Mahachulalongkornrajavidyalaya University
MCU Home Search Contacts Study Events Site Map Thai/Eng
MCU
ON THIS SITE
Curriculum
Academic Articles

First Page » Dr. Kritsana Raksachom » ปัญหาความซับซ้อนของขั้นตอนการบวชเป็นภิกษุณี
 
counter : 16270 time

''ปัญหาความซับซ้อนของขั้นตอนการบวชเป็นภิกษุณี''
 
ดร. แม่ชีกฤษณา รักษาโฉม (2555)

  ปัญหาความซับซ้อนของขั้นตอนการบวชเป็นภิกษุณี

ดร. แม่ชีกฤษณา  รักษาโฉม
อบ.(อภิธรรมบัณฑิต)บ.ศ.๙ 
ศศ.บ. (ภาษาอังกฤษ)
,  ศษ.บ. (ภาษาไทย)
พธ.ม. (พระพุทธศาสนา)
,  พธ.ด. (พระพุทธศาสนา)

อาจารย์ประจำบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย


บทนำ

          สตรีที่เข้ามาบวชเป็นภิกษุณีในครั้งแรกไม่ต้องผ่านขั้นตอนที่ซับซ้อนมาก พระนางปชาบดีเป็นภิกษุณีรูปแรกในพระพุทธศาสนา ท่านไม่ได้บวชแบบญัตติจตุตถกรรมวาจา สงฆ์ก็ไม่ได้สวดให้  อีกทั้งพระพุทธเจ้าก็ไม่ได้บวชให้ด้วยวิธีเอหิภิกขุ และพระสาวกก็ไม่ได้ให้ท่านรับไตรสรณคมน์ พระนางปชาบดีรับเพียงครุธรรม ๘ ประการจากพระพุทธเจ้า ก็สำเร็จเป็นการบวชภิกษุณี ส่วนนางสากิยานี ทั้ง ๕๐๐ คน พระพุทธเจ้าได้มอบหมายให้ภิกษุสงฆ์เป็นผู้รับภาระในการบวชให้ หลังจากนั้นมาการบวชของภิกษุณีได้มีความซับซ้อนมากขึ้นคือสตรีที่ประสงค์จะบวชไม่สามารถบวชเป็นภิกษุณีได้เลยเหมือนสตรีชุดแรก สตรีที่มาบวชในภายหลังต้องผ่านขั้นตอนการเป็นสิกขมานา รักษาสิกขาบท ๖ ข้อเป็นเวลา ๒ ปี  กล่าวคือต้องชะลอการเป็นภิกษุณี ๒ ปี ขั้นตอนการเป็นสิกขมานานี้  ถือเป็นประเด็นที่เกิดความซับซ้อนของการบวชภิกษุณี  พระมโน เมตฺตานนฺโท ได้ตั้งข้อสังเกต เกี่ยวกับการบวชของสตรีที่ไม่สามารถบวชเป็นภิกษุณีได้ทันทีแต่ต้องผ่านขั้นตอน การเป็นสิกขมานา ประพฤติธรรม ๖ ข้อ เป็นเวลา  ๒ ปี  หากสิกขมานาล่วงละเมิดธรรมข้อใดข้อหนึ่ง ย่อมเสียสิทธิในการบวชเป็นภิกษุณี จากเงื่อนไขนี้สิกขาบทในภิกขุนีวิภังค์จึงไม่น่าจะเกิดขึ้นได้ เมื่อนำหลักการแห่งมหาปเทส  วิเคราะห์สิกขาบทสำหรับภิกษุณีปรากฏความขัดแย้งอย่างเห็นได้ชัดเจน เป็นต้นว่า พุทธานุญาตให้ภิกษุณีสงฆ์สมมติ(คัดเลือก) ภิกษุณีรูปหนึ่งเป็นเพื่อนหลังเหตุการณ์ภิกษุณีคลอดบุตรชาย..........การที่หญิงมีครรภ์คนหนึ่งบวชเป็นภิกษุณีแล้วจึงคลอดบุตรนั้น แสดงว่านางได้บวชก่อนแล้วจึงจะรู้ตัวว่าตั้งครรภ์ ย่อมแสดงว่านางมิได้ผ่านการเป็นสิกขมานา คือการประพฤติพรหมจรรย์เตรียมตัวก่อนบวช ๒ ปีซึ่งตามปรกติการตั้งครรภ์ของมนุษย์คือ ๙ เดือน หรือ ๒๘๐ วัน จึงเป็นข้อความที่ขัดแย้งกับท้องเรื่องการเกิดภิกษุณีตามเงื่อนไข ครุธรรม ๘ ประการ ข้อที่ ๖[๑] จากข้อความดังกล่าวมานี้ นำไปสู่การตั้งปัญหาว่า

          ๑. ขั้นตอนการเป็น สิกขามานา เป็นพุทธบัญญัติหรือไม่?

           ๒.และเมื่อขั้นตอนการเป็นสิกขมานาเป็นพุทธบัญญัติแล้วทำไมต้องบัญญัติสิกขาบทที่เกี่ยวกับสิกขมานาขึ้นอีกหลายสิกขาบท ไม่เป็นการขัดแย้งกันกับหลักการของมหาปเทสหรือ?

๓.เมื่อสิกขมานาล่วงละเมิดธรรมข้อใดข้อหนึ่งในจำนวน ๖ ข้อเป็นการเสียสิทธิจากการเป็นภิกษุณีหรือไม่?

 

๒.สิกขมานา

ผู้เขียนได้ศึกษาจากพระไตรปิฎกพบว่า การบวชเป็นสิกขมานานั้นมีมาพร้อมกับครุธรรมดังข้อความในครุธรรมข้อที่ ๖ ความว่า ภิกษุณีพึงแสวงหาการอุปสมบทในสงฆ์ ๒ ฝ่ายให้แก่สิกขมานาที่ศึกษาธรรม ๖ ข้อตลอด ๒ ปีแล้ว ธรรมข้อนี้ภิกษุณีพึงสักการะ เคารพ นับถือ บูชา ไม่พึงล่วงละเมิดจนตลอดชีวิต[๒] เมื่อพิจารณาตามครุธรรมที่พระองค์ตั้งเป็นเงื่อนไขให้สตรีได้บวชทำให้ทราบว่า สิกขมานามีมาพร้อมภิกษุณีรูปแรก  แต่ถ้าพิจารณาข้อความที่พระพุทธเจ้าตรัสให้ภิกษุบวชนางสากิยานี ๕๐๐ รูป ดังข้อความว่า ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุทั้งหลายอุปสมบทภิกษุณีทั้งหลาย[๓] จากข้อความนี้ ทำให้ทราบว่านางสากิยานีไม่ได้บวชเป็นสิกขมานา แต่ได้บวชเป็นภิกษุณี เนื้อความทั้งสองแห่งนี้มิขัดแย้งกันหรือไม่?  คำตอบก็คือไม่ขัดแย้งกัน เพราะการเป็นสิกขมานาที่พระพุทธเจ้าบัญญัติไว้ในครุธรรมนั้นเป็นอนุปปันนบัญญัติ คือการบัญญัติไว้ในเมื่อเรื่องยังไม่เกิดขึ้น บัญญัติเป็นกฎกติการะเบียบปฏิบัติไว้ล่วงหน้า   วางเป็นกฎไว้แต่ยังไม่ได้บัญญัติเป็นสิกขาบทเพราะยังไม่มีคนละเมิดกฎกติกา ภายหลังมีภิกษุณีละเมิดกฏ พระองค์ทรงบัญญัติเป็นสิกขาบทปรับอาบัติ  สตรีที่เป็นสิกขมานาแบ่งออกเป็น ๒ ประเภทดังนี้

          ๑. สตรีที่ผ่านการมีครอบครัวมาแล้ว 

          ๒.สตรีที่ไม่ได้ผ่านการมีครอบครัว

 

๑.สตรีที่ผ่านการมีครอบครัวมาแล้ว 

          สตรีที่มีเกณฑ์อายุ ๑๒ ปีขึ้นไปจนถึงอายุ ๖๐ปีขึ้นไป ที่ผ่านการมีครอบครัวแล้ว สามารถเป็นสิกขมานาได้ทันที เมื่อครบ ๒ ปีแล้ว จึงบวชเป็นภิกษุณีได้ ในคัพภินีวรรคมีพุทธบัญญัติว่า ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุณีสงฆ์ให้สิกขาสมมติในธรรม ๖ ข้อเป็นเวลา ๒ ปี แก่หญิงที่มีครอบครัวมีอายุครบ ๑๒ ปี[๔]  สาเหตุที่ต้องให้หญิงที่มีสามีและมีอายุครบ ๑๒ ปีสมาทานสิกขาสมมติ ๒ ปีก่อนบวชภิกษุณี เรื่องมีอยู่ว่า ภิกษุณีสงฆ์ได้บวชให้สตรีที่มีสามีแล้วและมีอายุครบ ๑๒ ปีเป็นภิกษุณี โดยไม่มีการให้สมาทานธรรม ๖ ประการ ปรากฏว่าเมื่อเป็นภิกษุณีแล้ว โง่เขลา ไม่ฉลาด ไม่รู้สิ่งที่ควรหรือไม่ควร[๕]  สตรีที่มีครอบครัวแล้วมีอายุครบ ๑๒ ปี ถ้ายังไม่ได้ผ่านการศึกษาสิกขาสมมติ ก็ไม่สามารถบวชได้ พระพุทธเจ้าทรงปรับอาบัติปาจิตตีย์แก่ภิกษุณีผู้บวชให้ภิกษุณีนั้น[๖]  หรือถ้าสตรีนั้นเป็นเด็กหญิงอายุ ๑๐ ขวบแต่ผ่านการมีสามีแล้ว ต้องเป็นสิกขมานา ๒ ปี พออายุ ๑๒ ปีก็บวชเป็นภิกษุณีได้  สตรีอินเดียบางคนแต่งงานตั้งแต่เด็ก สอดคล้องกับหลักฐานในสมันตปาสาทิกาว่า “เด็กหญิงอายุ ๑๐ ปี ที่แต่งงานแล้วปรารถนาจะบวชเป็นภิกษุณี จะต้องรักษาสิกขาสมมติอีก ๒ ปี จนอายุครบ ๑๒ ปี จึงขอบวชได้ ถ้ามีอายุ ๑๑ ปี ต้องอยู่รักษาสิกขาสมมติอีก ๒ ปี จนถึงอายุ ๑๓ ปี หรือถ้ามีอายุ ๑๒-๑๓-๑๔-๑๕-๑๖-๑๗-๑๘ ก็ต้องอยู่รักษาสิกขาสมมติคนละ ๒ ปี จนมีอายุครบ ๑๔-๑๕-๑๖-๑๗-๑๘-๒๐ ปี[๗] หลักฐานในพระไตร     ปิฏกกล่าวถึง ภิกษุณีบวชให้เด็กหญิงที่มีครอบครัวแล้วแต่อายุต่ำกว่า ๑๒ ปีเป็นภิกษุณีทันทีโดยไม่ผ่านการเป็นสิกขมานา เมื่อบวชเป็นภิกษุณีแล้ว ไม่มีความอดทน ไม่อดกลั้นต่อความเย็น ความร้อน  ความหิว ความกระหาย สัมผัสจากเหลือบ ยุง ลม แดด สัตว์เลื้อยคลาน  คำกล่าวร้าย คำที่ฟังแล้วไม่ดี  ความรู้สึกทางกายที่เกิดขึ้นเป็นทุกข์ แสนสาหัส รุนแรง เผ็ดร้อน ที่ไม่น่ายินดี ไม่น่าพอใจแทบจะคร่าชีวิต[๘] พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้สตรีที่มีครอบครัวแล้วและอายุครบ ๑๒ ปี สามารถรับสิกขาสมมติได้เลยเพราะว่า สตรีที่มีครอบครัวหรือเคยผ่านการแต่งงานมีครอบครัวมาแล้ว ถึงแม้ว่าเธอจะมีอายุเพียง ๑๒ ปี ถ้าผ่านการศึกษาสิกขาในธรรม ๖ ข้อ ตลอด ๒ ปีและสงฆ์ให้การสมมติคือรับรองแล้ว ก็สามารถบวชเป็นภิกษุณีได้[๙]  สตรีที่ผ่านการมีครอบครัวมาแล้ว อายุต่ำกว่า ๑๒ คือ ๑๐ หรือ ๑๑ ปี หรือสตรีที่ผ่านการมีครอบครัวอายุ ๑๒ ปี ต้องรักษาสิกขาบท ๖ ข้อ เป็นเวลา ๒ ปี

              วิธีการในการขอสิกขาสมมติคือ สตรีที่มีครอบครัวมีอายุครบ ๑๒ ปีนั้นพึงเข้าไปหาสงฆ์ ห่มอุตตราสงค์เฉวียงบ้าข้างหนึ่ง กราบเท้าภิกษุณีทั้งหลายแล้วนั่งกระโหย่ง ประนมมือ กล่าวอย่างนี้ว่า แม่เจ้า ดิฉันชื่อนี้ เป็นสตรีที่มีครอบครัวมีอายุครบ ๑๒ ปี ของแม่เจ้าชื่อนี้ขอสิกขาสมมติในธรรม ๖ ข้อ เป็นเวลา ๒ ปีต่อสงฆ์ กล่าวย้ำ ๓ ครั้งด้วยถ้อยคำเดิม   การกล่าวย้ำถึง ๓ ครั้งน่าจะเป็นการแสดงความมั่นใจและหนักแน่นของผู้จะบวช เมื่อสตรีผู้ขอสิกขาสมมติกล่าวเจตนารมณ์เสร็จแล้ว ภิกษุณีรูปหนึ่งที่ฉลาดและมีความสามารถ จะประกาศให้คณะภิกษุณีสงฆ์ทราบด้วยหลักการที่เรียกว่าญัตติจตุตถกรรมวาจาว่า  แม่เจ้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า สตรีชื่อนี้เป็นสตรีที่มีครอบครัวมีอายุครบ ๑๒ ปี ของแม่เจ้าชื่อนี้(บอกชื่อ ปวัตตินี) ขอสิกขาสมมติในธรรม ๖ ข้อ เป็นเวลา ๒ ปีต่อสงฆ์ ถ้าสงฆ์พร้อมกันแล้วพึงให้สิกขาสมมติในธรรม ๖ ข้อ เป็นเวลา ๒ ปี แก่สตรีชื่อนี้เป็นสตรีที่มีครอบครัวมีอายุครบ ๑๒ ปี นี่เป็นญัตติ   แม่เจ้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า สตรีชื่อนี้เป็นสตรีที่มีครอบครัวมีอายุครบ ๑๒ ปี ของแม่เจ้าชื่อนี้ ขอสิกขาสมมติในธรรม ๖ ข้อ เป็นเวลา ๒ ปีต่อสงฆ์ สงฆ์ให้สิกขาสมมติในธรรม ๖ ข้อ เป็นเวลา ๒ ปี แก่สตรีชื่อนี้เป็นสตรีที่มีครอบครัวมีอายุครบ ๑๒ ปี  แม่เจ้ารูปใดเห็นด้วยกับการให้สิกขาสมมติในธรรม ๖ ข้อเป็นเวลา ๒ ปี แก่สตรีชื่อนี้เป็นสตรีที่มีครอบครัว มีอายุครบ ๑๒ ปี แม่เจ้ารูปนั้นพึงนิ่ง แม่เจ้ารูปใดไม่เห็นด้วย แม่เจ้ารูปนั้นพึงทักท้วง[๑๐] ภิกษุณีรูปที่ประกาศให้สงฆ์ทราบนั้นขอมติในประชุมภิกษุณีแล้ว เมื่อไม่มีภิกษุณีรูปใดคัดค้านในที่ประชุม จึงกล่าวว่า สิกขาสมมติในธรรม ๖ ข้อ เป็นเวลา ๒ ปี สงฆ์ให้แก่สตรีชื่อนี้เป็นสตรีที่มีครอบครัวมีอายุครบ ๑๒  ปี สงฆ์เห็นด้วย เพราะฉะนั้นจึงนิ่ง ข้าพเจ้าขอถือความนิ่งนั้นเป็นมติ[๑๑] แล้วภิกษุณีผู้ฉลาดสามารถรูปนั้นจึงนำสตรีผู้มีครอบครัวนั้นสมาทานธรรม ๖ ประการดังนี้ 

          ๑.ดิฉันขอสมาทานงดเว้นจากการฆ่าสัตว์ โดยไม่ล่วงละเมิดตลอด ๒ ปี

          ๒.ดิฉันขอสมาทานงดเว้นจากการถือเอาของที่เจ้าของมิได้ให้ โดยไม่ล่วงละเมิดตลอด ๒ ปี

          ๓.ดิฉันขอสมาทานงดเว้นจากพฤติกรรมอันมิใช่พรหมจรรย์โดยไม่ล่วงละเมิดตลอด ๒ ปี

          ๔.ดิฉันขอสมาทานงดเว้นจากการพูดเท็จ โดยไม่ล่วงละเมิดตลอด ๒ ปี

          ๕.ดิฉันขอสมาทานงดเว้นจากน้ำเมาคือสุราและเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท โดยไม่ล่วงละเมิดตลอด ๒ ปี

          ๖.ดิฉันขอสมาทานงดเว้นจากบริโภคอาหารในเวลาวิกาล โดยไม่ล่วงละเมิดตลอด ๒ ปี[๑๒]

          สตรีที่ผ่านการมีครอบครัวมาแล้ว ถ้าไม่ผ่านการรักษาศีล ๖ ข้อ เป็นเวลา ๒ ปี  เมื่อบวชเป็นภิกษุณีแล้วปัญหายุ่งยากต่างๆก็ตามมา  เริ่มตั้งแต่ภิกษุณีที่มีครรภ์อ่อนๆ อยู่แล้วแต่ไม่ทราบว่ามีครรภ์   เมื่อเป็นภิกษุณีแล้วครรภ์จะเจริญเติบโตขึ้นตามเดือน เมื่อไปบิณฑบาตเป็นภาพที่ไม่เหมาะสมกับสมณะเพศมากกว่าเป็นภาพที่น่าเลื่อมใส  เรื่องการคลอด ความยุ่งยากในการคลอดนั้นมีมาก เพราะสตรีโดยทั่วไปเมื่อคลอดบุตรต้องมีคนช่วยเหลือคอยดูแล  โดยปกติสตรีอินเดียเมื่อจะคลอดบุตรต้องกลับไปคลอดที่บ้านของพ่อแม่ตน[๑๓]    ภิกษุณีที่เป็นมารดาให้นมลูก ก็มีภาระในการให้นมลูก ซึ่งกว่าลูกจะเลิกดื่มนมต้องใช้เวลาเป็นปี กรณีดังกล่าวมานี้ถือเป็นปลิโพธต่อผู้มุ่งปฏิบัติตนให้พ้นจากทุกข์   การเป็นสิกขมานาของสตรีที่มีครอบครัว นี้มีความสำคัญมาก  ดังกรณีของมารดาของพระกุมารกัสสปะที่ตั้งครรภ์ในขณะเป็นภิกษุณี พระเทวทัตได้สั่งให้ลาสิกขาจากการเป็นภิกษุณีเสียแต่เธอไม่ลาสิกขา ในขณะเดียวกันเธอไปเฝ้าพระพุทธเจ้าให้พระองค์ตัดสินอธิกรณ์เพื่อความบริสุทธิ์ของเธอ  พระพุทธเจ้าทรงรับสั่งให้พระอุบาลี ทูลเชิญพระเจ้าปเสนทิโกศล เชิญอนาถปิณฑิกเศรษฐี เชิญจุลลอนาถเศรษฐี เชิญนางวิสาขาและเชิญตระกูลใหญ่ที่มีชื่อเสียงในพระนคร มาช่วยพระอุบาลีในการชำระอธิกรณ์ ผลปรากฏว่าภิกษุณีตั้งครรภ์เมื่อครั้งยังไม่ได้บวช  เธอบวชกับภิกษุณีผู้เป็นฝักฝ่ายพระเทวทัต[๑๔]   จากกรณีนี้ทำให้ทราบว่า มารดาของพระกุมารกัสสปะไม่ได้ผ่านการเป็นสิกขมานาถ้าเธอผ่านการเป็นสิกขมานามาแล้ว ภายในระยะเวลา ๕-๙ เดือนครรภ์ก็ปรากฏชัด เมื่อคดีปรากฏชัดแล้ว  ภิกษุณีตั้งครรภ์รูปนี้ก็ยังคงเป็นภิกษุณีต่อไปจนกระทั่งคลอด  และก็เลี้ยงดูบุตรในสำนักภิกษุณีนั้น พระเจ้า ปเสนทิโกศลเสด็จ ณ ที่ใกล้สำนักภิกษุณีได้สดับเสียงร้องของเด็กบุตรของนางภิกษุณีนั้น พระองค์จึงรับสั่งให้นำเด็กมาเลี้ยงในวัง[๑๕] การเป็นสิกขมานารักษาศีล ๖ เป็นเวลา ๒ ปี  เป็นการตรวจสอบการตั้งครรภ์ของสตรีที่มีครอบครัวแล้วมาบวช โดยหลักการก็คือให้อยู่ประพฤติธรรม ๖ ข้อ เสียก่อนเป็นเวลา ๒ ปี ซึ่งก็พอสมควรที่ครรภ์จะปรากฏชัด แต่ก็มีภิกษุณีบางรูปบวชให้สตรีที่มีครรภ์ โดยไม่ผ่านการเป็นสิกขมานา  จึงปรากฏหลักฐานบันทึกเกี่ยวกับภิกษุณีมีครรภ์เที่ยวบิณฑบาต ชาวบ้านติฉินนินทา[๑๖]  ภิกษุณีบางรูปบวชให้สตรีที่มีลูกยังดื่มน้ำนม ชาวบ้านติฉินนินทา[๑๗] ขั้นตอนการเป็นสิกขมานาเป็นผลดีสำหรับสตรีที่ผ่านการมีครอบครัวคือการสำรวจการตั้งครรภ์ สตรีที่ผ่านการมีครอบครัวมาแล้วได้สิทธิเป็นสิกขมานาได้เลยไม่ต้องผ่านการเป็นสามเณรี  สตรีที่ผ่านการมีครอบครัวมาแล้วต้องผ่านหลักเกณฑ์ของขั้นตอนคือ มีอายุ ๑๒ ปี  รักษาสิกขาบท ๖ ข้อเป็นเวลา ๒ ปี ภิกษุณีสงฆ์สมมติ(รับรอง)แล้ว

 

๒.สตรีที่ไม่ได้ผ่านการมีครอบครัว

 

          สตรีที่ไม่ได้ผ่านการมีครอบครัวที่มีอายุ ๑๒ ปีขึ้นไปจนถึงอายุ ๑๘ ปี  ไม่สามารถเป็นสิกขมานาได้ทันที  ต้องบวชเป็นสามเณรีเสียก่อน เมื่ออายุถึง ๑๘ ปีจึงขออนุมัติการเป็นสิกขมานา  พระพุทธเจ้าไม่อนุญาตให้สามเณรีหรืออีกนัยหนึ่งคือกุมารีอายุต่ำกว่า ๒๐ ปีบวชเป็นภิกษุณี ถ้าภิกษุณีใดบวชให้ปรับโทษปาจิตตีย์[๑๘]  สาเหตุที่ทรงห้ามสามเณรีที่มีอายุต่ำกว่า ๒๐ ปี บวชเป็นภิกษุณี  เพราะว่า ไม่อดทน ไม่อดกลั้น ต่อความเย็น ความร้อน ความหิว ความกระหาย สัมผัสจากเหลือบ ยุง ลม แดด สัตว์เลื้อยคลาน คำกล่าวร้าย คำที่ฟังแล้วไม่ดี ความรู้สึกทางกายที่เกิดขึ้นเป็นทุกข์แสนสาหัส รุนแรง เผ็ดร้อน ที่ไม่น่ายินดีพอใจแทบจะคร่าชีวิต[๑๙]  ถึงแม้ว่าจะมีอายุครบ ๒๐ ปีแล้ว แต่ถ้ายังไม่ได้รักษาสิกขาบท ๖ ข้อ เป็นเวลา ๒ ปี ก็ยังบวชไม่ได้จนกว่าจะผ่านขั้นตอนสิกขมานา ๒ ปี พระพุทธเจ้าปรับโทษภิกษุณีที่บวชให้สามเณรี(กุมารี)อายุ ๒๐ ปีแต่ยังไม่ได้ศึกษาสิกขาในธรรม ๖ ข้อตลอด ๒ ปี ต้องอาบัติปาจิตตีย์[๒๐] ถ้าสามเณรีไม่รักษาสิกขาบท ๖ ข้อ จะเป็นคนโง่เขลา ไม่ฉลาด ไม่รู้สิ่งที่ควรหรือไม่ควร [๒๑]

          ในกรณีของสามเณรีนี้มีข้อสงสัยว่า ในเมื่อสามเณรีรักษาศีล ๑๐ ข้อ ในศีล ๑๐ ข้อนั้น ข้อที่ ๑-๖ เหมือนกับสิกขาบท ๖ ข้อของสิกขมานา มีปัญหาถามว่า ทำไมเมื่อสามเณรีได้ผ่านการรักษาสิกขาบท ๖ ข้อซึ่งก็คือศีลของสามเณรีนั้น ในเมื่อรู้ข้อปฏิบัติในสิกขาบทเหล่านี้แล้วทำไม จึงจะยังเป็นคนที่โง่ไม่รู้เรื่องอะไรเลย และอีกประการหนึ่ง ศีลข้อที่ ๑-๖ สามเณรีรักษาอยู่แล้วทำไมต้องรักษาสิกขาบท ๖ ข้อของสิกขมานาอีก?  คำตอบก็คือ ในสิกขาบท ๖ ข้อที่สามเณรีรักษาในขั้นตอนที่เป็นสิกขมานานั้น ภิกษุณีที่ให้สิกขาสมมติ คงสอนให้มีความเข้มแข็งและอดทนในการรักษาสิกขาบท ๖ ข้อนั้น พร้อมทั้งสอนให้มีความศรัทธา ความพยายาม การมีสติรู้เท่าทัน การมีสมาธิคือความที่ตั้งจิตมั่นคง และมีปัญญาเห็นคุณค่าของศีลแต่ละข้อ[๒๒] ไม่ให้ศีลแต่ละข้อขาด การเป็นสิกขมานานั้นนอกจากจะรักษาสิกขาบท ๖ ข้อแล้วในระหว่าง นั้น ยังต้องเรียนรู้ระเบียบปฏิบัติมารยาทของการเป็นภิกษุณี ขั้นเตรียมตัวเป็นภิกษุณี ข้อดีของการเป็นสิกขมานาคือทำให้มีความพร้อมในการเป็นภิกษุณีมากขึ้น นั้นคือเป็นคนฉลาด รู้สิ่งที่ควรและไม่ควรเมื่อเป็นภิกษุณีแล้วถือว่ารูปแบบของการเป็นภิกษุณีสมบูรณ์แล้วสามารถดูแลตัวเองได้ไม่ต้องมาสอนกันอีก เพราะต่างคนต่างก็เป็นภิกษุณีเหมือนกัน ด้วยเหตุดังนี้ถึงแม้จะเป็นสามเณรีแล้วไม่ใช่จะฉลาด ทั้งหมด ต้องได้รับการฝึกขั้นตอนของการเป็นสิกขมานา   สามเณรีรักษาศีล ๑๐ ข้อ ถ้าศีลข้อใดข้อหนึ่งขาดก็ยังเป็นสามเณรีอยู่เหมือนเดิม แต่ในกรณีของสิกขมานานี้ รักษาศีล ๖ ข้อไม่ให้ขาดตลอด ๒ ปี  ถ้าข้อใดข้อหนึ่งขาด ถือว่าขาดหมด[๒๓]  ต้องเริ่มนับวันที่ ใหม่จนครบ ๒ ปี จึงจะบวชเป็นภิกษุณีได้ สามเณรีเมื่อเป็นสิกขมานาเน้นเฉพาะ ๖ ข้อไม่ให้ขาด ที่เหลืออีก ๔ ข้อก็ยังรักษาอยู่แต่ไม่ได้เคร่งครัด สามเณรีถึงแม้ว่าจะอายุครบ ๒๐ ปี รักษาสิกขาบท ๖ ข้อเป็นเวลา ๒ ปี ยังบวชไม่ได้ จนกว่าจะได้รับการสมมติ(ให้การรับรอง)จากภิกษุณีสงฆ์[๒๔]  ขั้นตอนของสตรีที่เป็นสามเณรี(กุมารี) คือต้องอายุ ๒๐ ปี รักษาสิกขาบท ๖ ข้อไม่ให้ขาดเป็นเวลา ๒ ปี และประการสุดท้ายคือต้องได้รับการยอมรับหรือการรับรองให้บวชเป็นภิกษุณีจากภิกษุณีสงฆ์เสียก่อน จึงจะไปถึงขั้นตอนการบวชเป็นภิกษุณี   ชีวิตการเป็นนักบวชโดยเฉพาะสตรีที่ยังเป็นเด็กสาว ต้องอดทนต่อธรรมชาติทางสัญ         ชาตญาน อดทนต่อความหิวซึ่งเป็นปัญหาสำคัญอย่างมากเพราะ ความหิว กระหายเป็นโรคที่ต้องรักษาอยู่เนืองนิตย์  ความหิวเป็นโรคอย่างยิ่ง  โรคอื่นที่เสมอด้วยความหิวไม่มี[๒๕]  สตรีที่ไม่ได้ผ่านการมีครอบครัวมาก่อนเห็นทุกข์ได้ยาก  เพราะยังไม่ผ่านการคลอดบุตร ไม่ผ่านการเลี้ยงลูกซึ่งต้องอดนอน  สตรีที่ได้ชื่อว่าเป็นแม่ที่มีลูกอ่อนนอนไม่เป็นเวลา สิกขาบทที่เกี่ยวกับการบวชที่เกิดขึ้นเฉพาะกับสามเณรี(กุมารี)มี ๓ สิกขาบท และภิกษุณีด้วยกันเป็นผู้ตำหนิ ติเตียน แล้วนำไปสู่การบัญญัติสิกขาบท

          สตรีทั้ง ๒ ประเภทดังที่กล่าวมาแล้วต้องผ่านเงื่อนไขขั้นตอนการเป็นสิกขมานาเหมือนกันหมด แตกต่างกันตามสถานภาพสมรสหรือโสด   ภิกษุณีบางรูปได้บวชให้สตรีผู้ไม่ได้ผ่านการเป็นสิกขมานา ไม่ได้ศึกษาธรรมตลอด ๒ ปี  ทำให้ภิกษุณีบวชใหม่นั้น ไม่รู้เรื่องธรรม ๖ ข้อนั้นเป็นคนโง่เขลา ไม่ฉลาด ไม่รู้สิ่งที่ควรหรือไม่ควรความทราบถึงพระพุทธเจ้าพระองค์จึงทรงบัญญัติ  ให้ภิกษุณีสงฆ์ให้สิกขาสมมติในธรรม ๖ ข้อ เป็นเวลา ๒ ปี แก่สิกขมานา[๒๖]สิกขาสมมติ คือข้อตกลงยินยอมร่วมกันที่จะให้สิกขมานานั้นศึกษาในธรรม ๖ ข้อเป็นเวลา ๒ปี และปรับโทษปาจิตตีย์แก่ภิกษุณีผู้บวชให้สิกขมานาผู้ยังไม่ได้ศึกษาในธรรม ๖ ข้อตลอด ๒ ปี[๒๗]  สาเหตุที่สตรีต้องผ่านการเป็นสิกขมานาใช้ระยะเวลาในการรักษาสิกขาบท ๖ ข้อเป็นเวลาถึง ๒ ปีนั้นในอรรถกถาได้อธิบายไว้ว่า เนื่องจากสตรีเป็นคนโลเล ถ้ารักษาศีล ๖ ข้อตลอด ๒ ปี ไม่ได้ เมื่อมารักษาศีลหลังจากบวชแล้วจะลำบาก สตรีที่จะบวชเป็นภิกษุณี ถึงจะมีอายุ ๖๐ ปี ต้องรักษาศีล ๖ ข้อ เป็นเวลา ๒ ปีถ้าไม่ปฏิบัติตามไม่พึงให้อุปสมบท[๒๘]

          อรรถกถามุ่งประเด็นไปในเรื่องของจิตใจเท่านั้นถือเป็นประเด็นที่ยังไม่ครอบคลุมทั้งหมดเมื่อเป็นสิกขมานาแล้วประสงค์จะบวชจะต้องให้คณะภิกษุณีตกลงยินยอมร่วมกันเสียก่อนจึงจะบวชได้  แต่ก็มีภิกษุณีบางรูปบวชให้สิกขมานาที่คณะภิกษุณีไม่ได้สมมติ(การรับรองให้บวช) คณะภิกษุณีทั้งหลายจึงไม่ทราบว่าสิกขมานารูปนี้บวชแล้วยังคงเรียกสิกขมานา จนถูกทักท้วงจากภิกษุณีรูปนั้นว่า ดิฉันได้บวชแล้วไม่ใช่สิกขมานา พระพุทธเจ้าทรงตำหนิการกระทำของภิกษุณีบางรูป พระองค์จึงแก้ด้วยวิธีการอนุญาตให้ภิกษุณีสงฆ์ให้วุฏฐานสมมติ(สมมติการบวช หมายถึงการรับรองให้บวชได้) แก่สิกขมานาผู้ได้ศึกษาสิกขาในธรรม ๖ ข้อตลอด ๒ ปี[๒๙]  ทรงปรับอาบัติแก่ภิกษุณีผู้บวชให้สิกขมานาผู้ศึกษาสิกขาในธรรม ๖ ข้อตลอด ๒ ปีแล้ว  แต่สงฆ์ยังไม่ได้สมมติ[๓๐] ภิกษุณีจะบวชสิกขมานาทุกๆปีไม่ได้ และบวชปีเดียว ๒ รูปไม่ได้ สาเหตุที่พระองค์ทรงห้ามเพราะมีสตรีเข้ามาบวชเป็นจำนวนมาก ที่อยู่ (ภิกขุนูปัสสยะ)ของภิกษุณีไม่เพียงพอ ชาวบ้านพากันตำหนิ   พระพุทธเจ้าจึงทรงบัญญัติไม่ให้บวชสิกขมานาเป็นภิกษุณีทุกปี และไม่พึงบวชให้สิกขมานาปีละ ๒ รูป ปรับอาบัติปาจิตตีย์แก่ภิกษุณีผู้ละเมิด[๓๑] ในกรณีที่พระพุทธเจ้าทรงไม่ให้ภิกษุณีบวชทุกปีปัญหาหลักคือที่อยู่ไม่เพียงพอ ถ้าสตรีสูงศักดิ์ออกบวช บริวารได้ติดตามออกบวชเป็นจำนวนมาก  คงจะสร้างที่อยู่ไม่ทันการเกิดขึ้นของภิกษุณี เพราะที่อยู่ของภิกษุณีต้องปลอดภัย ซึ่งแตกต่างที่อยู่ของภิกษุ

          ผู้เขียนมองว่า ขั้นตอนการเป็นสิกขมานาไม่ใช่ความซับซ้อนในการบวชเป็นภิกษุณี กลับเป็นผลดีต่อตัวภิกษุณีเอง และเป็นการรักษาความเลื่อมใสของประชาชน  การรักษาสิกขาบท ๖ ข้อเป็นการเตรียมตัวเพื่อเป็นภิกษุณี เป็นวิธีการกลั่นกรองสตรีที่ดีที่สุด เป็นการทดสอบความเข้มแข็งทั้งทางร่างกายและจิตใจ การเป็นสิกขมานาคือการทดสอบในการเป็นภิกษุณี จะสอบผ่านหรือไม่ผ่านก็อยู่ที่ขั้นตอนสิกขมานานี้  คือให้เวลาในการตัดสินใจ เข้าสู่ชีวิตนักบวช  เรียนรู้ระเบียบปฏิบัติในการเป็นภิกษุณี เป็นการตรวจสอบสตรีมีครรภ์เข้ามาบวช หรือสตรีที่มีลูกอ่อนมาบวช  และให้มีจิตสำนึกในคุณค่าของความเป็นภิกษุณีที่ได้มาโดยยาก   จากเหตุผลทั้งหมดที่กล่าวมานี้ทำให้ทราบว่าขั้นตอนการเป็นสิกขมานาเป็นขั้นที่พระพุทธเจ้าทรงเล็งเห็นคุณประโยชน์ต่อสตรี จึงกล่าวได้ว่าเป็น พุทธบัญญัติ คือเป็นอนุปปันนบัญญัติ ที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติล่วงหน้า ก่อนที่ความผิดจะเกิดขึ้น เป็นขั้นตอนที่กลั่นกรองสตรีเข้ามาบวช ในพระพุทธศาสนา เริ่มใช้หลังจากที่มีภิกษุณีเข้ามาบวชเป็นจำนวนมาก         เมตฺตานันโทภิกขุได้ตั้งข้อสังเกตว่า ข้อที่น่าสังเกตประการหนึ่ง คือการบัญญัติการเกิดขึ้นของสิกขมานานี้ต่างไปจากหลักการที่พระตถาคตเจ้าตรัสไว้เองเกี่ยวกับการบัญญัติพระวินัยดังที่ปรากฏในพระดำรัสในเวรัญชกัณฑ์  เมื่อพระสารีบุตรทูลอาราธนาพระองค์ให้บัญญัติสิกขาบทแก่สาวกเพื่อให้พระศาสนาดำรงอยู่ได้นานดังข้อความว่า

          จงรอก่อนสารีบุตร จงยับยั้งก่อนสารีบุตร ตถาคตผู้เดียวจักรู้

          กาลในกรณีนั้น   พระศาสดายังไม่บัญญัติสิกขาบท ยังไม่แสดง

          ปาติโมกข์แก่สาวก ตลอดเวลาที่ธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งอาสวะ

          บางเหล่า ยังไม่ปรากฏในสงฆ์ในศาสนานี้ ต่อเมื่อใด

          อาสวัฏฐานิยธรรมบางเหล่า ปรากฏในสงฆ์ในศาสนานี้

          เมื่อนั้นพระศาสดาจะบัญญัติสิกขาบท แสดงปาติโมกข์

          แก่สาวก เพื่อกำจัดอาสวัฏฐานิยธรรมเหล่านั้น

          อนุสนธิจากพุทธดำรัสในตอนนี้ ปรากฏพุทธวิธีขั้นตอนการบัญญัติสิกขาบทต่างๆ เพื่อการปกครองคณะสงฆ์ โดยเริ่มจากการที่มีคดีเกิดขึ้นก่อน จนเกิดเป็นปัญหามีผู้มากราบทูล แล้วจึงทรงไต่สวนผู้ที่เกี่ยวข้องกับคดีนั้นๆ แล้วจึงจะมีพุทธวินิจฉัยเป็นการบัญญัติสิกขาบท การบัญญัติเงื่อนไขของสิกขมานา ๒ ปี ก่อนการอุปสมบทเป็นภิกษุณีในครุธรรมข้อที่ ๖ นี้ ไม่ปรากฏเหตุ การวินิจฉัยและการไต่สวน แต่เป็นการบัญญัติในลักษณะที่เป็นสูตรเบ็ดเสร็จสำหรับภิกษุณี [๓๒]

          ถ้ามีผู้ถามว่า เมื่อขั้นตอนการเป็นสิกขมานาเป็นพุทธบัญญัติ ทำไมพระพุทธเจ้าจึงทรงบัญญัติสิกขาบทเกี่ยวกับสิกขมานาขึ้นอีก ไม่เป็นการซ้ำซ้อนกันหรือ? ตอบว่า “เพราะพระพุทธเจ้าทรงบัญญัติการเกิดขึ้นของสิกขมานา ต่างไปจากหลักการบัญญัติพระวินัย” ก่อนอื่นต้องทราบการบัญญัติพระวินัยของพระพุทธเจ้าสำหรับภิกษุและภิกษุณีมี  ๒ ประการ คือ ๑.พระบัญญัติ(มูลบัญญัติ) หมายถึงการบัญญัติวินัยขึ้นในเมื่อมีเรื่องเกิดขึ้นและมีผู้ตำหนิ ๒. อนุบัญญัติ หมายถึง ถ้าการบัญญัติครั้งแรก(มูลบัญญัติ)นั้นตึงเกินไป หรือไม่รัดกุม พระองค์ก็จะบัญญัติเพิ่มขึ้นอีก    การบัญญัติให้มีสิกขมานานั้น ไม่อยู่ในลักษณะทั้ง ๒ นี้  เป็นบัญญัติที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้ก่อนมีเรื่องเกิดขึ้น การบัญญัติสิกขมานาเป็น ๑ ใน ครุธรรม ๘ ข้อ จัดครุธรรมเป็นอนุปปันนบัญญัติ  มีข้อความในอรรถกถาว่า อนุปปันนบัญญัตินี้ พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติ ในเมื่อยังไม่มีโทษเกิดขึ้น  อนุปปันนบัญญัติ คือครุธรรม ๘ ประการ  ในสิกขาบทอื่นไม่มี  มีแต่เฉพาะภิกษุณีทั้งหลายเท่านั้น[๓๓]  ดังนั้นครุธรรมข้อที่ ๖ ที่เกี่ยวกับสิกขมานา ๒ ปี ก่อนการอุปสมบทเป็นภิกษุณี เป็น ๑ ในครุธรรม ๘ ข้อนั้นจึง เป็นการบัญญัติขึ้นล่วงหน้าเพื่อเป็นการรักษาภิกษุณีก่อนที่จะมีเรื่องต่างๆขึ้น   เพราะครุธรรมทุกข้อเป็นกฎกติกาสำหรับภิกษุณี ไม่มีการปรับอาบัติโทษ  ภิกษุณีจึงได้มีการล่วงละเมิดครุธรรมโดยเฉพราะครุธรรมข้อที่ ๖ ที่เกี่ยวกับสิกขมานา  พระพุทธเจ้าจึงทรงบัญญัติพระวินัยปรับโทษอาบัติปาจิตตีย์เป็นจำนวน ๑๐ สิกขาบท คือ ภิกษุณีได้บวชให้สตรีมีครรภ์ พระพุทธเจ้าทรงปรับอาบัติปาจิตตีย์แก่ภิกษุณีผู้บวชให้[๓๔] ภิกษุณีบวชให้สตรีมีครรภ์ ต้องอาบัติ ๒ อย่างคือกำลังบวชให้ ต้องอาบัติทุกกฎ เพราะพยายาม  เมื่อบวชให้แล้ว ต้องอาบัติปาจิตตีย์[๓๕]

ภิกษุณีบวชให้สตรีที่มีลูกยังดื่มน้ำนม พระพุทธเจ้าทรงปรับโทษอาบัติปาจิตตีย์แก่ภิกษุณีผู้บวชให้[๓๖] ภิกษุณีบวชให้สตรีมีลูกยังดื่มนม ต้องอาบัติ ๒ อย่างคือ กำลังบวชให้ ต้องอาบัติทุกกฎ เพราะพยายาม   เมื่อบวชให้แล้ว ต้องอาบัติปาจิตตีย์[๓๗]

          ภิกษุณีบวชให้สิกขมานาที่ไม่ได้สมาทานรักษาศีล ๖ ข้อตลอด ๒ ปี พระพุทธเจ้าปรับโทษอาบัติปาจิตตีย์แก่ภิกษุณีผู้บวชให้[๓๘] หรือแม้แต่รักษาศีล ๖ ข้อ ตลอด ๒ ปีแล้วแต่คณะสงฆ์ยังไม่ได้รับทราบ(สงฆ์ยังไม่ได้สมมติ) ซึ่งเมื่อบวชเป็นภิกษุณีแล้วภิกษุณีทั้งหลายยังเข้าใจว่ายังเป็นสิกขมานาอยู่ พระพุทธเจ้าทรงปรับโทษอาบัติปาจิตตีย์ภิกษุณีผู้บวชให้สิกขมานาที่รักษาศีล ๖ ข้อ ตลอด ๒ ปีแต่สงฆ์ยังไม่ได้สมมติ(รับทราบ)[๓๙] ภิกษุณีทั้งหลายบวชให้สตรีที่ผ่านการมีครอบครัวแล้วมีอายุต่ำกว่า ๑๒ ปี ภิกษุณีเหล่านั้นไม่สามารถอดทนต่อหนาวร้อน หิวกระหายได้ พระพุทธเจ้าทรงปรับโทษอาบัติปาจิตตีย์แก่ภิกษุณีผู้บวชให้[๔๐] ภิกษุณีทั้งหลายบวชให้สตรีที่ผ่านการมีครอบครัวแล้ว อายุต่ำกว่า ๑๒ ปี ยังไม่ได้รักษาศีล ๖ ข้อ ตลอด ๒ ปี ภิกษุณีเหล่านั้นเมื่อบวชมาแล้วโง่เขลา ไม่ฉลาด พระพุทธเจ้าทรงปรับโทษอาบัติปาจิตตีย์แก่ภิกษุณีผู้บวชให้[๔๑] ภิกษุณีบวชให้สตรีที่ผ่านการมีครอบครัวแล้วอายุต่ำกว่า ๑๒ ปี รักษาศีล ๖ ข้อ ตลอด ๒ ปี แต่สงฆ์ยังมิได้สมมติ(รับทราบ) พระพุทธเจ้าทรงปรับโทษอาบัติปาจิตตีย์แก่ภิกษุณีผู้บวชให้นั้น[๔๒]  ภิกษุณีบวชให้สตรีที่มีอายุต่ำกว่า ๒๐ ปี  เมื่อบวชแล้วภิกษุณีเหล่านั้นไม่สามารถอดทนต่อความหนาวร้อน ความหิวกระหายได้ พระพุทธเจ้าทรงปรับโทษอาบัติปาจิตตีย์แก่ภิกษุณีผู้บวชให้นั้น[๔๓] ภิกษุณีทั้งหลายบวชให้สตรีที่ไม่ได้รักษาศีล ๖ ข้อ ตลอด ๒ ปี พระพุทธเจ้าปรับโทษอาบัติปาจิตตีย์[๔๔]ภิกษุณีบวชสตรีที่รักษาศีล ๖ ข้อ ตลอด ๒ ปีแล้วแต่สงฆ์ยังไม่ได้สมมติ  พระพุทธเจ้าทรงปรับโทษอาบัติปาจิตตีย์แก่ภิกษุณีผู้บวชให้[๔๕] ทั้ง ๑๐ สิกขาบทนี้เกิดขึ้นภายหลังครุธรรมข้อที่ ๖  ภิกษุณีทั้งหลายต่างทราบว่ามีครุธรรมเกี่ยวกับสิกขมานาอยู่แล้วแต่ได้ละเมิดครุธรรม พระพุทธเจ้าจึงบัญญัติสิกขาบทปรับอาบัติแก่ภิกษุณีนั้นๆ

 

๓.สรุป

 

          ผู้เขียนมองว่ากรณีของสิกขมานาที่ล่วงละเมิดศีล ๖ ข้อนั้นต้องเริ่มต้นนับ ๑ ใหม่ ไม่เป็นการเสียสิทธิ ยังมีสิทธิในการบวชต่อไป เมื่อทำตามกติกาคือการรักษาศีลไม่ให้ขาด หรือ ในกรณีภิกษุณีที่บวชโดยไม่ได้ผ่านขั้นตอนการเป็นสิกขมานาพระองค์ไม่ได้รับสั่งให้ลาสิกขาจากภิกษุณี ยังสามารถเป็นภิกษุณีต่อไปได้  แต่พระองค์ทรงปรับโทษอาบัติปาจิตตีย์แก่ภิกษุณีที่เป็นผู้บวชให้[๔๖] เมื่อดูจากหลักฐานแล้วพระพุทธเจ้าไม่ได้ปรับโทษสิกขมานาที่บวชเป็นภิกษุณีแล้ว แต่พระองค์ปรับโทษผู้ที่บวชให้ ดังนั้นสิกขมานาที่ไม่ได้ผ่านขั้นตอนรักษาศีล ๖ ข้อ  เมื่อบวชเป็นภิกษุณีแล้วก็แล้วไป พระองค์ไม่ได้ตรัสว่าไม่เป็นอันบวช หรือไม่สำเร็จเป็นการบวช ซึ่งต่างจากกรณีของภิกษุสงฆ์ พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติห้ามภิกษุบวชบุรุษที่มีอายุ ต่ำกว่า ๒๐ ปีเป็นภิกษุ  ถ้าบวชเป็นภิกษุแล้วก็ไม่เป็นอันบวช คือไม่เป็นภิกษุ มีข้อความปรากฏว่า ก็ ภิกษุใดรู้อยู่ อุปสมบทให้บุคคลผู้มีอายุหย่อนกว่า ๒๐ ปี บุคคลนั้นไม่เป็นอันอุปสมบท และภิกษุเหล่านั้นควรถูกตำหนิ ภิกษุนั้นต้องอาบัติปาจิตตีย์[๔๗]  คำว่าบุคคลนั้นไม่เป็นอันอุปสมบท คือบุรุษที่บวชเป็นภิกษุแล้วไม่ได้ชื่อว่าเป็นภิกษุ  เสียสิทธิในการเป็นภิกษุเพราะอายุยังไม่ครบ ๒๐ ปี ปรับโทษอาบัติปาจิตตีย์แก่อุปัชฌาย์  ภิกษุที่เป็นคณปูรกะ(ภิกษุนั่งอันดับ)ทุกรูปต้องอาบัติทุกกฎ  มีคำอธิบายในกังขาวิตรณีว่า  คำว่าบุคคลนั้นไม่เป็นอันอุปสมบท คือ ผู้ที่พระอุปัชฌาย์พร้อมการกสงฆ์ ซึ่งรู้อยู่ก็ดี ไม่รู้ก็ดี อุปสมบทให้แล้วก็ไม่เป็นอันได้รับการอุปสมบทเลย คำว่า ภิกษุเหล่านั้นควรได้รับการตำหนิ คือยกเว้นพระอุปัชฌาย์แล้ว ภิกษุที่เหลือสมควรถูกตำหนิ ทุกรูปต้องอาบัติทุกกฎ คำว่าภิกษุนั้นต้องอาบัติปาจิตตีย์นี้ คือ ภิกษุที่เป็นอุปัชฌาย์อุปสมบทให้นั่นแหล่ะต้องอาบัติปาจิตตีย์[๔๘] แต่หลักการอันนี้เมื่อนำมาใช้กับภิกษุณีแล้วไม่เป็นเช่นนั้น ภิกษุณีที่บวชให้สตรีที่มีอายุต่ำกว่า ๒๐ ปี พระพุทธเจ้าปรับโทษภิกษุณีที่เป็น ปวัตตินีเท่านั้นเป็นอาบัติปาจิตตีย์[๔๙] พระพุทธเจ้าไม่ได้ปรับโทษภิกษุณีผู้บวชแล้วว่าไม่เป็นอันบวช ภิกษุณีนั้นยังคงเป็นภิกษุณีต่อไปได้ 

              ในครุธรรมข้อที่ ๖ ได้บัญญัติให้ภิกษุณีแสวงหาอุปสมบทในสงฆ์ ๒ ฝ่ายให้แก่สิกขมานาผู้ประพฤติธรรม ๖ ข้อครบ ๒ ปีโดยไม่ขาด  ก่อนที่สตรีจะบวชเป็นภิกษุณีต้องประพฤติธรรม ๖ ข้อเสียก่อน ซึ่งต่างจากการบวชเป็นภิกษุ บุรุษเมื่อประสงค์จะบวชก็ได้บวชเลยไม่ต้องผ่านขั้นตอนที่จะต้องรักษาศีลหรืออยู่ในกฏข้อบังคับ แต่มีข้อยกเว้นสำหรับบุรุษที่เคยเป็นเดียรถีย์มาก่อนเมื่อประสงค์จะบวชเป็นภิกษุต้องอยู่ปริวาส เป็นเวลา ๔ เดือน[๕๐]สิกขมานาเป็นพระประสงค์ของพระองค์ที่จะทรงให้มีขึ้น และได้ไว้วางเป็นหลักสำหรับให้ภิกษุณีปฏิบัติตาม ไม่ได้ปรับอาบัติโทษแก่ภิกษุณีผู้ล่วงละเมิด  แต่เมื่อภิกษุณีไม่ปฏิบัติตามพระองค์จึงทรงบัญญัติสิกขาบท ปรับอาบัติ และสิกขมานาที่รักษาสิกขาบท ๖ ข้อ ถ้าขาดข้อใดข้อหนึ่งไม่ถือว่า เสียสิทธิในการบวช  มีสิทธิในการบวชเมื่อทำตามกติกาคือเริ่มต้นนับใหม่ ขยายเวลาออกไปอีก การเป็นสิกขมานาดูเหมือนมีความซับซ้อนหลายประการแต่ในความซับซ้อนนั้นกลับกลายเป็นผลดี ในการคัดเลือกสตรีที่มีคุณภาพเข้ามาบวช

 

 



[๑] เมตฺตานนฺโท ภิกฺขุ,เหตุเกิด พ.ศ. ๑ เล่ม ๒ :    

  วิเคราะห์กรณีปฐมสังคายนาและภิกษุณี

  สงฆ์, (กรุงเทพมหานคร:สำนักพิมพ์แสง

  ตะวัน๒๕๔๕),หน้า๑๑๓-๑๑๔.

[๒] วิ.จู.(บาลี) ๗/๔๐๓/๒๓๓,วิ.จู.(ไทย) ๗/

  ๔๐๓/๓๑๘.

[๓] วิ.จู.(บาลี) ๗/๔๐๔/๒๓๗,วิ.จู.(ไทย) ๗/

  ๔๐๔/๓๒๑.

[๔] วิ.ภิกฺขุนี.(บาลี) ๓/๑๐๙๕/๑๗๗,วิ.ภิกฺขุนี.

  (ไทย) ๓/๑๐๙๕/๓๐๘.

[๕] วิ.ภิกฺขุนี.(บาลี) ๓/๑๐๙๕/๑๗๗,วิ.ภิกฺขุนี.

   (ไทย) ๓/๑๐๙๕/๓๐๘.

[๖] วิ.ภิกฺขุนี.(บาลี)๓/๑๐๙๗/๑๗๙,วิ.ภิกฺขุนี.

  (ไทย) ๓/๑๐๙๗/๓๐๘-๓๑๐.

[๗] วิ.อ.(บาลี) ๒/๕๑๙.

[๘] วิ.ภิกฺขุนี.(บาลี)๓/๑๐๙๐-๑๐๙๑,วิ.ภิกฺขุนี.

  (ไทย) ๓/๑๐๙๐-๑๐๙๑/๓๐๕-๓๐๖.

[๙]  กงฺขา.อ.(บาลี) ๓๙๘/๔๐๐.

[๑๐] วิ.ภิกฺขุนี.(บาลี)๓/๑๐๙๖/๑๗๘,วิ.ภิกฺขุนี.

   (ไทย)๓/๑๐๙๖/๓๐๙.

[๑๑]  วิ.ภิกฺขุนี.(บาลี) ๓/๑๐๙๖/๑๗๘,วิ.ภิกฺขุนี.

   (ไทย)๓/๑๐๙๖/๓๐๙.

[๑๒] วิ.ภิกฺขุนี.(บาลี)๓/๑๐๗๘/๑๗๑.,วิ.ภิกฺขุนี.   

   (ไทย)๓/๑๐๗๘/๒๙๗-๒๙๘.

[๑๓] ขุ.ธ.อ./๔.

[๑๔] ขุ.ธ.อ. (บาลี)๖/๑๑-๑๒.

[๑๕] ขุ.ธ.อ.(บาลี) ๖/๑๒.

[๑๖] วิ.ภิกฺขุนี.(บาลี)๓/๑๐๖๗/๑๖๗,วิ.ภิกฺขุนี.

    (ไทย) ๓/๑๐๖๗/๒๙๐.

[๑๗] วิ.ภิกฺขุนี.(บาลี)๓/๑๐๗๒/๑๖๙,วิ.ภิกฺขุนี.

    (ไทย) ๓/๑๐๗๒/๒๙๓.

[๑๘] วิ.ภิกฺขุนี.(บาลี) ๓/๑๑๒๐/๑๘๖,วิ.ภิกฺขุนี.

    (ไทย) ๓/๑๑๒๐/๓๒๓.

[๑๙] วิ.ภิกฺขุนี.(บาลี) ๓/๑๑๑๙/๑๘๖,วิ.ภิกฺขุนี.

    (ไทย) ๓/๑๑๑๙/๓๒๒.

[๒๐] วิ.ภิกฺขุนี.(บาลี) ๓/๑๑๒๖/๑๘๙,วิ.ภิกฺขุนี.

    (ไทย) ๓/๑๑๒๖/๓๒๗.

[๒๑] วิ.ภิกฺขุนี.(บาลี) ๓/๑๑๒๔/๑๘๘,วิ.ภิกฺขุนี.

    (ไทย) ๓/๑๑๒๔/๓๒๕.

[๒๒] พระธรรมปิฎก(ป.อ.ปยุตฺโต),พจนานุกรม

   พุทธศาสตร์ฉบับประมวลธรรม, หน้า๑๙๘.

[๒๓] วิ.ภิกฺขุนี.(บาลี) ๓/๑๑๒๕/๑๘๘,วิ.ภิกฺขุนี.

   (ไทย) ๓/๑๑๒๕/๓๒๖-๓๒๗.

[๒๔] วิ.ภิกฺขุนี.(บาลี) ๓/๑๑๓๒/๑๙๒,วิ.ภิกฺขุนี.

   (ไทย) ๓/๑๑๓๒/๓๓๑.

[๒๕] ขุ.ธ.อ.(บาลี) ๖/ ๑๒๘.

[๒๖] วิ.ภิกฺขุนี.(บาลี)๓/๑๐๗๗/๑๗๐,วิ.ภิกฺขุนี.

    (ไทย)๓/๑๐๗๗/๒๙๖-๒๙๗.

[๒๗] วิ.ภิกฺขุนี.(บาลี)๓/๑๐๘๐/๑๗๒,วิ.ภิกฺขุนี.

    (ไทย)๓/๑๐๘๐/๒๙๘.

[๒๘]  วิ.อ.(บาลี) ๒/๕๑๖.

[๒๙]  วิ.ภิกฺขุนี.(บาลี)๓/๑๐๘๔-๑๐๘๕/๑๗๓,วิ.

    ภิกฺขุนี.(ไทย)๓/๑๐๘๔-๑๐๘๕/๓๐๑-๓๐๒.

[๓๐] วิ.ภิกฺขุนี.(บาลี)๓/๑๐๘๖/๑๗๔,วิ.ภิกฺขุนี.

   (ไทย)๓/๑๐๘๖/๓๐๓.

[๓๑]  วิ.อ.(บาลี)๑/๒๒๔.

[๓๒] เมตฺตานนฺโท ภิกฺขุ,เหตุเกิด พ.ศ. ๑ เล่ม ๒

   :วิเคราะห์กรณีปฐมสังคายนาและภิกษุณี

   สงฆ์,หน้า๑๑๓-๑๑๕.

[๓๓] วิ.อ.(บาลี)๑/๒/๔๑๘.

[๓๔] วิ.ภิกฺขุนี.(บาลี)๓/๑๐๖๗-๑๐๖๘/๑๖๗-๑๖๘,

   วิ.ภิกฺขุนี.(ไทย)๓/๑๐๖๗-๑๐๖๘/๒๙๐-๒๙๑.

[๓๕] วิ.ป.(บาลี) ๘/๒๓๘/.,วิ.ป.(ไทย) ๘/๒๓๘/๓๐๔-

   ๓๐๖.

[๓๖] วิ.ภิกฺขุนี.(บาลี) ๓/๑๐๗๒-๑๐๗๓/๑๖๙,วิ.

   ภิกฺขุนี.(ไทย) ๓/๑๐๗๒-๑๐๗๓/๒๙๓-๒๙๔.

[๓๗] วิ.ป.(บาลี) ๘/๒๓๘/,วิ.ป. (ไทย) ๘/๒๓๘/

   ๓๐๔-๓๐๖.

[๓๘] วิ.ภิกฺขุนี.(บาลี) ๓/๑๐๗๗-๑๐๘๐/๑๗๐-๑๗๒,

   วิ.ภิกฺขุนี.(ไทย) ๓/๑๐๗๗-๑๐๘๐/๒๙๖.

[๓๙] วิ.ภิกฺขุนี.(บาลี)๓/๑๐๘๔-๑๐๘๖/๑๗๓-๑๗๔,

    วิ.ภิกฺขุนี.(ไทย)๓/๑๐๘๔-๑๐๘๖/๓๐๑-๓๐๓.

[๔๐] วิ.ภิกฺขุนี.(บาลี) ๓/๑๐๙๐-๑๐๙๑/๑๗๕-๑๗๖,

    วิ.ภิกฺขุนี.(ไทย) ๓/๑๐๙๐-๑๐๙๑/๓๐๕-๓๐๖.

[๔๑] วิ.ภิกฺขุนี.(บาลี) ๓/๑๐๙๕-๑๐๙๗/๑๗๗-๑๗๙,

    วิ.ภิกฺขุนี.(ไทย) ๓/๑๐๙๕-๑๐๙๗/๓๐๘-๓๑๐.

[๔๒] วิ.ภิกฺขุนี.(บาลี) ๓/๑๑๐๑-๑๑๐๓/๑๘๐-๑๘๒,

    วิ.ภิกฺขุนี.(ไทย) ๓/๑๑๐๑-๑๑๐๓/๓๑๒-๓๑๔.

[๔๓] วิ.ภิกฺขุนี.(บาลี) ๓/๑๑๑๙-๑๑๒๐/๑๘๖,วิ.

   ภิกฺขุนี.(ไทย) ๓/๑๑๑๙-๑๑๒๐/๓๒๒-๓๒๓.

[๔๔] วิ.ภิกฺขุนี.(บาลี) ๓/๑๑๒๔-๑๑๒๖/๑๘๘-

   ๑๘๙,วิ.ภิกฺขุนี.(ไทย) ๓/๑๑๒๔-๑๑๒๖/ 

   ๓๒๕.

[๔๕] วิ.ภิกฺขุนี.(บาลี) ๓/๑๑๓๐-๑๑๓๒/๑๙๐-

   ๑๙๒,วิ.ภิกฺขุนี.(ไทย) ๓/๑๑๓๐-๑๑๓๒/

   ๓๒ช-๓๓๑.

[๔๖] วิ.ภิกฺขุนี.(บาลี) ๓/๑๐๘๐/๑๗๒,วิ.ภิกฺขุนี.

   (ไทย)๓/๑๐๘๐/๒๙๘.

[๔๗] วิ.มหา.(บาลี)๒/๔๐๓/๓๐๐,วิ.มหา.(ไทย)

    ๒/๔๐๓/๕๑๕.

[๔๘] กงฺขา.อ.๒๘๙.

[๔๙] วิ.ภิกฺขุนี.(บาลี) ๓/๑๑๒๐/๑๘๖,วิ.ภิกฺขุนี.

   (ไทย) ๓/๑๑๒๐/๓๒๓.

[๕๐] วิ.อ.(บาลี)๓/๒๘๑.

(Source: ดร. แม่ชีกฤษณา รักษาโฉม)
 
 
 
Copyright © Mahachulalongkornrajavidyalaya University All rights reserved 
Maintained by: webmaster@mcu.ac.th 
Last Update : Thursday February 9, 2012