ทางสายกลางคือทางรอดของชาวโลก
พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส, รศ.ดร.
ผู้อำนวยการหลักสูตรปริญญาโท สาขาสันติศึกษา
www.ps.mcu.ac.th
ในขณะที่โลกปัจจุบันกำลังเดินทางเข้าสู่ความสุดโต่ง (Extreme) ทั้ง ๒ ด้าน คือ (๑) ลัทธิทุนนิยม (Capitalism) การลุ่มหลง มัวเมาอยู่ในวัตถุนิยม และบริโภคนิยม ภายใต้บาทฐานของระบบทุนนิยม จึงทำให้สังคมมนุษย์เปลี่ยนจากสังคมแห่งการแบ่งปันโน้มเอียงไปสู่สังคมแห่งการแย่งชิง โดยแย่งกันหากิน แย่งถิ่นกันอยู่ แย่งคู่กันสวาท และแย่งอำนาจกันเป็นใหญ่ เพื่อสนองกิเลสตัณหาอย่างไม่มีขีดจำกัด (๒) ลัทธิก่อการร้าย (Terrorism) เน้นพฤติการณ์รุนแรงซึ่งมีเจตนาที่จะก่อให้เกิดความกลัว กระทำการเพื่อจุดประสงค์ทางศาสนา การเมืองหรืออุดมการณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นการกระทำที่จงใจหรือไม่ใส่ใจต่อความปลอดภัยของผู้ที่ไม่เกี่ยวข้อง (พลเรือน) และกระทำโดยองค์กรที่ไม่ใช่หน่วยงานของรัฐใด ๆ
ลัทธิที่ ๒ เป็นปฏิกิริยาย้อนกลับเพื่อทิ่มแทงลัทธิที่ ๑ อันเกิดมาจากความไม่พึงพอใจ ความคับแค้นใจ อันเนื่องมาจากการกินพื้นที่ และภาวะคุกคามของระบบทุนนิยม ฉะนั้น การทำลายเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ ในมหานครนิวยอร์ก จึงการเผชิญหน้าเพื่อประกาศภาวะสงครามระหว่างลัทธิทั้งสองนี้ ผลต่อเนื่องที่ตามมา คือ การที่ทุนนิยมเปิดหน้าประกาศสงครามกับลัทธิก่อการร้ายตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา ตัวอย่างของการไม่ยอมแพ้ของลัทธิก่อการร้ายคือ การกลายพันธุ์ไปสู่กลุ่มใหม่ที่เรียกว่า "ISIS" หรือ "Islamic State in Iraq and Syria" เป็นกองกำลังติดอาวุธที่ใช้ความรุนแรงในการต่อต้านระบอบทุนนิยมจากตะวันตกอย่างสุดขั่ว กิจกรรมที่คนทั่วไปคุ้นเคย คือ การฆ่า ไม่ว่าจะเป็นการฆ่านักข่าว การฆ่าเด็กและสตรี รวมไปการกลุ่มคนที่เป็นปฏิปักษ์
ในขณะที่ระบบทุนนิยมให้ความสำคัญต่อการแสวงหาวัตถุมาช่วยทะนุถนอม บำรุงบำเรอ ปรนเปรอร่างกายเพื่อให้เกิดความสะดวก สนุก และสบายอย่างสุดขั่ว แต่ฝ่าย ISIS พยายามอย่างสุดกำลังที่จะหาโอกาสและช่องทางในการฆ่าล้าง และทำลายร่างกายที่เป็นตัวหุ้มห่อกิเลสอันเกิดจากความโลภ การเอารัดเอาเปรียบคนอื่นโดยการแย่งชิงทรัพยากร และผลประโยชน์ไปปรนเปรอตัวเอง การเผชิญหน้าของ "ความสุดโต่ง" ทั้งสองลัทธิ คือ "ระบบทุนนิยมและลัทธิก่อการร้ายนิยมความรุนแรง" จึงทำให้โลกต้องหันกลับมาหา "ภูมิปัญญาของศาสนา" ที่พยายามเน้นสอน "ทางสายกลาง" เพื่อมิให้โลกเผชิญหน้ากัน มนุษย์มีความสุขในการดำเนินชีวิต และอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข
พระพุทธเจ้าทรงนำเสนอภูมิปัญญาของโลกเพื่อพัฒนาให้ "โลกภายนอกก็ไม่วุ่น โลกภายในก็ไม่ขุ่นเคือง" นั่นคือ "ทางสายกลาง" หรือ "มัชฌิมาปฏิปทา" โดยพระองค์ได้ตรัสว่า "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บรรพชิตไม่ควรปฏิบัติให้หนักไปในส่วนที่สุด ๒ อย่าง คือ (๑) กามะสุขัลลิกานุโยโค หมายถึง การประพฤติปฏิบัติตนเพื่อแสวงหาความสุขอยู่ใน รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสที่น่ารักน่าปรารถนา และ (๒) อัตตกิลมถานุโยค หมายถึง การประพฤติปฏิบัติด้วยการทรมานร่างกายให้ได้รับความลำบาก ซึ่งมีแต่ทำให้ใจเป็นทุกข์ทรมานอย่างเดียว
ทางสายกลางจึงมิใช่ "ทางเลือก" แต่เป็น "ทางรอด" ที่ชาวโลกจะต้องนำภูมิปัญญานี้มาปรับประยุกต์ใช้ให้สอดรับกับบริบท ทางสายกลางจึงมิใช่สมบัติของพระพุทธศาสนา แต่เป็นสมบัติของชาวโลกที่พระพุทธเจ้าไม่ประสงค์ให้จดลิขสิทธิ์เป็นทรัพย์สินทางปัญญาเฉพาะชาวพุทธเท่านั้น พระพุทธองค์ทรงค้นพบกฎนี้จากธรรมชาติจึงนำกฎนี้มาบอกแก่ชาวโลก กฎนี้จึงเป็นปัญญาสาธารณะไม่มีผู้ใดเป็นเจ้าของ หรือผูกขาดอย่างแท้จริง
ธรรมจักกัปปวัตนสูตร จึงเป็นพระสูตรที่หมุนจักร คือ ธรรม อันได้แก่ "ทางสายกลาง" หรือ "มัชฌิมาปฏิปทา" ให้กระจายขยายตัวออกไปในทิศต่างๆ ในโลกใบนี้ ธรรมจักรจึงเป็นอำนาจที่ชุ่มเย็น (Soft Power) หมุนไปในทิศใด ความสันติสุขย่อมบังเกิดในทิศนั้น ในขณะจักรของพระเจ้าจักรพรรดิ์ ถือเป็นอำนาจที่เร้าร้อน (Hard Power) หมุนไปในทิศใด การบาดเจ็บล้มตายย่อมบังเกิดในที่นั้น ฉะนั้น ในขณะที่โลกกำลังเร้าร้อนและวุ่นวายเพราะลัทธิสุดโต่งทั้งสองด้านดังกล่าว จึงถึงเวลาที่เหมาะสมที่ชาวโลกจะต้องหันกลับมาทบทวนบทบาทและสถานะของตัวเอง โดยการดึงตัวเองกลับคืนมาสู่จุดสมดุล ด้วยการนำหลัก "ทางสายกลาง" มาปรับใช้ในทุกบริบทของสังคม ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจ การเมือง สังคม การศึกษา และสิ่งแวดล้อม การปรับใช้จึงมิได้มีคำตอบเพื่อตัวมนุษย์เท่านั้น หากแต่เป็นความอยู่รอดของโลกใบนี้ด้วยเช่นกัน
|