Mahachulalongkornrajavidyalaya University
MCU Home Search Contacts Study Events Site Map Thai/Eng
MCU
ON THIS SITE
Curriculum
Academic Articles

First Page » พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส รศ.,ดร. ๒ » สภาไทย สภาพุทธ: จุดเริ่มต้นสันติสุข
 
counter : 8543 time

''สภาไทย สภาพุทธ: จุดเริ่มต้นสันติสุข''
 
Phramaha Hansa Dhammahaso (2556)

 รับนิมนต์จาก ศ.ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า ไปบรรยายให้แก่ข้าราชการเมือง ซึ่งทำหน้าที่เป็นผู้เชี่ยวชาญและผู้ชำนาญการประจำตัวของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกรัฐสภาจำนวนเกือบ ๑๐๐ ท่าน ณ สถาบันพระปกเกล้าในหัวข้อ "คุณธรรมและจริยธรรมสำหรับนักการเมืองไทย" อนึ่ง ผู้ชำนาญการบางส่วนที่เข้ารับฟังนั้น เป็นผู้เชี่ยวชาญประจำตัว สส. สามารถ ราชพลสิทธิ์ และ สส.ยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ซึ่งเคยเรียนร่วมกันในหลักสูตร ปปร. รุ่นที่ ๑๕ สถาบันพระปกเกล้า เมื่อสองปีที่แล้ว สังเกตเห็นว่า สส. ทั้งสองท่านเป็นนักการเมืองอาชีพที่นุ่มนวล รักเคารพ และให้เกียรติซึ่งกันและกันเสมอ

เนื้อหาที่เป็นสาระสำคัญบางส่วนได้พยายามนำเสนอเพื่อเป็นข้อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ คือ "การทำสภาให้เป็นสภาในความหมายที่แท้จริง" เพราะคำว่า สภาในความหมายที่แท้นั้น หมายถึง สถานที่ที่เป็นที่รวม พบปะ พูดคุยเพื่อหาทางออกของสัปบุรุษในฐานะกัลยาณมิตร ดังที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่า "เนสา สภา ยัตถะ นะ สันติ สันโต" แปลว่า "ที่ประชุมใดไม่มีสัปบุรุษ ที่ประชุมนั้นไม่เรียกว่าสภา" หมายความว่า สภานอกจากจะเป็นสถานที่คนดีที่ได้รับเลือกจากประชาชนให้เข้าไปทำหน้าที่ในสภา เพื่อสร้างคุณประโยชน์ให้แก่ชาติบ้านเมืองด้วยการพูดคุยเพื่ออกกฎเกณฑ์สำหรับใช้เป็นหลักในการประพฤติร่วมกันแล้ว สถานที่ดังกล่าวจะต้องเป็นแหล่งในการเสริมสร้าง และบ่มเพาะความสงบสุข และใช้สภาเป็นสถานที่ปรึกษาหารือเพื่อจัดการกับวิกฤติการณ์ต่างๆ ของบ้านเมืองได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย

คำว่า “สัปบุรุษ” หรือ “สัตบุรุษ” แปลว่า “คนดี” หรือ “คนที่มีความสงบ” ซึ่งหมายถึง “คนที่มีความสงบทางกาย วาจา และใจ” ฉะนั้น คนที่เป็นสัตบุรุษ คิด พูด หรือกระทำสิ่งใดแล้วนำไปสู่ความสงบ ร่มเย็น และเป็นสันติสุข และด้วยเหตุดังกล่าว พระพุทธเจ้าจึงได้วางตัวบ่งชี้เอาไว้ว่า คนที่จะได้ชื่อว่าเป็นสัตบุรุษได้นั้น จะต้องประกอบด้วยตัวชี้วัด ๗ ประการ คือ (๑) ความเป็นผู้รู้จักเหตุ (๒) ความเป็นผู้รู้จักผล ๓) ความเป็นผู้รู้จักตน (๔) ความเป็นผู้รู้จักประมาณ (๕) ความเป็นผู้รู้จักกาลเวลาหรือจังหวะ (๖) ความเป็นผู้รู้จักบริษัทหรือสังคม และ (๗) ความเป็นผู้รู้จักบุคคล 

“เหตุผลไม่จำเป็นต้องถูก แต่สิ่งที่ถูกจำเป็นต้องมีเหตุผล” ข้อที่ ๑ และ ๒ การนำเสนอเหตุผลนั้น ไม่ควรถือเอาแต่อำนาจหรืออารมณ์ของตัวเอง หรือกลุ่มของตัวเองเป็นใหญ่ โดยไม่สนใจเหตุผลของคนอื่น หรือกลุ่มอื่นๆ ความผิดปกติที่เกิดขึ้นคือ หลายครั้ง เหตุผลดีหรือไม่ดีไม่ได้ขึ้นอยู่ที่ตัวเหตุผล แต่อยู่ที่คนนำเสนอเหตุผล ทั้งๆ ที่เหตุผลอาจจะถูกต้อง สมสมัย และเอื้อต่อการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ แต่เพราะเราไม่ชอบคนที่นำเสนอเหตุผล จึงทำให้เหตุผลนั้นฟังไม่ขึ้นในแง่มุมของเรา

สรุปแล้ว สภาจึงเป็นศูนย์รวมของคนดีที่มีความสงบ ทั้งทางกาย วาจา และใจ และใช้สภาเป็นสถานที่ระดมข้อคิด ความเห็น รวมไปถึงข้อห่วงใยของพลเมือง ด้วยเหตุและผล ซึ่งตัวตนแต่ละท่านได้ประจักษ์ และรับรู้ผ่านการทำงานในแต่ละพื้นที่ โดยการนำเสนอเหตุผลที่สอดคล้องกับจังหวะเวลา และสอดคล้องกับความต้องการของบุคคล และชุมชน สังคม อย่างไรก็ดี นอกจากสภาจะสะท้อนผู้คนดีที่ทำหน้าที่ในสภาแล้ว สภายังเป็นภาพสะท้อนของหน้าตาพลเมืองไทยต่อพลเมืองโลกด้วย เพราะพลเมืองไทยเป็นผู้ที่เลือกสรรคนดีทั้งหลายเข้าไปทำหน้าที่อยู่สภาในฐานะเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย ฉะนั้น หน้าตาของคนดีที่อยู่ในสภา คือหน้าตาของพลเมืองไทยต่อพลเมืองโลก

(Source: Article)
 
 
 
Copyright © Mahachulalongkornrajavidyalaya University All rights reserved 
Maintained by: webmaster@mcu.ac.th 
Last Update : Thursday February 9, 2012