พลังสันติภาพของศาสนาคือความอยู่รอดของมนุษยชาติ
พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส, รศ.ดร.
ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิชาการ
โครงการหลักสูตรสันติศึกษา
มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
๑. บทนำ
ในขณะที่มนุษย์ร่วมโลกกำลังเผชิญหน้ากับความขัดแย้ง และความรุนแรง อันเนื่องจากการขาดขันติธรรมทางศาสนา (Religious Tolerance) ซึ่ง สะท้อนผ่านพฤติกรรมของคนบางคน หรือบางกลุ่มที่ขาดการเคารพ และให้เกียรติต่อหลักการ สัญลักษณ์ และความเชื่อทางศาสนาอื่นๆ ในวิถีทางที่ไม่เหมาะสมโดยการแสดงออกทางกาย และวาจาในเชิงลบมิติต่างๆ เมื่อ สถานการณ์ลุกลามขยายตัวออกไป ความขัดแย้งได้พัฒนาตัวเองไปสู่ความรุนแรง และในหลายสถานการณ์ วิกฤติการณ์ที่เกิดขึ้นได้เดินทางไปสู่สภาวะที่กำลังตีบตัน อีกทั้งอับจนหนทางในการแสวงหาทางออกอย่างสันติระหว่างเพื่อนร่วมโลก โศกนาฏกรรมสุดท้ายที่มักจะเกิดขึ้นคือ ความสูญเสียทั้งชีวิต และทรัพย์สิน ท่ามกลางเสียงร้องไห้ และหยาดน้ำตาของเพื่อนร่วมโลก
คำ ถามที่สำคัญก็คือ แม้ว่ามนุษยชาติจะแตกต่างกันทั้งศาสนาและความเชื่อ แต่ในฐานะที่เป็นมนุษย์ร่วมโลกที่รักความสุข เกลียดกลัวความทุกข์เช่นเดียวกัน พลังทางศาสนาในมิติต่างๆ จะเข้าไปช่วยฟื้นฟู และเชื่อมสมานสังคมโลกให้สามารถปรับวิธีคิด และท่าทีของการอยู่ร่วมกันได้อย่างไร จึงจะทำให้มนุษยชาติสามารถดำรงอยู่ร่วมกันอย่างมีขันติธรรม สามารถยอมรับ และอดทนต่อความแตกต่างทางวัฒนธรรม ศาสนา ภาษา อุดมการณ์และความเชื่ออย่างมีสติ
๒. ศาสนาช่วยโลก หรือว่าโลกช่วยศาสนา???
อย่างไรก็ดี ในขณะที่ศาสนากับเผชิญหน้ากับ “กระแสของความขัดแย้งและความรุนแรง” ที่กำลังแพร่หลายอยู่ในสังคมโลก มนุษยชาติได้ร่วมกันตั้งคำถามอันแหลมคมต่อการทำหน้าที่ของศาสนาเช่นเดียวกันว่า
(๑) ศาสนาจะเป็นส่วนหนึ่งของการร่วมนำเสนอทางรอด และร่วมแก้ปัญหาให้มวลมนุษยชาติได้อย่างไร? จึง จะทำให้มนุษยชาติไม่ตกอยู่ในห้วงเหว และหลุมพรางของความขัดแย้งและความรุนแรง จนนำไปสู่ความสามารถที่จะรู้เท่าทันโดยไม่ตกอยู่ในหลุมพรางของสิ่งเหล่านั้น
(๒) ศาสนาอาจจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาหรือไม่? อัน เนื่องจากการที่ศาสนาในแง่ศาสนาบุคคลในรูปขององค์กรศาสนาเองไม่ได้ตระหนัก รู้ หรือรู้เท่าทันต่อกระแสของโลกาภิวัตน์ จึงไม่สามารถปรับตัวให้สอดรับกับกระแสของการเปลี่ยนของสังคม และทำอย่างไร ศาสนาจึงจะไม่กลายเป็นภาระ หรือส่วนเกินของสังคมในโอกาสต่อไป
(๓) ศาสนาพ่ายแพ้ต่อสถานการณ์ความขัดแย้งและความรุนแรงที่กำลังขยายทั่วอยู่ทั่วทุกมุมโลกจริงหรือไม่? ตัวแปรสำคัญที่ทำให้ค้นพบร่องรอยของความพ่ายแพ้ คือ การเงียบเฉย (Voiceless) ต่อ พฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม หรือสถานการณ์ความขัดแย้งและความรุนแรง โดยไม่เข้าไปร่วมนำเสนอทางออกที่เหมาะสม หรือวิพากษ์พฤติกรรม หรืออุดมการณ์ที่ผิดรูปไปจากหลักการทางศาสนา
๓. พลังของศาสนาช่วยสร้างโลก หรือทำลายโลก???
ประเด็นที่เราต้องให้ความสนใจ และใส่ใจคือ “หาก มนุษยโลกไร้ซึ่งความรัก ความหวัง และแรงบันดาลใจ ในขณะที่ดวงจิตเต็มไปด้วยความเกลียดชัง ความหวาดกลัวต่อการภัยที่กำลังคุกคามทั้งภายในและภายนอก” หน้าที่หลักของศาสนาต่างๆ ในโลกนี้ ที่จะต้องช่วยกันเติมเต็มอย่างเร่งด่วนคือ (๑) การทำให้ผู้นับถือมีความสุข มั่นคงและปลอดภัยในการใช้ชีวิตอย่างยั่งยืน (๒) การปลุกเร้าให้มนุษยชาติอยู่ร่วมกับคนอื่น สัตว์อื่น และสิ่งอื่นอย่างสงบ สันติสุข และมีขันติธรรมต่อความแตกต่างทางอุดมการณ์และความเชื่ออย่างมีสติ (๓) การไม่กระทำการสิ่งใด หรือสร้างเงื่อนไขใดๆ ในอันที่จะนำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างเพื่อนร่วมศาสนา ซึ่งจะก่อให้ความเกิดความหวาดระแวง และหวาดกลัวต่อมวลมนุษยชาติที่เป็นเพื่อนร่วมทุกข์เกิด แก่ เจ็บ และตาย (๔) การทำให้ผู้นับถือมีขันติธรรมทางศาสนา โดยไม่ตกอยู่ในหลุมพรางของความขัดแย้งและความรุนแรงในขณะที่มีบุคคลหรือ กลุ่มบุคคลพยายามที่จะสร้างเงื่อนไขยั่วยุ หรือกระตุ้นให้เกิดความรุนแรง
เมื่อกล่าวโดยหลักการแล้ว พลังของศาสนา “ควรและต้อง” เข้า มากระชับการทำหน้าที่ดังเช่นที่เคยเป็นปรัชญาและปณิธานสำคัญของการก่อตั้ง ศาสนาขึ้นมาเป็นที่พึ่งพาของชาวโลก โดยทำหน้าที่หลักใน ๒ ประการ คือ
(๑) หาก “สัตว์การเมือง” (Political Animals) ทำให้หมู่มนุษย์ในฐานะเป็น “สัตว์สังคม” (Social Animals) เกิด ความหวาดกลัว และหวาดระแวงซึ่งกันและกัน ศาสนาควรเข้ามาทำหน้าที่ในการสร้างความมั่นใจ และเชื่อมั่นในศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ของกันและกัน และ ประเด็นสำคัญก็คือ การสนับสนุนและส่งเสริมให้มีการนำหลักการสำคัญของแต่ละศาสนามาปฏิบัติเพื่อ ให้เกิดความปลอดภัยในชีวิต และทรัพย์สินทั้งในเชิงปัจเจก และสังคม
(๒) ประจักษ์ชัดว่า “การเกิดขึ้นของศาสนามีเป้าหมายสำคัญสูงสุดคือการอยู่รวมกันอย่างร่มเย็น และเป็นสันติสุขของมวลมนุษยชาติ” เราควรดำเนินการทุกวิถีทางเพื่อเปิดพื้นที่ให้แก่ศาสนาได้กลับมาทำหน้าที่อย่าง “หนักแน่น และเต็มศักยภาพ” และ สร้างสังคมให้เกิดการตื่นรู้มากยิ่งขึ้นทั้งในมิติของแนวคิด และแนวปฏิบัติที่สอดรับกับวิถีความเปลี่ยนของสังคมโลกที่กำลังเดินหน้าไปสู่ ความขัดแย้งและความรุนแรงอันเนื่องจากการตัวแปรต่างๆ ทั้งเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมที่แปลกแยกและแตกต่าง
๔. คุณค่าของศาสนา: จากโกรธ และความเกลียดชังสู่การแบ่งปันอย่างไร้ขีดจำกัด
(๑) แบ่งปันความรัก คำถามที่สำคัญคือ “เพราะเหตุใด? มนุษย์จึงต้องรักผู้อื่น สัตว์อื่น และสิ่งอื่น” เหตุผลเนื่องมาจาก “การที่มนุษย์ไม่สามารถอยู่คนเดียวในโลกใบนี้ได้” มนุษย์ สัตว์ทุกชนิด และธรรมชาติสิ่งแวดล้อมมีความจำเป็นต้องพึ่งพาอาศัยและกัน ช่วยเหลือกัน เพื่อการดำรงเผ่าพันธุ์ และเป็นเครื่องมือสำคัญในการหล่อเลี้ยงวิถีชีวิต ดำเนินชีวิตเพื่อให้สิ่งเหล่านี้รอดเพื่อพัฒนา “คุณค่าอื่นๆ” ต่อไป ด้วยเหตุผลเช่นนี้ การอยู่รอดของคนอื่น สัตว์อื่น หรือสิ่งอื่นๆ จึงส่งผลในเชิงบวกต่อการอยู่รอดของเราเช่นเดียวกัน ฉะนั้น การเปิดพื้นที่ให้แก่คนอื่น หรือสิ่งอื่นๆ โดยการแบ่งปันความรัก ความปรารถนาดีต่อกัน การเคารพ ให้เกียรติต่อบุคคลที่มีความเชื่อ วัฒนธรรม และอุดมการณ์ที่แตกต่าง จึงเป็น “ความจำเป็น” ที่ “มนุษย์” จะต้องมีและแสดงออกต่อกันและกัน
(๒) แบ่งปันผลประโยชน์และความต้องการ การดำรงอยู่ของมนุษยชาติที่ต้องสัมพันธ์กับวิถีโลกมีความสัมพันธ์กับปัจจัย ๔ และโลกธรรมอย่างแยกไม่ออก เนื่อง จากมนุษย์มีความจำเป็นในการของการดำรงชีวิตเพื่อความอยู่รอด ด้วยเหตุนี้ ในขณะที่ทรัพยากรมีจำกัด แต่ความต้องการของมนุษย์มีไม่จำกัดนั้น การแบ่งปันทรัพยากรเพื่อให้ฝ่ายต่างๆ เกิดความพึงพอใจสูงสุดจึงมีความจำเป็นที่ใส่ใจ โดยใช้กฎกติกามาเป็นเครื่องมือในการดำเนินการ นอกจากนั้น การแบ่งปัน “ประโยชน์และความต้องการ” ให้สอดรับกับความต้องการของคน หรือกลุ่มคนย่อมมีความสำคัญเช่นเดียวกัน คำถามคือ “เราจะแบ่งปันความต้องการด้านทรัพยากรให้สอดรับกับความต้องการของกลุ่มคนต่างๆ ที่อาศัยอยู่ในสังคมโลกได้อย่างไร” จึง จะทำให้กลุ่มต่างๆ ที่มีความหลากหลายในสังคมเกิดความพึงพอใจสูงสุดตามข้อเสนอและข้อเรียกร้อง ประเด็นนี้ รัฐ ผู้นำหรือกลุ่มคนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องจะวางกรอบหรือกติกาอย่างไร จึงจะใช้เป็นเกณฑ์เพื่อรองรับการตัดสินใจดังกล่าว โดยไม่ทำให้แต่ละฝ่ายเกิดความรู้สึก และสงสัยในความเสมอภาค เป็นธรรมและเที่ยงธรรม
(๓) แบ่งปันความสุข ความสุขในบริบทนี้ ครอบคลุมถึงความสุขทั้งในระดับปัจเจก ครอบครัว สังคม ประเทศชาติ และสังคมโลก เป็น ทั้งความสุขที่ต้องพึ่งพาสิ่งเร้า หรือสิ่งภายนอก และไม่ต้องพึ่งพา ในขณะเดียวกัน ความสุขในครอบครัว ย่อมมีความแตกต่างจากความสุขในระดับสังคม ประเทศชาติ และสังคมโลก เราจะนิยามความสุขในระดับต่างๆ เหล่านี้อย่างไร เพราะ การนิยามจะมีผลต่อการออกแบบกิจกรรม หรือการดำเนินการในลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อให้สอดรับกับแบ่งปัน ทรัพยากรเพื่อให้สอดรับกับสิ่งที่เพื่อนมนุษย์ปรารถนาที่จะมีและเป็น อย่างไรก็ดี เนื่องจากกลุ่มต่างๆ ล้วนต้องการ และเพรียกหาความสุข ไม่ว่าจะเป็นสุขแท้ หรือเทียม พึ่งพาสิ่งภายนอกหรือไม่ก็ตาม สิ่ง ที่ต้องระมัดระวังและใส่ใจก็คือ การแสวงหาความสุขภายในนับเป็นเรื่องเชิงปัจเจก แต่เราจะแสวงหาความสุขภายนอกอย่างไร จึงจะไม่ทำสุขที่เราแสวงหานั้น ไปกระทบหรือกินพื้นที่ความสุขของคนอื่นๆ จนกลายเป็นความขัดแย้งในเชิงลบและนำไปสู่ความรุนแรงต่อไป
(๔) แบ่งปันถ้อยคำดีๆ และมีคุณค่า จะ เห็นว่า ถ้อยคำดีๆ และมีคุณค่านั้น เป็นสิ่งที่มนุษย์ สัตว์ หรือสิ่งต่างๆ ในโลกนี้ ล้วนมีความต้องการและปรารถนาที่จะสัมผัสทางหู และภาษากายส่วนอื่นๆ และสิ่งเหล่านี้ หากมองในเชิงโลกธรรม นับได้ว่ามีผลอย่างยิ่งต่อวิถีชีวิต และการดำรงอยู่ของมนุษย์กลุ่มต่างๆ ในสังคม การออก แบบถ้อยคำโดยผ่านกระบวนการคิดอย่างมีเหตุมีผล ผ่านการปรุงแต่งทางอารมณ์ที่เน้นเรื่องความรู้สึกรัก และใส่ใจกันและกันจึงนับเป็นความสำคัญ ฉะนั้น ถ้อยคำดีๆ และมีคุณค่าจึงควรประกอบด้วยเกณฑ์ที่ว่า “จริง ไพเราะ ไม่เหมาะกาล ประสานสามัคคี มีประโยชน์ และมีเมตตา” เกณฑ์นี้จะเป็นกรอบที่จะทำให้การเปล่งเวลาของแต่ละมีเป้าหมายและท่าทีที่เป็นบวกมากยิ่งขึ้น
(๕) แบ่งปันลมหายใจแห่งสันติภาพ มนุษย์ทุกคนในโลกนี้อาจจะคิดว่า เรากำลังหายใจเอาอากาศจากภายนอกเข้าไปเท่านั้น กลุ่มคนจำนวนน้อยที่จะคิดว่า อากาศที่มีอยู่ทั่วไปนั้น ล้วนเคยเป็นอากาศที่เพื่อนมนุษย์ของเราเคยหายใจเข้าไปแล้วหายใจออกมาทั้งสิ้น ประเด็นก็คือ “เรากำลังสูดดมลมหายใจของกันและกันอยู่ทุกวินาที” ฉะนั้น เมื่อใดก็ตาม ในขณะที่เราหายใจเข้าไป ในขณะนั้น เราโกรธ เกลียด ปองร้าย เกลียดชังเพื่อนของเรา หรือใครคนใดคนหนึ่ง เมื่อหายใจออกมา เพื่อนรอบข้างของเราย่อมจักหายใจเอาลมหายใจแห่งความเกลียดชัง ความโกรธ ความอิจฉาริษยา และอาฆาตมาดร้ายเข้าไปด้วย แต่หากการหายใจของเราเป็นไปในเชิงบวก การหายใจเข้าออกของเพื่อนมนุษย์ที่อยู่รอบข้างเราก็จะเป็นไปในเชิงบวกเช่นเดียวกัน
๕. ส่งท้าย: จากขันติ และสติ สู่สันติอย่างยั่งยืน
จากการประเมินศาสนาหลักๆ ในโลกนี้ จะพบว่า ปัญหาหลักไม่ได้อยู่ที่ “เนื้อแท้ หรือแก่นแท้” ของศาสนา เพราะ หลักการของศาสนาทุกศาสนาล้วนมีนัยที่มุ่งเน้นให้มวลมนุษยชาติอยู่ร่วมกัน อย่างสงบ และสันติ อีกทั้งเป็นไปเพื่อการสนับสนุนและส่งเสริมแนวทางสันติภาพ สันติวิธี ความสมานฉันท์ และความปรองดองของมวลมนุษยชาติ ด้วยเหตุนี้ พลังสันติภาพของศาสนาจึงถือได้ว่าเป็นพลังที่นุ่มนวล (Soft Power) ใน การที่จะยึดโยงกลุ่มคนต่างๆ ที่อาศัยอยู่ร่วมกันในสังคมโลกให้สามารถอดทนต่อความแตกต่างกันทางวัฒนธรรม ความเชื่อ ภาษา และชาติพันธุ์อย่างมีสติ และอยู่ร่วมกันอย่างสันติ ดังนั้น พลังทางศาสนาจึงเป็นตัวแปรสำคัญที่จะก่อให้เกิดการพัฒนา “ขันติ สติ และสันติ” ให้เกิดขึ้นแก่มนุษยชาติ และสังคมโลกมากยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ดี คำถามหลักที่เรามักจะตั้งข้อสงสัยอยู่เสมอมาคือ “ศาสนบุคคล หรือองค์กรทางศาสนาต่างๆ ในโลกนี้” ได้พยายามหรือสนับสนุน รวมไปถึงการพัฒนา หรือยึดมั่นในหลักการและแก่นแท้ของศาสนาตัวเองมากน้อยเพียงใด ทำอย่างไร? ศาสนบุคคลหรือองค์กรศาสนาต่างๆ จะไม่พยายามที่จะ “บิด” หรือ “แปรรูป” หลักการทางศาสนาที่ทรงคุณค่าไปสู่การรับใช้อุดมการณ์ ผลประโยชน์ ความต้องการ และอำนาจของกลุ่มตน หรือองค์กรของตน นอกจากนี้ ศาสนบุคคลหรือองค์กรทางศาสนาต่างๆ ได้พยายามมากน้อยเพียงใดที่จะวิพากษ์ตัวเอง (Self-Criticize) หรือกลุ่มตัวเองต่อการบิดหลักการทางศาสนาไปสร้างเงื่อนไขที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งและความรุนแรงแก่มนุษยชาติ อีก ทั้ง ไม่ชักนำ และชักพาให้ศาสนิกที่เคารพ ศรัทธาและนับถือพลัดหลงเข้าไปในกระแสของความขัดแย้งและความรุนแรงที่กำลัง ถาโถม และพัดพาให้สังคมโลกกำลังประสบกับปัญหาและชาตากรรมที่ดังที่ประสบอยู่ในขณะ นี้
หลักการสำคัญที่ผู้เขียนให้ความใส่ใจคือ เราจะหันหลังให้แก่ “พลังของความเกลียดชัง” ไปสู่ “การสร้างพลังแห่งการแบ่งปันสิ่งดีๆ” ให้แก่กันและกันได้อย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เราจะแบ่งปันความรักให้มนุษย์ร่วมโลกท่ามกลางความหลากหลายได้อย่างไร เรา จะแบ่งปันผลประโยชน์ และความต้องการด้านทรัพยากร ให้สอดรับกับโลกธรรมที่มีอยู่และดำรงอยู่ในโลกนี้ได้อย่างไร เราจะช่วยกันนิยามความสุขในระดับต่างๆ ตั้งแต่ปัจเจก ครอบครัว สังคม ประเทศชาติ และสังคมโลกเพื่อจะได้ปฏิบัติต่อกันเพื่อให้สอดรับกับความสุขที่คนเหล่านั้น ต้องการได้อย่างไร เราจะแบ่งปันถ้อยคำที่มีคุณค่าและเต็มไปด้วยความรู้สึกที่ดีที่มีต่อกันได้ อย่างไร เราจะแบ่งปันลมหายใจแห่งสันติภาพ เพื่อให้ลมหายใจของเราเป็นลมหายใจแห่งความรักแทนลมหายใจแห่งการเกลียดชังกัน ได้อย่างไร และเราจะมีขันติธรรม ที่พร้อมจะอดทนรับฟัง เรียนรู้ เข้าใจ และปฏิบัติต่อเพื่อมนุษย์ที่มีความคิด และวัฒนธรรมที่แตกต่างได้อย่างไร ประเด็นคือ “การตอบคำถามเหล่านี้ไม่ใช่เพื่อความอยู่รอดของตัวเราเองเท่านั้น หากแต่เป็นความอยู่รอดของสรรพสัตว์ทุกชนิดที่อาศัยอยู่ในโลกใบนี้”
|