Mahachulalongkornrajavidyalaya University
MCU Home Search Contacts Study Events Site Map Thai/Eng
MCU
ON THIS SITE
Curriculum
Academic Articles

First Page » Phrasritawatmethe » Xishuangbanna :: Mangtai city
 
counter : 43185 time

''Xishuangbanna :: Mangtai city''
 
Phrasritawatmethee (2550)

บทนำ
ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน มีที่แห่งหนึ่งที่เรียกว่าดินแดนพื้นไข่มุกเขียวขจี อู่ข้าวอู่น้ำ แหล่งเพาะปลูกไร่ชา ยาสูบ และยางพาราขึ้นชื่อ อุดมสมบูรณ์ด้วยป่าเขาลำเนาไพร ถ้ำ น้ำตก สัตว์ป่านานาพรรณ ดอกไม้นานาชนิด ห้วยหนองคลองบึง แม่น้ำลำธาร เรามารู้จักแดนดินถิ่นนี้กันดีกว่า พร้อมกับช่วยค้นหาคำตอบที่ว่า คนไทยมาจากไหน บนเส้นทางแสวงหาความรู้ร่วมกัน
สิบสองปันนา “นครเมิงไต” เรียกในสำเนียงไทยภาคกลางว่า “นครเมืองไทย” เพราะเสียงสระ “เอือะ, เอือ” ในไทยเท่ากับสระ “เออะ, เ- อิ (เออะ ลดรูป)” เช่น “เมือง เป็น เมิง” และเสียงสระ “เอียะ, เอีย” ในไทยเท่ากับสระ “เอะ, เ-็ (เอะ ลดรูป), เอ” เช่น “เจียง เป็น เจง” เป็นต้น สิบสองปันนาชื่อนี้เกิดขึ้นมาจากการแบ่งเขตการปกครอง โดยยึดถือไร่นาจำนวน ๑๒,๐๐๐ ไร่ ตรงกับสำเนียงไทยทั่วไปที่เรียกว่า “สิบสองพันนา” มีเรื่องราวควรบันทึกไว้
๑. พญาอาลาโว กวดไล่ล่าตามกวางทองมารุ่งอรุณที่นี่ กวางทองนั้นเป็นยักษ์ชื่ออะระกะ จำแลงร่างเป็นกวางทองมา เพื่อจับพระเจ้าแผ่นดินและผู้คนเป็นภักษาหาร ฉะนั้น เมืองนี้จึงมีเรื่องยักษ์เป็นตำนานพื้นเมือง ชื่อเดิมของเมืองว่า เมืองอาฬะวี หรือเมืองสิริสุภกาตา
๒. ชื่อเมืองที่เกี่ยวเนื่องกับพระพุทธศาสนาอย่างแนบแน่น เพราะมีตำนานเล่าว่า “พระพุทธเจ้าเสด็จมารุ่งเช้าที่นี้พอดี” จึงเป็นที่มาของคำว่า “เชียงรุ่ง” แต่คนไทยออกเสียงเป็น “เชียงรุ้ง”
๓. เชียงรุ้ง อาจหมายถึง “เมืองของท้องฟ้าสีรุ้ง” ก็ได้ ตามสำเนียงเรียกของคนไทยทั่วไป แต่คนที่นี่ยืนยันว่า ชื่อที่ถูกต้องแท้จริงคือ “เชียงรุ่ง” แปลว่า “เมืองแห่งฟ้ารุ่งอรุณ” ชาวไตลื้อเองออกเสียงว่า “เจงฮุ่ง” คนจีนหรือภาษาราชการเรียกว่า “จิ่งหง” (Jinghong) ส่วนชื่อที่สนามบินสุวรรณภูมิ เขียนว่า จิ่งฮอง
๔. สิบสองปันนา (Sipsongpanna) คนจีนออกเสียงว่า “ซีสวงปันนา (Xishuangpanna)” เป็นนครเมิงไตของชาวไตลื้อและชนกลุ่มน้อย ตั้งอยู่ในภาคใต้สุดของมณฑลยูนนาน ในอดีตแบ่งเขตการปกครองเป็น ๑๒ หัวเมืองใหญ่  โดยจัดแบ่งหัวเมืองใหญ่ ๒๘ เมืองเป็น ๑๒ เขตปกครอง จึงเรียกว่า สิบสองปันนา หรือ “สิบสองพันนา” ตามเอกสารบันทึกใน พ.ศ. ๒๑๑๓ จัดแบ่งไว้ ดังนี้
๑. เมืองเชียงรุ่ง เมืองยาง เมืองฮำ รวมเป็น ๑ พันนา
๒. เมืองแจ เมืองมาง (ฟากตะวันตก) เมืองเชียงลู เมืองออง เป็น ๑ พันนา
๓. เมืองลวง เป็น ๑ พันนา
๔. เมืองหน เมืองพาน เชียงลอ เป็น ๑ พันนา
๕. เมืองฮาย เชียงเจือง เป็น ๑ พันนา
๖. เมืองงาด เมืองขาง เมืองวัง เป็น ๑ พันนา
๗. เมืองหล้า เมืองบาน เป็น ๑ พันนา
๘. เมืองฮิง เมืองปาง เป็น ๑ พันนา
๙. เชียงเหนือ เมืองลา เป็น ๑ พันนา
๑๐. เมืองพง เมืองมาง (ฟากตะวันออก) เมืองหย่วน เป็น ๑ พันนา
๑๑. เมืองอูเหนือ เมืองอูใต้ เป็น ๑ พันนา
๑๒. เมืองเชียงทอง อีงู อีปาง เป็น ๑ พันนา
แม่น้ำโขง เรียกในอีกสำเนียงหนึ่งว่า “แม่น้ำหลันช้าง” มีต้นกำเนิดไหลมาจากที่ราบสูงทิเบต เมื่อไหลผ่านสิบสองปันนา เขาเรียกว่า “แม่น้ำล้านช้าง” หรือเรียกว่า “แม่น้ำของ” ก็มี แล้วแม่น้ำไหลผ่านลงไปยังประเทศพม่า ลาว ไทย กัมพูชา และออกสู่ทะเลที่เวียดนาม ความยาวของแม่น้ำมากกว่า ๔,๐๐๐ กิโลเมตร มีประชากรตั้งบ้านเรือนอาศัยอยู่รวมกันประมาณ ๒๓๐ ล้านคน การแบ่งเขตหัวเมืองในสิบสองปันนาหากใช้แม่น้ำโขงเป็นหลัก เขาใช้ “๕ เมิงวันตก ๖ เมิงวันออกของ” นั่นคือ ๕ เมืองตะวันตกของแม่น้ำโขง และ ๖ เมืองตะวันออกของแม่น้ำโขง บวกเมืองเชียงรุ้ง จึงกลายเป็น “สิบสองปันนา”
ชาวสิบสองปันนา เป็นชนเผ่า “ไตลื้อ” ตั้งบ้านเรือนอยู่อาศัยตามแม่น้ำล้านช้าง มีวิถีชีวิตผูกพันกับพระพุทธศาสนาและพญานาค ซึ่งถือว่าเป็นผู้พิทักษ์ชนเผ่าไตและคุ้มครองให้ความโชคดีปลอดภัย เป็นชนที่มีภาษาพูดและเขียนเป็นของตนเอง
ตามข้อมูลสำรวจประชากรเมื่อปี ๒๕๔๓ แคว้นสิบสองปันนามีประชากรทั้งสิ้น ๙๙๓,๓๙๗ คน แต่เป็นชาวไตลื้อถึง ๒๙๖,๙๓๐ คน หรือหนึ่งในสาม นั่นคือ เป็นชาวไตลื้อส่วนหนึ่ง จีนฮั่นส่วนหนึ่ง และชนกลุ่มน้อยอื่นๆ อีกส่วนหนึ่ง  บรรพบุรุษของไตลื้อสืบทอดมาตั้งแต่ยุคขุนเจือง วีรบุรุษสองฝั่งโขง จวบจนถึงยุคปฏิวัติวัฒนธรรมในประเทศจีน มีกษัตริย์ปกครองรวมกัน ๔๔ พระองค์ องค์สุดท้ายชื่อเจ้าหม่อมคำลือ พระราชวังตั้งอยู่ที่เวียงผาคราง บนที่เนินเขาบริเวณริมฝั่งแม่น้ำล้านช้าง ซึ่งมีวัดวาอารามมากมาย ปัจจุบันถูกทุบทำลายเกือบหมด ได้รับการพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวอีกครั้ง โดยมีภูเขาลิงเป็นเครื่องหมาย
เมื่อมาถึงสิบสองปันนา จะได้ยินคำกล่าวขานที่ว่า “นักร้องและนักฟ้อนรำที่ขึ้นชื่อที่สุดในโลกมาจากประเทศจีน ศิลปินเหล่านั้นมาจากมณฑลยูนนาน และในมณฑลยูนนาน สิบสองปันนานับว่าเป็นเอกที่สุด”
ชีวิตยามราตรี นอกจากร้านอาหารและร้านขายของชำทั่วไปแล้ว เป็นชีวิตที่เงียบสงบ ไม่มีสถานเริงรมย์ ไม่มีสถานที่เล่นการพนัน หนุ่มสาวมีการละเล่นลาวกระทบไม้ กระโดดโลดเต้น ร้องรำทำเพลง และแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน ที่โรงละครจัดให้มีโชว์ศิลปะพื้นเมือง ที่ขึ้นชื่อเสียงมาก คือ การขับร้องและฟ้อนรำชุด “เมิงพาราณสี” (เมืองพาราณสี) ซึ่งประกอบด้วย ๕ ฉาก คือ
๑. เสน่ห์งามในแคว้นสิบสองปันนา (The Romantic Charming of Xishuangpanna) ฉากเล่าเรื่องประวัติความเป็นมาเมื่อพระพุทธศาสนามาถึงดินแดนแห่งนี้ มีคนแต่งตัวเป็นยักษ์ ตัวแทนของยักษ์อาฬวี และเมื่อภาพพระสงฆ์ที่เดินทางมาเผยแผ่พระพุทธศาสนาในแถบพื้นแผ่นดินนี้ จนต่อมากลายเป็นศาสนาประจำชนเผ่าไตลื้อ
๒. นกยูงนำโชค (The Auspicious Peacock) ฉากภาคพื้นดินที่มีนกยูงนับพันตัว เขาใช้ชุดคนแสดงแต่งตัวเป็นนกยูง ถือว่าเป็นจุดสำคัญของแคว้นนี้ทีเดียว มองไปทุกหนทุกแห่งจะเห็นป้ายโฆษณาชุดสาวน้อยงาม เต็มไปด้วยเสน่ห์ แต่งกายเป็นนกยูง สวยงาม น่าดู น่าชม
๓. เพลงรื่นเริงในเทศกาลสงกรานต์ (The Merry Song of Water-Splashing-Festival) ฉากการละเล่นสงกรานต์ระหว่างวันที่ ๑๓ – ๑๔ – ๑๕ เมษายน งานประจำปีสำคัญของชาวไตลื้อ และการสาดน้ำรดหัวในวันที่ ๑๕ เมษายนของทุกปี
๔. รำอวยพร (The holy Benediction) ฉากศิลปะสวยงาม เฉพาะรำฟ้อนเล็บ และรำเซิ้ง
๕. แม่น้ำล้านช้าง แม่น้ำของ หรือแม่น้ำโขง (River of Spring water) ฉากสายน้ำที่เชื่อม ๖ ภูมิประเทศด้วยศิลปวัฒนธรรมเข้าด้วยกัน คือ จีน พม่า ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม โดยมีแม่หญิงไตลื้ออาบน้ำตามลำแม่น้ำโขงเป็นฉากเบื้องหลัง ถือว่าเป็นเครื่องหมายวัฒนธรรมแห่งประเทศในแถบลุ่มแม่น้ำโขง

สัมผัสวิถีชีวิต
แคว้นสิบสองปันนาเป็นเขตปกครองตนเองของชนชาติไต (Xishuangbanna Dai Autonomous Prefecture) มีฐานะเทียบเท่าจังหวัดหนึ่งทางตอนใต้ของมณฑลยูนนาน ซึ่งมีเมืองคุนหมิงเป็นเมืองหลวง ได้รับสิทธิพิเศษให้เป็นเขตที่มีการปกครองตนเองของชนเผ่าไต โดยมีข้อบังคับว่า ผู้ว่าการและรองผู้ว่าต้องเป็นชาวไตลื้อ
หัวเมืองต่างๆ แห่งแคว้นสิบสองปันนามีถึง ๒๘ หัวเมืองใหญ่ และ ๔๐ กว่าหัวเมืองย่อย สถานภาพในปัจจุบันจัดลดลงเป็นแค่ตำบลและหมู่บ้าน แคว้นสิบสองปันนาประกอบไปด้วยหนึ่งนครหลวงและสองอำเภอที่ว่าการ คือ นครหลวงเชียงรุ้ง ซึ่งเป็นจุดศูนย์กลางการปกครองของสิบสองปันนา เขตอำเภอเมืองฮาย (Meng Hai) มีเมืองเชี่ยนชานเป็นที่ว่าการ ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกติดกับประเทศพม่า และเขตอำเภอเมืองล่า (Meng La) ซึ่งมีเมืองล่าเป็นที่ว่าการ ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ติดต่อกับเขตแดนประเทศลาว แคว้นสิบสองปันนาเป็นดินแดนแห่งนกยูง ชาวไตลื้อถือว่านกยูงเป็นสัญลักษณ์แห่งโชคลาภและความสุขความเจริญ ฉะนั้น จึงเป็นเมืองแห่งแม่น้ำป่าเขาลำเนาไพร โดยมีนกยูงเป็นสัญลักษณ์ ชาวไตลื้อนับถือพระพุทธศาสนาร้อยละ ๙๐
จุดแรกที่เข้าไปสัมผัสเรียกว่าสวนป่า (Forest Park) ตั้งอยู่ไม่ห่างไกลนักจากตัวเมือง สิ่งประทับใจแรก คือภาษาจีน – อังกฤษ – ไทย ที่เขียนไว้ปากทางเข้าสวน ดังนี้

Peacocks
Xishuangbanna is the home of peacocks. In the eyes of the Dai people, peacocks are symbols of happiness, beauty and good fortune. Here we have more than 2,000 peacocks kept in a natural way.

นกยูงต้อนรับแขก
“สิบสองปันนาเป็น “บ้านเกิดของนกยูง” ชาวไตถือว่านกยูงเป็นสัญลักษณ์แห่งความสุข ความมีโชคดี ความสวยและความดี ถือว่าสวนนี้เป็นตัวอย่างแท้จริงของ “บ้านเกิดนกยูง” เมื่อท่านมาถึงสวน นกยูงพันกว่าตัวที่เลี้ยงในธรรมชาติ จะรำแพนต้อนรับแขกที่มีเกียรติทุกท่าน”
ตรงปากทางเข้าสวนป่านกยูงนั้น นึกชมชอบภาพปั้นเขียนบนฝาผนัง บอกเรื่องราววิถีชีวิตของชาวไต การตั้งบ้านแปงเมือง สิ่งสะดุดตาต่อมาตั้งแต่เมื่อเดินทางมาถึง คือ “งอบ” ลักษณะทรงยอดแหลมราบลงมา เห็นเจ้าหน้าที่หญิงที่สนามบินสิบสองปันนาสวมใส่ แตะตายิ่งนักครั้งหนึ่งแล้ว ยิ่งมาเห็นหญิงสาวอีกคน ทำหน้าที่เลี้ยงนกยูงในสวนป่า สวมงอบเช่นนี้ ทำให้นึกไปถึงงอบไซ่ง่อน วัฒนธรรมที่แผ่คลุมตั้งแต่จีนไปจนถึงเวียดนาม เคยชมสารคดีเจงกีสข่าน ผู้นำกองทัพมงโกลตอนบุกเข้ามาประเทศจีน ได้เห็นภาพชาวจีนฮั่นสวมงอบเช่นนี้ แสดงว่างอบเป็นที่นิยมชมชอบและใช้กันเป็นเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรม นับเป็นเวลาหลายร้อยปี
เมื่อสิบห้าปีก่อน เคยบุกเดินทางไปเชียงตุง ประเทศพม่า จึงทำให้คุ้นเคยกับภูมิประเทศและชนเผ่าไตลื้อและเผ่าไตเขินบ้างพอสมควร สืบทราบว่า ถ้าออกจากเชียงรุ้งไปถึงเชียงตุง รถวิ่งผ่านเมืองฮาย เข้าเมืองลา (พม่า) ใช้เวลาเดินทางประมาณ ๔ ชั่วโมงเศษ นับว่าไม่ไกลนัก รัฐบาลกำลังสร้างเส้นทางด่วนเชื่อมต่อระหว่างเส้นทางต่างๆ แต่ในสมัยที่เดินทางไปนั้น จำได้คร่าวๆ ว่า ระยะทางจากท่าขี้เหล็ก เชียงรายไปถึงเชียงตุง ๑๖๔ กิโลเมตร แต่ใช้เวลาเดินทางถึง ๖ - ๗ ชั่วโมง เพราะเป็นเส้นทางคดเคี้ยวและรถวิ่งเลาะเนินเขาเข้าไป
เห็นเส้นทางตามถนนสายใหม่ เขากำลังก่อสร้างเส้นทางด่วนจากคุนหมิงลงมาที่นครเชียงรุ้ง สิบสองปันนา และจะสร้างต่อไปจนจรดที่เมืองล่าเขตชายแดนติดต่อกับประเทศลาว แล้วจะเข้าเขตอำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย ต่อไปจนเข้าถึงกรุงเทพฯ กะจะแล้วเสร็จในปลายปี ๒๕๕๑ คือช่วงกีฬาโอลิมปิกที่จีนเป็นเจ้าภาพ โดยตกลงให้มีการสร้างสะพานเพื่อเชื่อมประเทศ
สะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งแรก ชื่อว่าสะพานมิตรภาพไทย – ลาว เชื่อมระหว่างจังหวัดหนองคายกับเวียงจันทน์ มีประเทศออสเตรเลียเป็นเจ้าภาพก่อสร้าง เปิดทำการเมื่อวันที่ ๘ เมษายน ๒๕๓๗ ต่อมาเรามีสะพานมิตรภาพไทย – ลาวแห่งที่สอง ซึ่งเชื่อมระหว่างมุกดาหารกับสะหวันนะเขต เปิดทำการเมื่อวันที่ ๒๐ ธันวาคม ๒๕๔๙ และจุดที่สาม มีโครงการจะสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงที่เชียงของ จังหวัดเชียงราย เชื่อมต่อกับห้วยทราย ประเทศลาว โดยจะมีประเทศจีนเป็นเจ้าภาพในฝั่งโน้น และไทยเป็นเจ้าภาพในฝั่งนี้
คณะเรานั่งรถบริการท่องเที่ยวเข้าไปภายในสวนป่า ถึงจุดที่น่าชมอีกแห่งหนึ่ง คือ หมู่บ้านอานี ซึ่งถือว่าเป็นชนเผ่าสาขาหนึ่งของชนเผ่าฮานี มีประชากร ๑๖๐,๐๐๐ คนในสิบสองปันนา อยู่อาศัยบนชายคาเขา (Mountain Ridge) ชนกลุ่มนี้ไม่มีภาษาเขียน มีแต่ภาษาพูด มีนกอินทรีย์ตั้งอยู่หน้าหมู่บ้านเป็นสัญลักษณ์ มีสะพานเป็นทางเชื่อมกับโลกภายนอก
ได้เข้าไปชมพิธีสาธิตการแต่งงาน และขึ้นไปบนบ้านเพื่อดูว่ามีอะไรบ้าง มีชาวเขาเผ่าฮานีอธิบายสิ่งของเครื่องใช้ภายในบ้านของเขา นึกชมว่าสร้างพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านได้อย่างมีชีวิตชีวาดี ไม่เหมือนกับของเรา เพราะเคยไปดูพิพิธภัณฑ์บ้านโซ่ง ที่อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี ดูแล้วรู้สึกแห้งแล้งในหัวอก แตกต่างจากพิพิธภัณฑ์ของเขาที่นี่ ซึ่งมีผู้คนอยู่อาศัย มีการแสดงวัฒนธรรมอย่างครึกครื้นให้ชมดูเป็นรอบๆ ผู้เข้าชมสามารถมีส่วนร่วมในกิจกรรมได้ ไม่หงอยเหงาโหรงเหรง
เมื่อเดินต่อไปอีกหน่อย จะถึงจุดที่มีน้ำตกไหลซ่าลงมาจากเบื้องบน ด้านข้างสายน้ำตก มีรูปปั้นชาวประมงกำลังเงื้อดาบสังหารมังกร ๙ หัว คงเป็นนิทานพื้นบ้านเกี่ยวกับแม่น้ำล้านช้างแน่นอน ที่นี่มีการละเล่น ”ลาวกระทบไม้”  วิธีเล่นคือมีไม้วางพื้นดิน ๒ อันขนานกัน ระยะห่างประมาณ ๒ เมตร หญิงสาว ๒ คนถือไม้ ๒ ท่อน ถือด้วยมือทั้งสองข้าง ที่ไม้คู่อันแรกห่างประมาณสัก ๒ ศอกเศษ เคาะพร้อมกันสองครั้งแล้วกระทบกัน คนเล่นจะกระโดดเข้ากระโดดออกตามจังหวะ มีผู้ชมให้ความสนใจยืนดูมากพอสมควร เพราะเขาเล่นได้สนุก กระโดดเป็นจังหวะ มีดนตรีประกอบ ใช้เคาะไม้ให้จังหวะด้วย แต่ถ้าใครโดดไม่ดี ไม่ถูกจังหวะ รับรองว่าข้อเท้าโดนไม้เคาะ เจ็บน่าดูเป็นแน่ การละเล่นนี้เขามีเล่นทั่วไปในมณฑลยูนนาน ในมณฑลกวางสีซึ่งมีพวกไตจ้วงอยู่อาศัยอีกประมาณ ๑๐ ล้านคน ก็มีการละเล่นกระทบไม้เช่นเดียวกัน
จุดสุดท้ายที่น่าสนใจมาก คือ หมู่บ้านไต (Dai Village) ที่ปากทางเข้ามีรูปปั้นควายกับเด็กน้อยน่ารักดี ภายในบริเวณมีสินค้าเช่นผ้าทอ และร่มเป็นต้น หน้าเวทีมีปะรำหรือผาม สร้างเป็นกระโจมใหญ่ มีคนนั่งรอชมการแสดง พร้อมกับสั่งกับแกล้มอาหาร เช่น นกปิ้ง เขานั่งบนตั่งเตี้ยๆ และรับประทานอาหาร ชมการแสดงพื้นบ้านแบบสำราญใจ นับว่าเป็นวิถีชีวิตที่น่าสนใจ ชาวจีนนั้นนิยมนั่งโต๊ะรับประทานอาหารเป็นวัฒนธรรมดั้งเดิม ชาวไตลื้อแต่เดิมนั้นคงนั่งบนพื้นรับประทานอาหาร แต่ต่อมาใช้ตั่งเตี้ยๆ นั่งรองก้น นับว่าเป็นการเลียนแบบทางวัฒนธรรมอย่างหนึ่ง ในเมื่อผู้คนมาอยู่อาศัยรวมกันมากห ก่อเกิดกลายเป็นวัฒนธรรมร่วม

เดินทางไปเมืองฮำ
คณะเราออกจากบริเวณสวนป่า รถมุ่งหน้าลงไปทางทิศใต้ วิ่งเลาะริมฝั่งแม่น้ำล้านช้างไปอีกประมาณ ๓๐ กิโลเมตร เพื่อดูสภาพบ้านเรือน การทำมาหากิน และวิถีชีวิตหมู่บ้านชาวไตลื้อ ที่รัฐบาลจีนอนุรักษ์ให้คงอยู่ในสภาพเดิมทุกประการ จัดเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญในสิบสองปันนา เพราะทุกคนที่เดินทางมาเยือน หากสนใจใฝ่หาความรู้เกี่ยวกับชาวไตลื้อ ต้องมุ่งหน้ามาที่เมืองฮำ ซึ่งเรียกตามสำเนียงจีนก็ว่า “เมืองกานลั่นป้า” หรือ “กะหลั่นป้า” (Ganlanpa) อันหมายถึง ที่ราบอุดมไปด้วยลูกสมอ ชาวสิบสองปันนาเรียกว่า “เมิงรำ” ตั้งอยู่ที่ฝั่งตรงข้ามกับเมืองเจียงฮ้า มีแม่น้ำโขงขวางกั้น เมืองเจียงฮ้าถือว่าเป็นปากทางเข้าสู่เมืองฮาย ทางรัฐฉานของพม่า
ชาวไตเรียกคนจีนยูนนานว่าฮ่อ และเราคนไทยเองก็เรียกว่า “จีนฮ่อ” ชาวจีนในมณฑลยูนนานนี้ยอมรับตนเองว่าเป็น “ฮ่อ” เช่นกัน ชาวไทยสิบสองปันนาเรียกคนไทยที่อยู่ภาคกลางหรือที่อยู่ทางใต้ลงมาทางบ้านเราว่า “กะหลอม” หรือ “ขอม” เรียกชาวเชียงใหม่ว่า “ยน” หรือ “ยวน” และเรียกคนลำปางว่า “ยนละกอน” (ยวนเมืองละคอน)
ก่อนทางเข้าหมู่บ้านไตลื้อ เป็นธรรมเนียมของผู้พาเที่ยวว่า ยังจะต้องมีเวลาพอเหลือบ้างเพื่อให้เข้าชมโรงงานทำหยกของรัฐบาล ข้าพเจ้าไม่ได้สนใจหยกหรอก มีสิ่งน่าสนใจ คือ ที่ปากทางเข้าประตูโรงงานทำหยก มีสัตว์นำโชคชนิดหนึ่ง เขาสร้างจำลองไว้ เรียกชื่อว่า “ผีซิ่ว” รูปร่างส่วนหัวเป็นมังกร งู หรือสิงห์ก็ได้ แล้วแต่จะมองจากมุมไหน สัตว์นำโชคนั้นจะต้องมีลักษณะปากกว้างและตูดใหญ่ กินแล้วไม่ถ่าย นำติดตัวไปไหนมีโชคดี เขาเชื่อกันอย่างนั้น
มีพิธีการเก็บบูชาผีซิ่วดังนี้ เมื่อได้สัตว์นี้มาแล้ว ต้องนำไปอาบน้ำก่อน เก็บแช่ไว้ในข้าวสารตามจำนวนวันที่กำหนด เวลาใช้ต้องให้หันหน้าออกนอกประตูบ้าน เคล็ดลับสำคัญคืออย่าให้ใครมาจับลูบท้องเป็นเด็ดขาด มิฉะนั้นโชคดีจะวิ่งไปหาผู้นั้นทันที จึงต้องเก็บรักษาไว้ ไม่ยอมให้ใครรู้ใครเห็น เขาบรรยายว่าศักดิ์สิทธิ์ขนาดถึงว่า สถานที่เล่นการพนันที่บ่อนมาเก๊า ห้ามไม่ให้ใครนำเอาสัตว์นำโชคนี้เข้าไปข้างในเด็ดขาด
ในระหว่างเดินทางไปหมู่บ้านไตลื้อ มองเห็นสภาพดินฟ้าอากาศ หญ้าและต้นไม้ขึ้นเขียวขจี ส่วนใหญ่เป็นต้นยางพารา ไร่ชา พืชผลต่างๆ มัคคุเทศก์บอกว่า ชาวสิบสองปันนาไม่นิยมออกไปทำมาหากินไกลนอกท้องถิ่น ไม่อยากไปอยู่ที่ไหนเลย เพราะพื้นดินมีความอุดมสมบูรณ์มาก เพียงมีเมล็ดพืชกำเดียว หว่านลงไปก็มีของกินแล้ว แถมบรรยายคุยว่า สินค้าสำคัญ ๑๐ อันดับแรกของจีน เป็นสินค้าที่มาจากสิบสองปันนาถึง ๔ ชนิด คือ ๑. ยาสูบ ๒. ยางพารา ๓. น้ำตาลอ้อย และ ๔. ใบชา – ไม้
เมื่อเที่ยวในประเทศจีน โดยเฉพาะสิบสองปันนา ได้พบเห็นแต่สิ่งดีๆ ชวนให้รื่นรมย์ทั้งนั้น แต่ที่รำคาญใจมากมี ๒ ประการ คือ “บุหรี่และห้องส้วม” ชาวจีนชอบสูบบุหรี่ มิน่าเล่าบุหรี่จึงเป็นสินค้าติดอันดับต้นๆ ส่วนห้องน้ำนั้นคนเคยไปอินเดียและจีนมาแล้ว ต้องทำใจมากๆ อดทนและปิดกลั่นจมูกลมหายใจไว้ให้ดี บางทีพอเห็นสภาพห้องส้วมแล้ว หายปวดท้องหนักท้องเบาขึ้นมาทันที มีอานุภาพมากถึงเพียงนั้น ข้อแนะนำสำหรับผู้เดินทาง คือ ควรมีกระดาษทิชชูติดตัวไว้ยามฉุกเฉิน และน้ำดื่มขวดใสสะอาดพอจะประทังความกระหายได้บ้าง
ที่น่าสรรเสริญมาก คือ “ชาตินิยม” ชาวสิบสองปันนาแม้เป็นประชากรเพียงส่วนน้อยนิด หากเทียบเป็นเปอร์เซ็น ก็แค่ร้อยละ .๐๑ ในจำนวนประชากรทั้งหมดของจีนที่มีนับเป็นพันล้าน ก็ตรงที่เขายังนิยมใช้ภาษาตัวอักษรไต หรืออักษรสิบสองปันนา ซึ่งมีลักษณะคล้ายอักษรตัวธรรม ควบคู่ไปกับอักษรจีน
อักษรไตนั้นเหมือนกับบาลีมาก เพราะเขารับแบบอักษรมาจากแคว้นไทยล้านนามา ในยุคที่เชียงใหม่เป็นศูนย์กลางแห่งวัฒนธรรมและการปกครอง สระเขามีแค่ ๘ ตัว คือ อ อา อิ อี อุ อู เอ โอ และพยัญชนะมี ๓๑ ตัว คือ ก ข ค ฆ ง, จ ฉ ช ฌ ญ, ……
หากใครสนใจอักษรโบราณ รับรองว่าอ่านได้ไม่ยาก ส่วนจะรู้ความหมายหรือไม่นั้น นั่นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง น่าคิดที่ว่า มหาวิทยาลัยสงฆ์ของไทย ควรบรรจุวิชาอักษรโบราณ เช่น อักษรขอม อักษรมอญ อักษรไตลื้อ อักษรไตเขิน เป็นส่วนวิชาภาคบังคับ อย่างน้อยทุกวัดในเขตปกครองหนเหนือต้องเขียนป้ายชื่อวัด และที่อยู่เป็นอักษรสองภาษากำกับไว้ ถ้าได้อังกฤษอีกภาษาหนึ่ง ก็นับว่าจะสมบูรณ์ดีทีเดียว วิทยาเขตพะเยาของเรานับว่ามีหูตากว้างไกลดี เพราะได้ทำหนังสือเซ็นสัญญาตกลงร่วมกับคณะสงฆ์แคว้นสิบสองปันนา จัดให้มีการแลกเปลี่ยนนิสิตนักศึกษาระหว่างสถาบันกันแล้ว นับว่าเป็นก้าวแรกที่สำคัญในการเชื่อมกระชับสัมพันธไมตรีทางด้านศาสนาและวัฒนธรรมระหว่างประเทศไทยและสาธารณรัฐประชาชนจีน

กานลั่นป้า
รถเรายังมุ่งหน้าสู่เมืองฮำ ซึ่งในภาษาพื้นเมืองแปลว่า “ม้วน” มีตำนานเล่าว่า เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จมาถึงหมู่บ้านชาวไตๆ ต้อนรับด้วยใช้ผ้าปูลาด แต่ผ้าไม่เพียงพอ ต้องม้วนแล้วคลี่ปูใหม่ ฐานะเมืองฮำปัจจุบันเป็นตำบลหนึ่ง สมัยก่อนรวมกับนครเชียงรุ้งเป็นหนึ่งในเขตการปกครองของแคว้นสิบสองปันนา คนทั่วไปโดยเฉพาะจีนฮ่อรู้จักเมืองฮำในอดีตว่า “กานลั่นป้า” รถวิ่งเลี้ยวขวาเข้าหมู่บ้านชาวไตลื้อ ไปจอดให้คณะเราลงสัมผัสกับวิถีชีวิตจริงของชาวไตลื้อ
ขณะเมื่อเดินเข้าหมู่บ้าน มีสาวชาวไตลื้อยืนสองแถวถนนยาวเหยียดคอยต้อนรับ ดูเหมือนเธอจะพูดว่า “เฮายินดีต้อนรับสู่หมู่บ้านชาวไต” มองดูลักษณะบ้านเรือนของชาวไต เห็นเสาเรือนตั้งอยู่บนอิฐ ชมสภาพชีวิตสมัยโบราณ เช่น หีบอ้อย ครกกระเดื่องตำข้าว การปั่นฝ้าย กรอด้าย ฟืมด้าย การละเล่นดนตรีพื้นบ้าน แล้วเท้าก็ไปหยุดอยู่ที่วัดหลวงของชาวไตลื้อแห่งหนึ่ง เพราะมีศิลปะโดดเด่นสวยงาม ชื่อวัดสุทธาวาส หรือวัดสวนม่อน มีชื่ออย่างทางการว่า “วัดมหาราชฐานสุทธาวาส” มีอักษรไทยและอังกฤษเขียนประวัติการบูรณะปฏิสังขรณ์ไว้ชัดเจน
การบูรณปฏิสังขรณ์วัดมหาราชฐานสุทธาวาสนั้น เคยได้รับการอนุเคราะห์จากไทย เมื่อวันที่ ๒๒ เมษายน ๒๕๔๐ ดังนี้
๑. กระทรวงการต่างประเทศ บริจาคเงิน ๒๒๕,๘๐๐ หยวน สมทบการซ่อมแซมพระวิหาร
๒. ฯพณฯ นายมีชัย ฤชุพันธ์ ประธานวุฒิสภาไทย บริจาค ๑๙๘,๘๘๘ หยวน สมทบการซ่อมแซมพระวิหาร ก่อสร้างกำแพงกับซุ้มประตูใหญ่ และจัดซื้อที่เพื่อสร้างโบสถ์หลังใหม่
นึกครึ้มอกครึ้มใจที่เราชาวไทยก็มีส่วนร่วมในบุญกุศลบูรณปฏิสังขรณ์วัดหลวงของชาวไตลื้อแห่งนี้ด้วย ที่ด้านหน้าวิหารมีพระเจดีย์สีเหลืองสุกอร่ามงามตา รูปทรงสวยงามได้ขนาดพอดี ตัววิหารเองมองจากด้านนอกก็สวยงามไม่แพ้กัน วัดสุทธาวาสนี้ถือว่าเป็นวัดคู่บ้านคู่เมืองของชาวไตลื้อ มีอายุมาเป็นพันๆ ปี เพราะสร้างเมื่อ พ.ศ. ๑๑๒๖ ภายในวิหารมีพระพุทธรูปองค์ใหญ่มหึมาขนาด ๓๐ นิ้วตั้งประดิษฐานอยู่ เมื่อกราบไหว้บูชาแล้วชื่นใจ ดีใจที่ได้มาเยือนบ้านเกิดเมืองนอนของญาติพี่น้องของเรา ที่น่าเศร้าใจก็คือสถานที่แห่งนี้ชำรุดทรุดโทรม หลังจากปฏิวัติเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๕ แล้ว พระพุทธศาสนาในสิบสองปันนาก็ได้สูญหายไป เพิ่งกลับมาฟื้นฟูใหม่หลัง พ.ศ. ๒๕๑๙ นี้เอง

เก็บผักใส่ซ้า
ทางด้านประวัติศาสตร์ พวกไตลื้อในประเทศไทย พื้นเพดั้งเดิมก็ล้วนอพยพหรือถูกกวาดต้อนมาจากดินแดนสิบสองปันนาทั้งนั้น เขตถิ่นนี้ถือว่าเป็นเขตกันชน เพราะตั้งอยู่ติดกับประเทศพม่าและจีน คราวใดพม่ามีอำนาจมาก สิบสองปันนาก็จำยอมต้องไปขึ้นอยู่กับพม่า แต่คราวใดไทยมีอำนาจกล้าแข็งขึ้นมา ก็ผันแปรกลับมาจงรักภักดีสวามิภักดิ์อยู่กับไทย เพราะมีภาษาและวัฒนธรรมเดียวกัน พูดกันรู้เรื่องมากกว่า แต่พอตาอินกับตานาแย่งกันไปแย่งกันมา ตาอยู่คว้าเอาพุงไปกินสบายใจเฉิบ ทั้งๆ ที่พวกไตลื้อมีภาษา ประเพณี วัฒนธรรม และศาสนาเดียวกันกับคนบ้านเรา
ในช่วงปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ ๑ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๔๘ คราวนั้น หลังจากพระองค์ได้จัดส่งกองทัพไปปลดปล่อยเชียงใหม่และอาณาจักรล้านนาพ้นเป็นอิสระจากอิทธิพลของพม่าแล้ว พระองค์ได้โปรดให้พระเจ้ากาวิละเจ้าเมืองเชียงใหม่ และเจ้าฟ้าเมืองน่าน เป็นต้น ยกเป็นกองทัพใหญ่ไปตีเมืองชายแดนต่างๆ พร้อมกับให้กวาดต้อนพลเมืองชาวไตลื้อในสิบสองปันนา เมืองพน เมืองยอง รวมทั้งไตขืนหรือไตเขินเชียงตุงลงมาอยู่ที่เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน พะเยา และน่านเป็นจำนวนมาก ในพงศาวดารถึงกับระบุว่า “ตีได้เมืองใหญ่เมืองน้อย ๔๐ เมือง ได้ครอบครัวชายหญิงใหญ่น้อยประมาณ ๖๐,๐๐๐ – ๗๐,๐๐๐ เศษ”
นักประวัติศาสตร์เรียกยุคกวาดต้อนเก็บครัวเรือนครั้งนั้นว่า “ยุคเก็บผักใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมือง” คำว่า “ซ้า” เป็นคำภาษาไทยสิบสองปันนา หมายถึง “ลาบ” คือเนื้อสดสับละเอียดใส่เครื่องเทศ เป็นคำพูดถึงการที่ไทยกวาดต้อนเอาคนต่างเมืองต่างถิ่นให้มาอยู่ในดินแดนของตน จัดว่าเป็นวิธีฟื้นฟูอาณาจักรล้านนาวิธีหนึ่ง เพราะในช่วงนั้น หัวเมืองในภาคเหนือเกือบเป็นเมืองร้างจากผู้อยู่อาศัย เพราะมีข้าศึกติดพัน ต้องขับเคี่ยวสู้ศึกทำสงครามกับประเทศพม่าเป็นเวลาช้านาน เหตุการณ์นี้เป็นเช่นเดียวกับที่ตอนที่ไทยครั้งเสียกรุงศรีอยุธยา พม่าได้กวาดต้อนเอาคนไทยไปอยู่ที่หงสาวดีและมัณฑเลย์เสียมากต่อมาก พวกนี้เรียกตนเองว่า “โยเดีย” ซึ่งหมายถึงพวกอยุธยานั่นเอง
ไม่น่าแปลกประหลาดใจเลย ที่ได้เห็นพระเณรจากแคว้นสิบสองปันนาจำนวนมาก เข้ามาศึกษาเล่าเรียนที่วัดพระพุทธบาทตากผ้า จังหวัดลำพูน ตัวข้าพเจ้าเองมีเพื่อนพระไทยรูปหนึ่งพื้นเพบรรพบุรุษเป็นชาวยอง ภูมิลำเนาอยู่ลำพูน ท่านเคยเล่าให้ฟังว่า ได้เดินธุดงค์บุกป่าฝ่าเขาลำเนาไพร นำเอาบาตรใส่รถเข็น ออกเดินทางไปยังแคว้นสิบสองปันนา เพื่อถวายบาตรแก่พระเณรที่นั่น ถือว่าเป็นการช่วยฟื้นฟูพระพุทธศาสนาอีกวิธีหนึ่ง ท่านได้รอนแรมเดินไปทางบก ทรหดบากบั่นไปถึงขนาดว่าฝีขึ้นก้น เพื่อกลับไปเยี่ยมบ้านเกิดเมืองนอนเดิม

เคหสถาน
เมื่อสังเกตลักษณะบ้านเรือนไตลื้อทั่วไป จะนิยมสร้างยกพื้นสูง ๒ ชั้น มีสิ่งสะดุดตาคล้ายกันอยู่อย่างหนึ่ง คือเสาบ้านเรือนจะต้องตั้งอยู่บนก้อนอิฐ คงเพื่อสะดวกต่อการโยกย้าย และเป็นเหตุผลทางวัฒนธรรมสืบทอดกันมา เขานิยมปลูกบ้านเรือนบนที่ราบลุ่มใกล้แหล่งแม่น้ำ บริเวณรอบบ้านจะปลูกสวนครัวรั้วกินได้ หรือต้นไม้ผลต่างๆ นิยมเลี้ยงวัวควายหรือปศุสัตว์ไว้ใต้ถุนเรือน กั้นรั้วพอไม่ให้สัตว์หนีออกจากเขตกักกันบริเวณบ้าน
อดีตนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เคยมาเยี่ยมเยียนบ้านอนุรักษ์หลังที่ขึ้นไปดูมานี้ เพราะมีภาพถ่ายติดไว้เป็นหลักฐาน
ลักษณะบ้านชาวไตลื้อที่น่าสังเกตอีกประการหนึ่ง คือห้องรับรองแขก จะสร้างไว้ให้โอ่โถงใหญ่โต มีโต๊ะและตั่ง ตั้งน้ำชาไว้คอยต้อนรับบริการ ไกด์สอนบทสนทนาเพื่อเริ่มต้นคุยกัน ให้เริ่มต้นคำพูดด้วยประโยคที่ว่า “มีลูกกี่โต๋” เป็นต้น การมีห้องรับแขกใหญ่โตแสดงว่า ชาวไตลื้อเป็นผู้นิยมเอาอกเอาใจแขกที่มาเยือน เอาใจเขามาใส่ใจเรา เอาหมอนพิงมาให้ เอาน้ำมาเสริฟ แสดงว่ามีอัธยาศัยใจคอดีกว้างขวาง ส่วนห้องนอนนั้นค่อนข้างไม่เรียบร้อย ดูไม่ค่อยได้ ห้องรับแขกถือว่าเป็นส่วนที่สำคัญที่สุดภายในบ้าน จัดว่าเป็นหน้าเป็นตาของชาวไตลื้อเลยก็ว่าได้
ชาวไตลื้อมีการนอนที่เรียงลำดับจากผู้เฒ่าสูงอายุ นอนหันหัวไปทางทิศตะวันออก หันปลายเท้าไปทางทิศตะวันตก เมื่อนอนเรียงกันจะเริ่มจากทิศตะวันออก นอนเรียงลำดับอาวุโสเรื่อยไป ถ้าหนุ่มชอบลูกสาวบ้านไตลื้อคนใด คำนวนออกว่าคนไหนนอนอยู่ตรงไหน ยามกลางคืนก็เอาไม้มากระทุ้งให้ถูกตัวสาวคนนั้น นัดไปคุยกันที่ข่วงเกี้ยวสาวของหมู่บ้าน การถูกเนื้อต้องตัวกัน ถือว่าเป็นธรรมดา แต่จะไม่มีการล่วงละเมิดทางเพศ เพราะถือว่าเป็นการ “ผิดผี” แต่ถ้าหนุ่มคนไหนโชคร้ายเกิดกระทุ้งผิดคนขึ้นมา เรียกว่าฝีมือยังอ่อนหัด ใช้ไม่ได้ สิ่งที่จะติดตามมาก็คือถูกน้ำสาดราดหัวนั่นเอง
ชาวไตลื้อทั่วไปถือว่าเป็นผู้นับถือพระพุทธศาสนาเถรวาทอย่างเคร่งครัด เหมือนกับคนทางภาคเหนือไทยเรา สิบสองปันนามีชื่อเสียงว่าเป็น “เป็นแหล่งบ้านเกิดเมืองนอนแห่งวัดวาอารามต่างๆ” มีเทศกาลเปิดประตู (the Door Opening Festival) และเทศกาลปิดประตู (the Door Closing Festival) คือเทศกาลทำบุญเข้าพรรษาและออกพรรษา ถือว่าเป็นวิถีชีวิตที่สำคัญ เขานับถือพระพุทธศาสนาเถรวาทอย่างหนักแน่นเช่นเดียวกับเรา แต่คงได้รับอิทธิพลแบบพุทธตันตระและมหายานมาบ้าง จึงเคารพในพระธรรมมากกว่าพระวินัย เคร่งบางอย่าง ไม่เคร่งบางอย่าง ไม่ถือสาในบางเรื่องบางราว ถ้าชาวบ้านให้การยอมรับ ไม่ถือเป็นโลกวัชชะ เช่น พระเณรสวมรองเท้านิกกี้ เล่นสนุกเกอร์ในที่สาธารณะ ขับรถยนต์ กินข้าวแลง เป็นต้น หากชาวไทยภาคกลางไปเห็นเข้า คงร้องบอกว่าเคร่งสู้พระไทยเราไม่ได้ อย่างนี้เขาเรียกว่ามองต่างมุม ตามคติไทยว่า สองคนยลตามช่อง คนหนึ่งมองเห็นโคลนตม อีกคนตาแหลมคม มองเห็นดาวอย่างพร่างพราว ในปรัชญาขงจื้อยังบอกว่า เมื่อเห็นคนเดินมาหลายคน คงต้องมีสักคนหนึ่งที่สามารถเป็นครูให้เราได้ ไม่มีใครดีทั้งหมด และไม่มีใครเลวทั้งหมด อยู่ที่ว่าจะเลือกคนไหนสิ่งไหนมาเป็นครูสอนใจตนเอง

แม่น้ำโขง และเวียงผาคราง
ในเที่ยวขากลับจากหมู่บ้านกานลั่นป้านั้น รถมาหยุดแวะพักที่ริมแม่น้ำล้านช้างฝั่งซ้าย เพื่อให้ข้ามแม่น้ำโขงไปชมวังเก่าของเจ้าแห่งชนเผ่าไตลื้อ ที่ชื่อว่า “เวียงผาคราง” ซึ่งเคยเป็นพระราชวังเก่าของกษัตริย์เจ้าองค์สุดท้าย แต่เนื่องมาจากการปฏิวัติทางวัฒนธรรมของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีน ทำให้วัดวาอารามถูกทุบทำลายเสียหายไปหมด เหลือวัดพระธาตุอยู่บนม่อน (เนินเขา) ปรากฏเหลือร่องรอยอยู่ ๒ วัดเท่านั้นในบริเวณวังโบราณนี้ เมื่อจะเดินทางเข้าไปนั้น ต้องนั่งรถกระเช้า (ropway) ข้ามฝั่งแม่น้ำโขงไป มองเห็นทิวทัศน์สองฝั่งโขงสวยงามยิ่งนัก มองไปไกลลิบมองเห็นตัวเมืองสิบสองปันนา เห็นสะพานแขวนเชื่อมฝั่งแม่น้ำโขงฝั่งซ้ายและขวาเข้าด้วยกัน เมื่อรถกระเช้าไปถึงอีกฝั่งหนึ่งแล้ว ก็เดินขึ้นไปกราบนมัสการพระธาตุจอมตอง ซึ่งมีบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ (holy spring) ตั้งอยู่ บ่อน้ำนี้มีปาฏิหาริย์ เพราะน้ำไม่เคยเหือดแห้งหมดไป มีประวัติย่อเล่าว่า ครั้งหนึ่งชาวบ้านอดอยากไม่มีน้ำจะกิน จึงไปเฝ้าสมเด็จพระสังฆราชองค์หนึ่งของชาวไตลื้อ ซึ่งเจ้าประคุณสมเด็จฯ ทรงชี้บอกว่า “ตรงนี้มีน้ำ ให้เจาะลงไป” พอเจาะลงไปเท่านั้น ปรากฏว่ากระทบกับตาน้ำพอดี น้ำพุ่งกระฉูดขึ้นมา นับแต่นั้นมาน้ำไม่เคยหมดจากบ่อ ไม่ว่าจะเป็นฤดูไหนๆ ก็ตาม
เสร็จแล้วได้ขึ้นไปกราบไหว้นมัสการม่อนพระธาตุจอมมู ซึ่งเป็นที่บรรจุกระดูกศีรษะของอดีตพระสังฆราชของชนชาวไตลื้อ
เมื่อกลับมาขึ้นรถ เพื่อเดินทางกลับที่พัก ได้ยินเสียงไกด์บรรยายธรรมเนียมทิเบตที่แปลกประหลาดให้ฟังว่า หากพี่น้องชายชาวทิเบต ๓ คน มีความประสงค์จำนงหมายสาวคนเดียวกัน ก็สามารถแต่งงานกับสาวคนนั้นได้ เรียกว่าหญิงหนึ่งชายสาม แต่ถ้าชายใดแต่งงานกับสาวไตลื้อแล้ว ต้องให้อยู่ทำงานรับใช้ เอาแรงงานเข้าแลกอยู่กินกับครอบครัวฝ่ายหญิง เป็นบ่าวข้าทาสรับใช้เป็นเวลา ๓ ปี สาวชาวไตลื้อนั้นชอบผู้ชาย โดยเฉพาะขนาน (หนาน) และไหม หนานคือทิดผู้ซึ่งเคยบวชเป็น “ตุ๊เจ้า หรือตุ๊ปี้” (พระภิกษุหรือพระหลวงพี่) แล้วลาสิกขาออกไปเป็นคฤหัสถ์ ส่วนสามเณรนั้นคนที่นี่เขาเรียกว่า “พระ” พอลาสิกขาออกไปแล้ว ก็เรียกว่า “ไหม” หรือ “จิหน้อย” ทั้งสองประเภทนี้สาวชอบมากนักแล เพราะถือว่าเป็นคนสุก ไม่ดิบ และไม่เป็นคนห่าม ครึ่งสุกครึ่งดิบ มีการศึกษาดี อ่านออกเขียนได้ ขยันขันแข็ง ซื่อสัตย์สุจริต มีคุณภาพ แต่ยิ่งพิลึกพิลั่นไปใหญ่ เมื่อได้ยินไกด์บรรยายบอกว่า ชาวทิเบตอาบน้ำเพียง ๓ ครั้งในชีวิต คือ เมื่อเกิด แต่งงาน และเมื่อตาย เมื่อยังไม่เคยไปทิเบต ก็ฟังประดับเป็นเกร็ดความรู้ ค้นหาข้อเท็จจริงต่อไป
ก่อนกลับถึงที่พัก เขาพาไปดูวัดสาขาใหม่ของวัดป่าเจต์ ซึ่งมีชื่อเต็มว่า “วัดป่าเชต์ (วัน) มหาราชฐานสิบสองปันนา” เป็นทั้งวัด สำนักงาน มหาวิทยาลัยพร้อมสรรพ เรียกว่า “ทรีอินวัน” “สามรวมเป็นหนึ่ง” (Three in One) งานก่อสร้างรุดหน้าไปมาก เขามีโครงการจะสร้างสังเวชนียสถาน ๔ ตำบล คือ ลุมพินี พุทธคยา สารนาถ และกุสินารา ในย่านท้องถิ่นที่มีภูเขาเป็นฉากเบื้องหลังตั้งอยู่ วัดสาขาใหม่นี้ตั้งอยู่ใกล้ๆ กับศูนย์การค้าใหม่ กลางใจนครเชียงรุ้ง ที่ดินได้รับสัมปทานเช่าจากรัฐบาล ทำสัญญากัน ๓๐ ปีต่ออีกครั้ง สาเหตุที่งานก่อสร้างรุดหน้าไปมาก เพราะมีนายทุนใหญ่ชาวจีนให้ทุนสนับสนุนดำเนินการทั้งหมด งบประมาณก่อสร้างนับเป็นเม็ดเงินจำนวนพันๆ ล้าน ต่อไปจะเป็นแหล่งศึกษาสำคัญของชาวสิบสองปันนา

เข้าร่วมพิธีสังฆกรรม
ที่พักแรมชื่อคิงแลนด์ (King Land) มีรูปปั้นช้างใหญ่โตตั้งอยู่ข้างหน้า เขียนเป็นภาษาไตลื้อว่า “หลง (หลวง) เวียงล้านนา” ซึ่งมาจากคำว่า “แผ่นดินเจ้าหลวง” นั่นเอง
เช้าตรู่ของวันที่ ๑๙ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๕๐ คณะมีกำหนดการไปร่วมพิธีที่วัดชิงเหนือ ออกเดินทางเวลาเจ็ดนาฬิกา ไปตามเส้นทางเมืองซำเหมาและคุนหมิง ขึ้นไปทางตอนเหนือของนครเชียงรุ้ง ตามระยะทางประมาณ ๖๐ กิโลเมตร แต่เป็นระยะทางที่กำลังก่อสร้างทางด่วนเสีย ๒๒ กิโลเมตร จึงจำเป็นต้องใช้เส้นทางเก่า ทางด่วนนี้เขาเรียกว่าเอ็กซเปรสไฮเวย์ จะสร้างลงไปบรรจบที่เมืองล่า (Meng La) เชื่อมต่อไปที่อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย กะแล้วเสร็จเรียบร้อยก่อนงานมหกรรมกีฬาโอลิมปิค พ.ศ. ๒๕๕๑ /ค.ศ. ๒๐๐๘ ที่กรุงปักกิ่งเป็นเจ้าภาพจัดงาน ดูแล้วต้องยอมรับว่างานก่อสร้างรุดก้าวหน้าไปมากทีเดียว เพราะเขาเร่งทำงานกันทั้งกลางวันกลางคืน แทบไม่มีเวลาหยุดพักผ่อนเลย เห็นแล้วก็แน่ใจว่าคงเสร็จทันแน่นอน
รถคณะเรายังมุ่งหน้าต่อไปทางเหนือ หลังจากลอดใต้อุโมงค์ ๓ แห่ง ตามรายทางทั่วไปเริ่มมองเห็นต้นยางพาราปลูกดาษดื่นทั่วไป หลายที่มองเห็นป้ายเขียนบอกว่า เป็นเขตช้างป่า คงยังมีช้างอยู่อีกแยะ ข้าพเจ้าตั้งข้อสังเกตในใจเล่นๆ ว่า คำว่า “เชียง” นั้นน่าจะหมายถึง ดินแดนที่มีช้าง แต่ตามความเข้าใจของคนไทยทั่วไป เชียง แปลว่า “เมือง” และ “เวียง” ก็หมายถึง “เมือง” อีกเช่นเดียวกัน
ต่อมาเริ่มเห็นไร่ยาสูบ สูงสักประมาณ ๑ ฟุต ถึง ๑ ฟุตครึ่ง ได้มองเห็นตั้งแต่อยู่บนเครื่องแล้ว คราวนี้พบเห็นของจริง เขาปลูกไร่ชาดาษดื่นทั่วไป รถเลี้ยวเข้าทางย่อยที่จุดกวนปิง (Guan Ping) ขับไปอีกประมาณ ๑ ชั่วโมง เห็นจะได้ หนทางคดเคี้ยวมาก บางคนบอกว่า ยิ่งกว่าทางไปแม่ฮ่องสอนเสียอีก ไปจนถึงวัดชิงเหนือ
พอเห็นทางเข้าไปลึกและคดเคี้ยวมาก จึงถามซักข้อมูลกับคุณไพศาล คุณผลิน ประธานฝ่ายฆราวาส ผู้นำบุญของคณะว่า “มารู้จักวัดแห่งนี้ได้อย่างไรกัน” ได้รับคำบอกเล่าว่า โดยการแนะนำของครูบามนตรี จังหวัดแพร่ กับพระครูบาหลวงจอมเมือง ประธานพุทธสมาคมเมืองสิบสองปันนา ซึ่งท่านแนะนำว่าที่วัดแห่งนี้เหมาะมาก เพราะชาวบ้านขาดแคลน ยังไม่มีโบสถ์ มีหมู่บ้านชาวไตลื้อใกล้เคียงหลายหมู่บ้าน ฉะนั้น จึงออกปากตอบตกลงรับคำเป็นเจ้าภาพจัดการให้ทั้งหมด โดยนำพาคณะจากเมืองไทยมาร่วม เพื่อถวายพระพุทธรูป ชุกชี และตัวอาคารโบสถ์เมื่อสร้างเสร็จ
ในใจข้าพเจ้าหวนนึกถึงพระครูปัญญารังษี วัดราชนัดดาราม กรุงเทพมหานคร ซึ่งเพิ่งมรณภาพไปเมื่อไม่นานมานี้ สิ้นบุญเสียก่อนจะได้มาทันทำบุญร่วมที่วัดชิงเหนือ ท่านพระครูฯ เป็นหัวหน้าผู้ร่วมก่อตั้งบุญกุศลกองนี้อีกรูปหนึ่ง พร้อมกับชักชวนให้ข้าพเจ้าเดินทางมาร่วมงานบุญครั้งนี้
เมื่อสอบถามคุณไพศาลเกี่ยวกับชุกชีและพระพุทธรูป ได้ความว่า ครูบามนตรีดำเนินการจัดหล่อทำขึ้นที่เชียงใหม่ แล้วบรรทุกใส่เรือขนขึ้นมาทางลำน้ำแม่น้ำล้านช้าง ที่ตัวฐานสร้างปั้นเป็นรูปช้างและนกยูง สวยงามดี ซึ่งเป็นศิลปะพื้นบ้านเข้ากับบรรยากาศท้องถิ่นดี ชื่อพระประธานประจำอุโบสถเขียนเป็นภาษาไตลื้อว่า “พระแสน(หลง) หลวงเจียงล้าน”
คณะเราเริ่มประกอบพิธีโดยเชิญคุณไพศาล คุณผลิน ให้อธิษฐานพระเศียรเกศแล้วสวมใส่ลงกับพระพุทธรูป เสร็จแล้วอัญเชิญขึ้นสู่ชุกชี ข้าพเจ้าเห็นว่ายังพอมีเวลาเหลือ จึงไปปิดทองนิมิตลูกกลางลูกพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยทองคำเปลว ลูกละ ๓ แผ่น พร้อมกับหย่อนเงินไทยแบงค์พันบาทลงในหลุมลูกนิมิต และเดินออกมาเดินเวียนประทักษิณ เพื่อปิดนิมิตอีก ๘ ลูกใน ๘ ทิศที่เหลือ นั่นคือได้ปิดทองคำเปลวที่นิมิตลูกพระอัญญาโกณฑัญญะ พระมหากัสสปะ พระสารีบุตร พระอุบาลี พระอานนท์ พระควัมปติ พระโมคคัลลานะ และพระราหุล รวมทั้งหมดเป็นทองคำเปลว ๒๗ แผ่น บวกกับที่มีโยมบางคนไม่สะดวกเข้าไปปิดทองข้างในโบสถ์ได้ ฝากให้ช่วยไปปิดลูกนิมิตลูกกลางด้วย ฝากเป็นบุญนิธิติดตัวไว้ในการมาร่วมสร้างอุโบสถต่างแดนครั้งนี้
พิธีกรรมเกี่ยวกับสีมาได้เริ่มขึ้น ดังนี้ พระราชธรรมาลังการ เจ้าคณะจังหวัดลำปาง สวดถอนสีมาคู่กับพระราชวิริยาภรณ์ เจ้าคณะจังหวัดพะเยา และรองอธิการบดีวิทยาเขตพะเยา เขาจัดพระสงฆ์ยืนเป็นแนวเรียงสอง โบสถ์เล็กบรรจุพระได้ขนาด ๒๑ รูปตามพระธรรมวินัยพอดี คณะพระสงฆ์ที่มาร่วมงานวันนี้มีทั้งหมด ๔๗ รูป ร่วมยืนหัตถบาส ปรากฏว่าพอยืนเรียงสองยาวพืด ไปจรดถึงนิมิตลูกที่ ๓
ที่นิมิตลูกที่ ๒ ด้านหน้าทิศบูรพาคือลูกพระอัญญาโกณฑัญญะ พระครูบาจอมเมืองคู่กับพระมหาแสง สวดถอนสีมา สวดในท่วงทำนองสิบสองปันนา ซึ่งเหมือนกับสำเนียงทางไทยภาคเหนือของเรา ฟังดูไพเราะดี นิมิตลูกที่ ๓ ชื่อลูกพระมหากัสสปะ ให้พระไทยสวดสลับกัน ผลัดกันไปจนแล้วเสร็จทั้ง ๘ ลูก แล้วสวดสำทับที่นิมิตลูกทิศตะวันออกคือพระอัญญาโกณฑัญญะอีกครั้งหนึ่ง
ต่อมาเปิดโอกาสให้คุณไพศาล คุณผลิน ประธานฝ่ายฆราวาสและคณะผู้ติดตาม ทำการตัดหวายลูกนิมิตพร้อมกัน พระสงฆ์ทั้งนั้นเจริญชัยมงคลคาถา  แล้วพระราชวิริยาภรณ์ รองอธิการบดีวิทยาเขตพะเยา ออกไปสวดทักนิมิตภายนอกทั้ง ๘ ทิศข้างนอกโบสถ์ โดยให้ฆราวาสที่เดินทางมาด้วยกัน รับด้วยคำว่า “ปาสาโณ ภนฺเต” ซึ่งแปลว่า ลูกหิน เป็นนิมิต ขอรับ
เสร็จแล้ว พระสงฆ์ทั้งหมด เข้ามาข้างในเพื่อประกอบพิธีผูกพัทธสีมา ข้าพเจ้านำเอาหนังสือสวดมนต์และย่ามจากเมืองไทย ถวายแด่พระสงฆ์ชาวสิบสองปันนา มีพระครูบาจอมเมืองเป็นประมุข พระครูบาฯ จำได้ถามว่า “เจอกันครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่” จึงกราบเรียนถวายว่า “เมื่อคราวไปประชุมที่ประเทศคาซัคสถาน ขอรับ” ต่อมาพระราชธรรมาลังการ เจ้าคณะจังหวัดลำปาง เป็นประธานสวดสวดสมมุติสีมา จนแล้วเสร็จ พระสงฆ์อนุโมทนาสาธุการ แล้วคุณไพศาล กับคณะชาวบริษัทวิริยะประกันภัยจำกัด กล่าวคำถวายพระพุทธรูปและอาคารอุโบสถ เป็นอันเสร็จพิธีในภาคเช้า
โบสถ์วัดชิงเหนือเป็นหลังที่สองที่คุณไพศาล คุณผลิน อุปถัมภ์การก่อสร้าง เพื่อช่วยฟื้นฟูพระพุทธศาสนาในแคว้นสิบสองปันนา ราคาย่อมเยามาก หลังหนึ่ง ๔๐๐,๐๐๐ บาทเศษ แรงงานชาวบ้านไตลื้อช่วยกันก่อสร้าง มีศิลปะแบบไตลื้อ นอกจากนี้ คุณไพศาลยังได้เป็นเจ้าภาพสร้างพระพุทธรูป พร้อมชุกชีประจำอุโบสถอีกราคา ๑๐๐,๐๐๐ บาทเศษ รวมทั้งสองรายการแค่ประมาณ ๕ แสนบาทเศษ หากเปรียบราคากับอุโบสถในไทยภาคกลาง หลังหนึ่งแบบประหยัดสุด ก็ไม่ต่ำกว่า ๔ – ๕ ล้านบาทขึ้นไป
นับว่าต้องอนุโมทนาต่อคณะคุณไพศาลมากแท้เชียว โบสถ์หลังที่หนึ่งคณะศรัทธาได้สร้างถวายไว้ที่วัดแถวติดกับดินแดนพม่า ต้องขับรถออกจากเชียงรุ้งไปประมาณ ๓ ชั่วโมง จึงไม่ได้ไปเยี่ยม หลังที่สองสร้างไว้ที่วัดชิงเหนือ คณะยังมีศรัทธาจะสร้างโบสถ์หลังที่สาม อุปถัมภ์ค้ำชูพระพุทธศาสนาในสิบสองปันนาต่อไปอีกด้วย ขอสาธุ!
หลังจากฉันเพลเสร็จ พระสงฆ์ได้ประกอบพิธีอุปสมบทพระใหม่จำนวน ๙ รูป เป็นการฉลองอุโบสถไปในตัว คณะคุณไพศาล คุณผลิน เป็นเจ้าภาพบวชพระ ๓ รูปแรก ก่อนที่จะเดินทางกลับไปนครเชียงรุ้ง เพื่อขึ้นเครื่องบินกลับสู่ประเทศไทย

วัดชิงเหนือ หรือวัดจิงเหนอ
เมื่อเฝ้าสังเกตดูวิถีชีวิตของชาวไตลื้อในแคว้นสิบสองปันนา เขาสั่งสอนให้รู้จักความกตัญญู ความซื่อสัตย์ สุจริต สอนให้เป็นคนดี มีอัธยาศัยเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ คงเป็นเพราะพื้นฐานของกฎ “อาชญา” ดั้งเดิมของไตลื้อท้องถิ่น ที่ใช้บังคับมาเป็นเวลายาวนาน บวกกับคำสั่งสอนในพระพุทธศาสนา ที่ช่วยสอนขัดเกลาอบรมจิตใจเขาให้ดีงาม มีคุณภาพสูง ก่อเกิดเป็นความสุขขึ้นมา
“วัดชิงเหนือ” หรือ “วัดจิงเหนือ” นี้ หากออกเสียงเป็นสำเนียงไทยภาคกลาง ก็คือ “เชียงเหนือ” หรือ “เชียงเหนอ” นั่นเอง ตั้งอยู่ในเขตนครเชียงรุ้ง ใช้เวลาเดินทางประมาณ ๒ ชั่วโมง มีเนื้อที่กะด้วยสายตาประมาณ ๓ ไร่เห็นจะได้ เดิมทีสร้างเป็นวิหารก่อน พอเห็นทีแรกยังเข้าใจว่า เป็นศาลาการเปรียญเสียอีก ใหญ่โตรโหฐานพอสมควร วิหารสร้างเสร็จเมื่อสองปีก่อน ด้านหลังวิหารมีศาลาหลังหนึ่ง เป็นสถานที่พระเณรอยู่อาศัยรวมกัน ได้เดินเข้าไปสำรวจดู เห็นที่หลับนอนของพระเณร ๔ - ๕ ที่
สังเกตศิลปะบนหลังคาของตัววิหารไตลื้อ เขาสร้างมีช่อฟ้า ๗ ช่อตั้งอยู่ตรงกลางคาน ถือว่าเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่ง ในงานบุญที่วัด มักนิยมประดับตุงหรือธงแผ่นผ้า เขาให้เหตุผลว่า งานที่มีตุง เป็นเครื่องรับรอง เป็นหลักประกันว่า ได้ขึ้นสวรรค์ถึงชั้นฟ้า ชาวบ้านมีส่วนร่วมในพิธีกรรมของวัด วัดเอื้อเฟื้อให้หลักธรรมคำแนะนำสั่งสอนแก่ชาวบ้าน ทำให้นึกถึงคติธรรมติดข้างผนังวัดที่ว่า
วัดจะดีมีหลักฐานเพราะบ้านช่วย
บ้านจะสวยเพราะมีวัดขัดนิสัย
วัดกับบ้านผลัดกันช่วยก็อวยชัย
 ถ้าขัดกันก็บรรลัยทั้งสองทาง
ชาวไตลื้อกับวัดในพระพุทธศาสนาเป็นสิ่งคู่กัน ไม่แยกขาดจากกันและกัน เป็นอิทัปปัจจตา อิงอาศัยกันและกันเกิดขึ้น นับว่าเป็นบุญมหากุศลนักหนา ที่ได้มีโอกาสเกิดมาช่วยอุปถัมภ์ค้ำชูพระศาสนา ช่วยญาติพี่น้องสายโลหิต เชื้อชาติเดียวกัน มีภาษา ขนบธรรมเนียม และนับถือพระพุทธศาสนาเดียวกัน
ท่านเจ้าคุณพระศรีสิทธิมุนี (พล อาภากโร ป.ธ.๙) ภูมิลำเนาชาวจังหวัดน่าน ได้นำพระเครื่องเหรียญเล็กๆ ไปแจกจ่ายให้ชาวบ้าน เขาดีใจใหญ่ แต่ไม่ยอมรับของเปล่า เพราะต่างนำเอาธูปเทียนดอกไม้มาถวายขอขมา ในการรับของดีจากพระ บอกว่าจะให้หลานไป  “ปอมคอ” คำว่า “ปอม” เป็นภาษาไตลื้อเก่า แปลว่า “สวม, ห้อย”
ตามปรกติธรรมเนียมชาวไตลื้อจะเหมือนกับพม่า ตรงที่ไม่นิยมเอาพระพุทธรูปเก็บบูชาไว้ที่บ้านเรือนของตน เพราะภายในบ้านเรือนมีเทวดาเรือนหรือผีเรือนเป็นผู้รักษาอยู่แล้ว ส่วนพระพุทธรูปเป็นสิ่งของศักดิ์สิทธิ์ ต้องอยู่ที่วัดวาอารามเท่านั้น ถึงกระนั้น ชาวไตลื้อบางคนยังชอบพก ห้อย หรือแขวนคอพระเครื่ององค์เล็กๆ เป็นพุทธานุสติบ้าง ถือเป็นสิ่งของอยู่ยงคงกระพันบ้าง และหนักไปทางไสยศาสตร์บ้างก็มี
ชาวบ้านยังนิยมจัดให้พระสงฆ์ฉันข้าวบนพานขันโตก โดยพระนั่งล้อมวงกันฉัน บางรูปนั่งยันเข่า เห็นทีแรกนึกว่ามีตั่งเตี้ยๆ สำหรับนั่งเสียอีก ชาวบ้านมีส่วนร่วมบุญ นำข้าวปลาอาหารมาเลี้ยงพระเณร
ข้อมูลเกี่ยวกับพระเณรไตลื้อ นิยมห่มผ้าจีวรสีเหลือง ไม่นิยมสีกลัก หรือสีราชนิยม บางรูปเคยมาอยู่ที่เมืองไทย แล้วกลับไปช่วยบ้านเกิดเมืองนอน เขาจะดีใจมาก เมื่อเห็นพระเณรหลายรูปเดินทางมาเยี่ยมเยือน จากข้อมูลคำบอกเล่าอย่างไม่เป็นทางการ ในนครเชียงรุ้งมีวัดประมาณ ๔๐๐ วัด และพระเณรประมาณ ๖๐๐ รูป เฉลี่ยวัดละรูปครึ่ง แต่เมื่อมีงานบุญ ชาวบ้านจะนิมนต์ให้พระต่างถิ่นมาร่วมงานกันหลายรูป
ช่วงเดินทางขากลับ สายตาเหม่อมองลอดกระจกรถไปข้างนอก จิตใจนึกชมเชยชาวสิบสองปันนาในข้อที่ว่า รักษาประเพณีวัฒนธรรม สิ่งที่เป็นนามธรรมไว้ได้ดี จะปล่อยกล่าวไปใยถึงสิ่งที่เป็นรูปธรรมเล่า เพราะเขายังสามารถรักษาสภาพป่าไม้ไว้ได้ดีเยี่ยมมาก คนไทยคงต้องนึกอิจฉา เขาปลูกผักและพืชผลไม้อื่นๆ ทั่วไป มองเห็นไร่นา พืชพรรณธัญญาหาร ภูเขา ป่าไม้ อุดมสมบูรณ์ดีทุกอย่าง รถเราวิ่งตรงไปยังสนามบิน มองเห็นป้ายบอกเส้นทางว่า จิ่งหง (Jinghong) ๓๐ กิโลเมตร และเมืองล่า (Meng La) ๑๓๔ กิโลเมตร เมืองล่าข้างล่างตั้งอยู่จรดกับประเทศลาวนั้น ห่างออกไปแค่ประมาณ ๑๐๐ กิโลเมตรจากนครเชียงรุ้ง เครื่องบินจากเชียงใหม่เดินทางมาสิบสองปันนาใช้เวลาหนึ่งชั่วโมงยี่สิบนาที แต่หากสร้างทางด่วนเชื่อมเส้นทางระหว่างไทยจีนเสร็จแล้ว สามารถใช้เวลาแค่ ๘ – ๙ ชั่วโมงก็ถึงนครเชียงรุ้งแล้ว
จิตใจยังหวนรำลึกถึงตัวอักษรสิบสองปันนา กับระบบชาตินิยมที่ใช้ทั้งอักษรไต – จีนควบคู่กันไป และกฎประเพณีของเมิงไตที่มีการปกครองเป็นของตนเอง มีภาษาและวิถีชีวิตเป็นของตนเอง นับว่าเป็นเกาะป้องกันตัว เป็นการสงวนรักษาชนชาติชาวไตลื้อไว้ได้อย่างดีที่สุด

สรุป
ชาวไตลื้อมีภาษาพูด – เขียนเป็นของตนเอง เป็นเหตุสำคัญที่ทำให้สามารถรักษาวัฒนธรรมไตลื้อและพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชนเผ่าไว้ได้ ในท่ามกลางกระแสโลกาภิวัฒน์จากซีกโลกตะวันตกและวัฒนธรรมต่างแดนจากจีนฮ่อ ชาวไตลื้อถึงจะเป็นชนกลุ่มน้อยบนจีนแผ่นดินใหญ่ ในตัวเมืองจะพบพวกชาวจีนฮั่นทำมาค้าขายเป็นส่วนใหญ่ แต่ในชนบทส่วนใหญ่ในแคว้นสิบสองปันนาจะพบชนกลุ่มน้อยเชื้อชาติต่างๆ โดยเฉพาะกลุ่มไตลื้อ ที่อยู่อาศัยบนพื้นดินที่อุดมสมบูรณ์ ช่วยกันทำมาหากิน ตามคำกล่าวที่ว่า ชาวไตนั้นขอเพียงมีเมล็ดพืชอะไรในกำมือ หว่านลงไปในพื้นดินก็มีของกินเหลือเฟือ บวกกับแม่น้ำของหรือแม่น้ำล้านช้าง และเนินเขาที่มากมายหลายสิบลูก ไกลสุดลูกหูลูกตา จนลับขอบฟ้าสีเขียว เป็นปราการธรรมชาติที่ดียิ่ง ช่วยทำให้ชาวไตลื้อขยัน ขันแข็ง อดทน และแข็งแกร่ง ปลูกผักผลไม้เป็นสวนครัวรั้วกินได้ มีความโดดเด่นในด้านร้องเพลง ขับร้อง ฟ้อนรำ มีอัธยาศัยใจคอดี กว้างขวาง สิ่งดีๆ เหล่านี้ยังมีอยู่ในดินแดนไตลื้อนกยูงแห่งนี้ ที่ยังรอให้ไปสัมผัสวิถีชีวิตแท้จริง
ในมหกรรมกีฬาโอลิมปิกที่จีนเป็นเจ้าภาพ เราชาวไทยคงอาจจะได้เห็นภาพแสดงวัฒนธรรมปรากฏแก่สายตาชาวโลก หนึ่งในภาพนั้นอาจจะมีชนกลุ่มน้อยคือพวกไตลื้อออกมาร่ายรำขับขานเพลงพื้นบ้านก็ได้ และในระหว่างงานและหลังกีฬาโอลิมปิก แคว้นสิบสองปันนาคงจะได้เปิดประตูเมืองต้อนรับชาวไทย โดยเฉพาะใช้ถนนและสะพานที่เชื่อมสายสัมพันธ์ทางสายเลือดและย่นระยะทางด้วยทางสายด่วนเอ็กซเปรสไฮเวย์ เราคนไทยอาจมีโอกาสได้ช่วยฟื้นฟูพระพุทธศาสนาหลังจากที่ถูกทำลายร้างไปในยุคสงครามปฏิวัติวัฒนธรรม ร่วมกันแสวงหาคำตอบว่าคนไทยมาจากไหน คงถึงเวลาที่ต้องหันมาทบทวนอดีต ใส่ใจรากเหง้าวัฒนธรรมดั้งเดิม สร้างจิตสำนึกให้มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ยิ่งขึ้นไป ให้รู้จักรับ รู้จักให้ เป็นของคู่กัน อย่ายอมให้สิ่งแปลกปลอมเข้ามาทำลายล้างวัฒนธรรมอันดีงามฯ
การเดินทางครั้งนี้ ได้รับความอุปถัมภ์จากคณะชมรมพุทธศาสนิกชน บริษัทไทยพัฒนาประกันภัย จำกัด ประเทศไทย คณะศิษย์พระธรรมราชานุวัตร (หลวงเตี่ย วัดโพธิ์ กรุงเทพฯ) และพระครูปัญญารังษี (บุญมาก วัดราชนัดดาราม) พร้อมคณะสงฆ์จากแพร่ น่าน พะเยา ลำปาง เพชรบูรณ์ และกรุงเทพฯ
================จบ=============

วัดป่าเชต์ (วัน) มหาราชฐานสิบสองปันนา มีนายทุนจากจีนมาลงทุนสร้างวัด มหาวิทยาลัยให้ ราคานับเป็นพันล้านบาท มีโครงการสร้างศาลาสำหรับชาติต่างๆ
๑. พระครูบาหลวงจอมเมือง วณฺณสิริ ประธานพุทธสมาคมเมืองสิบสองปันนา โทรมือถือ ๐๓๙๐ - ๘๘๑ ๗๙๐๖, เบอร์สำนักงาน ๐๖๙๑ - ๒๑๕๒ ๓๗๑, เบอร์แฟกซ์ ๐๖๙๑ - ๒๑๕๔ ๑๔๓
๒. พระคำถิ่น อนาลโย (รูปร่างตัวเล็กๆ อยู่ประจำที่คุนหมิง) ประธานพุทธสมาคมนครเชียงรุ้ง และรองประธานพุทธสมาคมเมืองสิบสองปันนา โทรมือถือ ๐๓๗๐ - ๘๖๑ ๕๒๘๙, เบอร์สำนักงาน ๐๖๙๑ - ๒๑๕๒ ๐๔๕, เบอร์แฟกซ์ ๐๖๙๑ - ๒๑๕๔ ๑๔๓
๓. พระมหาแสง จนฺทวณฺโณ รองประธานพุทธสมาคมนครเชียงรุ้ง โทรมือถือ ๐๓๗๐ - ๘๘๑ ๔๔๙๔, เบอร์สำนักงาน ๐๖๙๑ - ๒๑๕๓ ๑๑๔, เบอร์แฟกซ์ ๐๖๙๑ - ๒๑๕๔ ๑๔๓

สองเรื่องที่ฝากมา
๑. ขอเปิดสอบธรรมสนามหลวงที่สิบสองปันนา แต่ขอปริวรรตเป็นอักษรไต ได้เคยประสานงานที่วัดสระเกศและสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติบ้างแล้ว
๒. เจ้าประคุณสมเด็จฯ วัดสระเกศ รับเป็นประธานสร้างศาลาไทย ที่วัดป่าเจต์ (สาขาใหม่) ให้ติดต่อประสานงานที่พระมหาบุญทวี วัดสระเกศ

(Source: -)
 
 
 
Copyright © Mahachulalongkornrajavidyalaya University All rights reserved 
Maintained by: webmaster@mcu.ac.th 
Last Update : Thursday February 9, 2012