่นเดียวกัน นั่นคือเมื่อพิสูจน์ได้ว่ายังมีประโยชน์ต่อชาวโลก คนก็คงยังศึกษากันต่อไป
          มหาวิทยาลัยมหาจุฬากรณราชวิทยาลัยนี้รัชกาลที่ ๕ ทรงสถาปนาให้เป็นสถานศึกษาพระไตรปิฎกและวิชาชั้นสูง ในที่นี้ คำว่า “พระไตรปิฎก” หมายถึงพุทธธรรมหรือพุทธศาสตร์ คำว่า “วิชาชั้นสูง” หมายถึง ศาสตร์สมัยใหม่สาขาต่าง ๆ ที่เราเรียนกันในมหาวิทยาลัย
          ผู้เป็นพุทธศาสตรบัณฑิตต้องมีความรู้ลึกซึ้งในพระธรรมคำสอนทางพุทธศาสนาและสามารถประยุกต์เข้ากับศาสตร์สาขาต่าง ๆ
          เมื่อพุทธศาสตรบัณฑิตมีความเป็นเลิศทางวิชาการทางด้านพุทธศาสนาบวกกับความเชี่ยวชาญในศาสตร์สาขาต่าง ๆ แล้วเราทำอะไรกันต่อไปหลังจากเรียนจบและได้รับปริญญา ศาสตร์สาขาต่าง ๆ ที่ศึกษามานั้นเราใช้ให้เป็นประโยชน์แค่ไหน นี้ก็คือสิ่งที่น่าจะได้กำหนดพินิจพิจารณา
          เมื่อเรียนจบศาสตร์สาขาต่าง ๆ แล้ว ท่านก็ต้องนำความรู้ไปใช้ทำประโยชน์ คำถามก็คือใช้ทำประโยชน์อะไร ?
          เมื่อหมอชีวกโกมารภัจเรียนวิชาแพทยศาสตร์ที่ตักกสิลาได้ ๗ ปีก็มีการสอบไล่ อาจารย์ของหมอชีวกได้ให้ข้อสอบ ๑ ข้อแก่ลูกศิษย์ที่เข้าสอบว่า ในรัศมีประมาณ ๑ โยชน์โดยรอบนี้ให้แต่ละคนไปเสาะหาดูว่าพืชชนิดใดใช้ทำยาไม่ได้ จากนั้นอาจารย์จะมาประเมินผลจากการไปแสวงหาพืชชนิดที่ใช้ทำยาไม่ได้ ว่าคนไหนควรจะจบหรือไม่
          ลูกศิษย์ทั้งหลายไปเก็บพืชชนิดที่ใช้ทำยาไม่ได้มาคนละกำสองกำแล้วนำเสนออาจารย์ อาจารย์ได้แต่พยักหน้า แต่หมอชีวกกลับมามือเปล่า
          อาจารย์ถามว่า “ไหนล่ะพืชที่ใช้ทำยาไม่ได้”
          หมอชีวกตอบว่า “ผมไปพิจารณาโดยทั่วแล้ว ไม่มีพืชชนิดใดที่ใช้ทำยาไม่ได้ พืชทุกชนิดเราใช้ทำยาได้หมด”
          ปรากฏว่า ในบรรดานักศึกษาแพทย์รุ่นนั้นมีหมอชีวกสอบผ่านเพียงคนเดียว ทั้งนี้เพราะหมอชีวกเห็นว่าพืชทุกอย่างใช้เป็นประโยชน์ได้ทั้งสิ้น ใช้เป็นประโยชน์อะไร ? เป็นประโยชน์ตามศาสตร์สาขาที่หมอชีวกเรียนจบคือนำไปปรุงยา
          ผมขอถามท่านทั้งหลายว่าเมื่อเรียนจบพุทธศาสตร์แล้ว ท่านสามารถนำความรู้ทุกอย่างไปใช้ให้เป็นประโยชน์ได้หรือไม่ ?
          ผมตอบแทนท่านทั้งหลายว่าความรู้ทุกอย่างใช้เป็นประโยชน์ได้ทั้งหมดในการเทศน์การสอนและการปฏิบัติธรรม ไม่มีอะไรที่ใช้เป็นประโยชน์ในการเทศน์การสอนและการปฏิบัติธรรมไม่ได้
          เหมือนกับสำนวนนิยายกำลังภายในที่ว่า “กระบี่อยู่ที่ใจ” นั่นคือไม่มีอะไรที่ยอดฝีมือจะใช้เป็นกระบี่ไม่ได้ เขาไปที่ไหนไม่ต้องพกพากระบี่ เมื่อถูกศัตรูจู่โจม เขาจะหยิบกิ่งไม้ขึ้นมาแล้วแผ่กำลังภายในไปที่กิ่งไม้ทำให้กิ่งไม้แข็งเหมือนกระบี่ใช้สู้รบได้
          เมื่อท่านเรียนจบหลักสูตรพุทธศาสตรบัณฑิต ความรู้ทุกอย่างเป็นประโยชน์เกื้อกูลต่อสังคมได้ทั้งหมด เรื่องที่ดีเราก็นำเอามาสอนได้ เรื่องไม่ดีเราก็นำเอามาสอนได้ ดังที่ขงจื้อกล่าวว่า
  “เมื่อข้าพเจ้าพบเห็นคนสองคนเดินสวนทางมา
คนหนึ่งเป็นคนดี อีกคนหนึ่งเป็นคนเลว
คนสองคนเป็นครูของข้าพเจ้าได้เท่าๆกัน
พบเห็นคนดีเดินสวนทางมา  ข้าพเจ้าพยายามเอาอย่างเขา
พบเห็นคนเลวเดินสวนทางมา ข้าพเจ้าพยายามไม่เอาอย่างเขา”


         เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทุกวันเป็นอุปกรณ์สอนธรรมะได้หมด ถ้าเรารู้ลึกซึ้งถึงแก่นของพระพุทธศาสนา ก็ไม่มีอะไรที่เป็นปราการขวางกั้นไม่ให้เรานำเหตุการณ์เหล่านั้น ไปประยุกต์สอนธรรมะ เมื่อประยุกต์สอนได้อย่างนี้ วิชาธรรมะก็จะเป็นประโยชน์เช่นเดียวกับวิชาการแพทย์ของหมอชีวก
          มีภาษิตสอนใจว่า“มีเงินให้เขากู้ มีความรู้อยู่ในตำรา ไม่มีประโยชน์เมื่อต้องรีบใช้”
          เมื่อหมอชีวกเดินทางกลับจากตักกสิลาไปยังเมืองราชคฤห์บ้านเกิดของเขานั้น อาจารย์ที่ตักกสิลาให้เสบียงติดตัวไปเพียงเล็กน้อยเพราะท่านต้องการให้หมอชีวกทดลองใช้ความรู้วิชาการแพทย์ปฏิบัติงานด้านการรักษาคนไข้ ถ้าชีวกรักษาคนไข้สำเร็จก็จะได้อาหารและที่พักในระหว่างทาง ถ้าเขารักษาไม่สำเร็จ เขาก็จะอดตาย ปรากฏว่านอกจากหมอชีวกจะไม่อดตายแล้ว เขายังมีชื่อเสียงโด่งดังเพราะเขาประสบความสำเร็จในการรักษาคนไข้ในระหว่างทาง
          อาจารย์ที่ตักกสิลาคนนี้ได้ส่งหมอชีวกไปทดลองปฏิบัติงานระหว่างเดินทางกลับบ้าน เช่นเดียวกับที่มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยได้ส่งพวกท่านไปไปทดลองปฏิบัติศาสนกิจเป็นเวลา ๑ ปีก่อนรับปริญญา
          การที่พวกท่านสามารถอยู่รอดปลอดภัยจนมาเข้าร่วมการสัมมนาครั้งนี้ได้แสดงว่าสอบผ่านการทดลองปฏิบัติงานเช่นเดียวกับหมอชีวก จึงขอแสดงความยินดีในเบื้องต้นไว้ตรงนี้ ต่อนี้ไปก็ขอให้ทุกท่านจงเจริญงอกงามไพบูลย์ในพระบวรพุทธศาสนาโดยได้เป็นพระครูเป็นเจ้าคุณกันทุกรูป

บัณฑิตทางพระพุทธศาสนา
          การทดลองปฏิบัติศาสนกิจ ๑ ปีถือว่าพวกท่านได้ใช้ความรู้ให้เป็นประโยชน์สมกับที่เป็นบัณฑิตทางพระพุทธศาสนา
          ชาวโลกวัดความเป็นบัณฑิตกันที่ระดับความรู้ นั่นคือ ผู้เรียนจบระดับปริญญาตรี เขาเรียกว่าเป็นบัณฑิต ผู้เรียนจบระดับปริญญาโทเป็นมหาบัณฑิต ผู้เรียนจบระดับปริญญาเอกเป็นดุษฎีบัณฑิต
          แต่พระพุทธศาสนาวัดความเป็นบัณฑิตกันที่การรู้จักใช้ความรู้ให้เป็นประโยชน์ ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า

  ทิฏฺเฐ ธมฺเม จ โย อตฺโถ โย จตฺโถ สมฺปรายิโก
  อตฺถาถิสมยา ธีโร ปณฺฑิโตติ ปวุจจติ

แปลความว่า

  “ผู้มีปัญญาท่านเรียกว่าเป็นบัณฑิต
เพราะรู้จักถือเอาประโยชน์ ๒ ประการ
คือประโยชน์ปัจจุบันเฉพาะหน้าและประโยชน์ระยะยาวในอนาคต”

          ท่านทั้งหลายมีความรู้ระดับปริญญาตรีแล้วจัดว่าเป็นบัณฑิตในทางโลก แต่อาจจะยังไม่เป็นบัณฑิตในทางธรรมถ้าท่านยังไม่สามารถจะเค้นเอาความรู้นั้นออกมาปรับใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อตนเองและสังคม เมื่อท่านเป็นพุทธศาสตรบัณฑิตแล้ว ท่านต้องกลั่นเอาความรู้ที่เรียนมาเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาและศาสตร์สาขาต่าง ๆ ประยุกต์ใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อตนเองและสังคม
          ผมจึงขอถามท่านทั้งหลายว่าท่านสามารถใช้ความรู้ด้านพระพุทธศาสนาซึ่งอยู่ในใจของท่านให้เป็นประโยชน์ต่อตนเองและสังคมได้มากน้อยเพียงใด ถ้าความรู้ที่ท่านได้ศึกษามานั้นไม่เป็นไปเพื่อประโยชน์แก่ตนเองและสังคม การศึกษาระดับปริญญาตรีที่ท่านจบมานี้ก็ไม่ทำให้ท่านเป็นบัณฑิตในทางพระพุทธศาสนา ท่านเพียงแต่ได้ปริญญาบัตรมา ๑ ใบ ดังที่วิทยากร เชียงกูล เขียนบทกลอนนี้เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๑ ไว้ว่า

  ฉันเยาว์ ฉันเขลา ฉันทึ่ง
ฉันจึง มาหา ความหมาย
ฉันหวัง เก็บอะไรไปมากมาย
สุดท้าย ให้กระดาษฉันแผ่นเดียว

          เพียงกระดาษแผ่นเดียวคือปริญญาบัตรไม่ช่วยทำให้คนเป็นบัณฑิตในทางธรรม ถ้าเขามีความรู้อยู่แต่ในตำราโดยไม่นำมาปรับใช้ให้เป็นประโยชน์ทั้งแก่ตนเองและสังคม พุทธศาสตรบัณฑิตที่คิดทำประโยชน์ทั้งแก่ตนเองสังคมต่างหากจึงจะเป็นบัณฑิตที่แท้จริงในทางพระพุทธศาสนา
          ผมขอตั้งคำถามต่อท่านทั้งหลายว่า ท่านคิดจะทำอะไรหลังจากเรียนจบได้รับปริญญาบัตรเป็นพุทธศาสตรบัณฑิตเต็มตัวแล้ว
          หลังจากเจ้าชายสิทธัตถะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าแล้ว พระองค์ได้แสดงความยินดีแก่ตนเองด้วยการเสวยวิมุตติสุขอยู่บริเวณต้นโพธิ จากนั้นพระองค์ได้ถามตนเองว่า หลังจากเสร็จกิจแห่งโพธิญาณแล้ว เราจะทำอะไรต่อไป คำตอบก็ปรากฏขึ้นว่า เราจะนำธรรมที่เราตรัสรู้นี้ไปประกาศเปิดเผยทำให้เป็นประโยชน์แก่ชาวโลก
          ดังนั้น หลังจากตรัสรู้แล้วพระพุทธเจ้าได้เสด็จออกโปรดสัตว์โลกตลอดเวลา ๔๕ ปีโดยไม่เคยผ่อนพัก พระพุทธองค์จึงเป็นพระบรมศาสดา การที่พระพุทธเจ้าตัดสินพระทัยเผยแผ่พระพุทธศาสนาประกาศธรรมนั้นแหละเป็นการแสดงให้เห็นว่า ความรู้ที่เราค้นพบนั้นจะเป็นประโยชน์ก็ต่อเมื่อเรารู้จักคิดถึงคนอื่น คิดถึงสังคม คิดถึงชาวโลก
          ต่อคำถามที่ว่าเราเรียนรับปริญญาทำไม คำตอบก็คือเราเรียนเพื่อทำประโยชน์ทั้งแก่ตนเองและสังคม เราต้องคิดว่าจะนำเอาพุทธศาสตร์ที่เรามีความรู้ความเชี่ยวชาญนี้ไปทำประโยชน์อะไรได้บ้าง คือทำประโยชน์ตน ประโยชน์ผู้อื่นและประโยชน์ทั้งสองฝ่าย
          ประโยชน์ตนเรียกว่าอัตตัตถะ ประโยชน์ผู้อื่นรียกว่าปรัตถะ ส่วนประโยชน์ทั้งสองฝ่ายหรือประโยชน์ส่วนรวมเรียกว่าอุภยัตถะ
          ท่านทั้งหลายต้องคิดว่าท่านจะนำความรู้ไปทำประโยชน์อะไรจึงจะสมศักดิ์ศรีที่เป็นพุทธศาสตรบัณฑิต ท่านจะทำประโยชน์ที่ไหนไม่สำคัญ ข้อสำคัญคือต้องทำประโยชน์ให้สมกับที่เรามีความรู้ระดับปริญญา

พระพุทธศาสนาเพื่อสังคม
          อาจจะมีบางคนตั้งข้อสงสัยว่า พระสงฆ์จำเป็นต้องทำประโยชน์เพื่อสังคมด้วยหรือ ในเมื่อคำว่าบรรพชาแปลว่าเว้นทั่วคือสละทุกสิ่งทุกอย่างแล้ว เมื่อท่านสละโลกแล้วทำไมต้องมาวนเวียนอยู่ในโลก พระสงฆ์เป็นอนาคาริกแปลว่าผู้ไม่มีเรือนคือไม่มีครอบครัว แม้แต่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยก็ห้ามไม่ให้พระสงฆ์ใช้สิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง
                    รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ มาตรา ๑๐๖ บัญญัติว่า
                    “บุคคลผู้มีลักษณะดังต่อไปนี้ในวันเลือกตั้ง เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้ง คือ
                    (๑) วิกลจริต หรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ
                    (๒) เป็นภิกษุ สามเณร นักพรต หรือนักบวช
                    (๓) ต้องคุมขังอยู่โดยหมายของศาลหรือโดยคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย
                    (๔) อยู่ในระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง”
          เป็นที่น่าสังเกตว่ารัฐธรรมนูญฉบับที่ผ่านมาได้จัดประเภทพระภิกษุสามเณรไว้ในกลุ่มเดียวกับคนวิกลจริต คือเป็นผู้ไม่มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งด้วยกัน
          เมื่อพระสงฆ์ไทยไม่มีสิทธิพื้นฐานที่สำคัญอย่างนี้แล้วจะให้ท่านมีหน้าที่ช่วยเหลือสังคมได้อย่างไร
          หน้าที่ของพระสงฆ์เรียกว่าธุระมี ๒ อย่าง คือคันถธุระและวิปัสสนาธุระ
          การศึกษาคัมภีร์พระพุทธศาสนาจัดเป็นคันถธุระ การปฏิบัติกัมมัฏฐานจัดเป็นวิปัสสนาธุระ ท่านพุทธศาสตรบัณฑิตได้ทำธุระคือหน้าที่ทั้งสองประการแล้ว นั่นคือท่านทำคันถธุระด้วยการเรียนคัมภีร์พระไตรปิฎกและทำวิปัสสนาธุระด้วยการเข้าปฏิบัติกัมมัฏฐาน ธุระหรือหน้าที่ของพระสงฆ์มีเพียง ๒ อย่างเท่านั้น ไม่มีข้อกำหนดใดระบุว่าพระสงฆ์ต้องมีสังคหธุระคือหน้าที่สงเคราะห์ชาวโลก
          เพราะฉะนั้น ชาวพุทธบางประเทศส่งเสริมให้พระสงฆ์เรียนคันถธุระอย่างลึกซึ้งจนเกือบจะไม่มีช่วงเวลาทำงานเพื่อสังคม ดังพระภิกษุชาวพม่าชื่อวิจิตรสาราภิวังสะ สะยาดอ สามารถท่องจำพระไตรปิฎกได้ครบทั้ง ๓ ปิฎก ถึงขนาดที่กินเนสบุ้คบันทึกไว้เมื่อปี ๒๕๒๘ ว่าเป็นพระสงฆ์มหัศจรรย์ในเรื่องความจำของมนุษย์ (Human memory) พระวิจิตรสาราภิวังสะมีความจำเป็นเลิศ เพราะท่านสามารถท่องจำพระไตรปิฎก ๑๖,๐๐๐ หน้าจนจบบริบูรณ์ ท่องเป็นตัวอย่างที่หาได้ยากมาก ในด้านความสามารถจดจำของมนุษย์ที่โลกวิทยาศาสตร์ยอมรับ
          กรณีของพระวิจิตรสาราภิวังสะ สะยาดอ เป็นหลักฐานที่แสดงว่ามนุษย์มีศักยภาพในทางสุตมยปัญญา คือสามารถท่องจำข้อมูลมากมายมหาศาลจากพระไตรปิฎก ๔๕ เล่มโดยไม่ตกหล่น ไม่มีมนุษย์คนใดสมัยปัจจุบันที่จะจำอะไรได้มากมายเท่ากับพระวิจิตรสาราภิวังสะ กินเนสบุ้คจึงบันทึกไว้เป็นการประกาศเกียรติคุณให้ปรากฏสืบไป นี้คือสุดยอดแห่งคันถธุระ
          สุดยอดแห่งวิปัสสนาธุระมีหลายรูป แต่มีประเพณีแปลกมากที่สืบทอดกันมานับพันปีที่วัดเอนเรียวกุจิ ในประเทศญี่ปุ่น วัดเอนเรียวกุจิ สังกัดนิกายเทนไดซึ่งเป็นนิกายแรกสุดของพระพุทธศาสนาในญี่ปุ่น นิกายอื่นแยกไปจากนิกายเทนไดนี้เป็นส่วนมาก
          วัดเอนเรียวกุจิมีพื้นที่ ๓,๕๐๐ ไร่ ตั้งยู่บนภูเขาทั้งลูก ผมได้พบกับเจ้าอาวาสชื่อท่านเอนามิ ท่านนำชมวัดของท่านซึ่งแบ่งเป็นส่วนคามวาสีที่เรียนคันถธุระและส่วนอรัญญวาสีที่ปฏิบัติกัมมัฏฐาน
          ส่วนที่เป็นอรัญญวาสีมีการฝึกเข้มหลายอย่าง เช่น เดินธุดงค์ ท่านผู้ก่อตั้งเทนไดชื่อท่านไซโจ ได้กำหนดให้ลูกศิษย์ต้องเดินธุดงค์ในป่าอย่างน้อยวันละ ๓๐ กิโลเมตรเป็น ๑๐๐ วันติดต่อกันจึงจะจบหลักสูตร
          นอกจากนี้ ท่านไซโจยังสั่งว่า ในหอบูรพาจารย์ให้จุดตะเกียงบูชาพระโดยระวังมิให้ไฟดับจนกว่าจะถึงยุคพระศรีอาริย์มาโปรด ศิษย์สำนักนี้เชื่อฟังอาจารย์ดีมาก ศิษย์ทุกรุ่นได้เติมน้ำมันตะเกียงจนไฟไม่เคยดับเลยติดต่อกันมากว่า ๑,๒๐๐ ปี
          การปฏิบัติเคร่งครัดสุดยอดอีกอย่างหนึ่งก็คือ ให้พระสงฆ์จำศีลภาวนาสวดมนต์นั่งกัมมัฏฐานอยู่ในสำนักบนยอดเขาโดยห้ามลงจากเขาติดต่อกันเป็นเวลา ๑๒ ปี ประเพณีนี้ได้สืบทอดกันมาตลอดเวลา ๑,๒๐๐ ปีไม่เคยขาดสาย
ท่านเจ้าอาวาสบอกว่า ปัจจุบันพระสงฆ์ที่อธิษฐานอยู่บนเขาเป็นเวลา ๑๒ ปีเพียง ๑ ท่านเจ้าอาวาสพาผมเข้าไปภายในสำนักเพื่อพบพระรูปนั้น พอผมก็เข้าไปด้านใน ก็พบว่าภายในบริเวณนี้ห้ามมีขยะแม้แต่ชิ้นเดียว ใบไม้ตกก็ต้องเก็บ ไม่มีเวลาว่าง
          ผมได้พบกับพระรูปที่กำลังบำเพ็ญพรต ๑๒ ปี ท่านไม่เคยลงจากเขาเลย ท่านอยู่มาแล้ว ๑๒ ปีและขอยู่ต่ออีก ๑๒ ปี ในรอบที่ ๒ ท่านอยู่มาได้ ๖ ปี รวมเวลาแล้วพระรูปนี้อยู่บนเขานี้ติดต่อกันมา ๑๘ ปี ไม่เคยลงจากเขาเลย ปัจจุบันท่านมีอายุได้ ๔๖ ปี
          สิ่งที่สังเกตเห็นคือ ผิวของท่านขาวจนซีดเพราะความที่ท่านอยู่ในร่มตลอดเวลา ดวงตาของท่านสดใสไร้ความกังวลเหมือนดวงตาของเด็ก เพราะท่านไม่เคยได้อ่านข่าวหนังสือพิมพ์ ไม่เคยดูโทรทัศน์หรือฟังวิทยุ ไม่มีโทรศัพท์มือถือ ท่านไม่รู้หรอกว่ามีปฏิวัติรัฐประหารในประเทศไทย ท่านไม่เครียด ไม่กังวล ๆ สวดมนต์และนั่งกัมมัฏฐานเป็นหลัก ท่านอยู่บนเขามา ๑๘ ปี แบบที่เรียกว่าไม่เห็นเดือนเห็นตะวัน ขณะที่ปฏิบัติเข้มอยู่บนยอดเขา พระสงฆ์รูปนี้ไม่มีโอกาสแม้แต่จะรับรู้ปัญหาสังคม
          พระพุทธศาสนานิกายเซนของญี่ปุ่นเห็นว่าการบำเพ็ญสมาธิที่เรียกว่าฌานหรือเซนจะต้องเป็นประโยชน์ต่อตนเองและสังคม เพราะฉะนั้น เซนสอนให้พยายามนำเอากัมมัฏฐานมาใช้ในชีวิตประจำวัน เราจึงได้ยินเรื่องการจัดดอกไม้แบบเซน พิธีชงชาแบบเซน แม้แต่นักมวยปล้ำซูโม่ ก็นำเอากัมมัฏฐานแบบเซนไปใช้ในการแข่งขันมวยปล้ำ ดังนิทานเซนต่อไปนี้
          นักมวยปล้ำซูโม่คนหนึ่งมีรูปร่างใหญ่โตแต่ใจปลาซิว เขาทำท่าจะชนะในการแข่งขัน แต่ตอนท้ายยกก็ถอดใจยอมแพ้ทุกที นักมวยคนนี้ไปหาอาจารย์เซนให้ช่วยสอนฝึกสมาธิให้ชนะมวยปล้ำ อาจารย์ถามว่า “คุณชื่ออะไร”
          เขาตอบว่า “ผมชื่อสึนามิ ที่แปลว่า คลื่นยักษ์”
          อาจารย์แนะนำว่า “ถ้าอย่างนั้น คุณนั่งหลับตาหันหน้าเข้าข้างฝา จินตนาการให้เห็นตัวเองเป็นลูกคลื่นยักษ์ซัดฝาผนัง นั่งให้นานที่สุดแล้วมารายงานผล”
          นายสึนามินั่งหลับตาจินตนาการว่าตัวเองเป็นคลื่นยักษ์ลูกแล้วลูกเล่าซัดฝาผนังตั้งแต่หัวค่ำจนเที่ยงคืนแล้วก็ลุกขึ้นมาเคาะประตูรายงานอาจารย์ว่า “คลื่นซัดกุฏิในวัดพังหมดแล้ว”
          ที่จริงไม่มีคลื่นยักษ์ แต่เขามองเห็นตัวเองเป็นคลื่นยักษ์ในนิมิตซัดจนวัดพังหมด
          อาจารย์จึงสอนว่า “ต่อไปนี้ เวลาขึ้นเวทีมวยปล้ำเมื่อไหร่ ให้คุณคิดว่าตัวเองเป็นคลื่นยักษ์ซัดคู่ต่อสู้ลัมกลิ้งไปเลย”
          นายสึนามิทำตามคำแนะนำของอาจารย์ ไม่มีใครทานพลังคลื่นยักษ์ของเขาได้ เขาได้เป็นแชมป์ซูโม่ของญี่ปุ่น
          นี้คือตัวอย่างของการประยุกต์ใช้สมาธิในชีวิตประจำวัน กัมมัฏฐานของเซนเป็นกัมมัฏฐานเพื่อ แก้ปัญหาสังคม เซนเป็นตัวอย่างของพระพุทธศาสนาเพื่อสังคม
          พระพุทธศาสนาในปัจจุบัน แบ่งออกเป็น ๓ รูปแบบ คือ
          ๑. พระพุทธศาสนาแบบวิชาการ (Exoteric or Intellectual Buddhism) เน้นคันถธุระ เรียนแต่ตำราอย่างเดียว แปลหรือท่องพระไตรปิฎก บางครั้งก็หนีสังคมเหมือนอยู่บนหอคอยงาช้าง Exoteric Buddhism แปลว่า พุทธศาสนาตามคัมภีร์หรือ Intellectual Buddhism พุทธศาสนาแบบปัญญาชน เรียนจบอยู่แค่นี้ ไม่ได้คิดห่วงใยสังคม ห่วงแต่วิชาการ ไม่คิดจะไปปฏิบัติศาสนกิจ
          ๒. พระพุทธศาสนาแบบประสบการณ์ลึกลับ (Esoteric Buddhism) เน้นวิปัสสนาธุระ ปฏิบัติกัมมัฏฐานตามลำพังเพื่อเข้าถึงรหัสยะคือประสบการณ์ลึกลับเฉพาะตนชนิดที่สื่อให้คนอื่นเข้าใจไม่ได้ ดังคำกลอนที่ว่า “เข้าฌานนานตั้งเดือนไม่เขยื้อนเคลื่อนกายา ถือศีลกินวาตาเป็นผาสุกทุกคืนวัน”
          ๓. พระพุทธศาสนาเพื่อสังคม (Engaged Buddhism) เน้นสิ่งที่ผมเรียกว่า สังคหธุระ คือบริการสังคม มีหน้าที่สงเคราะห์ชาวบ้านด้วยสังคหวัตถุ ๔ เป็นพระพุทธศาสนาที่ห่วงใยประชาชน
พระพุทธศาสนาแบบที่ ๓ ไม่อยู่บนหอคอยงาช้างเหมือนแบบที่ ๑ และไม่เข้าถ้ำหลับตาภาวนา ปลีกตัวหนีสังคมเหมือนแบบที่ ๒ แต่เป็นการผสมสังคหธุระให้กับกลมกลืนเข้ากับคันถธุระหรือวิปัสสนาธุระ เช่นเดียวกับการที่พระสิทธัตถะออกผนวช ๖ ปีแรกเก็บตัวแบบประเภทที่ ๑ และที่ ๒ เมื่อตรัสรู้แล้วจึงออกเทศนาสั่งสอนตลอดเวลา ๔๕ พรรษา ช่วงนี้ผมเรียกว่าเป็นพระพุทธศาสนาเพื่อสังคม (Engaged Buddhism) ที่เน้นสังคหธุระคือการพัฒนาสังคม
          พระพุทธศาสนาในประเทศไทยที่ได้รับการอุปถัมภ์บำรุงจากภาครัฐและเอกชนมาจนทุกวันนี้ ก็เพราะพระสงฆ์ไทยในอดีตและปัจจุบันได้ทำสังคหธุระคือออกเผยแผ่เทศนาสั่งสอนสงเคราะห์อนุเคราะห์ประชาชน

ประโยชน์จะรักษาพระพุทธศาสนา
          ถ้าพระสงฆ์ไทยเอาแต่เก็บตัวเรียนคัมภีร์แบบประเภทที่ ๑ หรือปลีกวิเวกหลับตาภาวนาแบบประเภทที่ ๒ โดยไม่สนใจการเผยแผ่เทศนาสั่งสอนสงเคราะห์ชาวบ้าน วันหนึ่งข้างหน้าเมื่อภัยมาถึงพระพุทธศาสนาก็จะไม่มีใครออกมาปกป้องคุ้มครองพระพุทธศาสนาเพราะประชาชนมองไม่เห็นคุณค่าของพระพุทธศาสนา พระพุทธศาสนาในประเทศไทยอาจจะประสบชะตากรรมเดียวกันกับมหาวิทยาลัยนาลันทาในประเทศอินเดีย
          มหาวิทยาลัยนาลันทายุคสุดท้ายเน้นหนักไปในการศึกษาแบบไม่ห่วงใยสังคม เน้นการสวดมนต์ภาวนาแบบมันตรยานที่ส่งเสริมไสยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมีกำแพงใหญ่ล้อมรอบเหมือนอยู่บนหอคอยงาช้าง มีข้าวปลาอาหารอุดมสมบูรณ์ที่เก็บจากภาษีของชาวบ้านตามพระราชโองการ คนนอกกำแพงมหาวิทยาลัยไม่ค่อยชอบมหาวิทยาลัยนาลันทา เพราะมหาวิทยาลัยนาลันทาเอาแต่เก็บภาษีโดยไม่บริการวิชาการแก่สังคม
          บันทึกฝ่ายทิเบตจารึกไว้ว่า เมื่อกองทัพมุสลิมบุกปล้นสะดมและเผามหาวิทยาลัยนาลันทาจากไปแล้ว ห้องสมุดบางส่วนยังไม่ถูกไฟไหม้ ชาวบ้านข้างวัดนั่นแหละพากันมาปล้นสะดมและเผามหาวิทยาลัยนาลันทาซ้ำอีกรอบ ห้องสมุดถูกไฟไหม้หมดในรอบนี้
          เพราะฉะนั้น มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยจะอยู่รอดในสังคมไทยต่อไปไม่ใช่ด้วยการเก็บตัวเรียนแต่ตำราอยู่บนหอคอยงาช้าง แต่ด้วยการออกไปเทศนาสั่งสอนและทำประโยชน์แก่ชาวบ้าน ประโยชน์จะรักษามหาวิทยาลัยเอง
          ในทำนองเดียวกัน ถ้าต้องการให้พระพุทธศาสนาอยู่คู่สังคมไทยต่อไป พระสงฆ์ต้องทำสังคหธุระด้วยการออกเผยแผ่เทศนาสั่งสอนสงเคราะห์ชาวบ้าน ประโยชน์จะรักษาพระพุทธศาสนาเอง
          พระพุทธเจ้าตรัสว่า พระสงฆ์สงเคราะห์ชาวบ้านด้วยธรรมทานคือการเผยแผ่ธรรม ส่วนชาวบ้านก็อุปภัมภ์บำรุงพระสงฆ์ด้วยอามิสทานคือการถวายจตุปัจจัยไทยธรรม พระสงฆ์และชาวบ้านต่างพึ่งอาศัยซึ่งกันและกันแบบอัญญมัญญปัจจัย
          ถ้าเมื่อใดพระสงฆ์ไม่ทำประโยชน์ ชาวบ้านเห็นว่าพระพุทธศาสนาไม่มีประโยชน์ เมื่อเกิดภัยพระพุทธศาสนาขึ้นมา ชาวบ้านก็ถือว่าธุระไม่ใช่ ในที่สุดก็ไม่มีใครกล้าออกมาปกป้องคุ้มครองพระพุทธศาสนา
          ไม่ว่าท่านจะอยู่ในสายคันถธุระหรือวิปัสสนาธุระก็ตาม ท่านต้องแสดงว่าท่านสามารถบำเพ็ญประโยชน์ได้ตลอดเวลา ประโยชน์นี้แหละจะรักษาพระศาสนาของเรา ถ้าหากว่ามหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยเรียนและสอนกันอยู่ภายในรั้วมหาวิทยาลัยโดยไม่สนใจชาวบ้าน วันหนึ่งอาจจะมีชะตากรรมไม่ต่างจากมหาวิทยาลัยนาลันทาก็เป็นได้
          มหาวิทยาลัยมหาจุฬาราชวิทยาลัยจะอยู่รอดปลอดภัยด้วยการทำประโยชน์ต่อสังคม คือเป็นมหาวิทยาลัยเพื่อสังคม (Engaged University) เมื่อเราทำประโยชน์ต่อสังคมแล้ว ชาวบ้านเห็นว่าเรามีคุณค่ามีประโยชน์ พวกเขาก็ออกมาช่วยมหาวิทยาลัยทั้งในยามมีภัยและยามสงบ
          มหาวิทยาลัยที่ส่วนกลางใช้งบสร้างสำนักงานใหญ่ที่วังน้อยไปแล้วเกือบสองพันล้านบาท ตอนแรกมหาวิทยาลัยมีที่ดิน ๘๔ ไร่ เดี๋ยวนี้ เราซื้อเพิ่มรวมแล้วเกือบ ๒๕๐ ไร่ มีอาคารเรียนจุผู้เรียนได้ ๑๐,๐๐๐ เป็นอย่างน้อย ปีนี้จะเริ่มสร้างหอประชุมใหญ่จุคนได้ ๓,๐๐๐ คน จะเป็นหอประชุมพระพุทธศาสนาที่ใหญ่ที่สุด เราจะเริ่มสร้างตั้งแต่ฤดูร้อนนี้
          นอกจากนี้มหาวิทยาลัยกำลังสร้างอุโบสถกลางน้ำในสระ ๑๖ ไร่ พระสงฆ์สามารถลงอุโบสถพร้อมกันได้ ๔,๐๐๐ รูป โดยหลวงพ่อปัญญานันทะเป็นเจ้าภาพหลักในการสร้างถวายมหาวิทยาลัยหลวงพ่ออายุ ๙๖ ปีแล้ว ท่านประกาศว่าถ้าอุโบสถไม่เสร็จ จะไม่มรณภาพ
          รัฐบาลและประชาชนช่วยกันสร้างมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ที่วังน้อยเพราะมหาวิทยาลัยได้ทำประโยชน์ต่อคณะสงฆ์ และสังคมมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน การบริการวิชาการของมหาวิทยาลัยที่ทำไปนั้นได้นำคนกลับมาช่วยสร้างมหาวิทยาลัย รวมทั้งโครงการนิสิตปฏิบัติศาสนกิจนี้ก็มีส่วนช่วยสร้างเกียรติคุณให้กับมหาวิทยาลัย การที่พวกท่านใช้เวลา ๑ ปีออกไปปฏิบัติศาสนกิจรุ่นแล้วรุ่นเล่าเปรียบเหมือนกองทัพธรรมที่นอกจากจะเผยแพร่ชื่อเสียงของมหาวิทยาลัย แล้วยังแสดงให้ชาวไทยเห็นว่าพระสงฆ์ยังห่วงใยสังคม พระพุทธศาสนาในประเทศไทยจึงเป็นพระพุทธศาสนาเพื่อสังคม
          มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยต้องการเน้นให้คนไทยเห็นว่าพระพุทธศาสนามีไว้เพื่อประโยชน์สุขของสังคม มหาวิทยาลัยถือว่าการบริการสังคมเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาและปฏิบัติธรรม พระสงฆ์ฝ่ายคันถธุระอย่างพวกเราต้องเรียนไปด้วยทำประโยชน์ต่อสังคมไปด้วย ขณะที่เรียนเราก็ต้องออกไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาด้วยการเทศนาสั่งสอนและพัฒนาสังคม
          การที่พระสงฆ์ต้องทำสังคหธุระคือหน้าที่เผยแผ่พระธรรมเพื่อการบริการสังคมนี้มีที่มาจากพุทธพจน์ในคราวที่พระพุทธเจ้าทรงส่งพระสาวกรุ่นแรก ๖๐ รูปไปประกาศพระศาสนาว่า “จรถ ภิกฺขเว จาริกํ พหุชนหิตาย พหุชนสุขาย โลกานุกมฺปาย ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลาย จงเที่ยวจาริกไปเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขแก่ชนเป็นอันมาก เพื่ออนุเคราะห์แก่ชาวโลก”
          ท่านพุทธศาสตรบัณฑิตต้องปฏิบัติตามพุทโธวาทนี้ บัดนี้ท่านทั้งหลายเป็นพุทธศาสตรบัณฑิตแล้ว เมื่อได้รับปริญญาแล้วอย่ามาเสวยวิมุตติสุขนานเกินไป ควรคิดทำประโยชน์สุขแก่ชนเป็นอันมาก ให้เป็นพุทธศาสตรบัณฑิตที่ทำประโยชน์เพื่อสังคม ท่านต้องทำสังคหธุระคือสงเคราะห์ประชาชนอย่างไม่มีวันจบสิ้น เหมือนกับการพระพุทธเจ้าทรงประกาศธรรมจนนาทีสุดท้ายในชีวิตของพระองค์
          พุทธจริยา ๓ ประการบอกเราว่าพระพุทธเจ้าทรงทำงานเพื่อสังคมตลอดเวลา ดังนี้
          ๑. พุทธัตถจริยา ทรงทำประโยชน์แก่ชาวพุทธ
          ๒. ญาตัตถจริยา ทรงทำประโยชน์แก่พระญาติของพระองค์
          ๓. โลกัตถจริยา ทรงบำเพ็ญประโยชน์แก่ทุกคนไม่เลือกว่าเขานับถือศาสนาอะไร
          พุทธศาสตรบัณฑิตต้องยึดกรอบพุทธจริยา ๓ นี้ในการปฏิบัติศาสนกิจ นั่นคือ
          ๑. ออกไปทำประโยชน์แก่ชาวพุทธ (พุทธัตถจริยา)
          ๒. ออกไปทำประโยชน์แก่วงศาคณาญาติ (ญาตัตถจริยา)
          ๓. ออกไปทำประโยชน์แก่คนไทยที่ต่างศาสนาและคนต่างชาติต่างศาสนา (โลกัตถจริยา)
          นี้คือจริยาแห่งชาวพุทธเพื่อสังคม

การทำงานคือการปฏิบัติธรรม
          พระธรรมโกศาจารย์ (พุทธทาสภิกขุ) ประกาศตนเป็นทาสรับใช้พระพุทธเจ้าในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาวแก่ชาวโลก จนได้รับการยกย่องจากองค์การยูเนสโกให้เป็นบุคคลสำคัญของโลกในปี ๒๕๔๙ ทั้งนี้เพราะท่านพุทธทาสเป็นผู้มีผลงานโดดเด่นด้านวัฒนธรรม ส่งเสริมความเข้าใจอันดีระหว่างประเทศ และสร้างสันติภาพ
          ท่านพุทธทาสศึกษาและปฏิบัติธรรมอยู่ที่สวนโมกข์อันไกลโพ้น ถ้าท่านเอาแต่ปลีกวิเวกอยู่ตามลำพังโดยไม่สนใจเผยแผ่พระพุทธศาสนาด้วยการสอนธรรมแก้ปัญหาสังคม ถึงวันนี้คงไม่มีใครรู้จักท่านพุทธทาสและสวนโมกข์ก็จะไม่มีประโยชน์อันใดแก่สังคม การที่ยูเนสโกประกาศยกย่องว่า ท่านเป็นบุคคลสำคัญของโลกเพราะท่านพุทธทาสบำเพ็ญประโยชน์เพื่อชาวโลก โดยไม่เลือกชื้อชาติและศาสนาตลอดชีวิตของท่านตามปณิธาน ๓ ประการที่ท่านตั งไว้ คือ
          ๑. มุ่งส่งเสริมให้ศาสนิกของแต่ละศาสนาเข้าถึงหัวใจศาสนาของตน
          ๒. มุ่งสร้างความเข้าใจอันดีระหว่างศาสนา
          ๓. ดึงเพื่อนมนุษย์ให้ออกมาจากวัตถุนิยม
          หลังจากปฏิบัติธรรมพอคุ้มครองตัวเองได้แล้ว ท่านพุทธทาสก็เผยแผ่พระพุทธศาสนาด้วยการสอนให้รู้ ทำให้ดู อยู่ให้เห็น ท่านได้ตั้งโรงมหรสพทางวิญญาณด้วยการใช้วิธีการสมัยใหม่สอนธรรมะ ท่านชอบเน้นย้ำว่า การทำงานคือการปฏิบัติธรรม นั่นคือการทำงานเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาและปฏิบัติธรรม ดังที่ท่านพุทธทาสประพันธ์ไว้ว่า

                    จงทำงานทุกชนิดด้วยจิตว่าง
                    ยกผลงานให้ความว่างทุกอย่างสิ้น
                    กินอาหารของความว่างอย่างพระกิน
                    ตายเสร็จสิ้นแล้วในตัวแต่หัวที

          พระสงฆ์ฝ่ายมหายานชาวเวียตนาม ชื่อว่า ติช นัท ฮัน ได้ยึดหลักการเดียวกันกับท่านพุทธทาสที่กล่าวว่า การทำงานคือการปฏิบัติธรรม ท่านติช นัท ฮันเป็นอาจารย์สอนกัมมัฏฐานที่สำนักแห่งหนึ่งระหว่างสงครามเวียตนาม เครื่องบินมาทิ้งระเบิดมาลงในหมู่บ้านใกล้สำนักทุกวัน ชาวบ้านบาดเจ็บล้มตายจำนวนมาก
          ท่านติช นัท ฮัน ปรึกษากับบรรดาลูกศิษย์ที่นั่งกัมมัฏฐานว่าเราจะหลับตาภาวนาต่อไปหรือจะออกไปช่วยคนที่โดนระเบิด บางคนกล่าวว่าเราไม่ควรเสียสมาธิด้วยการออกไปช่วยคน การนั่งกัมมัฏฐานต้องปลีกวิเวกเป็นสำคัญ แต่ในที่สุดที่ประชุมได้ลงมติว่า การปฏิบัติกัมมัฏฐานไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะในกระท่อมแคบ ๆ เราสามารถออกไปช่วยคนเจ็บไปพลางเจริญสติไปพลางก็ได้ มีสติกำหนดลมหายใจตลอดเวลา เมื่อยกศพหามศพ เราก็เจริญมรณสติได้ เมื่อมีมติดังนั้น โยคีทั้งหลายจึงพากันออกไปช่วยผู้ประสบเคราะห์กรรมจากระเบิดในระหว่างสงครามเวียตนาม โดยถือเอาการช่วยคนอื่นเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิบัติธรรมและการปฏิบัติธรรมไม่ได้ทำให้เราตัดขาดจากโลกภายนอก จากประสบการณ์นี้ ท่านติช นัท ฮันได้พัฒนาวิธีปฏิบัติกัมมัฏฐานในชีวิตประจำวันโดยเขียนไว้ในหนังสือของท่านชื่อว่า Miracle of Mindfulness ที่แปลเป็นภาษาไทยว่า “ปาฏิหาริย์แห่งการตื่นอยู่เสมอ”
          ผมถามท่านพุทธศาสตรบัณฑิตทั้งหลายว่าตลอดเวลา ๑ ปีที่ท่านออกไปปฏิบัติศาสนกิจนั้น พวกท่านสามารถกำหนดสติตามทันการทำงานตลอดเวลาหรือไม่ กัมมัฏฐานที่ท่านเคยฝึกปฏิบัติอยู่ในขณะที่เรียนมหาวิทยาลัยท่านนำปฏิบัติเพื่อคุ้มครองตัวเองด้วยหรือไม่
          ขณะที่พระสงฆ์ทำงานเพื่อสังคม ท่านต้องอาศัยกัมมัฏฐานประคองจิตรักษาใจตนเอง ไม่ให้จมไปกับปัญหาชาวย้าน ตามหลักการที่ว่า “ลีเน จิตฺตมฺหิ ปคฺคาโห เมื่อใจตก ให้ยกใจ อุทฺธตสฺมึ วินิคฺคโห เมื่อใจลอยลม ให้ข่มใจ” ถ้าพระสงฆ์ไม่มีกัมมัฏฐานรักษาใจ ท่านก็จะไม่ต่างจากนักสังคมสงเคราะห์ทั่วไป
          ในการช่วยคนตกน้ำ เราไม่จำเป็นต้องโดดลงไปในน้ำเสมอไป เพราะถ้าโดดลงไป เราอาจถูกรัดจนจมน้ำตายไปทั้งคู่ก็ได้ ทางที่ดี เราควรปักหลักอยู่ริมตลิ่งแล้วยื่นกิ่งไม้ให้คนตกน้ำใช้จับพยุงตัวเองขึ้นมาก็ได้
          ในขณะที่พระสงฆ์ทำงานเพื่อสังคม ท่านไม่จำเป็นต้องจมไปกับปัญหาชาวบ้าน อย่าเป็นเหมือนจิตแพทย์บางคนที่ช่วยคนไข้โรคจิตมากเกินไปจนเพี้ยนตามคนไข้ พระสงฆ์บางรูปก็เพี้ยนไปตามปัญหาชาวบ้าน พอชาวบ้านทะเลาะกัน แทนที่พระสงฆ์จะเป็นกรรมการห้ามทัพ กลับกลายเป็นทัพหนุนยุให้ชาวบ้านตีกัน เจ้าอาวาสกับรองเจ้าอาวาสถือหางกันคนละก๊ก พระสงฆ์เลยขัดกันเอง เพราะท่านไม่ลอยตัวอยู่เหนือปัญหาเหมือนดอกบัวที่ลอยพ้นน้ำ ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า

  ปุณฺฑรีกํ ยถา อุคฺคํ โตเยน นุปลิปฺปติ
  นุปลิปปามิ โลเกน ตสฺมา พุทฺโธสฺมิ พราหฺมณ

แปลความว่า
                 “ดอกบัวพ้นน้ำ ไม่เปียกน้ำ ฉันใด
                 เราพ้นโลก ไม่แปดเปื้อนโลก ฉันนั้น
                 เพราะฉะนั้น เราจึงเป็นพุทธะ”
          ดังคำประพันธ์ที่ว่า “หนึ่งในหทัยท่าน ก็เบิกบานคือดอกบัว ราคีบ่พันพัว สุวคนธกำจร”
          คำว่า “พุทธะ” หมายถึง ผู้ตื่น ผู้รู้ ผู้เบิกบาน
          ชาวพุทธเป็นผู้ตื่นด้วยสติ รู้ด้วยปัญญา และเบิกบานด้วยวิมุตติ
          ที่ว่าชาวพุทธเป็นผู้ตื่นด้วยสติ คือ สติต้องมาก่อน สติ โลกสฺมิ ชาคโร สติเป็นเครื่องตื่นในโลกที่ว่าเป็นผู้รู้ด้วยปัญญาก็เพราะสติมา ปัญญาเกิด สติเตลิดมักเกิดปัญหา
          ที่ว่าเบิกบานด้วยวิมุตติก็คือหลุดพ้นด้วยปัญญา ปญฺญาปริภาวิตํ จิตฺตํ สมฺมเทว อาสเวหิ วิมุจฺจติ จิตที่มีปัญญาอบรมดีแล้วย่อมหลุดพ้นโดยชอบจากอาสวะ เปรียบเหมือนดอกบัวพ้นน้ำ

พระสงฆ์กับการเมือง
          พระสงฆ์ต้องเป็นผู้ตื่น ผู้รู้ ผู้เบิกบาน ท่านต้องนำสังคมโดยไม่จมไปกับปัญหาชาวบ้าน เมื่อชาวบ้านแตกออกเป็นฝักเป็นฝ่ายเพราะปัญหาทางการเมืองในขณะนี้ พระสงฆ์ต้องพยายามประสานคนที่แตกแยกให้ปรองดองกัน ไม่ใช่ซ้ำเติมตอกลิ่มให้คนแตกแยกกันมากขึ้น ด้วยเหตุนี้ พระสงฆ์ไทยจึงไม่ลงไปเล่นการเมือง เราลอยตัวอยู่พ้นการเมืองดังที่พระพุทธเจ้าได้ทรงทำเป็นตัวอย่างไว้ในมหาปรินิพพานสูตร
          ก่อนพระพุทธเจ้าจะเสด็จดับขันธปรินิพพานไม่นาน พระเจ้าอชาตศัตรูกษัตริย์แห่งแคว้นมคธทรงประสงค์จะเสด็จกรีธาทัพไปตีแคว้นวัชชี แต่เพราะไม่แน่ใจว่าจะได้ชัยชนะ พระเจ้าอชาตศัตรูจึงส่งวัสสการพราหมณ์ให้ไปเลียบเคียงถามพระพุทธเจ้าว่าควรจะยกทัพไปตีแคว้นวัชชีหรือไม่ เมื่อวัสสการพราหมณ์ทูลถามปัญหานี้ พระพุทธเจ้าไม่ตอบโดยตรง
          ถ้าพระพุทธเจ้าตอบว่า ควรจะยกทัพไปตีแคว้นวัชชี ชาววัชชีก็ย่อมไม่พอใจ ถ้าพระพุทธเจ้าตอบว่า ไม่ควรจะยกทัพไปตีแคว้นวัชชี พระเจ้าอชาตศัตรูก็จะไม่พอพระทัย
          ขณะที่วัสสการพราหมณ์ทูลถามปัญหาอยู่นั้น พระอานนท์กำลังถวายงานพัดอยู่ พระพุทธเจ้าทรงหันไปถามพระอานนท์ว่า ชาววัชชียังถือปฏิบัติตามวัชชีธรรม ๗ ประการที่พระพุทธองค์เคยสอนพวกขาไว้หรือไม่ ในบรรดาวัชชีธรรมเหล่านั้น ข้อสำคัญก็คือให้หมั่นประชุมกันเนืองนิตย์ พร้อมกันประชุม พร้อมกันเลิกประชุม พร้อมกันทำกิจที่พึงทำ
          พระอานนท์กราบทูว่า ชาววัชชียังถือปฏิบัติตามวัชชีธรรมอยู่
          พระพุทธเจ้าตรัสกับพระอานนท์ว่า ตราบเท่าที่ชาววัชชียังถือปฏิบัติตามวัชชีธรรมอยู่ก็จะมีแต่ความเจริญรุ่งเรือง ไม่มีความเสื่อมเลย
          ตลอดเวลาที่พระพุทธเจ้าทรงสนทนากับพระอานนท์นั้น วัสสการพราหมณ์ฟังอยู่ด้วย แม้พระพุทธเจ้าไม่ได้ตอบคำถามเขาโดยตรงวัสสการพราหมณ์ซึ่งเป็นคนฉลาดได้จับประเด็นนำไปเล่าถวายพระเจ้าอชาตศัตรู เมื่อพระเจ้าอชาตศัตรูทรงสดับแล้วก็ตรัสกับวัสสการพราหมณว่ายังไม่ใช่เวลาที่จะตีแคว้นวัชชีทั้งนี้เพราะชาววัชชียังสามัคคีกันดีอยู่
          พระพุทธเจ้าทรงแก้วิกฤติทางการเมืองระหว่างมคธกับวัชชีได้โดยไม่ต้องเล่นการเมือง
          พระสงฆ์ไทยยึดถือพุทธประเพณีนี้เป็นแบบอย่างจึงไม่เล่นการเมืองแม้ว่าสามจังหวัดชายแดนภาคใต้กำลังลุกเป็นไฟ ขณะเดียวกันผู้นำศาสนาอื่นในประเทศไทยก็กำลังเล่นการเมืองกันอย่างออกหน้าออกตา ทางออกที่เหมาะสมสำหรับพระสงฆ์ไทยควรเป็นอย่างไร
          เมื่อชาวพุทธศรีลังกาเผชิญภัยคุกคามจากพวกกบฏฮินดูทมิฬ พระสงฆ์กลุ่มหนึ่งของศรีลังกาไม่รีรอที่จะโดดลงไปเล่นการเมือง ปัจจุบันในศรีลังกา มีพรรคการเมืองซึ่งมีพระสงฆ์เป็นหัวหน้าพรรค พรรคนี้ส่งพระสงฆ์ลงสมัครเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาได้พระสงฆ์เป็น ส.ส. ๙ รูป และเป็นพรรคร่วมรัฐบาลด้วย
          ความจริงพระสงฆ์ศรีลังกามีสิทธิลงสมัครเลือกตั้งมานานแล้ว แต่ไม่เคยมีพระสงฆ์ได้รับเลือกตั้งมากเท่าครั้งนี้ เมื่อความขัดแย้งระหว่างทมิฬซึ่งเป็นฮินดูกับชาวพุทธสิงหลยืดเยื้อมานาน ผู้คนบาดเจ็บล้มตายจำนวนมาก ทางพระสงฆ์ศรีลังกาบางกลุ่มชักทนไม่ได้จึงลงสมัครรับเลือกตั้งกันแล้วก็ได้รับเลือกตั้งมาพอสมควร กลายเป็นคะแนนเสียงสนับสนุนพรรครัฐบาล
          เป็นที่น่าสังเกตว่าพอพระสงฆ์ศรีลังกาลงไปอภิปรายสนับสนุนรัฐบาลอยู่ในสภา ส.ส.ฝ่ายค้านก็ไม่เกรงใจพากันอภิปรายโจมตีพระสงฆ์อย่างตรงไปตรงมา เท่ากับพระสงฆ์ลงไปเปื้อนโคลนทางการเมืองด้วย ที่สำคัญคือพระสงฆ์ศรีลังกาในวัดเดียวกันเริ่มแตกออกเป็นเป็นฝักเป็นฝ่าย เช่นเจ้าอาวาสเข้ากับฝ่ายรัฐบาล แต่รองเจ้าอาวาสเข้ากับฝ่ายค้าน
          สิ่งที่น่าเป็นห่วงในศรีลังกาก็คือ ฝ่ายชาวพุทธหัวรุนแรงเริ่มไม่อยากจะเจรจาสมานฉันท์ รัฐบาลฟังเสียงกลุ่มนี้แล้วก็ปราบปรามฝ่ายกบฏฮินดูทมิฬอย่างรุนแรง เมื่อถูกปราบรุนแรง ฝ่ายกบฏฮินดูทมิฬ ก็ใช้มาตรการตอบโต้รุนแรงมากยิ่งขึ้น คนบาดเจ็บล้มตายกันมากทั้งสองฝ่าย ไม่มีใครเตือนสติใครได้ แม้แต่พระสงฆ์ก็ไม่อยู่ในฐานะเป็นกลางพอที่จะสร้างความสมานฉันท์
          ศรีลังกาเป็นประเทศแรกที่ชาวพุทธประสบความสำเร็จในการผลักดันให้รัฐบาลตั้งกระทรวงพระพุทธศาสนา แต่วันนี้กระทรวงพระพุทธศาสนาถูกยุบไปเรียบร้อยแล้ว สาเหตุก็คือว่า เมื่อตั้งกระทรวงพระพุทธศาสนาแล้ว รัฐบาลศรีลังกาต้องยอมตั้งกระทรวงศาสนาคริสต์ กระทรวงศาสนาอิสลาม ทุกกระทรวงต่างได้งบประมาณเท่ากัน เรื่องงบประมาณเท่ากันนี้ชาวพุทธยอมไม่ได้จึงเรียกร้องให้ยุบกระทรวงศาสนาทุกศาสนาแล้วตั้งกระทรวงศาสนาขึ้นมาแทนโดยรวมทุกศาสนามาไว้ในกระทรวงเดียวกัน นัยว่า เพื่อประโยชน์ในการควบคุมงบประมาณของศาสนาอื่น
          ตอนนี้ลองหันไปดูเวียตนามบ้าง ผมพาคณะมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยไปเวียตนามเมื่อเดือนที่แล้ว เพื่อลงนามความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาของเวียตนามกับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ผมได้พบเห็นอนุสาวรีย์ที่สี่แยกแห่งหนึ่งสร้างบูชาพระสงฆ์ชื่อว่าติช กวาง ดึ๊ก พระสงฆ์รูปนี้เผาตัวตายเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๖ ผมถามพระผู้ใหญ่รูปหนึ่งว่า ทำไมท่านติช กวาง ดึ๊กต้องเผาตัวตาย บังเอิญผมถามถูกคน พระรูปที่ถูกผมถามเคยเป็นโฆษกแถลงข่าวในวันที่ท่านติช กวาง ดึ๊กเผาตัวตาย พระอดีตโฆษกรูปนี้ปัจจุบันมีอายุกว่า ๘๐ ปีแล้ว ท่านเล่าให้ฟังดังต่อไปนี้
          ในปี ๒๕๐๖ ก่อนเวียตนามใต้เป็นคอมมิวนิสต์ เกิดวิกฤติศาสนาในเวียตนามใต้ ตอนนั้น โง ดินเดียมเป็นประธาธิบดี เขาเป็นคนนับถือศาสนาคริสต์ที่เคร่งครัดมาก พยายามยกย่องศาสนาคริสต์ให้เป็นศาสนาอันดับหนึ่ง ทั้งที่พระพุทธศาสนามีคนนับถือมากกว่า ประธานาธิบดีสั่งห้ามชาวพุทธประดับธงฉัพพรรณรังสีในวันวิสาขบูชา ชาวพุทธทนไม่ได้ลุกฮือประท้วงเป็นหมื่นเป็นแสนคน ประธานาธิบดีสั่งสักวาดล้างชาวพุทธ ให้รื้อวัดและจับชาวพุทธขังคุก แม้ชาวพุทธจะประท้วงอย่างไรเขาก็ไม่ฟัง ชาวพุทธยิ่งถูกจับติดคุกและถูกสังหารมากขึ้น ชาวพุทธออกเดินขบวนมากเท่าไรเขาก็ไม่ฟังและยิ่งจะสลายม็อบด้วยวีธีที่รุนแรงยิ่งขึ้น
          เมื่อเห็นสถานการณ์เผชิญหน้ารุนแรงยิ่งขึ้น ท่านติช กวาง ดึ๊กซึ่งตอนนั้นอายุ ๗๖ ปีเป็นนักเทศน์ชั้นแนวหน้าของเวียตนามได้ตัดสินใจสละชีวิตของตนเองเพียงหนึ่งคนรักษาชีวิตของคนจำนวนมากและเพื่อทำให้โลกหันมาสนใจยุติความขัดแย้งในเวีตนาม ชาวพุทธจะได้ไม่ถูกฆ่าตายเป็นผักเป็นปลา
          เพื่อเห็นแก่ประโยชน์ที่ยิ่งใหญ่กว่า ท่านติช กวาง ดึ๊กเห็นว่าจำเป็นต้องสละชีวิตของตนเองท่านเขียนจดหมายขออนุญาตเผาตัวตายยื่นต่อมหาเถรสมาคมเวียตนาม ในครั้งที่ ๑ มหาเถรสมาคมไม่อนุญาต ท่านติช กวาง ดึ๊กยื่นหนังสือเป็นครั้งที่ ๒ ในครั้งนี้ มหาเถรสมาคมเห็นว่า บ้านเมืองวิกฤติมากแล้ว คนจะฆ่ากันตายเลือดท่วมท้องช้างแน่ เพราะว่าทางรัฐบาลจะฆ่าชาวพุทธ ชาวพุทธก็จะตอบโต้จนจะกลายเป็นสงครามกลางเมือง เมื่อท่านติช กวาง ดึ๊กเห็นว่าการที่ท่านเสียสละชีวิตตนเองจะทำให้เรื่องยุติได้ มหาเถรสมาคมก็อนุญาตให้ท่านเผาตัวตาย
          ผู้สื่อข่าวต่างประเทศรายงานว่า พอถึงวันเผาตัวตาย ชาวพุทธเดินมาเป็นขบวนใหญ่มีพระสงฆ์อยู่รอบนอก ตรงกลางขบวนมีรถเก๋งคันหนึ่งแล่นช้าๆไปตามถนน พอถึงสี่แยก ขบวนหยุดลง ภิกษุและภิกษุณีเริ่มสวดมนต์ สักพักหนึ่งประตูรถเก๋งก็ถูกเปิดออก มีพระภิกษุรูปหนึ่งเดินช้า ๆ ลงมาจากรถ คือท่านติช กวาง ดึ๊ก
          เสียงสวดมนต์เริ่มสลับกับเสียงร้องไห้ ทุกคนในที่นั้นรู้ดีว่าอะไรจะเกิดขึ้น แต่ผู้สื่อข่าวไม่รู้ ผู้สื่อข่าวนึกว่าเป็นการเดินขบวนธรรมดาก็ไปยืนดูตามปกติ ท่านติช กวาง ดึ๊กเดินไปถึงกลางสี่แยก และนั่งขัดสมาธิ จากนั้นผู้ช่วยสองคนหิ้วถังน้ำมันมาคนละถังแล้วราดน้ำมันลงไปบนตัวของท่าน ตอนนี้ไม่มีใครสวดมนต์ มีแต่เสียงร่ำไห้ บรรยากาศวังเวงมาก
          พอผู้ช่วยสองคนราดน้ำมันเสร็จแล้ว ท่านติช กวาง ดึ๊กได้ล้วงมือลงไปในกระเป๋าอังสะหยิบถุงพลาสติกออกมา ภายในถุงเป็นกล่องไม้ขีด ท่านคิดรอบคอบมากที่ใช้ถุงพลาสติกกันกล่องไม้ขีดไม่ให้เปียกน้ำมัน ท่านดึงกล่องไม้ขีดออกจากถุงพลาสติกแล้วหยิบก้านไม้ขีดค่อยๆ บรรจงจุด ลูกไฟลุกพรึบขึ้นท่วมตัวท่านทันทีทันใด
          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ไม่น่าเชื่อว่าเนื้อมนุษย์จะเป็นเชื้อไฟได้เร็วขนาดนั้น เพียงชั่วอึดใจเดียวเดียวท่านติช กวาง ดึ๊กดำเป็นตอตะโก น่าประหลาดที่ว่าท่านนั่งนิ่งไม่กระดุกกระดิกเลย ไม่มีเสียงร้องสักแอะเดียว ท่านนั่งอยู่อย่างนั้นจนไฟไหม้มอดลง ผมถามว่าท่านทำได้อย่างไร ผู้ให้สัมภาษณ์บอกว่าท่านนั่งกัมมัฏฐานล่วงหน้ามา ๕ วันแล้ว เมื่อท่านติช กวาง ดึ๊กเผาตัวตายแล้ว ประชาชนพากันแห่ศพท่านมาตั้งที่วัดซาเลยตั้งแสดงไว้ที่นั่น ต่อมาได้ทำพิธีเผาศพอย่างเป็นทางการ ในปัจจุบันเขาเก็บหัวใจของท่านไว้ที่ธนาคาร ชาวพุทธได้สร้างอนุสาวรีย์ให้ท่านที่สี่แยก และถือว่าพระสงฆ์รูปนี้เป็นพระโพธิสัตว์แบบมหายาน
          ผมถามว่าการที่พระสงฆ์ฆ่าตัวตายไม่ขัดกับหลักการของมหายานหรือ พระสงฆ์ผู้ให้สัมภาษณ์ตอบว่า ในสัทธัมปุณฑริกสูตรของมหายาน มีเรื่องที่พระโพธิสัตว์ทำอัตตบริจาคคือเสียสละชีวิต เพื่อปกป้องพระพุทธศาสนาและบูชาพระรัตนตรัย ดังนั้น พระโพธิสัตว์มหายานสามารถทำสิ่งที่อาจจะดูแปลกสำหรับเถรวาท คือ สามารถเสียสละตัวเองเพื่อรักษาพระพุทธศาสนาและบูชาพระรัตนตรัย
          ผมถามต่อว่าเมื่อท่านติช กวาง ดึ๊กเผาตัวตายแล้ว ผลที่ตามมาเป็นอย่างไร ผู้ให้สัมภาษณ์เล่าว่าการเผาตัวตายครั้งนั้นเป็นข่าวดังไปทั่วโลก ทางการสหรัฐฯซึ่งเคยวางตัวเป็นกลางได้ให้ความสนใจต่อข่าวที่พระสงฆ์เผาตัวตาย ในที่สุดสหรัฐฯก็โค่นรัฐบาลโง ดิน เดียม โดยอาศัยมือซีไอเอก่อการปฏิวัติ เมื่อสิ้นรัฐบาลโง ดิน เดียม พระพุทธศาสนาได้กลับมาเป็นศาสนาอันดับหนึ่งในเวียตนามจนทุกวันนี้
          ควรบันทึกไว้ว่า เมื่อปี ๒๕๔๙ รัฐบาลเวียตนามได้อนุญาตให้ชาวพุทธประดับธงฉัพพรรณรังสีในวันวิสาขบูชา เหตุก็น่าจะเนื่องมาจากการที่ชาวพุทธเวียตนามได้มาร่วมฉลองวันวิสาขบูชาโลกที่ประเทศไทยซึ่งมีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยเป็นแม่งาน กระแสวิสาขบูชาวันสำคัญสากลของโลกก่อให้เกิดบรรยากาศที่ดีสำหรับชาวพุทธในเวียตนาม
          ควรตระหนักว่า กรณีเผาตัวตายของท่านติช กวาง ดึ๊กเป็นเรื่องมหายานที่ขัดกับหลักการของพระพุทธศาสนาเถรวาท พระพุทธเจ้าทรงห้ามมิให้พระสงฆ์ฆ่าตัวตายและทรงปรับอาบัติพระสงฆ์ที่สอนยุยงให้คนฆ่าตัวตาย

ชาวพุทธต้องป้องกันตนเองและปกป้องพระพุทธศาสนา
          สิ่งที่พระสงฆ์ไทยจะต้องคิดให้มากก็คือว่า เราจะทำอย่างไรเมื่อพระพุทธศาสนาถูกรุกรานและชาวพุทธถูกรังแกโดยศาสนิกของศาสนาอื่น ชาวพุทธมีสิทธิป้องกันตนเองและปกป้องพระพุทธศาสนาได้แค่ไหนเพียงไร
เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๑ ในสมัยรัชกาลที่ ๖ พระบามสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ ทรงส่งทหารไทยไปร่วมรบในยุโรป พระสงฆ์ในขณะนั้นเองได้เทศน์สนับสนุนการป้องกันตนเองของชาวพุทธโดยอ้างพระบาลีว่า
                    จเช ธนํ องฺควรสฺส เหตุ
                    องฺคํ จเช ชีวิตํ รกฺขมาโน
                    องฺคํ ธนํ ชีวิตญฺจาปิ สพฺพํ
                    จเช นโร ธมฺมมนุสฺสรนฺโต
แปลความว่า
                    พึงสละทรัพย์เพื่อรักษาอวัยวะ
                    พึงสละอวัยวะเพื่อรักษาชีวิต
                    พึงสละทั้งทรัพย์ อวัยวะและชีวิต
                    เพื่อรักษาธรรม
          เราจะเห็นได้ว่าพระสงฆ์ไทยในอดีตได้ให้คำแนะนำทางการเมืองแก่ชาวบ้าน ท่านพูดถึงว่าชาวพุทธไทยจะป้องกันตัวเองได้แค่ไหนเพียงไร พระสงฆ์ในสมัยโบราณอ้างคำสอนเรื่องการเสียสละทั้งทรัพย์อวัยวะและชีวิตเพื่อรักษาธรรม แต่ไม่มีการสอนสุดโต่งให้สละชีวิตบูชาพระรัตนตรัยเหมือนพระสงฆ์เวียตนาม
          พระสงฆ์ไทยในปัจจุบันจะต้องตอบคำถามของชาวพุทธที่ว่าว่าควรจะทำอย่างไรเมื่อพระพุทธศาสนาถูกรุกรานและชาวพุทธถูกรังแกโดยศาสนิกของศาสนาอื่น ชาวพุทธป้องกันตัวเองได้แค่ไหนเพียงไร
          ยอร์จ วอชิงตัน ประธาธิบดีคนแรกของสหรัฐฯ พูดถึงการป้องกันตนเองไว้ว่า “To be prepared for war is one of the most effectual means of preserving
peace การเตรียมตัวเพื่อสงครามเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพวิธีหนึ่งในการรักษาสันติภาพ”
          สันติภาพกับสงครามมันไม่น่าจะไปด้วยกัน คำของยอร์จ วอชิงตัน ชวนให้นึกถึงพระราชนิพนธ์ของรัชกาลที่ ๖ ที่ว่า “แม้หวังตั้งสงบ จงเตรียมรบให้พร้อมสรรพ์ ศัตรูกล้ามาประจัญ จักอาจสู้ริปูสลาย”
          ข้อความนี้หมายความว่าการเตรียมพร้อมรบจะทำให้เกิดความสงบขึ้นมาได้ บางครั้งใครที่สนับสนุนแนวคิดเรื่องการเตรียมพร้อมรบนี้มักจะถูกวิจารณ์ว่าเป็นพวกส่งเสริมปาณาติบาต ทั้งที่การเตรียมพร้อมรบเช่นการสะสมอาวุธอาจช่วยป้องกันไม่ให้ถูกข้าศึกโจมตีก็เป็นได้ เพราะเมื่อข้าศึกเห็นว่าเราเข้มแข็ง เขาก็ไม่กล้ามารุกราน เช่นเดียวกับหมู่บ้านใดมีตำรวจอารักขาเป็นอย่างดี โจรก็ไม่กล้าเข้าปล้นหมู่บ้านนั้น โจรจะเข้าปล้นเฉพาะหมู่บ้านที่ไม่มีการอารักขา เมื่อชาวพุทธไม่ได้รับการอารักขาที่ดีจากทางราชการ พวกเขาก็ถูกฆ่ารายวันในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ การที่เจ้าหน้าที่ของรัฐปล่อยให้ชาวพุทธถูกฆ่าตายทุกวันก็น่าจะมีส่วนทำปาณาติบาตไปด้วย
          ปาณาติบาตหรือการฆ่า หมายถึงว่า ฆ่าเองก็ดี ให้คนอื่นฆ่าก็ดี เป็นปาณาติบาต คำว่า “ให้คนอื่นฆ่า” ยังหมายถึงการปล่อยให้คนถูกฆ่าตาย เช่น เรารู้ว่ามีหลุมขวากอยู่ข้างหน้าแล้วยังทำลูกศรชี้ทางให้คนเดินไปตกหลุมขวากนั้น เหมือนกับการที่ลูกศิษย์วัดซื้อปูเป็นๆมาแล้วต้มน้ำร้อน เอาไม้พาดปากหม้อสองอัน ให้ปูเดินข้าม ปูเดินไม่ดีตกลงไปตายก็ช่วยไม่ได้ บอกว่าปูเซ่อเอง ปูตัวไหนเดินเก่งผ่านไปได้ก็จับมาตั้งต้นใหม่ให้เดินอีกรอบหนึ่ง
          เรารู้ว่าสถานการณ์ดุเดือดเลือดพล่านในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ แล้วยังนิ่งดูดายปล่อยให้ชาวพุทธถูกฆ่าตายรายวัน ตำรวจทหารไม่ยอมเพิ่มมาตรการป้องกันให้รัดกุมกลับปล่อยให้ครูบ้างพระสงฆ์บ้างถูกสังหาร เมื่อตนเองมีหน้าที่ปกป้องคุ้มครองประชาชนกลับละเลยหน้าที่ปล่อยให้คนไม่มีอาวุธถูกฆ่าตายอยู่เรื่อยไป มันก็เหมือนก็การปล่อยให้ปูเดินไปตกหม้อน้ำร้อนตายนั่นแหละ ต่างกันตรงที่ว่าชีวิตคนน่าจะมีค่ามากกว่าชีวิตปูเท่านั้น
          รัฐบาลมีหน้าที่ต้องจัดการป้องกันที่เพียงพอต่อชาวพุทธในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ มาตรา ๗๓ บัญญัติไวว่า
          “รัฐต้องให้ความอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนาและศาสนาอื่น ส่งเสริมความเข้าใจอันดี และความสมานฉันท์ระหว่างศาสนิกชนของทุกศาสนา รวมทั้งสนับสนุนการนำหลักธรรมของศาสนามาใช้เพื่อเสริมสร้างคุณธรรมและพัฒนาคุณภาพชีวิต”
          แม้รัฐธรรมจะถูกยกเลิกไปแล้ว แต่ภาระหน้าที่นี้ของรัฐก็ยังคงอยู่ หรือจะต้องให้ชาวพุทธรวมตัวกันเรียกร้องให้ใส่คำว่า พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ ไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับต่อไปเสียก่อน แล้วพระพุทธศาสนาจึงจะได้รับการคุ้มครองจากรัฐ
          ในอินเดียสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช มีคนนอกรีตปลอมบวชกันมาก คณะสงฆ์สมัยนั้นได้ขอพระเจ้าอโศก ให้ทรงใช้พระราชอำนาจจับคนปลอมบวชไล่สึกไปเป็นจำนวนมาก พระพุทธศาสนาจึงกลับมาเจริญรุ่งเรือง ในสมัยปัจจุบัน คณะสงฆ์ก็ต้องการอำนาจรัฐมาปกป้องคุ้มครองศาสนวัตถุและศาสนบุคคลไม่ให้ถูกทำลายโดยเฉพาะในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
          การปกป้องคุ้มครองพระพุทธศาสนานับว่าสอดคล้องกับวัชชีธรรมข้อที่ ๗ ที่ว่า “จัดให้ความอารักขา คุ้มครอง ป้องกัน อันชอบธรรม แก่พระอรหันต์ทั้งหลาย ในที่นี้หมายถึงบรรพชิตผู้ดำรงธรรมเป็นหลักใจของประชาชนทั่วไป”
          รัฐต้องจัดการคุ้มครองป้องกันอันชอบธรรม แก่ชาวพุทธในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วยการจัดส่งกองกำลังตำรวจทหารไทย ที่พอเพียงลงไปเป็นกองกำลังรักษาสันติภาพ การเรียกร้องให้ผู้มีหน้าที่รักษาสันติภาพต้องทำหน้าที่คุ้มครองป้องกันไม่ได้หมายความว่าเราส่งเสริมการเข่นฆ่า การที่ตำรวจทหารถืออาวุธในมือไม่ได้หมายความว่าต้องใช้อาวุธฆ่ากันเสมอไป เราต้องมองเรื่องนี้แบบวิภัชชวาท คือมองหลายมุม อย่ามองมุมเดียวแบบเอกังสวาท ทุกวันนี้คนไทยชอบมองมุมเดียวจึงต้องทะเลาะกัน ทั้งที่พระพุทธศาสนาสอนให้มองหลายมุมแบบวิภัชชวาท
          มีคนถามพระพุทธเจ้าว่าการอยู่ปฏิบัติธรรมในป่าดีหรือไม่ดี ถ้ามองมุมเดียวก็ฟันธงไปเลยว่าดีหรือไม่ดี ถ้ามองแบบวิภัชชวาท พระพุทธเจ้าทรงให้แยกตอบตามเงื่อนไขว่า คนไหนอยู่ป่าแล้วจิตสงบ ตนนี้อยู่ป่าแล้วดี คนไหนอยู่ป่าแล้วฟุ้งซ่าน เป็นโรคจิตโรคประสาท เขาอยู่ป่าแล้วไม่ดี นี่คือการมองโลกแบบวิภัชชวาท
          อีกตัวอย่างหนึ่งของวิภัชชวาทหรือการมองหลายมุมก็คือเรื่องดาบสองคม เราใช้มีดดาบไว้ฆ่ากันก็ได้ เอาไว้ตัดฟืนก็ได้ ใช้ขุดดินก็ได้ ถ้าใช้ตัดฟืนดาบก็เป็นคุณ ถ้าใช้ประหัตประหารเข่นฆ่า ดาบก็เป็นโทษ การใช้ดาบป้องกันตนเองยังไม่ผิดศีลตราบเท่าที่ยังไม่มีการฆ่ากัน

สถานการณ์ที่ต่างฝ่ายต่างชนะ
          มีคำถามว่ามันจะเป็นไปได้อย่างไรที่คนมีอาวุธในมือจะช่วยรักษาสันติภาพ การมีกองกำลังตำรวจทหารไทยอย่างพอเพียงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้จะช่วยรักษาสันติภาพได้จริงหรือ ขอตอบคำถามนี้ด้วยนิทานเปรียบเทียบต่อไปนี้
          คืนหนึ่ง เจ้าของบ้านตื่นขึ้นมากลางดึกเพราะได้ยินเสียงดังกุกกักอยู่ภายในบ้านชั้นล่าง เขาสันนิษฐานว่ามีขโมยขึ้นบ้าน เขาเดินลงจากห้องนอนชั้นบนเพื่อตรวจดูสถานการณ์ และเพื่อความไม่ประมาทเขาถือปืนติดมือลงลงไปด้วย เขาพบว่าห้องโถงชั้นล่างเปิดไฟสว่าง เขาเห็นโจรกำลังค้นหาของมีค่า เจ้าของบ้านเล็งปืนไปที่โจร ขณะเดียวกันโจรก็เล็งปืนมาที่เจ้าของบ้าน ในสถานการณ์นี้มีความเป็นไปได้อยู่ ๔ ประการดังนี้
          ๑. เจ้าของบ้านยิงโจรก่อน โจรตาย เป็นความสัมพันธ์แบบ Win-Lose (เราชนะ- เขาแพ้) เทียบได้กับอัตตาธิปไตย คือเราเป็นใหญ่
          ๒. โจรยิงก่อน เจ้าของบ้านตาย เป็นความสัมพันธ์แบบ Lose-Win (เราแพ้-เขาชนะ) เทียบได้กับโลกาธิปไตย คือคนอื่นเป็นใหญ่
          ๓. เจ้าของบ้านมองโจร โจรมองเจ้าของบ้าน ต่างฝ่ายต่างถอย เจ้าของบ้านปล่อยโจรหนีไป ไม่มีใครยิงใคร ในกรณีนี้จึงไม่มีใครตาย เป็นความสัมพันธ์แบบ Win-Win (เราชนะ-เขาชนะ) เทียบได้กับธรรมาธิปไตย คือธรรมเป็นใหญ่
          ๔. เจ้าของบ้านและโจรยิงสวนกันแล้วถูกปืนตายทั้งคู่ เป็นความสัมพันธ์แบบ Lose-Lose (เราแพ้-เขาแพ้) เทียบได้กับอนาธิปไตย คือทุกฝ่ายแพ้
          ถามว่าอะไรคือทางเลือกที่ดีที่สุด ตอบว่าทางเลือกที่ดีที่สุดคือทางเลือก ๓ นั่นคือ เจ้าของบ้านและโจรต่างคำนวณว่าถ้าเกิดยิงสวนกันก็อาจตายทั้งคู่ ทางออกที่ดีที่สุดในสถานการณ์นี้ก็คือต่างฝ่ายต่างถอยฉาก เราไม่ต้องยิงเขาและเขาก็ไม่ต้องยิงเรา นั่นคือธรรมาธิปไตย win-win situation สถานการณ์ที่ต่างฝ่ายต่างชนะ
          ถ้าในขณะนั้นเจ้าของบ้านไม่มีปืนในมือ เขาก็อาจถูกโจรยิงตาย เพราะไม่มีการป้องกันตัวเอง ในกรณีนี้ปืนไม่ได้มีไว้ยิงโจร แต่มีไว้สำหรับรักษาสันติภาพ เพราะฉะนั้น การจัดให้มีกองกำลังตำรวจทหารอย่างพอเพียงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็ไม่ใช่เพื่อสร้างความรุนแรงเสมอไป กองกำลังตำรวจทหารอาจมีไว้เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการเข่นฆ่า ซึ่งเทียบได้กับกองกำลังรักษาสันติภาพของสหประชาชาติ
          สถานการณ์ที่ต่างฝ่ายต่างชนะ (win-win situation) เกิดจากการรู้จักถอยเพื่อแสวงจุดร่วมแต่สงวนจุดต่าง ให้ยอมแพ้ศึกแต่ชนะสงคราม ไม่ใช่ชนะศึกแต่แพ้สงคราม
          คำว่าชนะศึกแต่แพ้สงคราม หมายถึงว่า เราชนะในเรื่องเล็กแต่แพ้ในเรื่องใหญ่ เช่น สามีภรรยาต่างคนต่างเถียงเพื่อเอาชนะกันตลอด ในที่สุด ครอบครัวแตกสลาย นี่เรียกว่าชนะศึกแต่แพ้สงคราม
          ตรงกันข้าม คำว่าแพ้ศึกแต่ชนะสงคราม หมายถึงว่า เรายอมแพ้ในเรื่องเล็กเพื่อเอาชนะในเรื่องใหญ่ เช่น สามีหรือภรรยายอมลงให้อีกฝ่ายหนึ่ง เขายอมแพ้เพื่อรักษาชีวิตครอบครัว นี่เรียกว่าแพ้ศึกแต่ชนะสงคราม
          ที่ว่าแพ้เป็นพระชนะเป็นมาร ไม่ใช่หมายความว่าพระต้องแพ้ตลอดศก คำว่าแพ้เป็นพระหมายถึงว่า เรายอมแพ้ให้ใคร เราเป็นพระในใจของคนคนนั้น เราใจดีเหมือนพระ เขาจะนึกถึงความดีของเรา แต่ถ้าเราเอาชนะคะคานใครตลอดเวลา เราก็เป็นมารคือผู้ขัดขวางคนคนนั้นไม่ให้เขาได้ดังใจ การจะคบกันให้ยืดยาวจะต้องหัดแพ้เป็นพระ ดังที่สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (ติสสะ)นิพนธ์ไว้ว่า
                    โง่ไม่เป็น เป็นใหญ่ยาก ฝากให้คิด
                    ทางชีวิตจะรุ่งโรจน์ โสตถิผล
                    ต้องรู้โง่ รู้ฉลาด ปราดเปรื่องตน
                    โง่สิบหน ดีกว่าเบ่ง เก่งเดี๋ยวเดียว

พุทธธรรมเพื่อความสมานฉันท์
          สิ่งที่จะมีส่วนช่วยสร้างสันติภาพในสังคมไทยก็คือสถานการณ์ที่ต่างฝ่ายต่างชนะ (win-win situation) เกิดจากการรู้จักถอยคือให้ยอมแพ้ศึกแต่ชนะสงคราม ไม่ใช่ชนะศึกแต่แพ้สงคราม ถ้าต่างฝ่ายต่างชนะก็เป็นธรรมาธิปไตย ไม่ใช่ต่างฝ่ายต่างแพ้ซึ่งเป็นอนาธิปไตย พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลปัจจุบันที่พระราชทานเมื่อวันที่ ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๓๕ ในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ มีข้อความตอนหนึ่งที่เกี่ยวกับอนาธิปไตยที่ต่างฝ่ายต่างแพ้ ดังต่อไปนี้
          “เวลาคนมีการปฏิบัติรุนแรงมันลืมตัว ลงท้ายเขาไม่รู้ว่าตีกันเพราะอะไร แล้วก็จะแก้ปัญหาอะไร เพียงแต่ว่าจะต้องเอาชนะ แล้วก็ใครจะชนะ ไม่มีทาง อันตรายทั้งนั้น มีแต่แพ้ คือต่างคนต่างแพ้ ผู้ที่เผชิญหน้าก็แพ้ แล้วที่แพ้ที่สุดก็คือประเทศชาติ ประชาชนจะเป็นประชาชนทั้งประเทศ ไม่ใช่ประชาชนเฉพาะในกรุงเทพมหานคร ถ้าสมมติว่า เฉพาะในกรุงเทพมหานครเสียหายไป ประเทศก็เสียหายไปทั้งหมด แล้วก็จะมีประโยชน์อะไรที่จะทะนงตัวว่าชนะ เวลาอยู่บนกองซากปรักหักพัง”
          พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำรัสแก่พสกนิกรที่เข้าเฝ้าฯ ถวายพระพรชัยมงคล ณ สีหบัญชร พระที่นั่งอนันตสมาคม เมื่อวันที่ ๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๙ ทรงแนะนำให้คนไทยปฏิบัติตามธรรมเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ ดังนี้
          “ประการแรก คือ การที่ทุกคนคิด พูด ทำ ด้วยความเมตตา มุ่งดี มุ่งเจริญต่อกัน
          ประการที่สอง คือ การที่แต่ละคนต่างช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ประสานงาน ประสานประโยชน์กัน ให้งานที่ทำสำเร็จผล ทั้งแก่ตน แก่ผู้อื่น และกับประเทศชาติ
          ประการที่สาม คือ การที่ทุกคนประพฤติปฏิบัติตนอยู่ในความสุจริต ในกฎกติกา และในระเบียบแบบแผน โดยเท่าเทียมเสมอกัน
          ประการที่สี่ คือ การที่ต่างคนต่างพยายามนำความคิด ความเห็นของตนให้ถูกต้อง เที่ยงตรง และมั่นคงอยู่ในเหตุในผล หากความคิด จิตใจ และการประพฤติปฏิบัติที่ลงรอยเดียวกัน”
          พุทธธรรมในพระราชดำรัสนี้เรียกว่าสาราณียธรรม(ธรรมเป็นเหตุให้ระลึกถึงกัน)ซึ่งมีที่มาในพระไตรปิฎก
          ประการแรก ที่ว่า “คิด พูด ทำด้วยเมตตา” มาจากสาราณียธรรม ๓ ข้อ คือ เมตตากายกรรม (ทำด้วยเมตตา) เมตตาวจีกรรม (พูดด้วยเมตตา) และเมตตามโนกรรม (คิดด้วยเมตตา)
          ประการที่สอง ที่ว่า “การที่แต่ละคนต่างช่วยเหลือเกื้อกูลกัน” ตรงกับสาราณียธรรมข้อสาธารณโภคี (แบ่งปันให้เท่าเทียมกัน)
          ประการที่สาม การที่ทุกคนประพฤติปฏิบัติตนอยู่ในกรอบกติกาโดยเท่าเทียมกัน ตรงกับสาราณียธรรมข้อสีลสามัญญตา (มีศีลเสมอกัน)
          ประการที่สี่ การที่ต่างคนต่างพยายามปรับความคิดความเห็นของตนให้ถูกต้องลงรอยเดียวกัน ตรงกับสาราณียธรรมข้อทิฎฐิสามัญญตา (มีความเห็นลงรอยเดียวกัน)
          สารณียธรรมในทางปฏิบัติเริ่มต้น ด้วยทิฏฐิสามัญญตาคือปรับความคิดเห็นให้เป็นลงรอยแบบเดียวกันว่าเราทั้งผองเป็นพี่น้องกัน มีพ่อหลวงคือพระเจ้าอยู่หัวองค์เดียวกัน แม้จะต่างศาสนากันแต่ก็เป็นคนไทยด้วยกัน เมื่อปรับความคิดเห็นได้อย่างนี้แล้วเราก็จะเกิดความรู้รักสามัคคี คิดพูดทำต่อกันด้วยเมตตา เกื้อกูลแบ่งปันกันและกัน ปฏิบัติต่อกันตามกฎหมายอย่างเท่าเทียมกันด้วยสีลสามัญญตา และปรับความคิดเห็นให้มีเหตุผลลงรอยเดียวกันมากยิ่งขึ้นด้วยทิฏฐิสามัญญตา
          พระสงฆ์ต้องช่วยกันประกาศเผยแผ่สาราณียธรรมตามนัยแห่งพระราชดำรัสนี้อย่างเต็มสติกำลัง เมื่อคนไทยปฏิบัติตามสาราณียธรรมในพระราชดำรัสนี้แล้ว ก็จะเกิดสันติภาพที่ยั่งยืนในสังคมไทยโดยเฉพาะในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เมื่อสันติภาพเกิดขึ้นแล้ว ความร่ำรวยและความรุ่งโรจน์ก็จะตามมา ดังมีเรื่องเล่าว่า
          ผู้หญิงคนหนึ่งกำลังปรุงอาหารเย็นรอสามีกลับมาทานที่บ้าน เธอมองไปนอกหน้าต่างเห็นชายชราสามคนนั่งผิงไฟอยู่ใต้สะพานลอย จึงบอกลูกชายให้ไปเชิญชายชราทั้งสามคนมาทานซุปร้อนในบ้านก่อน
          ลูกชายวิ่งหายไปสักครู่หนึ่งแล้ว กลับมารายงานคุณแม่ว่า “คุณลุงบอกว่าไม่เคยเข้าบ้านพร้อมกันทั้งสามคน พวกเขาตั้งกติกาว่าจะเข้าบ้านได้ครั้งละหนึ่งคน คุณแม่จะให้เชิญคนไหนครับ”
          แม่บอกลูกชายให้ไปถามชื่อลุงแต่ละคนเพื่อประกอบการตัดสินใจ
          ลูกชายไปถามชื่อแล้วกลับมารายงานว่า “คนแรกชื่อนายสันติ คนที่สองชื่อนายร่ำรวย คนที่สามชื่อนายรุ่งโรจน์ แม่จะให้ผมเชิญคนไหนเข้าบ้าน”
          แม่สั่งลูกชายให้ไปเชิญนายสันติเข้าบ้าน ลูกชายก็ไปเชิญนายสันติ ปรากฏว่านายสันติเข้าบ้านมาพร้อมด้วยนายร่ำรวยและนายรุ่งโรจน์เดินตามหลังมาด้วย
          แม่อดสงสัยไม่ได้จึงถามว่า “ตอนแรกลุงบอกว่าจะเข้าบ้านได้เพียงคนเดียว ตอนนี้ทำไมมาพร้อมกันสามคน”
          ลุงทั้งสามช่วยกันอธิบายว่า “คุณนายครับ นั่นขึ้นอยู่ว่าคุณนายเชิญใครเข้าบ้าน ถ้าเชิญนายร่ำรวยเข้าบ้าน คุณนายจะได้นายร่ำรวยเพียงคนเดียว เพราะบ้านใด ร่ำรวย บ้านนั้นมักตีกันและแย่งสมบัติกัน ถ้าคุณนายเชิญนายรุ่งโรจน์เข้าบ้านก็จะได้นายรุ่งโรจน์คนเดียว บ้านใดมีคนดังเยอะจะแย่งกันเด่น แข่งกันเป็นหัวหน้า บ้านนั้นยากที่จะสงบและร่ำรวย แต่วันนี้คุณนายเชิญนายสันติเข้าบ้านจึงได้ครบทุกอย่าง ที่ใดมีสันติคือความสงบ ที่นั่นก็มีความร่ำรวยและความเจริญรุ่งเรือง”
          ที่ใดมีความสงบสันติ ที่นั่นมีความร่ำรวยและความรุ่งโรจน์ ถ้าประเทศไทยไม่มีสันติภาพเพราะมีเสียงระเบิดดังขึ้นบ่อยครั้ง หุ้นก็จะตกระนาว เศรษฐกิจจะเสียหายหลายพันล้านบาท นักลงทุนต่างชาติจะพากันย้ายถิ่นฐานการลงทุน ความร่ำรวยก็จะอันตรธานไปพร้อมกับชื่อเสียงอันดีที่เคยมีว่าไทยนี้รักสงบ

          ด้วยอำนาจคุณพระศรีรัตนตรัยและคุณความดีที่ทุกท่านได้บำเพ็ญมาในการปฏิบัติศาสนกิจจงมารวมกันเป็นตบะเดชะพลวปัจจัยอำนวยอวยพรให้ทุกท่าน มีความรุ่งเรืองเจริญงอกงามไพบูลย์ในร่มธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มีความรู้รักสามัคคี มีสันติภาพในใจ และทำงานร่วมกับทุกฝ่ายได้อย่างกลมเกลียวประสานกันก่อให้เกิดพลังและความสำเร็จมหาศาล ปรารถนาสิ่งใดที่ชอบประกอบด้วยธรรมก็ขอให้ความปรารถนานั้นๆ จงพลันสำเร็จสมความปรารถนาทุกประการ ตลอดกาลนาน เทอญ

(Source: ปาฐกถาแสดงแก่พระนิสิตปฏิบัติศาสนกิจภาคเหนือ วิทยาเขตแพร่ )
 
 
 
Copyright © Mahachulalongkornrajavidyalaya University All rights reserved 
Maintained by: webmaster@mcu.ac.th 
Last Update : Thursday February 9, 2012