การศึกษาวิจัยเรื่อง “แนวโน้มบทบาทพระสงฆ์กับการเมืองไทยในสองทศวรรษหน้า (๒๕๕๖-๒๕๗๖)” นั้น ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากศูนย์พุทธศาสนศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และบัดนี้ ศาสตราจารย์กิตติคุณปรีชา ช้างขวัญยืน ผู้อำนวยการศูนย์พุทธศาสนศึกษา ได้แจ้งว่า คณะกรรมการตรวจสอบงานวิจัยได้ “อนุมัติให้ผ่านการประเมินฉบับสมบูรณ์” เป็นที่เรียบร้อยแล้วนั้น งานวิจัยนี้ ผู้วิจัยได้กำหนดวัตถุประสงค์ไว้ ๓ ประเด็น คือ (๑) เพื่อศึกษาวิเคราะห์บทบาทของพระสงฆ์กับการเมืองไทย (๒) เพื่อศึกษาวิเคราะห์บทบาทของพระสงฆ์กับการเมืองที่ปรากฏในพระพุทธศาสนาเถรวาท และ (๓) เพื่อนำเสนอแนวโน้มบทบาทพระสงฆ์กับการเมืองไทยในสองทศวรรษหน้า จากการศึกษาวิเคราะห์ อธิบาย ตีความ และสังเคราะห์ประเด็นต่างๆ อย่างรอบด้านแล้ว ทำให้การศึกษาครั้งนี้พบคำตอบที่น่าสนใจหลายประเด็นด้วยกัน
สำหรับวิธีการในการศึกษาเพื่อตอบวัตถุประสงค์ดังกล่าวนั้น มี ๒ ลักษณะ คือการศึกษาภาคเอกสาร (Documentary Research) โดยการศึกษาเอกสารจากคัมภีร์พระไตรปิฎก อรรถกถา ฎีกา อนุฎีกา และหนังสืออื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับงานวิจัยเรื่องนี้ เช่น วิทยานิพนธ์ งานวิจัยหนังสือพิมพ์ เป็นต้น รวมไปถึงสื่อด้านอื่น ๆ เช่น อินเตอร์เน็ต และโทรทัศน์ เป็นต้น และการศึกษาภาคสนาม (Field Research) โดยผู้วิจัยได้เข้ารับการศึกษาในหลักสูตรการเมืองการปกครองสำหรับผู้บริหารระดับสูง รุ่นที่ ๑๕ ของสถาบันพระปกเกล้า (ปปร.๑๕) นักศึกษาประกอบด้วยกลุ่มนักการเมืองทั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา ข้าราชการระดับสูง ผู้นำองค์กรเอกชน ภาคเอกชน และนักวิชาการเข้าร่วมศึกษาในหลักสูตรดังกล่าว จำนวน ๑๔๐ ท่าน ซึ่งได้ก่อให้เกิดผลเชิงบวกต่อการวิจัยผ่านการสังเกต การสัมภาษณ์ การสนทนากลุ่ม และสัมมนาเวทีต่างๆ ที่เกี่ยวข้องและเชื่อมโยงกับประเด็นที่ดำเนินการศึกษาวิจัยเพื่อหาคำตอบจากการทำวิจัยครั้งนี้
สรุปผลการวิจัย
การศึกษาวิจัยเกี่ยวกับ“แนวโน้มบทบาทพระสงฆ์กับการเมืองไทยในสองทศวรรษหน้า (๒๕๕๕-๒๕๗๕)” ด้วยวิธีการดังกล่าวนั้น ทำให้พบประเด็นคำตอบที่สอดรับกับวัตถุประสงค์ที่ตั้งเอาไว้ทั้งสามประการอย่างน่าสนใจ ดังต่อไปนี้
๑. จากการศึกษาวิเคราะห์บทบาทของพระสงฆ์กับการเมืองไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ผู้วิจัยได้เริ่มต้นศึกษาบริบทเกี่ยวกับบทบาทของพระสงฆ์กับการเมืองในประเทศต่างๆ คือ ศรีลังกา ประเทศพม่า และประเทศกัมพูชา ในฐานะที่ประเทศทั้งสองนับถือพระพุทธศาสนาเถรวาท และมีรูปแบบการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยเช่นเดียวกับประเทศไทย ซึ่งการศึกษาบริบทจากประเทศเหล่านั้น ได้ทำให้เกิดคุณูปการต่อการนำบทเรียนดังกล่าวมาเป็นกรอบในการศึกษาบทบาทของพระสงฆ์กับการเมืองไทย และสามารถวิเคราะห์คาดการณ์ถึงแนวทางที่จะเกิดขึ้นในประเทศไทยอีก ๒๐ ปีข้างหน้าได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น
จากการศึกษาวิเคราะห์เกี่ยวกับบทบาทพระสงฆ์กับการเมืองในศรีลังกา, พม่า และกัมพูชา ประกอบไปด้วยบทบาทที่น่าสนใจหลายประการด้วยกัน กล่าวคือ (๑) บทบาทในการเป็นที่ปรึกษา (๒) บทบาทในการชี้นำและชี้นำ (๓) บทบาทในการประท้วงเพื่อเรียกร้องจากรัฐ (๔) บทบาทในการใช้สิทธิการเลือกตั้ง (๕) บทบาทในการคุ้มครองประเทศและศาสนา (๕) บทบาทในการไกลเกลี่ยข้อพิพาท (๖) บทบาทในการสนับสนุนส่งเสริมกิจการภาครัฐ (๗) บทบาทในการสนับสนุนพรรคการเมือง (๘) บทบาทในการเป็นนักการเมือง
ข้อสังเกตที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งคือ พระสงฆ์ในต่างประเทศดังเช่นศรีลังกานั้น ได้พัฒนาสถานะของตนเองจากพระสงฆ์ที่เคยสัมพันธ์กับการเมือง (Interaction between Monks and Politicians) ไปสู่การเป็นพระนักการเมือง (Political Monks) การดำเนินบทบาทในลักษณะดังกล่าว ถือว่าเป็นการพัฒนาบทบาทของตนเองกับการเมืองเกินขอบเขตที่ปรากฏในพระธรรมวินัย โดยตีความธรรมวินัยให้สอดรับกับบริบททางสังคมและการเมือง หรือจะกล่าวอีกนัยหนึ่ง คือ เป็นการตีความความธรรมวินัยโดยมีฐานของสังคม และการเมืองเป็นตัวตั้ง ซึ่งเป็นการเน้นไปที่บริบทของสังคมและการเมือง แล้วตีความพระธรรมวินัยให้สอดรับและเป็นฐานรองรับบริบททางการเมืองและสังคม แนวทางดังกล่าวอาจจะสามารถเทียบเคียงได้กับพระสงฆ์ไทยบางรูปที่พยายามจะอธิบายว่า “ฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป” เพื่อตอบสนองบริบททางการเมืองที่ปรากฏในสมัยนั้น สอดรับกับการที่พระสงฆ์ชาวศรีลังกาบางรูปพยายามจะปลอบโยนพระเจ้าทุฏฐคามินีอภัยที่สูญเสียกำลังใจจากการผิดศีลเนื่องจากการฆ่าชาวทมิฬจำนวนมากว่า “พระองค์อย่ากังวลไปเลย การฆ่าบุคคลที่เป็นมารของศาสนาไม่ถือว่าเป็นบาป”
จะเห็นว่า บริบทของสังคม การเมือง และความอยู่รอดของชาติพันธุ์นั้น มีผลต่อการตีความหลักธรรมวินัยไปรับใช้อุดมการณ์เหล่านั้น แนวทางนี้ก็ปรากฏชัดในประเทศพม่าเช่นเดียวกันดังจะเห็นได้จากกรณีจากโรฮิงญา ที่พระสงฆ์บางรูปได้นำหลักการทางพระพุทธศาสนามากระตุ้นให้ชาวพุทธฆ่าล้าง และทำลายบ้านเรือนของชาวโรฮิงญา ซึ่งทำให้เกิดการบาดเจ็บ และล้มตายเป็นจำนวนมาก
นอกจากการตีความหลักพระธรรมวินัยไปรับใช้สังคม การเมือง และชาติพันธุ์แล้ว ปรากฏการณ์หนึ่งที่เกิดขึ้นในประเทศศรีลังกาและพม่าคือ “การรักษาพระพุทธศาสนาให้อยู่รอดจากคนต่างลัทธิและศาสนาอื่น” ยุคล่าอาณานิคมได้เข้าไปยึดครองพื้นที่ของประเทศทั้งสอง พร้อมกับการนำศาสนาเข้าไปเผยแผ่เพื่อยึดครองจิตใจของคนในพื้นที่ จึงทำให้คนในพื้นที่ของทั้งสองประเทศซึ่งมีความเชื่อมั่น ศรัทธา รักและห่วงแหนพระพุทธศาสนาได้กระทำการปกป้องพระพุทธศาสนาด้วยวิธีการต่างๆ ดังจะเห็นได้พระสงฆ์ของทั้งสองประเทศได้เป็นผู้นำในการจับอาวุธขึ้นมาลอบทำร้ายทหารของประเทศที่เข้ามารุกราน รวมไปถึงการโต้วาทีเพื่อหักล้างเหตุผลและความเชื่อกับกลุ่มคนศาสนาอื่น
การที่พระสงฆ์บางรูปเป็นผู้นำในการกระตุ้นกลุ่มคนให้จับอาวุธเพื่อฆ่ากลุ่มคนที่รุกรานทางการเมือง และมีความความเชื่อที่แตกต่างนั้น มิได้ปรากฏเฉพาะในประเทศศรีลังกาและพม่าเท่านั้น หากแต่ปรากฏการณ์เช่นนี้ได้เคยขึ้นในประเทศไทยเช่นเดียวกัน ดังจะเห็นได้จากพระเจ้าฝางซึ่งตั้งก๊กของพระขึ้นมา แล้วนำชาวบ้านฆ่ากลุ่มคนที่พยายามจะแย่งชิงพื้นที่การปกครองเพื่อความอยู่รอดของบ้านเมือง จะเห็นว่า ในที่สุดแล้ว พระสงฆ์ในประเทศต่างๆ ที่เผชิญหน้ากับวิกฤติการณ์ทางสังคม การเมือง ศาสนา และชาติพันธุ์นั้น หากจำเป็นต้องเลือกแล้ว กลุ่มพระสงฆ์เหล่านั้น จะคำนึงถึงความอยู่รอดของสังคม การเมือง และชาติพันธุ์ โดยนำหลักธรรมที่ปรากฏในศาสนามาเป็นเครื่องมือสำคัญในการตีความเพื่อรองรับอุดมการณ์และความอยู่รอด ซึ่งถือได้ว่าเป็นการบิดเบือน (Abuse) เพื่อความอยู่รอด จะเห็นว่า ประสบการณ์การต่อสู้ของพระสงฆ์นั้น หลักการในศาสนาจะเป็น “ทางเลือก” ที่จะปฏิบัติ มากกว่าเป็นการยืนหยัดบนฐานของธรรม ทั้งนี้ ตัวแปรสำคัญคือ “ความอยู่รอด” ของสังคม ศาสนา การเมือง และชาติพันธุ์
ในขณะที่บทบาทพระสงฆ์กับการเมืองในสังคมไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันนั้น ได้สะท้อนบทบาทที่สัมพันธ์กับการเมืองในหลายมิติ กล่าวคือ (๑) บทบาทในการเป็นที่ปรึกษา (๒) บทบาทในการสนับสนุนกระบวนการสร้างสันติภาพ (๓) บทบาทในการชี้แนะและชี้นำผู้นำทางการเมือง (๔) บทบาทในการช่วยเหลือกิจการบ้านเมือง (๕) บทบาทในการสนองตอบต่อนโยบายแห่งรัฐ (๖) บทบาทในการดื้อแพ่งต่ออำนาจรัฐ (๗) บทบาทในการประท้วงรัฐเพื่อเรียกร้อง (๘) บทบาทในการสนับสนุนพรรคการเมือง (๙) บทบาทในการลงสมัครเป็นสมาชิกสภาผู้แทนฯ
บทบาทที่มีการสอดรับกันของพระสงฆ์กับการเมืองทั้ง ๔ ประเทศนั้น ประเด็นแรกคือ “บทบาทในฐานะเป็นที่ปรึกษาของผู้นำทางการเมือง” โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเป็นที่ปรึกษาให้แก่พระมหากษัตริย์ตามระบอบราชาธิปไตย การจัดวางบทบาทในลักษณะนี้มีลักษณะที่คล้ายคลึงกับเป็น “ปุโรหิตด้านจิตวิญญาณ” ให้แก่พระมหากษัตริย์ และในขณะเดียวกัน พระสงฆ์ได้ทำหน้าที่เป็นผู้นำทาง หรือ “มัคคุเทศก์” ซึ่งการนำทางนั้นขึ้นอยู่กับบริบทที่แตกต่างกันของแต่ละประเทศ พระสงฆ์ศรีลังกา พม่า และไทยในบางยุคมีความโน้มเอียงในการนำทางผู้นำทางการเมืองที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับสงครามและความขัดแย้งประเด็นเรื่อง “ชาติพันธุ์” และความอยู่รอดทางการเมืองของนักการเมืองและตัวพระสงฆ์เอง ในขณะที่พระสงฆ์กัมพูชานั้น แม้จะดำรงอยู่ในสถานะของการเป็นผู้ถูกกระทำจากกลุ่มการเมืองต่างๆ ที่เข้ามามีอำนาจ แต่ถึงกระนั้น พระสงฆ์ประเทศนี้ ได้ดำรงตนในฐานะที่เป็นที่ปรึกษาที่มีความใกล้ชิดกับสมเด็จเจ้าสีหนุจนเป็นที่มาของอุดมการณ์ “พุทธสังคมนิยม”
บทบาทที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งที่พระสงฆ์ทั้ง ๔ ประเทศเข้าไปเกี่ยวข้องกับการเมืองในลักษณะที่สอดรับกันคือ “บทบาทในการประท้วงเพื่อเรียกร้องความต้องการ” ความสอดรับกันดังกล่าวล้วนอยู่บนฐานคิดที่ค่อนข้างจะคล้ายคลึงกันคือ “การดำเนินโยบายสาธารณะของรัฐ” ที่กระทบต่ออารมณ์ ความรู้สึก และความอยู่รอดของสังคม การเมือง ชาติพันธุ์ รวมไปถึงศาสนา พระสงฆ์ในประเทศศรีลังกา และพม่าค่อนข้างจะมีความชัดเจนในประเด็นของชาติพันธุ์ ฉะนั้น นโยบายใดที่ได้รับการออกแบบโดยนักการเมืองแล้วกระทบต่อความรู้สึกของพระสงฆ์และประชาชนโดยรวม พระสงฆ์มักจะออกมาประท้วงเพื่อให้รัฐเปลี่ยนแปลงนโยบาย ในขณะเดียวกันบางนโยบายที่กระทบต่อวิถีชีวิตและวัฒนธรรมที่ดีงาม อีกทั้งขัดต่อหลักการของศาสนา พระสงฆ์ของทั้งสองประเทศมักจะแสดงออกถึงการไม่เห็นพ้องต้องกับรัฐโดยการออกมาประท้วง
ในขณะที่พระสงฆ์ในสังคมไทยได้ออกมาประท้วงต่อรัฐในลักษณะเดียวกัน แต่เหตุผลในการประท้วงนั้น มักจะมุ่งเน้นไปที่ประเด็นเรื่องความอยู่รอดของพระพุทธศาสนาในลักษณะต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นประเด็นของการเรียกร้องให้บัญญัติพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ หรือประเด็นการตั้งกระทรวงพระพุทธศาสนา รวมไปถึงประเด็นการที่พระสงฆ์บางรูปเช่น สมเด็จพุฒาจารย์ (อาจ อาสภะ มหาเถระ) ที่ได้รับผลกระทบจากผู้นำทางการเมือง พระสงฆ์ไทยจะรวมตัวกันเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรม แนวทางการประท้วงในลักษณะสอดรับกับปรากฏการณ์ที่เคยเกิดขึ้นในยุคสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ที่พระสงฆ์ไม่เห็นด้วยที่พระองค์เปิดพื้นที่ให้ศาสนิกของศาสนาอื่นปฏิบัติการในทางที่ไม่เหมาะสมต่อพระพุทธศาสนาจนเป็นที่มาของการหวาดระแวงท่าทีดังกล่าวของพระองค์
นอกจากนั้น สิ่งที่น่าสนใจ คือ พระสงฆ์ในกลุ่มประเทศ “TMSC” ซึ่งประกอบ ไทย (Thailand) พม่า (Myanmar) ศรีลังกา (Sri Lanka) และกัมพูชา (Cambodia) มีบทบาทที่สอดรับกันอีกประการหนึ่งคือ “การเข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมืองโดยการประท้วงร่วมกับกลุ่มการเมือง” พระสงฆ์ทั้ง ๔ ประเทศได้เข้าไปมีบทบาทค่อนข้างจะชัดเจนในการเลือก และเข้าร่วมกับกลุ่มการเมืองที่พระสงฆ์แต่ละกลุ่มเห็นว่าสอดรับกับแนวทางการทำงานและอุดมการณ์ของตนเอง ในประเทศศรีลังกานั้นเป็นที่ประจักษ์ชัดว่า พระได้กลายเป็นหัวคะแนน และขึ้นเวทีเพื่อโน้มน้าวให้ประชาชนเลือกพรรคของนายกรัฐมนตรีราชปักษา ในขณะที่ประเทศพม่าพระสงฆ์บางกลุ่มได้เข้าร่วมกับพรรคของนางออง ซาน ซูจี พระสงฆ์ในประเทศกัมพูชาได้เข้าร่วมกับนายกรัฐมนตรีฮุนเซน และบางกลุ่มได้เข้าร่วมกับผู้นำพรรคฝ่ายค้าน ส่วนพระสงฆ์ในประเทศไทยนั้น บางกลุ่มให้การสนับสนุนกลุ่มเสื้อแดง และบางกลุ่มสนับสนุนกลุ่มเสื้อเหลือง อย่างไรก็ตาม พระสงฆ์กระแสหลักของแต่ละประเทศ ซึ่งเป็นพระสงฆ์ที่มีความใกล้ชิดกับอำนาจรัฐนั้น พยายามที่จะวางตนเองเป็นกลางไม่แสดงท่าทีที่ชัดเจนอย่างเป็นทางการว่าสนับสนุนกลุ่มการเมืองใด
อย่างไรก็ตาม บทบาทที่พระสงฆ์ของประเทศศรีลังกามีความแตกต่างจากประเทศอื่นๆ อย่างสิ้นเชิง คือ “บทบาทในการเป็นพระนักการเมือง” (Political Monks) ซึ่งเข้าไปเกี่ยวข้องกับการเมืองโดยตรงในฐานะเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เหตุผลสำคัญที่พระสงฆ์กลุ่มนี้พยายามที่จะยกขึ้นมากล่าวอ้างการเข้าสู่การเมืองคือ “การปกป้องความเป็นชาตินิยมสิงหล” (Sinhalese Only) และการทำหน้าที่ในฐานะเป็นผู้ปกป้องพระพุทธศาสนาที่จะได้รับผลกระทบจากนโยบายสาธารณะ รวมไปถึงการส่งเสริมพระพุทธศาสนาในมิติต่างๆ ซึ่งการเข้าไปเกี่ยวข้องในลักษณะนี้ พุทธศาสนิกชนกระแสหลัก และพระสงฆ์กระแสหลักมีท่าทีที่ไม่เห็นด้วยต่อบทบาทดังกล่าว ดังจะเห็นได้จากการให้สัมภาษณ์ของมหานายกะรูปหนึ่งของนิกายสยามวงศ์ที่ชี้ว่า “พระสงฆ์ควรอยู่ในวัด ไม่ใช่อยู่ในบ้าน” แง่มุมนี้ท่านพยายามจะชี้นำว่า “หากพระสงฆ์รูปใดประสงค์จะเล่นการเมืองควรออกไปอยู่ในสภา หรือในบ้านเหมือนฆราวาส แต่ถ้ามาอยู่ในวัดไม่ควรเข้าไปเกี่ยวข้องกับบทบาทดังกล่าว”
๒. จากการศึกษาวิเคราะห์บทบาทของพระสงฆ์กับการเมืองที่ปรากฏในพระพุทธศาสนาเถรวาท ผู้วิจัย และนักวิชาการจำนวนมากมักจะตั้งคำถามว่า เพราะเหตุใด? พระสงฆ์บางรูป หรือบางกลุ่มจึงเข้าไปมีบทบาทต่อการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองทั้งทางตรงและทางอ้อม ซึ่งบทบาทที่พระสงฆ์ในประเทศต่างๆ เข้าไปเกี่ยวข้องกับการเมืองนั้น สอดรับพระธรรมวินัยที่ปรากฏในคัมภีร์พระพุทธศาสนามากน้อยเพียงใด เมื่อศึกษาโดยใช้กรอบบทบาทของพระสงฆ์ในกลุ่มประเทศ “TMSC” พบประเด็นคำตอบที่น่าสนใจว่า บทบาทของพระสงฆ์กับการเมืองในคัมภีร์พระไตรปิฎก ประกอบไปด้วยบทบาทที่โดดเด่นดังต่อไปนี้ (๑) บทบาทในการให้คำปรึกษา (๒) บทบาทในการชี้แนะและชี้นำทางการเมือง (๓) บทบาทในการไกล่เกลี่ยประนีประนอมข้อพิพาท (๔) บทบาทในการประท้วงต่อผู้นำทางการเมือง (๕) บทบาทในการพัฒนาพลเมืองของรัฐ (๖)บทบาทในการนำนักการเมืองมาสร้างฐานมวลชนเพื่อแบ่งแยกการปกครองสงฆ์
การแสดงออกบทบาทของพระพุทธเจ้ากับการเมืองนั้น ถือได้ว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่ที่ยึดโยงกับธรรม และมีธรรมเป็นพื้นฐานสำคัญในการปฏิบัติหน้าที่ เพราะพระพุทธเจ้ามองว่า บทบาทหลักของพระสงฆ์ภายหลังจากการศึกษาธรรม และการปฏิบัติธรรม คือ การนำธรรมที่ได้จากการศึกษา และปฏิบัติไปสู่การเผยแผ่พระพุทธศาสนา ซึ่งการนำหลักธรรมไปเสนอแก่ผู้นำทางการเมือง หรือชนชั้นปกครองจึงเป็นบทบาทหลักที่พระพุทธเจ้ามุ่งหมายจะให้เป็น ดังจะเห็นได้จากการประกาศเป็น “ปฐมบรมพุทโธวาท” ว่า
“พวกเธอจงจาริกไป เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุข และเพื่อประโยชน์แก่ชนจำนวนมาก อย่าไปโดยทางเดียวกันสองรูป จงแสดงธรรมมีความงามในเบื้องต้น มีความงามในท่ามกลาง และมีความงามในที่สุด จงประกาศพรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถและพยัญชนะบริสุทธิ์บริบูรณ์ครบถ้วน สัตว์ทั้งหลายที่มีธุลีในตาน้อย มีอยู่ ย่อมเสื่อมเพราะไม่ได้ฟังธรรม จักมีผู้รู้ธรรม ภิกษุทั้งหลาย แม้เราก็จักไปยังตำบลอุรุเวลาเสนานิคมเพื่อแสดงธรรม”
จะเห็นว่า การแสดงธรรมที่งดงามในเบื้องต้น ท่ามกลาง และที่สุดนั้นเป็นหน้าที่สำคัญที่พระพุทธเจ้าทรงย้ำเน้น แต่อย่างไรก็ตาม ในบริบทนี้ พระพุทธเจ้าทรงเน้นย้ำกับพระสาวกกลุ่มแรกว่า การแสดงธรรมนั้นจะต้องก่อให้เกิดประโยชน์สุขแก่คนจำนวนมาก ซึ่งสอดรับกับหลักการ “โลกัตถจริยา”ฐานคิดชุดนี้สามารถถอดออกมาเป็นหมวดธรรมได้อย่างน้อยสองชุด คือ “หลักพรหมวิหารธรรม และสังคหวัตถุธรรม” ซึ่งเน้นการทำหน้าที่บนฐานของความรัก ความเอาใจใส่ ความยินดี และวางใจเป็นกลางต่อเพื่อนมนุษย์ร่วมโลก อีกทั้งอนุเคราะห์เพื่อนมนุษย์ด้วยการการมอบดวงตาแห่งธรรม การนำเสนอธรรมด้วยไมตรีจิต การมุ่งบำเพ็ญประโยชน์ที่เป็นธรรม และการวางใจของตนให้เสมอต้นเสมอปลายจนสูญเสียธรรม
สิ่งที่น่าสนใจ คือ การแสดงธรรม หรือเผยแผ่ธรรมเป็น “หน้าที่” ของพระองค์ และพระสาวก ดังจะเห็นได้จากหลักการที่ปรากฏในทิศ ๖ ที่พระองค์ทรงมุ่งเน้นให้พระสงฆ์ทำหน้าที่ห้ามปรามไม่ให้ทำความชั่ว ทางกาย วาจา ใจ ให้ตั้งอยู่ในความดี อนุเคราะห์ด้วยน้ำใจอันประกอบด้วยเมตตา ให้ได้ฟังสิ่งที่ยังไม่เคยฟัง อธิบายสิ่งที่เคยฟังแล้วให้เข้าใจแจ่มแจ้ง และบอกทางสวรรค์ให้โดยการชี้ว่าอะไรดี ไม่ดี หรือควรไม่ควร ภายใต้การทำหน้าที่ตามครรลองที่ได้เปิดพื้นที่เอาไว้ให้นั้น พระองค์ได้ทำให้แนวทางเกี่ยวกับการนำเสนอธรรมะเอาไว้ว่า “การแสดงธรรมแก่ผู้อื่นมิใช่ทำได้ง่าย ภิกษุเมื่อจะแสดงธรรมแก่ผู้อื่น พึงตั้งธรรม ๕ ประการไว้ในตนแล้วจึงแสดงธรรมแก่ผู้อื่น คือ (๑) เราจักแสดงธรรมไปตามลำดับ (๒) เราจักแสดงอ้างเหตุ (๓) เราจักแสดงธรรมอาศัยความเอ็นดู (๔) เราจักเป็นผู้ไม่เพ่งอามิสแสดงธรรม และ (๕) เราจักไม่แสดงธรรมกระทบกระทั่งตนและผู้อื่น
ยิ่งกว่านั้น ในการแสดงบทบาทเพื่อปฏิบัติหน้าที่เผยแผ่ธรรมนั้น พระองค์ทรงชี้แนะว่า “ผู้ที่ทำร้ายผู้อื่น ไม่ชื่อว่าเป็นบรรพชิต ผู้เบียดเบียนผู้อื่น ไม่ชื่อว่าเป็นสมณะ” ด้วยเหตุนี้ การเผยแผ่ธรรมจะต้องไม่ไม่กล่าวร้ายผู้อื่น การไม่เบียดเบียนผู้อื่น ความสำรวมในปาติโมกข์ ความเป็นผู้รู้จักประมาณในอาหาร การอยู่ในเสนาสนะที่สงัด การประกอบความเพียรในการพัฒนาจิตอย่างต่อเนื่อง” และทรงย้ำว่า “นี้คือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย”
ถึงกระนั้น ในความมีวิสัยทัศน์ของพระองค์ (โลกวิทู) และมุ่งหวังผลให้เกิดการปฏิบัติในระยะยาว เพื่อเป็นฐานรองรับการแสดงบทบาทในช่วงเวลาที่พระพุทธปรินิพพานไปแล้วดังที่พระองค์ตรัสว่า “โดยการล่วงไปแห่งเรา ธรรมวินัยจะเป็นศาสดาของเธอทั้งหลาย” พระองค์จึงได้วางหลักการ “มหาปเทส ๔ ประการ” ซึ่งเป็นหลักการการพิจารณาถึงถ้อยคำ หรือคำพูดที่ได้รับฟังมาจากภิกษุอื่นแล้วพิจารณาว่า สิ่งที่ได้ฟังมานี้ เป็นธรรม เป็นวินัยหรือไม่ และหลักการที่ว่าด้วย “เกณฑ์ตัดสินพระธรรมวินัย ๘ ประการ” เพื่อเป็นเครื่องมือในการการพิจารณาสิ่งที่เป็นธรรม เป็นวินัย ควรพิจารณาจากสิ่งนั้นเป็นไปเพื่อความคลายกำหนัด ไม่สะสม มักน้อย สันโดษ มีความสงัดจากหมู่หรือไม่ หากพิจารณาแล้วเป็นไปในลักษณะดังกล่าว คือ มุ่งหวังความสุขสงบที่ประกอบไปด้วยธรรมแล้วก็ถือได้ว่า เป็นธรรม เป็นวินัยที่พระพุทธองค์ทรงบัญญัติไว้
ในขณะเดียวกัน การแสดงบทบาทของพระสงฆ์ต่อการเมืองในอีกมุมหนึ่งจำเป็นต้องสัมพันธ์กับ “พระวินัย” ซึ่งเป็นหลักปฏิบัติที่อยู่บนพื้นฐานของ “ธรรม” พระวินัยที่ได้รับการออกแบบตั้งแต่สมัยพุทธกาล เช่น ข้อปฏิบัติที่เกี่ยวกับการอยู่ในกองทัพ การเกี่ยวข้องกับการประจบคฤหัสถ์ และการเข้าไปในบ้านเรือนยามวิกาลที่อาจจะนำภัยในสู่พระสงฆ์ ตัวอย่างของข้อปฏิบัติหรือข้อห้ามเหล่านี้ เป็นการสะท้อนสภาพบริบทการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมในสมัยพุทธกาล แต่เมื่อถึงจุดเปลี่ยนแห่งยุคสมัย ถึงกระนั้น การอธิบายและตีความจำเป็นต้องให้สอดรับกับธรรม ทั้งนี้ คำว่าสอดรับกับธรรมนั้นหมายถึง “สอดรับกับบทบาทและหน้าที่ หรือธรรมชาติที่ควรจะเป็นของพระสงฆ์เอง”
๓. การนำเสนอแนวโน้มบทบาทพระสงฆ์กับการเมืองไทยในสองทศวรรษหน้า การที่จะตอบว่า “แนวโน้มของพระสงฆ์กับการเมืองไทยในสองทศวรรษหน้าจะมีรูปโฉมอย่างไร?” นั้น ผู้วิจัยมองว่า ประเด็นแรกที่จะต้องทำความเข้าใจคือ การอธิบายในมิติของคำว่า “การเมือง” ให้ครอบคลุมและรอบด้าน เพราะโดยความเป็นจริงแล้ว นักคิด และนักวิชาการจำนวนมากอธิบาย และตีความคำว่า “การเมือง” ในมิติที่แตกต่างกันบนฐานของแง่มุม และประสบการณ์ที่ตัวเองเข้าไปเกี่ยวข้องในบริบทที่แตกต่างกัน การเข้าใจการเมืองอย่างรอบด้านจะทำให้เราสามารถที่จัดวางบทบาทของพระสงฆ์ให้เข้าไปสัมพันธ์กับการเมืองในมิติที่สอดคล้องและเหมาะสม อีกทั้ง ไม่ก่อให้เกิดผลเสียต่อพระสงฆ์และพระพุทธศาสนาในระยะยาว
จากการศึกษาในประเด็นของคำว่า “การเมือง” ในเชิงบวกนั้น สามารถแบ่งออกมาเป็นสองความหมาย กล่าวคือ (๑) การเมืองในฐานะที่เป็นเป้าหมาย (Politics as a Goal) กับ (๒) การเมืองในฐานะที่เป็นเครื่องมือ (Politics as a Tool)
(๑) การเมืองในฐานะที่เป็นเป้าหมายนั้น เป็นการให้ค่าต่อการเมืองในฐานะเป็นงานของรัฐ หรืองานของแผ่นดินที่ดำเนินการบริหารจัดการโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อความสงบ สันติสุข และอยู่ด้วยกันอย่างเรียบร้อย มีการเคารพในกฎกติกา ความแตกต่าง และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เน้นเสรีภาพ เสมอภาพ และภราดรภาพ ใช้หลักสันติวิธีในการแก้ไขปัญหา รวมไปถึงการมีจิตสำนึกสาธารณะ และรับผิดชอบต่อตัวเองและสังคม
(๒) การเมืองในฐานะที่เป็นเครื่องมือนั้น จะมุ่งเน้นการจัดการหรือการกระทำให้คนหมู่มากอยู่ด้วยกันโดยไม่ต้องใช้อาชญา การแสวงหาความยุติธรรม การสร้างโอกาส และการแบ่งปันผลประโยชน์และความต้องการอย่างทั่วถึง เท่าเทียม และเที่ยงธรรม และเป็นการเมืองที่อยู่บนฐานของศีลธรรม นำหลักธรรมมาเป็นเครื่องมือในการสร้างภูมิคุ้มกัน หล่อหลอม และเสริมสร้างพลเมืองกับนักการเมือง แทนที่จะใช้การเมืองไปเป็นเครื่องมือในการแสวงหาอำนาจ และผลประโยชน์เพื่อพวกพ้อง และกลุ่มการเมืองของตน รวมไปถึงการไม่ใช้การเมืองเป็นเครื่องมือในการแข็งขันโดยใช้วัตถุนิยม และบริโภคนิยมเป็นแรงจูงใจของพลเมืองโดยไม่ตระหนักรู้ถึงผลเสียที่จะตามมาในระยะยาว
หากเราสามารถที่จะนิยามคำว่า “การเมือง” อยู่บนฐานของความหมายใน ๒ มิติดังกล่าว ย่อมเป็นหลักประกันได้ว่า พระสงฆ์สามารถที่เข้าไปเกี่ยวข้อง และสัมพันธ์กันโดยไม่สูญเสียหลักของธรรมวินัย เพราะเกณฑ์ในการตัดสินทางธรรมวินัยเปิดพื้นที่ให้พระสงฆ์ได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับการเมืองในเชิงบวก ทั้งเป็น “การเมืองสีขาว” หรือเป็น “การเมืองแห่งความเมตตากรุณา” หลักการที่เข้ามารองรับการพัฒนาบทบาทของพระสงฆ์ร่วมกับการเมืองสีขาว และการเมืองแห่งความเมตตากรุณานั้น ประกอบไปด้วยหลักทิศ ๖ ที่เปิดพื้นที่ให้พระสงฆ์สามารถให้คำแนะนำ และชี้แจ้งข้อกังวล รวมไปถึงความห่วงใยของพระสงฆ์และพลเมืองต่อผู้นำทางการเมืองได้ ทั้งนี้ ให้มุ่งประโยชน์ทั้ง ๓ ประการ คือ ประโยชน์ชุมชนของตน ของญาติ และเพื่อประโยชน์แก่ชาวโลก โดยทรงย้ำเตือนให้พระสงฆ์เที่ยวจาริกไปเพื่อเกื้อกูล ความสุข และเพื่ออนุเคราะห์ชาวโลก
อย่างไรก็ตาม พระธรรมวินัยที่ปรากฏในพระพุทธศาสนาได้ “ปิดพื้นที่การแสดงออกทางการเมืองของพระสงฆ์” ในกรณีที่พระสงฆ์เข้าไปเกี่ยวข้อง และสัมพันธ์กับการเมืองในลักษณะดังต่อไปนี้ (๑) การเข้าร่วมกับกลุ่มการเมืองเพื่อแย่งชิงผลประโยชน์ และแย่งชิงอำนาจ (๒) การลำเอียง แบ่งข้าง แบ่งฝ่าย (๓) การเป็นหัวคะแนน (๕) การให้คุณให้โทษแก่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง และ (๖) การแสดงบทบาทและท่าทีที่ขาดความเป็นกลาง เหตุผลสำคัญที่สามารถอธิบายผลกระทบที่จะตามมาก็คือ (๑) สังคมขาดหลักในการพึ่งพาหากพระสงฆ์เลือกข้างการขัดแย้งระหว่างพระสงฆ์ที่เลือกสนับสนุน (๒) พระสงฆ์จะกลายเป็นเครื่องมือของนักการเมือง ทั้งการเป็นหัวคะแนน และฐานเสียง และ (๓) พระสงฆ์จะขาดความน่าเชื่อถือจากกลุ่มคนที่มีความคิด และอุดมการณ์ทางการเมืองที่แตกต่าง
เมื่อวิเคราะห์ประเด็น “พระสงฆ์กับการเมืองในสังคมไทย” โดยการจำแนกคำว่า “การเมือง” ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชและระบอบประชาธิปไตย พบว่า แม้ว่าระบอบการปกครองจะเปลี่ยนแปลงไป แต่พระสงฆ์กับพระมหากษัตริย์ได้เกี่ยวข้องและสัมพันธ์กันทั้งมิติวัฒนธรรม และประเพณีอย่างประสานสอดคล้อง แม้ว่าในปี พ.ศ. ๒๔๗๕ จะเปลี่ยนรูปแบบการปกครองไปสู่ระบอบประชาธิปไตย กฎหมายรัฐธรรมนูญได้ยอมรับสถานะความสัมพันธ์ระหว่างพระสงฆ์กับพระมหากษัตริย์จนนำไปสู่การบัญญัติเอาไว้อย่างเป็นทางการในกฎหมายรัฐธรรมนูญ พุทธศักราช ๒๕๕๐ มาตราที่ ๙ ว่า “พระมหากษัตริย์ทรงเป็นพุทธมามกะ” ในทางกลับกัน บทบาทของพระสงฆ์กับนักการเมืองในระบอบประชาธิปไตย กลับมิได้มีการออกแบบทั้งมิติกฎหมาย ประเพณี และวัฒนธรรมที่จะสร้างพันธสัญญาให้เกิดขึ้นระหว่างนักการเมืองในระบอบประชาธิปไตยและพระสงฆ์ทั้งในเชิงพิธีการและเชิงปฏิบัติ
คำถามมีว่า การที่จะพัฒนาบทบาทพระสงฆ์กับการเมืองในระบอบประชาธิปไตยให้เป็นที่ยอมรับและสนองตอบต่อความต้องการของสังคมนั้น ควรจะจัดวางบทบาทของพระสงฆ์ให้สัมพันธ์กับการเมืองอย่างไร? ผู้วิจัยได้เริ่มต้นตอบปัญหานี้ด้วยการกลับไปศึกษาวิเคราะห์บทบาทของพระสงฆ์ในประเทศศรีลังกา พม่า กัมพูชา และคัมภีร์พระไตรปิฎกมาบูรณาการกับบทบาทของพระสงฆ์ในสังคมไทยภายใต้กรอบที่สำคัญ ๓ ประการคือ (๑) บทบาทตามประเพณี (๒) บทบาทตามกฎหมาย และ (๓) บทบาทตามพระธรรมวินัย
หลังจากนั้น จึงได้นำ (ร่าง) แนวโน้มบทบาทพระสงฆ์กับการเมืองไทยในสองทศวรรษหน้าไปสัมภาษณ์นักวิชาการ (In-depth Interview) และนักปฏิบัติการผู้มีประสบการณ์ งานเขียน งานวิจัย และเกี่ยวข้องกับพระสงฆ์ในมิติต่างๆ ทั้งการเมือง การปกครอง และการศึกษา และนำประเด็นที่ได้จากการสัมภาษณ์ประมวลผลแล้วนำเข้าสู่การประชุมกลุ่มย่อย (Focus Group) เพื่อรับฟังความคิดเห็นเป็นครั้งสุดท้าย และอธิบายเทียบเคียงเอกสารทางวิชาการ หนังสือพิมพ์ หนังสือวิชาการ บทความทางวิชาการ งานวิจัย และคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา ผนวกเข้ากับบทสัมภาษณ์อื่นๆ ที่นักวิชาการ พระสงฆ์ฝ่ายปกครอง และนักการเมืองได้แสดงทัศนะต่อบทบาทของพระสงฆ์กับการเมือง ทำให้ผู้วิจัยค้นพบคำตอบว่า “แนวโน้มบทบาทของพระสงฆ์กับการเมืองไทยในสองทศวรรษหน้า” ที่ผ่านการจัดลำดับความสำคัญ (Set Priority) นั้น ประกอบไปด้วยบทบาทที่สำคัญดังต่อไปนี้
(๑) บทบาทในฐานะวิศวกรจัดการความขัดแย้งโดยพุทธสันติวิธี ในขณะที่สังคมไทยกำลังเผชิญหน้ากับสถานการณ์ของความขัดแย้ง และความรุนแรง กลุ่มคนที่เกี่ยวข้องกับวิกฤติการณ์ดังกล่าวประกอบไปด้วยกลุ่มคน และกลุ่มผลประโยชน์จำนวนมาก ในขณะที่กลุ่มการเมืองซึ่งเป็นกลุ่มคนที่มีบทบาทสำคัญในการสร้างความกระบวนการปรองดอง มิได้มีท่าทีในเชิงบวก หรือตอบรับต่อแนวทางดังกล่าว ฉะนั้น สังคมไทยจึงไม่ใช่สังคมที่สามารถอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขในช่วงสองทศวรรษหน้านี้ จากตัวแปรดังกล่าว จึงทำให้สังคมกลับมาตั้งคำถามต่อองค์กรศาสนาว่าจะเข้าไปมีบทบาทในการจัดการความขัดแย้งเพื่อสร้างความปรองดองให้แก่สังคมได้อย่างไร ในประเด็นนี้ คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ จึงพยายามจะเรียกร้องว่า “บุคลากรทางศาสนาควรเพิ่มบทบาทในการลดความแตกแยก ส่งเสริมสันติภาพ และแก้ไขความขัดแย้งในสังคมโดยสันติวิธี”
บทบาทในการเป็นวิศวกรจัดการความขัดแย้งโดยพุทธสันติวิธี จึงถือได้ว่าเป็นบทบาทสำคัญที่พระสงฆ์จำเป็นจะต้องเข้าไปมีส่วนร่วมกับหน่วยงาน ทั้งองค์กรภาครัฐ และเอกชน เพื่อแสวงหาแนวทางในการจัดการความขัดแย้งและความรุนแรงที่กำลังเกิดขึ้นในสังคมไทย เพราะพระสงฆ์มีต้นทุนทางสังคม (Social Capital) สูงมากเพื่อเปรียบเทียบกับองค์กรอื่นๆ ในสังคม เพราะบนฐานของพระธรรมวินัย พระพุทธเจ้าได้ทรงออกแบบให้สังคมสงฆ์อยู่เหนือสภาวะการแย่งชิงผลประโยชน์และอำนาจการปกครองของกลุ่มชนชั้นนำทางการเมือง อย่างไรก็ตาม ต้นทุนทางสังคมของพระสงฆ์อาจจะไม่สามารถก่อให้เกิดคุณค่าต่อพระสงฆ์ในการเข้าไปช่วยจัดการความขัดแย้ง หากพระสงฆ์ขาดศักยภาพ และเครื่องมือในการเป็นวิศวกรสันติภาพ เพื่อทำหน้าที่สนับสนุนกระบวนการในการสร้างสันติ (Peace-Building Process) ในสังคมไทย
จากเหตุผลดังกล่าว มีความจำเป็นเร่งด่วนที่องค์กรสงฆ์ ภาครัฐ และภาคเอกชนควรเข้าร่วมพัฒนาให้พระสงฆ์ศึกษา เรียนรู้ และพัฒนาศักยภาพในการทำหน้าที่เป็นวิศวกรสันติภาพอย่างมีประสิทธิภาพ ดังที่คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติพยายามเสนอในประเด็นนี้ว่า “ทุกฝ่ายควรให้ความสำคัญกับการฟื้นฟูหลักศีลธรรมและจริยธรรม และสนับสนุนให้สถาบันศาสนาเข้ามามีบทบาทในการลดความขัดแย้ง และยุติการใช้ความรุนแรง” ถึงกระนั้น เชื่อมั่นว่า ต้นทุนทางสังคมผนวกกับศักยภาพของพระสงฆ์ จะนำไปสู่การเสริมสร้างพลังสันติสุขให้เกิดขึ้นแก่สังคมไทยในปัจจุบันและอนาคต
(๒) บทบาทพระสงฆ์กับการชี้แนะนำและชี้นำทางการเมือง พระสงฆ์ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันเป็นกลุ่มคนที่ถือได้ว่า ผู้นำทางการเมืองให้ความไว้วางใจ และเชื่อมั่นศรัทธาทั้งต่อวัตรปฏิบัติ และองค์ธรรมที่เป็นแนวทางในการประพฤติปฏิบัติ จากฐานความเชื่อในลักษณะนี้ จึงทำให้นักการเมืองตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันหมั่นเข้าไปปรึกษาหารือแนวทางการบริหารกิจการบ้านเมืองอยู่อย่างต่อเนื่อง ซึ่งแนวทางนี้ คือ “ปริปุจฉา” ที่ปรากฏอยู่ในหลักการของจักรพรรดิวัตร ซึ่งเน้นสอนให้ผู้นำทางการเมืองเปิดใจของตนเองในการปรึกษาหารือ สอบถามปัญหากับสมณพราหมณ์ ผู้ประพฤติดี ปฏิบัติชอบ ผู้ที่ไม่ประมาทมัวเมา อยู่เสมอตามกาลอันควรเพื่อให้รู้ชัด และสอบถามเกี่ยวกับแนวทางในการบริหารกิจการบ้านเมือง
บทบาทนี้ ยังมีความจำเป็นที่พระสงฆ์จะต้องรักษาและพัฒนาแนวทางในการให้คำปรึกษา (Counseling) ที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ถึงกระนั้น จุดเด่นของพระสงฆ์ประการหนึ่งคือ “การเป็นนักฟังที่ดี” (Mindful Listening) อีกทั้งความเป็นผู้ที่ไม่มีส่วนได้ส่วนเสียกับกลุ่มต่างๆ จึงสามารถเข้าไปทำหน้าที่ในการให้คำปรึกษาแก่ผู้นำทางการเมืองได้ดี อย่างไรก็ตาม บทบาทในการเป็น “ปุโรหิต” หรือ “มัคคุเทศก์” นั้นจำเป็นต้องนำเสนอหลักการและหลักปฏิบัติที่อยู่เหนือผลประโยชน์ทางการเมือง อีกทั้งไม่หวังประโยชน์ส่วนตนจนทำหน้าที่หมิ่นเหม่อันเป็นที่มาของการ “ประจบตระกูล” ซึ่งขัดกับหลักการในพระพุทธศาสนา
(๓) บทบาทในการพัฒนาพลเมืองของรัฐตามระบอบประชาธิปไตย การปกครองในระบอบประชาธิปไตยมีความเชื่อว่า “การปกครองระบอบประชาธิปไตยที่ดีมีจุดเริ่มต้นมาจากพลเมืองที่ดี” ซึ่งพลเมืองที่ดีนั้นประกอบด้วยคุณลักษณะที่สำคัญหลายประการ เช่น การรับผิดชอบต่อตนเองและสังคมได้ การมีจิตสำนึกสาธารณะ การรู้จักเคารพกฎกติกา ระเบียบ และข้อกฎหมายต่างๆ ที่เป็นแนวปฏิบัติของสังคม และการรู้จักจัดการความขัดแย้งที่เกิดขึ้นด้วยหลักการสันติวิธี จะเห็นว่า การพัฒนาประชาธิปไตยทั้งมิได้เน้นเฉพาะ “รูปแบบ” แต่เน้นหนักไปที่ “การพัฒนาคน” ด้วย เพื่อให้คนในเชิงปัจเจกกลายเป็นพลเมืองที่ดีของชาติ อาเซียน และของโลก
แม้ว่าพระสงฆ์จะเป็นนักบวชในพระพุทธศาสนา แต่ในอีกบทบาทหนึ่งนั้น พระสงฆ์ถือว่าเป็นพลเมืองของประเทศชาติ และอยู่ภายใต้กฎหมายของประเทศเช่นเดียวกัน แนวโน้มที่เกิดขึ้นในอนาคตนั้น พระสงฆ์จึงควรที่จะเข้าไปทำหน้าที่ในการช่วยรัฐพัฒนา “คนดี” ในมิติของศาสนา ให้กลายเป็น “พลเมืองที่ดี” ของประเทศชาติ และของโลก ซึ่งหลักการในพระพุทธศาสนาเอื้อต่อแนวทางในการพัฒนาดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นหลักสังคหวัตถุธรรม หลักสุจริตธรรม หลักคารวธรรม หลักเมตตาธรรม และหลักสันติธรรม ด้วยเหตุนี้ พระสงฆ์จึงควรศึกษาและประยุกต์หลักการดังกล่าวมาใช้เป็นเครื่องมือในการช่วยรัฐ ทั้งนี้ จำเป็นอย่างยิ่งที่รัฐจะต้องเริ่มต้นพัฒนาศักยภาพของพระสงฆ์ให้เรียนรู้และเข้าใจมิติด้านนี้มากยิ่งขึ้น และเปิดพื้นที่ให้พระสงฆ์เข้าไปทำหน้าที่ดังกล่าว อีกทั้งช่วยสนับสนุนโครงการและกิจกรรมต่างๆ ทั้งในแง่งบประมาณและเครื่องมือต่างๆ
ข้อสังเกตในประเด็นนี้คือ ไม่มีเหตุผลอันใดที่รัฐจะไม่ดำเนินการสนับสนุนให้พระสงฆ์มีบทบาทตามแนวทางนี้ เพราะการที่พลเมืองเป็นคนดีมีศีลธรรม ย่อมส่งผลต่อการบริหารจัดการรัฐได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังแนวทางที่พระพุทธเจ้าเคยเสนอไว้ในกูฏทันตสูตรที่ว่า “ศัตรูของรัฐไม่ใช่โจรผู้ร้าย หากแต่เป็นความยากจน” ความยากจนไม่ได้มีมิติของกายภาพเท่านั้น หากแต่หมายถึงความสุขที่เกิดขึ้นในคนของรัฐด้วย ฉะนั้น การสนับสนุนให้พระสงฆ์ทำหน้าที่นี้ จึงถือว่าเอื้อต่อการพัฒนาประชาธิปไตยให้ตั้งมั่นและยั่งยืนต่อไป
สรุปในประเด็นนี้คือ ระบอบประชาธิปไตยเปิดกว้าง และพัฒนาเติบโตมากขึ้นเพียงใด พระพุทธศาสนาในรูปแบบขององค์กรสงฆ์จะต้องนำหลักธรรมไปพัฒนาให้สอดรับกับการพัฒนาประชาธิปไตยมากขึ้นเพียงนั้น ประชาธิปไตยในยุคปัจจุบันนี้ รัฐไม่สามารถที่จะกันพื้นที่ของพระพุทธศาสนา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พื้นที่ทางศีลธรรมออกจากพื้นที่ของการเมืองได้อีกต่อไป ในขณะเดียวกัน จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเปิดพื้นที่ให้พระสงฆ์ได้เข้าไปช่วยทำหน้าที่ในพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมของนักการเมือง และนำหลักการของพระพุทธศาสนาไปประยุกต์ใช้ในการสร้างการมีส่วนร่วมและพัฒนาพลเมืองไปสู่การเป็นพลเมืองที่ดีของระบอบประชาธิปไตยให้สมบูรณ์ต่อไป
(๔) บทบาทในการใช้สิทธิวิพากษ์วิจารณ์นักการเมืองและนโยบายแห่งรัฐ การวิพากษ์วิจารณ์อย่างสุจริตนั้นอาจจะสอดรับกับบทบาทของสื่อมวลชน หรือนักวิจารณ์ทั่วไป แต่ถึงกระนั้น พระสงฆ์บางรูปได้ออกมาทำหน้าที่ในการวิพากษ์วิจารณ์ (Commentator) การเมืองในหลายมิติ เช่น การวิจารณ์พฤติกรรมผู้นำทางการเมือง หรือนักการเมือง การวิจารณ์แนวนโยบายแห่งรัฐว่าอาจจะนำไปสู่การสูญเสียทั้งชีวิต และทรัพย์สิน หรือนโยบายบางอย่างของรัฐอาจจะก่อให้พลเมืองในสังคมไทยเป็นนักวัตถุนิยมและบริโภคนิยมมากยิ่งขึ้น
การวิพากษ์วิจารณ์ในลักษณะนี้ พระพุทธเจ้าชี้ว่า “ประดุจการชี้ขุมทรัพย์” จากกรณีศึกษาที่เกิดขึ้นในอดีตนั้นจะพบว่า แม้ว่าพระสงฆ์จะทำหน้าที่ในการชี้ขุมทรัพย์ แต่นักการเมือง หรือผู้นำทางการเมืองบางคนมีท่าทีในเชิงลบต่อการวิจารณ์ดังกล่าว ซึ่งมหาเถรสมาคมในฐานะเป็นองค์กรบังคับบัญชาสูงสุดของพระสงฆ์ตระหนักรู้ในประเด็นนี้เป็นอย่างดี จึงได้ออกประกาศมหาเถรสมาคมเกี่ยวกับการเทศน์ หรือแสดงธรรมทางการเมือง เพื่อป้องกันการกระทบกระทั่งระหว่างพระสงฆ์กับผู้นำของรัฐ อย่างไรก็ตาม พระสงฆ์จำนวนหนึ่งได้ทำหน้าที่ในการชี้ขุมทรัพย์แก่นักการเมืองอย่างต่อเนื่อง
คำถามมีว่า “พระสงฆ์ควรจะวิพากษ์วิจารณ์ทางการเมืองอย่างไร? จึงจะไม่ทำให้ผู้นำทางการเมืองมีท่าทีในเชิงลบต่อคำวิพากษ์วิจารณ์ของพระสงฆ์” ปัจจัย หรือตัวแปรที่จะนำไปสู่การพัฒนาบทบาทนี้ให้เกิดขึ้นในสองทศวรรษหน้านั้นควรองค์ประกอบที่สำคัญอย่างน้อย ๔ ประการ (๑) ประเด็น (Issues) ในการวิพากษ์วิจารณ์รัฐต้องชัดเจน (๒) ความรู้ความเข้าใจ (Understanding) ของพระสงฆ์ หรือสถาบันสงฆ์ต่อการดำเนินนโยบายสาธารณะ รวมไปถึงผลกระทบทั้งในเชิงลบและเชิงบวก เมื่อได้ข้อมูลเป็นที่ประจักษ์ชัดแล้ว ย่อมสามารถที่จะวิพากษ์วิจารณ์ผลเสียที่จะเกิดได้ (๓) ความสามารถในการที่จะสื่อสารทางการเมือง (Political Communication) พระสงฆ์จำเป็นต้องเรียนรู้ และมีทักษะในการสื่อสารทางการเมือง โดยเข้าใจวิธีการและกระบวนการสื่อสารทั้งระบบตามหลัก SMCR ประกอบด้วย ผู้ส่ง (Source) ข้อมูลข่าวสาร (Message) ช่องทางในการส่ง (Channel) และผู้รับ (Receiver) และ (๔) การเปิดใจ (Open Mind) รับฟังจากรัฐ ผู้นำ หรือนักการเมืองด้วยใจที่เป็นกุศล
ในขณะเดียวกัน แนวทางวาจาสุภาษิตน่าจะเป็นอีกคำตอบหนึ่งที่น่าจะมาเป็นเกณฑ์ในการวิพากษ์วิจารณ์ได้ กล่าวคือ (๑) ประเด็นที่นำเสนอที่อยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริง ซึ่งสังคมโดยทั่วไปรับรู้ได้ว่าพฤติกรรมหรือนโยบายนั้นอาจจะมีข้อบกพร่องอยู่ (๒) การนำเสนอนั้นควรจะวางภาษา และท่าทีให้เหมาะสม เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นหลายครั้งมิได้หมายความว่าเนื้อหาในการนำเสนอไม่ดี หรือไม่มีประโยชน์ แต่ประเด็นอยู่ที่วิธีการและท่าทีในการนำเสนอที่ไพเราะและให้เกียรติ (๓) การนำเสนอนั้นจำเป็นที่จะต้องสอดรับกาลเวลาที่เหมาะสม (๔) การวิพากษ์วิจารณ์จะต้องอยู่บนฐานของการเชื่อมสมานสามัคคี ทั้งผู้พูด หรือผู้ที่ได้รับการวิจารณ์ รวมไปถึงกลุ่มคนที่สนับสนุน (๕) สิ่งที่วิพากษ์วิจารณ์นั้นจะต้องก่อให้เกิดประโยชน์แก่ชุมชน สังคม และประเทศชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อาจจะก่อให้เกิดประโยชน์แก่ผู้นำทางการเมืองที่จะได้รับทางเลือกในการปฏิบัติที่หลากหลายและรอบด้านมากยิ่งขึ้น (๖) การวิพากษ์วิจารณ์ควรจะดำรงอยู่บนฐานของเมตตาธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เจตนารมณ์ในการสื่อสารนั้น ควรมุ่งที่ก่อให้เกิดผลในเชิงบวก ควรหลีกเลี่ยงการสื่อสารที่จะอาจจะก่อให้เกิดความขัดแย้งจนนำไปสู่ความรุนแรงทั้งการพูด และการแสดงออก
(๕) บทบาทในการชุมนุมเพื่อเรียกร้องความต้องการทางการเมือง ในปัจจุบันและอนาคตนั้น การดำเนินกิจการทางการเมืองของพระสงฆ์ตามแนวทางนี้ แม้ว่าประเพณีในสังคมไทย พระธรรมวินัย และกฎหมายรัฐธรรมนูญจะเปิดพื้นที่ให้ (ก) พระสงฆ์สามารถดำเนินการประกาศคว่ำบาตรด้วยมติของสงฆ์ ทั้งระดับหมู่บ้านจนถึงระดับประเทศต่อกลุ่มบุคคลที่กระทำผิดต่อพระพุทธศาสนา ทั้งการพูด การแสดงออก หรือการดำเนินนโยบายที่กระทบ หรือขัดกับหลักธรรมวินัย อันจะนำไปสู่ความดำรงอยู่ของพระพุทธศาสนาอย่างยั่งยืน เพื่อตักเตือนด้วยความปรารถนาดีให้หยุดพฤติกรรมต่างๆ (ข) คว่ำบาตรต่อรัฐ หรือนักการเมืองที่ดำเนินนโยบายกระทบต่อวิถีชีวิตของพลเมืองและวิถีธรรมของชุมชน สังคม และศาสนา เพื่อรักษาผลประโยชน์และวัฒนธรรมอันดีงามของสังคมไทย
อย่างไรก็ตาม การแสดงออกในลักษณะดังกล่าว พระสงฆ์ควรระมัดวังการเข้าร่วมการชุมนุมทางการเมืองกับกลุ่มการเมืองในเชิงปัจเจกที่ไม่สัมพันธ์กับการคว่ำบาตรในพระพุทธศาสนา อีกทั้งระมัดระวังท่าทีการแสดงออกทางกาย วาจา และใจที่อาจจะแสดงออกด้วยความรุนแรงภายใต้อิทธิพลของความโลภ ความโกรธ และความหลง ซึ่งจะส่งผลต่อการเลือกข้าง แบ่งฝักแบ่งฝ่าย ให้คุณ ให้โทษต่อกลุ่มการเมือง อันจะขัดต่อหลักการที่ศาสนาห้ามมิให้ประจบตระกูล เพื่อให้ได้มาซึ่งลาภ ยศ สรรเสริญ ซึ่งจะส่งผลเสียต่อความอยู่รอดพระพุทธศาสนาในรูปขององค์กรในระยะสั้น และระยะยาว
สำหรับเกณฑ์ชี้วัดการเข้าไปร่วมชุมนุมทางการเมืองของพระสงฆ์ จำเป็นต้องประเมินทั้ง (๑) แนวคิด (Concept) อันเป็นที่มาของข้อเรียกร้อง เจตนารมณ์ในการเรียกร้อง วัตถุประสงค์ในการเรียกร้อง เหตุและผลในการเรียกร้อง ที่มาของแนวคิดในการเรียกร้อง ผลประโยชน์และความต้องการ (๒) เนื้อหา (Content) เนื้อหาในการนำเสนอ ขอบเขตของเนื้อหา ความน่าจะเป็นของเนื้อหา คุณและโทษอันจะเกิดจากเนื้อหา รายละเอียดของเนื้อหา ความน่าเชื่อถือของเนื้อหา แหล่งอ้างอิงของเนื้อหา วิธีการนำเสนอของเนื้อหา และ (๓) บริบท (Context) ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา ประวัติศาสตร์ของการชุมนุม คนหรือกลุ่มคนที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุม สถานที่ในการจัดการชุมนุม เวลาและจังหวะในการเข้าร่วมการชุมนุม สถานการณ์การชุมนุม สภาพการเมือง/เศรษฐกิจ และท่าทีของชุมชนและสังคม ทั้งนี้ เกณฑ์ชี้วัดทั้ง ๓ ประการนั้น จำเป็นอย่างยิ่งต้องสอดรับกับหลักการพระธรรมวินัย ประเพณี และกฎหมายที่เป็นกรอบในการพระพฤติปฏิบัติของพระสงฆ์ในสังคมไทย
ข้อสังเกตที่กลุ่มคนจำเป็นมากให้แนวทางคือ การที่พระสงฆ์จะชุมนุมเพื่อเรียกร้องความต้องการทางเมืองนั้น ไม่มีความจำเป็นอันใดที่พระสงฆ์จะเข้าร่วมกับกลุ่มการเมืองกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เพราะจะนำไปสู่การแบ่งฝ่าย และจะทำให้สูญเสียภาพความเป็นกลางของพระสงฆ์ ถ้าพระสงฆ์ไม่เห็นด้วยกับแนวคิด หรือการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งของผู้นำทางการเมือง พระสงฆ์สามารถประกาศเจตนารมณ์ได้โดยตรงอยู่แล้ว โดยไม่จำเป็นต้องเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เพราะอาจจะทำให้พระสงฆ์เป็นเครื่องมือให้กลุ่มการเมืองอ้างความชอบธรรมในการเข้าร่วมของพระสงฆ์ต่อการเรียกร้องของกลุ่มการเมืองเอง กรณีศึกษาที่ชัดเจนต่อผลเสียอันเกิดจากการเข้าร่วมกับพรรคการเมืองของพระสงฆ์บางรูปดังกล่าว สามารถประเมินผลเสียได้จากประเทศศรีลังกา และพม่า ซึ่งทำให้ผู้นำทางการเมืองมิได้ตระหนักรู้ว่า พระสงฆ์ที่เข้าร่วมเป็นทรัพยากรของพระพุทธศาสนาในภาพรวม หากแต่เป็นกลุ่มคนที่ฝักใฝ่ทางการเมืองของกลุ่มผลประโยชน์ทางการเมืองอีกด้านหนึ่ง
(๖) บทบาทในการใช้สิทธิเลือกตั้งนักการเมือง ในขณะรัฐของประเทศศรีลังกา และประเทศกัมพูชาได้เปิดพื้นที่ให้พระสงฆ์ได้ทำหน้าที่ในการใช้สิทธิในการเลือกตั้งนักการเมืองในทุกระดับเพื่อเข้าไปทำหน้าที่ในรัฐสภา แต่กฎหมายรัฐธรรมนูญของประเทศไทยตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๗๕ ได้กันพื้นที่ในการใช้สิทธิเลือกตั้งของพระสงฆ์ออกไปจากการเมือง แม้กฎหมายจะบัญญัติเอาไว้ การเลือกตั้งเป็นหน้าที่ไม่ใช่สิทธิก็ตาม การจำกัดสิทธิในการเลือกตั้งได้ทำให้เกิดการถกเถียงในสังคมไทยทั้งในเชิงบวกและเชิงลบ ซึ่งข้อถกเถียงดังกล่าวมีเหตุผล และชุดอธิบายที่แตกต่างกัน
กลุ่มที่สนับสนุนให้พระสงฆ์ได้ใช้สิทธิในการเลือกตั้งได้ให้เหตุผลที่น่าสนใจว่า (๑) พระสงฆ์เป็นกลุ่มคนดีมีคุณภาพ (๒) พระสงฆ์เป็นกลุ่มคนที่ซื่อสัตย์ ไม่เห็นแก่ประโยชน์ (๓) การเลือกตั้งเป็นการกำหนดชะตากรรมพระสงฆ์ (๔) การเลือกตั้งเป็นเครื่องมือปกป้องพระพุทธศาสนา (๕) การเลือกตั้งเป็นสิทธิของพลเมืองทุกคน (๖) ประเทศนับถือพระพุทธศาสนาให้พระสงฆ์เลือกตั้งได้ จะเห็นว่า ชุดวิธีในการอธิบายเพื่ออ้างเหตุผลให้พระสงฆ์สามารถใช้สิทธิในการเลือกตั้งได้นั้น ส่วนหนึ่งเกิดจากคุณภาพเสียงของพระสงฆ์เอง แต่ในขณะเดียวกัน บางกลุ่มได้ยกข้ออ้างจากประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนาที่ได้เปิดพื้นที่ให้พระสงฆ์
อย่างไรก็ตาม กลุ่มที่ไม่สนับสนุนให้พระสงฆ์มีสิทธิในการเลือกตั้ง ได้ยกเหตุผล และความน่าจะเป็นมาอ้างเช่นกันว่า (๑) การเมืองเป็นการแย่งชิงผลประโยชน์ และอำนาจ (๒) การเลือกตั้งเป็นการแสดงออกถึงการเลือกข้างใดข้างหนึ่ง แม้ว่าข้างนั้นจะมีความโดดเด่นเชิงคุณภาพก็ตาม (๓) การเลือกตั้งมีแนวโน้มที่พระสงฆ์จะพัฒนาตนเองไปเป็นหัวคะแนน และเป็นมือปืนรับจ้างนักการเมือง (๔) จะก่อให้เกิดความขัดแย้งระหว่างพระสงฆ์ที่เลือกสนับสนุนกลุ่มการเมืองต่างๆ (๕) การให้คุณให้โทษแก่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง (๖) สังคมขาดหลักในการพึ่งพาหากพระสงฆ์เลือกข้าง (๗) พระสงฆ์จะตกเป็นเครื่องมือของนักการเมือง (๙) การเลือกตั้งเป็นโลกียวิสัยที่พระสงฆ์ไม่ควรเข้าไปเกี่ยวข้อง (๙) การเลือกตั้งไม่ใช่หน้าที่ของพระสงฆ์ (๑๐) พระธรรมวินัยไม่เปิดช่องให้พระสงฆ์สามารถเลือกตั้งได้ (๑๑) กฎหมายไม่เปิดช่อง และ(๑๒) การเลือกตั้งไม่สอดรับกับประเพณีปฏิบัติที่เปิดโอกาสให้พระสงฆ์เลือกตั้งได้
หากจะวิเคราะห์จากข้ออ้างที่พาดพิงถึงบทบาทในการเลือกตั้งของพระสงฆ์ในประเทศศรีลังกาและประเทศกัมพูชา จะพบประเด็นที่น่าสนใจว่า ในยุคปัจจุบันนี้ พระสงฆ์กระแสหลักของทั้งสองประเทศนั้นมิได้มีความยินดีพร้อมใจที่จะมีบทบาทในการใช้สิทธิในการเลือกตั้ง และจากการสัมภาษณ์จะพบว่า หากเลือกได้นั้น พระสงฆ์เหล่านั้นเลือกที่จะไม่ไปใช้สิทธิในการเลือกตั้งนักการเมือง เพราะสภาพการณ์ทางการเมืองนั้นชี้ชัดว่า นักการเมืองได้ใช้พระสงฆ์ไปเป็นเครื่องมือในการได้มาซึ่งการเลือกตั้ง ทั้งการสัญญาว่าจะให้ การนิมนต์พระสงฆ์ไปทำหน้าที่ในการกล่าวสนับสนุน หรือพระสงฆ์บางรูปได้กลายเป็นหัวคะแนนให้แก่นักการเมือง ผลกระทบบางส่วนที่ตามมาคือ พระสงฆ์ในวัดเกิดความขัดแย้ง เพราะอุดมการณ์ทางการเมืองของพระสงฆ์ในแต่ละวัดมีความแตกต่างกัน
อย่างไรก็ตาม เมื่อวิเคราะห์แนวโน้มในอนาคตต่อบทบาทนี้ของพระสงฆ์ในสังคมไทย ข้อมูลของประเทศต่างๆ รวมถึงประเทศไทยชี้ชัดไปในทิศทางเดียวกัน “ตัวแปรสำคัญที่จะทำให้พระสงฆ์เรียกร้องบทบาทในการใช้สิทธิเพื่อเลือกตั้งนักการเมือง” จะเกิดขึ้นจากปัจจัยดังต่อไปนี้ (๑) การดำเนินนโยบายของรัฐต่อพระพุทธศาสนาที่ขาดความเข้าใจ และไม่สนับสนุนพระพุทธศาสนาอย่างจริงจัง แม้ว่าประชาชนส่วนใหญ่ของสังคมไทยจะนับถือพระพุทธศาสนาก็ตาม (๒) การขาดการตระหนักรู้ของนักการเมืองต่อชะตากรรมของพระพุทธศาสนา ทั้งในเชิงพฤตินัยและนิตินัย (๓) การดำเนินนโยบายของศาสนิกและศาสนาอื่นๆ ที่กระทบต่อความรู้สึกของพุทธศาสนิกชน หรือการไม่สามารถที่ป้องกันมิให้ศาสนาหรือศาสนิกของศาสนาอื่นๆ ทำร้าย หรือกระทำการณ์ที่บั่นทอนพระพุทธศาสนาในลักษณะต่างๆ
บทเรียนที่น่าสนใจที่เป็นเครื่องมือในการจุดประกายให้พระสงฆ์ชักนำตัวเองเข้าไปสู่การขอใช้สิทธิในการเลือกตั้ง รวมไปถึงการขอใช้สิทธิ์เพื่อลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นนักการเมืองนั้น “ตัวแปรสำคัญจึงขึ้นอยู่กับนักการเมือง หรือผู้นำทางการเมืองขาดการตระหนักรู้ และใส่ใจต่อความอยู่รอดของศาสนาทั้งในแง่ของการรักษาธรรม และการดำรงอยู่ของศาสนา” สิ่งที่สามารถนำมายืนยันสมมติฐานดังกล่าว คือ พระสงฆ์ประเทศศรีลังกาได้ตั้งพรรคการเมืองชื่อ “Jathika Hela Urumaya: JHU” พระสุมังคละ หัวหน้าผู้สมัครในกรุงโคลัมโบเห็นว่า “การเลือกตั้งเป็นเพียงสงครามธรรม (Dhamma Yuddhaya) หรือธรรมยุทธ์ เพื่อปกป้องศาสนาพุทธและชนชาติสิงหล” พระเมตตานันทะและ ท่านธรรมโลกาชี้ว่า “รัฐบาลล้มเหลวในการปกป้องศาสนาพุทธ จนทำให้พระสงฆ์ต้องออกมาต่อสู้เพื่อให้ได้กฎหมายป้องกันการเปลี่ยนศาสนาโดยไร้จรรยา... ดังนั้น พระสงฆ์จำเป็นต้องสมัครรับเลือกตั้ง เพื่อป้องกันประเทศ และปิดกั้นไม่ให้นักการเมืองกระหายอำนาจเข้ามาแสวงหาประโยชน์และส่งผลกระทบต่อพระพุทธศาสนา”
พระสงฆ์และนักวิชาการด้านพระพุทธศาสนาจำนวนหนึ่งชี้ชัดว่า ตัวแปรสำคัญประการหนึ่งที่นำไปสู่ความเจริญหรือความเสื่อมของพระพุทธศาสนานั้น สัมพันธ์กับนักการเมืองที่ทำหน้าที่ในการกำหนดนโยบาย และการบริหารบ้านเมือง ถึงกระนั้น แรงบีบคั้นจากตัวแปรภายนอกที่มาจากการรุกรานทางศาสนา ประเด็นปัญหาเรื่องชาติพันธุ์ และการดำเนินนโยบายทางการเมืองของนักการเมือง ได้กลายเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้พระสงฆ์ใน ๔ ประเทศจำเป็นต้องออกมาทำหน้าที่ในการแสดงออกทางการเมืองโดยการเรียกร้อง การใช้สิทธิทางการเมือง และการเป็นนักการเมือง เพื่อปกป้องความอยู่รอดของพระพุทธศาสนา ถึงแม้ว่าบางครั้งอาจจะทำให้เกิดการตั้งคำถามต่อการใช้ศาสนาเป็นข้ออ้าง แต่เมื่อวิเคราะห์จากปัจจัยภายนอกต่างๆ แล้ว ทำให้การเคลื่อนไหวทางการเมืองของพระสงฆ์เหล่านั้นมีน้ำหนักมากยิ่งขึ้น
ข้อเสนอแนะจากการวิจัย
พระพุทธศาสนากับการเมืองเป็น “สัญลักษณ์ของความร่วมมือในการพัฒนารัฐมาอย่างตั้งแต่สมัยพุทธกาลจนถึงปัจจุบัน” การพัฒนารัฐนั้น การเมืองเป็นตัวแปรสำคัญในการพัฒนากายและวัตถุ และเพื่อให้การพัฒนากายและวัตถุเป็นไปอย่างประสานสอดคล้อง จึงมีความจำเป็นต้องจัดวางระเบียบและกฎเกณฑ์ต่างๆ เพื่อให้พลเมืองอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข และเคารพในความเป็นมนุษย์ของกันและกัน ซึ่งเหตุผลนี้ จึงทำให้พระพุทธศาสนาเข้ามาช่วยรับภาระในการพัฒนาจิตใจโดยการนำศีลธรรมที่เป็นความจริงของธรรมชาติมาออกแบบให้สอดรับกับกฎ กติกา ระเบียบ กฎหมาย และวิถีชีวิตของพลเมือง ฉะนั้น พระพุทธศาสนากับการเมืองจึงเป็นประดุจ “เหรียญสองด้านของการพัฒนารัฐ” ซึ่งเป็นการพัฒนาทั้งมิติของกายและจิตใจ
การศึกษาวิจัยครั้งนี้ สามารถสรุปเป็นข้อเสนอแนะพระสงฆ์ที่เข้าไปแสดงบทบาทต่อการเมือง นักการเมือง และองค์กรต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติที่ถูกต้องและเหมาะสมทั้งต่อพระสงฆ์และนักการเมืองในต่อไป ดังนี้
๑. ข้อเสนอแนะต่อพระสงฆ์ในเชิงปัจเจก
(๑) การเข้าร่วมกับกิจกรรมทางการเมือง จึงควรมีจุดยืนที่ถูกต้อง และเที่ยงธรรม พระสงฆ์ไม่ควรเข้าไปสนับสนุน หรือต่อต้านระบอบการเมือง กลุ่มการเมือง หรือนักการเมืองใดๆ ที่ตนชื่นชอบและเกลียดชังเป็นการส่วนตน แต่ควรมีเมตตา และอุเบกขา พระสงฆ์อาจจะทำหน้าที่เป็น “มัคคุเทศก์” ในการชี้แนะแนวทางแก่นักการเมืองที่มีภูมิคุ้มกันทางคุณธรรมและจริยธรรมที่บกพร่อง และพร้อมที่จะมอบธรรม และคำแนะนำที่เหมาะสมแก่ระบบการเมือง กลุ่มการเมือง และนักการเมืองต่างๆ ในเวลาที่ถูกต้องและเหมาะสม และสอดรับกับความต้องการและสถานการณ์ทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง
(๒) อันตรายที่พระสงฆ์ควรระวังเมื่อเข้าไปเกี่ยวข้องกับการเมือง ก็คือ ลาภ เงินทอง เกียรติยศ ชื่อเสียง เมื่อมีสิ่งเหล่านี้มากขึ้น มันจะปิดบังดวงใจให้มืดบอด ขาดอิสรภาพ แทนที่จะทำหน้าที่เป็นสัญลักษณ์แห่งคุณธรรม และผู้นำทางวิญญาณของประชาชน และนักการเมืองทั่วไป กลับกลายเป็นเครื่องมือและบริวารของนักการเมือง และกลุ่มผลประโยชน์นักการเมือง
(๓) สถานการณ์บางอย่างสะท้อนว่า แม้กฎหมายจะห้ามพระสงฆ์ไม่ให้เข้าไปใช้สิทธิในการเลือกตั้งทางการเมือง แต่ในเชิงพฤตินัยพระสงฆ์ได้ให้การสนับสนุนนักการเมือง หรือกลุ่มการเมืองค่อนข้างชัดเจน ดังจะเห็นได้จากการที่นักการเมืองบางกลุ่มเข้าไปร่วมกิจกรรม และสนับสนุนกิจกรรมของบางวัด ผลเสียที่จะตามมาคือ สำนักต่างๆ อาจจะคำนึกถึงความอยู่รอดของตัวเองโดยไม่ใส่ใจต่อความอยู่รอดของพระศาสนา เมื่อพรรคการเมืองที่เป็นคู่แข่งเข้ามามีอำนาจบริหารจัดการรัฐ กิจกรรมที่สัมพันธ์กับนักการเมืองจะลดลง และให้ความสำคัญน้อยลง ฉะนั้น การวางตนเป็นกลางไม่ว่าจะชอบหรือไม่ชอบนักการเมือง กลุ่มการเมือง หรือพรรคการเมืองก็ตาม โดยไม่แสดงออกในเชิงของการให้คุณและให้โทษแก่นักการเมือง และพรรคการเมืองย่อมเป็นตัวแปรสำคัญที่จะรักษาพระพุทธศาสนาเอาไว้ในระยะยาว
๒. ข้อเสนอแนะต่อสถาบันสงฆ์
(๑) จากข้อเสนอของนักวิชาการที่คาดหวังต่อสถาบันสงฆ์เพื่อเข้าไปมีส่วนสำคัญในการเสริมสร้างสันติสุขให้แก่ประชาชนและสังคมนั้น ผู้วิจัยเห็นว่า เห็นควรจัดตั้งสถาบัน หรือกลุ่มงานด้านจัดการความขัดแย้งในทุกๆ จังหวัด โดยกำหนดให้ ๑ จังหวัด ๑ ศูนย์จัดการข้อพิพาททั้งประเด็นสิ่งแวดล้อม ครอบครัว วัด ชุมชน วัฒนธรรม และมิติอื่นๆ ในจังหวัดนั้น เพื่อเป็นศูนย์กลางในการศึกษา และวิเคราะห์ภูมิปัญญาท้องถิ่นในการจัดการความขัดแย้ง และเป็นศูนย์กลางในการจัดการความขัดแย้งระหว่างนักการเมืองทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับชาติได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป
(๒) จากความคาดหวังของนักวิชาการ และนักประชาธิปไตยในสังคมไทย มุ่งหวังให้พระสงฆ์เข้าไปร่วมมือกับรัฐ และภาคเอกชนต่างๆ เพื่อพัฒนาประชาธิปไตยตั้งแต่ฐานรากโดยเริ่มจากชุมชนนั้น สถาบันสงฆ์ควรปรับทิศทางการพัฒนาพระสงฆ์ให้เรียนรู้และเข้าใจการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยเพิ่มมากยิ่งขึ้น โดยอาจจะจับมือกับหน่วยงานภาครัฐจัดหลักสูตรประกาศนียบัตรเกี่ยวกับพระสงฆ์ยุคใหม่กับการพัฒนาประชาธิปไตย แล้วให้พระสงฆ์ได้เข้าไปทำหน้าที่ในการพัฒนาพลเมืองที่พึงประสงค์ในพุทธศตวรรษที่ ๒๖ ตั้งแต่ระดับชุมชนฐานราก
(๓) ปัจจุบันนี้ พระสงฆ์บางรูปเข้าไปดำเนินกิจกรรมกับนักการเมืองอย่างชัดเจนมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะกรณีการขึ้นเวทีเพื่อแสดงความเห็น และวิพากษ์วิจารณ์กลุ่มการเมืองต่างๆ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสถาบันสงฆ์ในวงกว้าง ในกรณีที่พระภิกษุเข้าไปแสดงออกทางการเมืองแล้วก่อให้เกิดคำถามถึงความถูกต้องและเหมาะสมนั้น สถาบันสงฆ์ซึ่งเป็นพระสงฆ์กระแสหลัก และมีพระภิกษุนักวิชาการที่เข้าใจ และเชี่ยวชาญในหลักการพระพุทธศาสนา เห็นควรให้นำพระสงฆ์เหล่านั้นมาเป็นคณะทำงานในชุดอนุกรรมการเพื่อร่วมหาทางตอบคำถามสื่อมวลชน หรือค้นคว้าทำวิจัยเพื่อหาแนวทางในการจัดการกับประเด็นเหล่านั้น
๓. ข้อเสนอแนะต่อนักการเมือง และผู้นำทางการเมือง
(๑) จากกรณีที่พระสงฆ์ และนักวิชาการด้านพระพุทธศาสนาจำนวนมาก ไม่มั่นใจในท่าที และแนวทางการพัฒนาพระพุทธศาสนาให้อยู่รอด และมั่นคงได้ จึงเป็นผลให้พระสงฆ์ และนักวิชาการเหล่านั้น ออกมาเรียกร้องเพื่อเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองเพิ่มมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กรณีการใช้สิทธิในการเลือกตั้งนักการเมือง เพื่อเข้าไปทำหน้าที่ในการปกป้อง และคุ้มครองพระพุทธศาสนา จึงเป็นการสมควรอย่างยิ่งที่นักการเมือง หรือชนชั้นปกครองจะต้องอธิบาย และหาแนวทางพัฒนาพระพุทธศาสนาให้สอดรับกับความต้องการของพระสงฆ์ และนักวิชาการจำนวนมากที่ห่วงใย ซึ่งการเข้าไปศึกษา และพัฒนาให้สอดรับกับข้อเรียกร้องจะเป็นการปิดพื้นที่ไม่ให้พระสงฆ์ได้ใช้ข้ออ้างดังกล่าวเข้ามาสู่การเข้าร่วมกิจกรรมการเมืองกับกลุ่มต่างๆ ซึ่งจะให้การแก้ไขปัญหาต่างๆ ยากยิ่งขึ้นไปด้วย
(๒) จากข้อสังเกตต่อกฎหมายรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๐๐ ที่ปิดพื้นที่มิให้พระสงฆ์แสดงออกทางการเมืองโดยการใช้สิทธิเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภานั้น แนวทางดังกล่าวถือได้ว่าเป็นการสอดรับกับวัฒนธรรม หรือประเพณีทางการเมืองที่เคยปฏิบัติตั้งแต่ ปี พ.ศ. ๒๔๗๕ แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป รัฐจะมีชุดอธิบายอย่างไร จึงจะทำให้พระสงฆ์รุ่นใหม่ที่เรียกร้องมิให้มีการจำกัดสิทธิดังกล่าว เพราะการจำกัดเช่นนั้น ถือว่าเป็นการทำให้กฎหมายรัฐธรรมนูญมีการย้อนแย้งกันเอง การร่างกฎหมายรัฐธรรมฉบับใหม่ในอนาคต เชื่อมั่นว่าพระสงฆ์รุ่นใหม่จะเรียกร้องให้มีการปรับเปลี่ยนประเด็นกฎหมายในลักษณะดังกล่าว จึงเสนอให้ผู้นำทางการเมืองเปิดเวทีเพื่อรับฟังความคิดเห็นในประเด็นนี้อย่างรอบด้าน และเมื่อแต่ละฝ่ายยอมรับเป็นฉันทามติแล้ว ย่อมจะทำให้การอธิบายเหตุผลเพื่อสนับสนุนต่างๆ มีความชอบธรรมมากยิ่งขึ้น
(๓) จากที่นักการเมืองตั้งข้อสังเกตของพระสงฆ์ต่อการวิพากษ์นักการเมือง และกล่าวหาว่า “ไม่ใช่กิจของพระสงฆ์” และมีท่าทีในเชิงลบต่อพระสงฆ์นั้น จึงเป็นการสมควรที่นักการเมืองจะต้องเปิดพื้นที่ให้พระสงฆ์ได้ทำหน้าที่ดังกล่าวเช่นเดียวกับพลเมือง หรือสื่อมวลชนโดยทั่วไป และในขณะเดียวกัน หากมีการวิพากษ์วิจารณ์โดยไม่สุจริตจนก่อให้เกิดการหมิ่นประมาท นักการเมืองสามารถฟ้องร้องได้อยู่แล้ว ความจริงแล้ว นักการเมืองควรน้อมรับต่อท่าทีดังกล่าว และดำเนินตามกรอบ “ปริปุจฉา” คือ การเข้าไปหาสมณะเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์และมุมมองต่างๆ อันจะเกิดประโยชน์ต่อการดำเนินนโยบายทางการเมืองมากยิ่งขึ้น
(๔) จากการที่กลุ่มคนต่างๆ วิพากษ์วิจารณ์ต่อประเด็นที่นักการเมืองชักจูง หรือโน้มน้าวพระสงฆ์ให้ทำหน้าที่เป็น “หัวคะแนน” เพื่อให้ได้มาซึ่งผลในการเลือกตั้งจากประชาชนนั้น จึงเสนอว่า นักการเมืองจำเป็นต้องระมัดระวังบทบาทและท่าทีดังกล่าว เพราะการดำเนินการเช่นนั้นอาจจะได้รับการเลือกตั้งอันเป็นผลประโยชน์ส่วนตน แต่อาจจะนำไปสู่ผลเชิงลบต่อพระสงฆ์ และสถาบันสงฆ์ในระยะยาวมากยิ่งขึ้น เพราะพระสงฆ์หรือวัดในชุมชนมิได้เป็นสมบัติส่วนตัวของนักการเมืองหากแต่เป็นสมบัติสาธารณะที่ทุกพรรคการเมืองจำเป็นต้องรักษาเอาไว้ เพื่อให้พระสงฆ์เป็นที่พึ่งที่ระลึกอย่างแท้จริงของทุกกลุ่มในสังคมและชุมชนตามเจตนารมณ์ของพระพุทธเจ้าที่ว่า “สังฆัง สรณัง คัจฉามิ”
(๕) นักการเมืองควรประสานความร่วมมือกับพระสงฆ์ในการพัฒนาพลเมือง สนับสนุนทั้งงบประมาณ และเครื่องมือในการพัฒนา โดยเริ่มต้นการศึกษาทำความเข้าใจพุทธธรรมให้ถ่องแท้ โดยมีพระสงฆ์เป็นพี่เลี้ยงคอยแนะนำให้คำแนะนำ ทั้งในด้านการศึกษา และปฏิบัติ นักการเมืองมีปัจจัยเพียบพร้อม ถวายความสะดวกให้แก่พระสงฆ์โดยตั้งใจว่า “พระสงฆ์รูปใดที่ยังไม่มาก็ขอให้มา ที่มาแล้วขอให้บำเพ็ญสมณธรรมอย่างสันติสุข” โดยการถวายความปลอดภัย และอำนวยความสะดวกแก่ท่าน เพื่อเปิดพื้นที่ให้พระสงฆ์ได้ทำหน้าที่ในการพัฒนาพลเมืองร่วมกับนักการเมือง
(๖) ภายใต้สถานการณ์ความขัดแย้งและความรุนแรงทางการเมืองเพื่อช่วงชิงอำนาจในการบริหารบ้านเมือง จนนำไปสู่การแบ่งฝ่าย และเกลียดชังซึ่งกันและกันตามที่ปรากฏในช่วง ๑๑ ปีที่ผ่านมา (๒๕๔๕-๒๕๕๗) นักการเมืองไม่ควรที่จะอาศัยช่วงจังหวะดังกล่าวดึงพระสงฆ์ทั้งในเชิงองค์กร และปัจเจกบุคคลเข้ามาเป็นแนวร่วม หรือเป็นสัญลักษณ์เพื่อสร้างความยอมรับ และความชอบธรรมทางการเมือง ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการแย่งชิงอำนาจทางการเมืองการปกครองควร “กัน” พระสงฆ์ออกจากพื้นที่ดังกล่าว โดยการเปิดพื้นที่ให้พระสงฆ์ได้แสดงบทบาทในการเรียกร้อง หรือสร้างความปรองดองของประชาชนในชาติอย่างเป็นรูปธรรม และเป็นระบบภายใต้การสนับสนุนจากฝ่ายต่างๆ
(๗) จากข้อสังเกตของนักวิชาการ และพระสงฆ์จำนวนมากที่ชี้ชัดว่า ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๗๕ เป็นต้นมา รัฐ หรือผู้นำทางการเมืองได้กันพื้นที่ของศาสนา หรือศีลธรรมออกจากการเมือง คงเหลือไว้เฉพาะการให้ศาสนาเป็นเครื่องมือตอบสนองพิธีกรรมทางการเมืองเท่านั้น ผลเสียที่ตามมาจึงทำให้นักการเมือง หรือผู้นำทางการเมืองขาดคุณธรรมจริยธรรมจนนำไปสู่การทุจริตคอรัปชั่นในกิจกรรมและโครงการต่างๆ จึงเห็นสมควรให้ผู้นำทางการเมืองได้เร่งสนับสนุนและส่งเสริมให้มีการปรับบูรณาการศีลธรรมกับประมวลจริยธรรมของสมาชิกรัฐสภาไปสู่การปฏิบัติที่มีประสิทธิผลมากยิ่งขึ้น และนำหลักการดังกล่าวมาพัฒนาให้เป็น “วิถีชีวิต” ที่นักการเมืองต้องปฏิบัติให้สอดรับกับการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดีต่อไป
๔. ข้อเสนอแนะต่อสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ
จากข้อเรียกร้องของพุทธศาสนิกชนจำนวนมากที่เกิดความกังวล และมีความสงสัยต่อพฤติกรรมของพระสงฆ์ที่เข้าไปประท้วงกับกลุ่มการเมืองต่างๆ ซึ่งทำให้พระสงฆ์สูญเสียภาพลักษณ์ของการเป็นที่พึ่งที่แท้จริงของพุทธศาสนิกชน และทำให้ประชาชนจำนวนมากไม่เชื่อมั่นและศรัทธาในพระพุทธศาสนาโดยภาพรวม จึงเป็นการสมควรที่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติดำเนินตามมาตรการต่อไปนี้
(๑) มาตรการระยะสั้น ควรตั้งอนุกรรมการแบบพหุภาคี ซึ่งประกอบด้วยสัดส่วนจากสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ และคณะทำงานทั้งฝ่ายพระสงฆ์นักวิชาการ และผู้เชี่ยวชาญที่เป็นผู้แทนจากส่วนงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น มหาวิทาลัยสงฆ์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ฝ่ายข่าวกรอง สื่อมวลชน และนักกฎหมาย เพื่อทำหน้าที่ในการตอบคำถาม ทั้งมิติของพระพุทธศาสนาและแผนดำเนินการทั่วไปของฝ่ายบ้านเมืองต่อข้อเรียกร้องดังกล่าว ซึ่งจะทำให้สามารถตอบคำถาม และดำเนินการจัดการกับปัญหาได้อย่างบูรณาการ และครอบคลุมมากยิ่งขึ้น
(๒) มาตรการระยะยาว ควรศึกษาวิเคราะห์ และวางแนวทางในการจัดการกับประเด็นปัญหา และข้อถกเถียงดังกล่าวให้สอดรับกับความเป็นจริง และความต้องการของพุทธศาสนิกชน แล้วนำเสนอแผนในการบริหารจัดการประเด็นดังกล่าวให้มหาเถรสมาคมได้พิจารณาสั่งการให้ฝ่ายต่างๆ ได้ดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป
๕. ข้อเสนอแนะต่อมหาวิทยาลัยสงฆ์
จากการที่นักวิชาการและประชาชนบางกลุ่มตั้งข้อสังเกตต่อมหาวิทยาลัยสงฆ์ว่า เมื่อเกิดความขัดแย้งจนนำไปสู่ความรุนแรงทางการเมือง ไม่เป็นที่ปรากฏว่ามหาวิทยาลัยสงฆ์ซึ่งเป็นศูนย์กลาง หรือเป็นหัวใจของการชี้แนะข้อมูลที่ถูกต้องไม่สามารถตอบคำถาม หรือออกมานำเสนอทางออกให้แก่สังคมได้อย่างเป็นรูปธรรมได้
(๑) แม้ว่าปัจจุบันนี้ คณาจารย์ของมหาวิทยาลัยจะรับภาระในการนำเสนอข้อมูลต่างๆ ให้แก่สังคมบ้างแล้วแต่เป็นไปในลักษณะเอกเทศ จากแนวทางนี้มหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้งสองแห่งสามารถเป็นทางเลือกให้แก่สังคมในร่วมตอบโจทย์ต่างๆ ที่สัมพันธ์กับพระสงฆ์กับการเมืองในมิติต่างๆ ว่าสอดคล้อง ถูกต้อง และเหมาะสมหรือไม่ อย่างไร รวมไปถึงการชี้แจ้งประเด็นคำถามต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเมือง หรือผู้นำทางการเมืองซึ่งส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของพลเมืองโดยรวม อีกทั้งกระทบต่อศีลธรรมอันดีงามของประชาชน
(๒) มหาวิทยาลัยสงฆ์ควรเป็นฐานข้อมูลทางวิชาการ เพื่อนำเสนอข้อมูลที่ถูกต้องในประเด็นต่างๆ ให้แก่ผู้นำทางการเมือง และพลเมือง ฉะนั้น การที่จะได้มาซึ่งข้อมูลดังกล่าวอย่างรอบด้านนั้น ควรจะต้องมีการเปิดพื้นที่ให้มีการวิจัยเกี่ยวกับประเด็นพระพุทธศาสนากับการเมืองในมิติอื่นๆ ทั้งด้านหลักธรรม ด้านการบริหารจัดการบ้านเมืองที่ดี และโครงสร้างทางการเมืองในวิถีพุทธบูรณาการควรจะเป็นไปในลักษณะใด อันจะทำให้สังคมไทยมีทางเลือกในการพัฒนาระบบการเมืองที่สอดรับกับวิถีไทยมากยิ่งขึ้น
๖.๒.๖ ข้อเสนอแนะต่อสื่อมวลชน
จากการที่ประชาชนจำนวนมากขาดความเชื่อมั่นในภาพลักษณ์ของพระสงฆ์ในภาพรวมอันเนื่องมาจากพระสงฆ์บางรูปเข้าไปเกี่ยวข้องกับกิจกรรมทางการเมืองร่วมกับพรรคการเมืองนั้น การนำเสนอภาพลักษณ์ของพระสงฆ์ผ่านสื่อต่างๆ นั้น
(๑) การนำเสนอข่าวควรจะเป็นไปเพื่อการพัฒนาให้พระสงฆ์ หรือองค์กรของพระสงฆ์ได้ใช้แง่มุมดังกล่าวไปปรับปรุงการบริหารจัดการองค์กรพระสงฆ์ ซึ่งการนำเสนอนั้น ควรจะสะท้อนแง่มุมที่เป็นความจริง และไม่นำเสนอข่าวเพิ่มสีสันอันจะนำไปสู่การได้มาซึ่งผลประโยชน์ต่อการดำเนินธุรกิจมากกว่าความอยู่รอดของพระพุทธศาสนา
(๒) ในสถานการณ์ของความขัดแย้งทางการเมือง ควรร่วมมือกับองค์กรสงฆ์เพื่อกระตุ้นเตือนให้สังคมได้เห็นทางออกของความขัดแย้ง โดยการนำเสนอ และสื่อสารภาพลักษณ์ในเชิงบวกที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตที่เปี่ยมสุขผ่านกิจกรรมต่างๆ เช่น การสวดมนต์ การบำเพ็ญสมาธิ และการส่งเสริมแนวทางเสริมสร้างสังคมสันติสุขที่พระสงฆ์ได้ร่วมกันทำกับชุมชนต่างๆ ซึ่งการนำเสนอในลักษณะนี้จะก่อให้เกิดภาพในเชิงบวกต่อการอยู่ร่วมกันท่ามกลางความแตกต่างๆ ของศาสนา ภาษา วัฒนธรรม และชาติพันธุ์
๖.๒.๗ ข้อเสนอแนะต่อพุทธศาสนิกชนทั่วไป
จากการที่พระสงฆ์เข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองกับพรรคการเมือง หรือแสดงอุดมการณ์ทางการเมืองกับกลุ่มต่างๆ จนทำให้สังคมมองประเด็นเรื่องความเป็นกลางทางการเมืองของพระสงฆ์นั้น พุทธศาสนิกชนจำเป็นต้องยึดมั่นใน “หลักธรรม” มากกว่า “พระสงฆ์” ที่แสดงออกมา โดยให้พิจารณาประเด็นที่พระสงฆ์เข้าไปเกี่ยวข้องว่าเป็นไปเพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุข และเพื่ออนุเคราะห์มหาชนในภาพรวมหรือไม่? หรือว่าเป็นไปเพื่อการตอบสนองอุดมการณ์ของพระสงฆ์ในเชิงปัจเจก หากกระทำการเป็นไปในเชิงลบ พุทธศาสนิกชนควรใช้มาตรการทางสังคม (Social Sanction) ต่อพระสงฆ์บางรูปที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับสถานการณ์ทางการเมืองในแนวทางที่ไม่สอดรับกับพระธรรมวินัย เพื่อให้พระสงฆ์ได้ปรับตัวเข้าสู่วิถี และบทบาทที่ควรจะเป็นของพระสงฆ์ต่อไป
ข้อเสนอแนะเพื่อการทำวิจัยครั้งต่อไป
การศึกษาวิจัยเรื่อง “แนวโน้มบทบาทของพระสงฆ์กับการเมืองไทยในสองทศวรรษหน้า” ในครั้งนี้ พบประเด็นปลีกย่อยจำนวนมากที่ผู้วิจัยมองว่า สมควรที่จะมีการศึกษาวิเคราะห์เพื่อต่อยอดองค์ความรู้ให้กว้างขวางต่อไป ดังจะเห็นได้จากตัวอย่างบางประเด็นตามรายละเอียดดังต่อไปนี้
(๑) ควรศึกษาวิจัยเรื่อง “รูปแบบและแนวทางการพัฒนาประชาธิปไตยเชิงพุทธบูรณาการที่สอดคล้องกับสังคมไทยในพุทธศตวรรษที่ ๒๖” ซึ่งองค์ประกอบสำคัญในการศึกษาประเด็นนี้คือ ประชาธิปไตยในยุคปัจจุบันเป็นแต่เพียงรูปแบบที่เราลอกเลียนแบบมาจากสังคมตะวันตก แต่ขาดเนื้อหาที่สะท้อนความเป็นประชาธิปไตยวิถีไทย ประชาธิปไตยในรูปแบบควรศึกษาทั้งโครงสร้างและเนื้อหาว่าควรจะเป็นไปในรูปแบบใด? และสถาบันสงฆ์ หรือพระสงฆ์ควรจะได้รับการจัดวางให้สอดรับกับโครงสร้างประชาธิปไตยแบบใหม่อย่างไร? เพราะรูปแบบการปกครองของประชาธิปไตยตั้งแต่ ๒๔๗๕ ได้กันพระสงฆ์ออกจากพื้นที่ของระบอบประชาธิปไตยจนกลายเป็นความแปลกแยกระหว่างพระสงฆ์กับการเมืองในบางมิติ
(๒) ควรศึกษาวิจัย เรื่อง “รูปแบบและแนวทางการพัฒนาพลเมืองเชิงพุทธบูรณาการในวิถีของการพัฒนาประชาธิปไตยที่พึงประสงค์” ในวิถีประชาธิปไตยนั้น พลเมืองถือได้เป็นตัวแปรสำคัญในการผลักดันให้ก้าวไปสู่การมีคุณภาพของระบอบประชาธิปไตย จะเห็นว่า “คุณภาพของประชาธิปไตยขึ้นอยู่กับคุณภาพของพลเมือง” ฉะนั้น การศึกษาในรูปแบบนี้ ควรศึกษาวิเคราะห์ และแสวงหารูปแบบที่พึงประสงค์ต่อการพัฒนาพลเมือง ประเด็นที่สำคัญบางส่วนในงานนี้ ควรจะเสนอว่า พระสงฆ์ควรมีช่องทาง หรือมีพื้นที่ในการเข้าไปช่วยพัฒนาพลเมืองอย่างไร? จึงจะทำให้พระสงฆ์มิได้มีสถานะเพียง “ส่วนเกิน” ในระบอบประชาธิปไตยและการพัฒนาพลเมืองไทยในยุคปัจจุบัน
(๓) ควรศึกษาวิจัย เรื่อง “ความเป็นไปได้ในการเลือกตั้งของพระสงฆ์ในพุทธศตวรรษที่ ๒๖: ปัญหา อุปสรรค และทางออกที่พึงประสงค์” แนวทางการศึกษาเรื่องนี้ น่าจะเป็นการนำเสนอประเด็นปัญหา อุปสรรค ข้อเรียกร้อง ประวัติศาสตร์ กฎหมาย และพระธรรมวินัยต่อความเป็นไปได้ในการใช้สิทธิเลือกตั้งของพระสงฆ์ในสังคมไทย เพื่อเป็นข้อมูลในอนาคตในกรณีที่จะหยิบประเด็นนี้มานำเสนอ และถกเถียงกันในสังคม เพราะที่ผ่านมานั้น การศึกษาด้านการเมืองการปกครองขาดข้อมูลส่วนนี้จำนวนมาก การศึกษาน่าจะตอบประเด็นคำถามหลายๆ ข้อได้
(๔) ควรศึกษาวิจัย เรื่อง “บทบาทและสถานะที่พึงประสงค์ของสถาบันสงฆ์ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยในพุทธศตวรรษที่ ๒๖” ประเด็นในการศึกษานั้น ควรจะมุ่งหาคำตอบให้ได้ว่า ในพุทธศตวรรษที่ ๒๖ นี้ ท่ามกลางกระแสของความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองนั้น สถาบันสงฆ์ในฐานะที่เป็นสถาบันหลักที่เป็นศูนย์รวมใจของประเทศชาติ ควรจะได้รับการจัดวางอย่างไร จึงจะสามารถบริหารจัดการได้สอดรับกับพุทธประสงค์และสนองตอบต่อความต้องการของชุมชน สังคม ประเทศชาติ และสังคมโลกได้
การศึกษาวิจัยเพื่อตอบประเด็นเหล่านี้ ผู้วิจัยมองว่า น่าจะทำให้เห็นภาพของพระสงฆ์กับการเมืองในมิติอื่นๆ ที่เป็นการสัมพันธ์ในด้านเนื้อหามากกว่าพิธีการ หรือรูปแบบ คำตอบที่จะได้รับย่อมก่อให้เกิดคุณูปการต่อพระพุทธศาสนาในฐานะที่เป็นองค์กร อีกทั้งจะทำให้พระพุทธศาสนาได้กลายเป็นวิถีชีวิต และลมหายใจของสังคมในมิติต่างๆ มากยิ่งขึ้น และเมื่อนั้น สังคมจึงจะสามารถตอบได้ว่า “เพราะเหตุใด? สังคมจึงจำเป็นต้องมีพระพุทธศาสนาเพื่อเป็นศูนย์รวมใจของชุมชน สังคม การเมือง ประเทศชาติ และสังคมโลกต่อไป”
|