ด้วยความที่เป็นชาวพุทธโดยสายเลือด เราไม่ค่อยได้สนใจในข้อโจมตีของคนตะวันตก เกี่ยวกับสิทธิสตรีมากนัก เพราะเราประจักษ์อยู่แล้วว่า สตรีมีบทบาทมากมาย ในการอุปถัมภ์ค้ำชูและ สร้างเสริมความเข้มแข็งแก่สังคม แต่มาในตอนหลัง มีเสียงเรียกร้องและมีคำถามดัง ขึ้น ๆ ว่าในพระพุทธศาสนานั้นมีการกดขี่สตรีและมีการเอารัดเอาเปรียบสตรีจากฝ่ายบุรุษหรือไม่ ระหว่างที่ได้มีโอกาสศึกษาหลักสูตรพุทธศาสตรดุษฏีบัณฑิต สาขาวิชา พระพุทธศาสนา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย มหาวิทยาลัยได้กำหนด ให้นิสิตเสนอสารนิพนธ์คนละ ๓ เรื่อง จาก ๓ รายวิชา ที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนา คือรายวิชา ศึกษาเฉพาะเรื่องในพัฒนาการแห่งพระพุทธศาสนา รายวิชา พระพุทธศาสนากับวิทยาการยุคใหม่ และรายวิชา สัมมนาพระไตรปิฎก โดยให้ถือสารนิพนธ์เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาในหลักสูตรดังกล่าว ผู้เขียนเสนอตัวขอศึกษาเรื่อง "พระพุทธศาสนากับการปกป้องคุ้มครองสิทธิมนุษยชน, ศึกษากรณีสิทธิสตรีในพระพุทธศาสนา"นี้ เป็นเรื่องที่ ๓ ในกระบวนการเสนอสารนิพนธ์นั้น ผู้ศึกษาประสงค์จะสืบค้นและศึกษาหลักพุทธธรรม หรือ หลักการของพระพุทธศาสนาว่า ได้มีการวางหลักการที่ว่าด้วยการปกป้องคุ้มครองสิทธิสตรี ไว้อย่างไรหรือไม่ ในขณะเดียวกันก็ต้องการศึกษาเรื่องสิทธิมนุษยชนสากลที่ว่าด้วยสิทธิสตรี ว่ามี อะไรบ้าง และในฝ่ายพระพุทธศาสนานั้นมีอะไรที่น่าจะเปรียบเทียบศึกษาบ้าง จุดประสงค์หลักก็เพื่อตอบคำถามของคนรุ่นใหม่ที่ใช้สายตาของตะวันตกมองมาที่ตะวันออก อันมีพระพุทธศาสนาเป็นพื้นฐานของสังคมนี้ว่ามักจะละเมิดสิทธิมนุษยชนและสิทธิสตรีนั้น ว่าเป็นอย่างที่เขามองมานั้นหรือไม่ ในการศึกษาสืบค้นเพื่อการทำสารนิพนธ์นี้ ได้รับเมตตาธรรมจาก ดร.พระมหาบาง เขมานนฺโท ดร.พระมหาฉลอง อธิวโร ดร.พระสมชาย กนฺตสีโล รศ.อุดม บัวศรี และดร.บุรินทร์ ภู่สกุล แห่งห้องเรียนบัณฑิตศึกษา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตขอนแก่น ขณะเดียวกันก็ได้รับการให้กำลังใจและสนับสนุนด้านข้อมูลเอกสารที่จำเป็น จากเพื่อนมิตรนิสิตปริญญาเอกทั้งรุ่นที่ ๑ และรุ่นที่ ๒ ที่กำลังศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยทุกท่านด้วยดี จึงขอสำนึกในเมตตาธรรมและขอขอบคุณเป็นอย่างยิ่งมา ณ โอกาสนี้ด้วย ในสารนิพนธ์เล่มนี้ ผู้เขียนขอสรุปส่วนหนึ่งจากสารนิพนธ์ที่ได้ศึกษาในระดับปริญญาเอก ในช่วงนั้น เท่าที่โอกาสและหน้ากระดาษจะอำนวยให้ดังต่อไปนี้