Mahachulalongkornrajavidyalaya University
MCU Home Search Contacts Study Events Site Map Thai/Eng
MCU
ON THIS SITE
Curriculum
Academic Articles

First Page » Assoc. Prof. Ven. Phramaha Hansa Dhammahaso, Ph.D. » Dhamma Celebrity: รักษาความเป็นเซเลปอย่างไร จึงจะไม่เซเจ็บ
 
counter : 9978 time

''Dhamma Celebrity: รักษาความเป็นเซเลปอย่างไร จึงจะไม่เซเจ็บ''
 
Assist. Prof. Phramaha Hansa Dhammahaso, Ph.D. (2553)

๑.เกริ่นนำ

แม้ว่ากลุ่มชนคนเซเลป (Celeb) ซึ่งมาจากคำว่า “Celebrity” จะเป็นบุคคล หรือกลุ่มบุคคล ที่เป็นที่รู้จักของสาธารณะชน และประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานของตน และอาจจะรวมถึงทายาทหรือผู้ที่เกี่ยวข้องกับผู้ที่ประสบความสำเร็จ เช่น ดารา กลุ่มคนที่ทำงานในแวดวงการเมือง การธนาคาร และธุรกิจภาคเอกชน จะเห็นว่า การที่บุคคลกลุ่มนี้เพียบพร้อมไปด้วยความสำเร็จทั้งด้านความสามารถ ชื่อเสียง และประสบความสำเร็จในชีวิตและการงาน ย่อมนำมาซึ่งความชื่นชม และได้รับความนิยมอย่างสูงจากคนในสังคม และสาธารณชนโดยทั่วไป ทั้งในแง่ของวิธีคิด พฤติกรรมการแสดงออกทั้งในแง่บวกและลบ

อย่างไรก็ดี การเป็น “Celebrity” ของคนเหล่านั้น แม้ว่า “ภาพลักษณ์ และการแสดงออกภายนอกจะดูดีมีชื่อเสียงมากเพียงใด” แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า “กิเลสจะไม่แทรกแซงจิตใจของชุมชนคนกลุ่มนี้” ยิ่งไปกว่านี้ คนกลุ่มนี้อาจจะได้รับการคุกคามจากกิเลสมากกว่าคนทั่วไป เหตุสำคัญก็เพราะว่าคนกลุ่มนี้กำลังเพลิดเพลิน และพัวพันอยู่กับ “โลกธรรม” ที่เพียบพร้อมไปด้วยเสียง สี เสียง เงินทอง ความสำเร็จ และชื่อเสียง

ด้วยเหตุนี้ “ท่าที การวางตัว และวางจิตอย่างประสานสอดคล้องกับสถานการณ์และความเป็นไปต่างๆ ที่เกิดขึ้น” จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่คนกลุ่มนี้จะต้องตระหนักรู้ และให้ความใส่ใจ กล่าวคือ คนกลุ่มนี้จะใช้ “แสง สี เสียง เงินตรา และความสำเร็จมาเป็นเครื่องมือในการพัฒนากาย พฤติกรรม จิตใจ และปัญญาของตัวเองอย่างไร จึงจะไม่ตกเป็นเครื่องของสิ่งเหล่านั้น จนทำให้ชีวิตต้องพลัดหลงอยู่ในวงวนของเขี้ยวเล็บอันแหลมคมของโลกธรรมที่จะทำหน้าที่ในการเกาะ กัด และกินจิตใจ

คำถามสำคัญคือ “หากคนเหล่านั้นต้องตกอยู่ในหลุมพรางของลัทธิบริโภคนิยม และวัตถุนิยมจนเป็นที่มาของความทุกข์ ความเจ็บปวด และหยาดน้ำตาของความพลัดพราก ความสูญเสีย หรือความไม่สมนัยของความปรารถนาที่จะมี และเป็นตามความมุ่งหวัง” คนเหล่านี้ควรจะมีท่าที และแนวทางอย่างไร จึงจะสามารถอยู่รอดภายในสถานการณ์แห่งความตึงเครียด ความหวาดกลัว และหวาดระแวงที่เกิดจากใจของตัวเอง และสังคมโดยรอบในสถานการณ์ปัจจุบัน


๒. กับดักของชุมชนชาวเซเลป

ในโลกของ “ระบบทุนนิยม” (Capitalism) ที่ฉาบทาด้วยวัตถุนิยมและบริโภคนิยมนั้น หากจะมองในเชิงบวก “โลกแห่งวัตถุ” ได้มอบความ “สะดวกสบายในการดำเนินชีวิต” โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การชื่อเสียง เงินตรา และความสำเร็จเป็น “ใบเบิกทาง” เพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่พึงปรารถนา และการยอมรับในระดับที่สูงมากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ดี หากมองในเชิงคุณภาพแล้ว การได้มาซึ่งสิ่งดังกล่าวนั้น อาจจะได้รับ “ของแถมที่ขายมาเป็นแพ็กเก็จ (Package)” ก็ได้ ซึ่งของแถมดังกล่าวได้กลายเป็น “กับดักให้ชุมชนคนเซเลปได้ติดตันและประสบกับปัญหาและชาตากรรมที่ไม่พึงประสงค์ในที่สุด

๒.๑ แม้จะ “ดูดี” เพียงใด “กิเลส” ก็แทรกได้เมื่อเราเผลอ

“กิเลส” เป็นของแถมชิ้นแรกที่ชุมชนชาวเซเลปจะได้รับในการใช้ชีวิต ถ้ากลุ่มคนเหล่านี้ดำเนินชีวิตโดย “ปราศจากสติ” เป็นเครื่องมือในการเผชิญโลก เช่น คนกลุ่มบางคนที่คุ้นเคยกับโลกวัตถุนิยมอาจจะเข้าใจว่า “การจะได้มาซึ่งสิ่งใดสิ่งหนึ่งนั้นจำเป็นต้องมีความโลภ” จนเป็นที่มาของคำว่า “Greed is Good” แต่พระพุทธศาสนามองว่า “Greed is Bad” เพราะความโลภ หรือความอยากได้มากจนเกินไปเป็นกิเลสตัวหนึ่งที่ทำหน้าที่บงการให้ชีวิตมนุษย์ต้องแย่งชิงสิ่งต่างๆ มาเป็นของตนโดยไม่ได้คำนึงถึงความถูกต้อง หรือเหมาะสมว่า ความโลภหรือความอยากของเรานั้นได้กลายเป็นส่วนหนึ่งที่หยิบยื่นความทุกข์ให้แก่คนอื่น หรือสิ่งอื่นๆ

ฉะนั้น แม้ว่าสิ่งที่ปรากฏภายนอกของคนกลุ่มนี้จะเพียบพร้อมด้วยรูปลักษณ์ (Appearance) และบุคลิกภาพที่ดี (Personality) เพียงใด แต่หากขาดเสียซึ่ง “สติ” คือความรู้สึก หรือระลึกรู้ก่อนที่จะคิด พูด หรือกระทำ ขณะที่จะคิด พูดหรือ ทำ และหลังการคิด พูด หรือกระทำ ย่อมเป็นที่ประจักษ์ชัดว่า “กิเลส” จะเข้ามาทำหน้าที่ในการบงการ และบังคับบัญชาให้กาย พฤติกรรม จิต และปัญญาของคนกลุ่มนี้เป็นไปในเชิงลบ และจะส่งผลเสียต่อเกียติยศ และเกียรติศักดิ์ในระยะสั้น และระยะยาวต่อไป

๒.๒ ใช้อารมณ์นำหน้า ใช้ปัญญาตามหลัง

ย่อมเป็นที่ประจักษ์ชัดว่า กลุ่มคนกลุ่มนี้แม้จะได้ชื่อว่า “ใช้ปัญญา” เป็นเครื่องมือในการแสวงชื่อเสียง เงินตรา และความสำเร็จ แต่จะพบว่า “ณ เวลาหนึ่ง” ปัญญาของคนกลุ่มนี้ได้กลายเป็น “ปัญหา” ที่กลับมาทิ่มแทงตัวเอง เพราะ “ปัญญา” ดังกล่าวได้รับการบดบังด้วย “อารมณ์” โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มคนที่เป็น “ดารา และนักแสดง” เนื่องจากคนกลุ่มนี้ได้ “ใช้ปัญญา” ให้ทำหน้าที่ในการ “ผลิตอารมณ์” ฉะนั้น คนกลุ่มนี้จึงมีความเชี่ยวชาญกว่าคนอื่นๆ ในการใช้ปัญญาผลิตอารมณ์ออกมาในรูปแบบต่างๆ จนทำให้ผู้อื่นคล้อยตามอารมณ์ที่นักแสดงแต่ละคนได้สร้าง และแสดงออกมา

อย่างไรก็ดี ปัญญาที่ชาญฉลาดในการสร้างอารมณ์ขึ้นมาเพื่อล่อหลอกคนอื่นให้รับรู้และคล้อยตามนั้น ได้กลายเป็นดาบที่สะท้อนย้อนกลับมาล่อหลอกใจของดารา และนักแสดงเอง ฉะนั้น จะพบว่า ในขณะที่ดารามักจะแสดงได้สมบทบาทจนทำให้ผู้อื่นพากันร้องไห้ แต่ในขณะเดียวกัน ณ เวลาหนึ่งผลจากการทำให้บุคคลอื่นร้องไห้ ตัวดาราเองก็มักจะประสบกับปัญหาและชาตากรรมเช่นเดียวกัน ด้วยเหตุนี้ แม้ว่า “ปัญญากับอารมณ์” จะอยู่คนละซีกของสมองมนุษย์ แต่หากให้สมองซีกใดซีกหนึ่งทำหน้าที่และเล่นบทบาทมากเกินไป ย่อมส่งผลให้การดำเนินชีวิตของคนกลุ่มนี้ต้องประสบกับกับดักที่ตัวเองสร้างขึ้นมาอย่างชัดแจ้ง

๒.๓ ทำดีเพื่อภาพลักษณ์ ทึกทักเพราะหวังประโยชน์

ภาพลักษณ์ (Image) ได้ก่อให้เกิดผลในเชิงบวกต่อการผลิตสินค้าและการบริการ เพราะทำให้ผู้บริโภคเกิดความเชื่อมั่นในตราสินค้าจนนำไปสู่การตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าและการบริการ ด้วยเหตุนี้ กลุ่มคนมีชื่อเสียง หรือดาราจำนวนมาก “อาจจะ” เห็นช่องทางดังกล่าว จึงตัดสินใจเข้าไปร่วมกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับสาธารณประโยชน์ และการกุศล เช่น การโฆษณาสินค้าเกี่ยวกับการลด ละ เลิก อบายมุข (นายแบบหรือนางแบบ (Presenter) อาจจะยังเสพ หรือเกี่ยวข้องกับสิ่งเหล่านี้) และกิจกรรมการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ในรูปแบบอื่นๆ เช่น การเลี้ยงอาหารกลางวันเด็ก และการทำหน้าที่เก็บศพ รวมไปถึงการกินเจ หรืองดเนื้อเพื่อส่อแสดงว่าตนเองใส่ใจต่อสุขภาพของตัวเอง และเอื้ออาทรต่อสัตว์อื่น

การแสดงออกในลักษณะดังกล่าว หากเป็นไปด้วย “เจตนาที่เป็นกุศล” และ “มุ่งหวังคุณค่าที่จะเกิดแก่ตัวเอง สังคม และสิ่งแวดล้อม” ย่อมนับว่า “ก่อให้เกิดคุณูปการที่ยิ่งใหญ่” อย่างไรก็ดี หากการแสดงออกในลักษณะดังกล่าวเป็นไปเพื่อ “การสร้างภาพลักษณ์” และ “โน้มเอียงไปในมิติที่สัมพันธ์กับกระแสๆ” ที่เกิดขึ้นในเทศกาล พิธีกรรม รวมไปถึงสิ่งที่สังคมสนใจและใส่ใจในช่วงเวลาหนึ่งๆ ย่อมทำให้สังคมโดยภาพรวมขาดความเชื่อมั่นในระยะยาว จะเห็นว่า “การทำดี” นั้น ไม่ได้อิงอยู่กับ “ภาพ” ที่จะเกิดขึ้นตามมา หากแต่เป็นไปด้วย “เจตนาที่บริสุทธิ์” และ “ปรารถนาที่จะให้ตัวเอง และเพื่อนร่วมโลกอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข” อันจะนำไปสู่การแบ่งปันความสุขความทุกข์อย่างเสมอภาค และเท่าเทียม

๒.๔ พยายามหลายปีกว่าจะดัง แต่ต้องพังเพราะคลิป

กลุ่มที่จะได้ชื่อว่าเป็น “Celebrity” นั้น ย่อมเป็นที่ประจักษ์ว่า “ไม่ได้มาเพราะโชคช่วย หรือความสวยบันดาล” แต่เพียงประการเดียวเท่านั้น แต่สิ่งที่ปรากฏชัดต่อสังคมทั่วไปก็คือ “กลุ่มคนเหล่านี้เป็นกลุ่มที่มีความทะเยอะทะยานสูง (Ambition) อีกทั้งมีความมุ่งมั่นและพากเพียรพยายามอย่างสูงยิ่ง” ที่จะค้นหาตัวเอง และฉายภาพที่สะท้อนความเป็นตัวตนออกมาเพื่อขายความสามารถและความแตกต่างให้แก่สังคม และองค์กร
จะเห็นว่า การได้มาซึ่งชื่อเสียง เงินตรา และความสำเร็จนั้น มิได้มาในชั่วระยะเพียงข้ามคืน หากแต่มีความจำเป็นต้องสะสมความรู้ ความสามารถ และทักษะต่างๆ อีกทั้งผ่านการลองผิดลองถูกมาอย่างยาวนาน อย่างไรก็ดี การต่อสู่เพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งเหล่านั้น และการเพียรพยายามที่จะรักษาสิ่งเหล่านั้นให้มีอยู่และเป็นอยู่อย่างยาวนาน กลุ่มคนเหล่านี้ย่อมต้องเผชิญหน้ากับความเครียด และความกลัวที่จะต้องสูญเสีย

สิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาก็คือ หากกลุ่มคนเหล่านี้วางจิตของตัวเองไม่ถูกต้อง และเหมาะสมต่อสิ่งเร้า หรือสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้อย่างรู้เท่าทันแล้วก็ย่อมเกิดปัญหาต่างๆ ตามมาอย่างไม่คาดคิด และ “ความดัง” อาจจะกลายเป็น “ความดับ” ในช่วงระยะอันสั้นเช่นกัน ดังจะเห็นได้จากกลุ่มคนที่มีชื่อเสียงหลายท่านต้องทุกข์ทรมานกับ “คลิป” ที่ตัวเองกระทำการเอง หรือคนอื่นได้กระทำการเพื่อนำสิ่งนำเสนอพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ของแต่ละฝ่าย ฉะนั้น ปัญหาจึงไม่ได้อยู่ที่คลิป แต่อยู่ที่ว่า “ในช่วงระยะเวลาของการดำเนินชีวิตนั้น กลุ่มคนเหล่านี้พยายามที่จะตระหนักรู้หรือไม่ว่า “คลิป” อาจจะเป็นกลายเป็นความ “เครียด” จนทำให้ชีวิต “โคลงเคลง” เพราะขาดความระมัดระวังในการคิด พูด และแสดงออกในแง่มุมต่างๆ ทั้งในที่ลับ และที่แจ้ง

๓. รักษาความเป็นเซเลปอย่างไร จึงจะไม่เซซัง

คำถามมีว่า “กลุ่มคนเซเลป จะรักษาความเป็นเซเลปอย่างไร จึงจะไม่เจ็บทั้งร่างกาย และจิตใจ อีกทั้งไม่อับจนหนทางในการการตัดสินใจ และดำเนินชีวิตได้อย่างสอดคล้องและเหมาะสมกับโลกวัตถุนิยมที่พร้อมจะพัดพาคนเหล่านี้ ให้ตกอยู่ห่วงเหว และเปลวเพลิง” ผู้เขียนจึงนำเสนอ “หลักการที่จะการพาตัวเองรอดพ้น และไม่อับจนหนทางแก่กลุ่มคนเซเลป” ซึ่งหลักการที่จะนำเสนอต่อไปนี้ เป็นเพียงฉากหนึ่งของฉากมากมายที่เกิดขึ้นในโลกมายา และโลกแห่งชีวิตที่เรากำลังเผชิญอยู่

(๑) อารมณ์เป็นเรื่องของมายา ปัญญาเป็นเรื่องของความจริง
ดังที่ได้กล่าวในเบื้องต้นบ้างแล้วว่า “กลุ่มคนเซเลปบางกลุ่ม เช่น กลุ่มที่อยู่ในแวดวงการบันเทิง” มีจุดเด่น (Core Competency) ในแง่ของการเป็น “โรงงานเพื่อผลิตอารมณ์” ฉะนั้น คนที่ได้ชื่อว่าเป็น “ดาราตุ๊กตาทอง” ในแต่ละด้านนั้น ย่อมมีความจำเป็นต้องแสดงให้ผู้ชมและผู้ฟังเกิดการคล้อยตาม หรือเห็นคล้อยไปกับสิ่งที่ดาราแต่ละท่านกำลังนำเสนอ และแสดงออกอยู่ จะพบว่า ในสถานการณ์ที่ผู้ชมต้องร้องไห้ เสียใจ และโศกเศร้าไปพร้อมๆ กับภาพที่ตัวเองกำลังอยู่ ฉะนั้น เป้าหมายของการแสดงก็เพื่อต้องการให้ผู้ชมมีอารมณ์คล้อยตาม และความสมจริงสมจัง

อย่างไรก็ดี กลุ่มคนเซเลปที่ประกอบ “อาชีพค้าอารมณ์” อาจจะทำให้เกิดข้อสังเกตได้ทั้งด้านบวกและลบ กล่าวคือ
(๑.๑) ด้านบวกอาจจะสะท้อนความเป็นมืออาชีพในแง่ของการแสดงที่สามารถสื่อได้อย่างสมบทบาทที่ตัวเองได้รับ และการเล่นได้อย่างสมบทบาทอย่าก่อให้เกิดผลต่อดีต่อตัวนักแสดงเอง และอาจจะได้รับการชื่นชม การจ้างงานในลักษณะอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ตามมาอีกเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ การเล่นในบทบาทต่างๆ ได้อย่างสมจริงสมจังได้เป็นเครื่องมือในการสอนกลุ่มคนต่างๆ ในสังคมได้เช่นเดียวกัน เพราะการได้รับหน้าที่ให้เล่นในบทบาทใดบทบาทหนึ่งแล้ว หากเราพยายามที่จะเล่นให้สมบทบาท “รางวัลตุ๊กตาทอง” ในชีวิตและการทำงานย่อมเป็นของกลุ่มคนทั่วไปในสังคมเช่นกัน

(๑.๒) ด้านลบ อาจจะทำให้ตัวผู้แสดงเองเกิดอาการ “อิน” (In) โดยย้ำคิด ย้ำทำในสิ่งที่ตัวเองประจักษ์ และหลงทางอยู่ในโลกมายา จะเห็นว่า ชีวิตจริงกับชีวิตมายาย่อมมีความแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด ดาราจำนวนมากที่ประสบความสำเร็จในโลกของมายา อาจจะไม่จำเป็นต้องประสบความสำเร็จในโลกของความจริงก็ได้

ประเด็นคือ หากดาราท่านใด สามารถประจักษ์ในตัวเองและแยกแยะ “โลกความจริง” กับ “โลกมายา” ได้ ดาราเหล่านั้นย่อมมีความสุข และประสบความสำเร็จทั้งในชีวิตการทำงาน และครอบครัว แต่หากดาราท่านใด ยังหลงระเริงและติดกับดักของโลกมายาจนไม่สามารถที่จะถอนตัวออกไปสู่โลกของความเป็นจริงได้ รางวัลที่กลุ่มคนเหล่านี้จะได้รับคือ “หยาดน้ำตา ความทุกข์ และความเจ็บปวดทรมาน” สุดท้ายแล้ว เมื่อไม่สามารถยอมรับความจริงในโลกแห่งความจริงได้ การตัดสินใจฆ่าตัวเองเพื่อหลีกหนีความจริง จึงมักเป็นวิธีหนึ่งที่กลุ่มคนเหล่านี้เลือกใช้เสมอดังจะเห็นได้จากกรณีศึกษาของดาราญี่ปุ่น และเกาหลีจำนวนมาก

ด้วยเหตุนี้ “ปัญญา” จึงเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะให้กลุ่มคนเหล่านี้อยู่ในโลกของ “ความเป็นจริง” ได้อย่างเหมาะสม และลงตัว เพราะปัญญาจะทำให้หน้าที่ประดุจ “เรดาห์” เพื่อตรวจสอบสิ่งต่างๆ ที่ได้ผ่านเข้ามาแล้ว หรือกำลังจะผ่านเข้าได้อย่างแจ่มชัด เพื่อให้กลุ่มคนเหล่านี้เตรียมพร้อม และวางจิตของตัวเองให้ถูกต้องและเหมาะสมกับเหตุการณ์ และวิกฤติการณ์ต่างๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้น หรือเกิดขึ้นแล้ว

จุดเด่นของ “ดารา” คือ “การเป็นดวงดาวที่ส่องแสงสว่าง” การเกิดขึ้นของแสงสว่างคือ “ดารา” ย่อมทำให้ “ความมือมิด” ได้พลันมลายหายไป การเกิดขึ้นของ “ปัญญา” คือ การมะลายหายไปของ “อารมณ์” ฉะนั้น “ดารา” จึงมีคุณค่าที่แท้จริงเท่ากับ “ปัญญา” ที่จะทำให้เรามองเห็นสิ่งต่างๆ หรือเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น “ตามเนื้อผ้า” หรือ “ตามความเป็นจริง” จะเห็นว่า “อารมณ์คือภาพมายา ที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และกำลังจะมลายหายไปตามจังหวะและโอกาส” แต่ความจริงนั้น ไม่ว่าเมื่อใดเวลาใด สิ่งที่เกิดขึ้น และดำรงอยู่ก็ยังคงเป็นความจริงอยู่ทุกเวลาและนาที

การอยู่กับ “ความจริง” คือการอยู่กับ “ปัจจุบัน” ความจริงไม่ใช่ “อดีต” และ “อนาคต” ความจริงจึงไม่ได้หมายความว่า “จริงในวันนี้แต่วันอื่นๆ อาจจะไม่จริง” ฉะนั้น การใช้ “ปัญญา” เป็นตัวนำ “อารมณ์” นั้นจะทำให้ดาราเหล่านั้นรู้เท่าทันอารมณ์ของตัวเอง อันจะนำไปสู่การพัฒนาตัวเองเพื่อก้าวไปสู่การเป็น “ดารา” หรือ “ดวงดาวที่ส่องแสงสว่างอยู่ตลอดเวลา”

(๒) ความดังไม่คงที่ แต่ความดีนั้นคงทน

“ความดัง” คือ “ผลที่เกิดขึ้นจากความเพียรพยายามที่จะพัฒนาตนเองของกลุ่มคนเซเลป” อีกทั้ง “ความดัง” นอกจากจะกลายเป็นทั้งแบบอย่างที่ทรงคุณค่าต่อเยาวชน หรือกลุ่มคนทั่วไปที่ใฝ่หาความสำเร็จทั้งในชื่อเสียง เงินตรา และอำนาจบารมีแล้ว ยังได้กลายเป็นแรงดึงดูดกลุ่มธุรกิจอื่นๆ เช่น บริษัทโฆษณา ภาพยนตร์ โทรทัศน์ และองค์กรต่างๆ ได้ใช้กลุ่มคนเหล่านี้เป็นเครื่องมือสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้าและการบริการอื่นๆ ต่อไป

ในความเป็นจริง “ความดัง” มิสามารถดำรงอยู่ได้ด้วยตัวของมันเอง แต่ความดังมีความจำเป็นต้องอาศัยปัจจัย และตัวแปรอื่นๆ เข้ามาช่วย “เสริมแรง” ให้ความดังยังคงอยู่และเป็นอยู่ให้ “ยืนระยะ” ได้ยาวมากยิ่งขึ้น มิฉะนั้นแล้ว “ความดัง” อาจจะขาด “ความแรง” และ “สูญเสียความมีชีวิตชีวา” ต่อกลุ่มคนเซเลป และกิจกรรมต่างๆ ที่กลุ่มคนเหล่านี้เข้าไปเกี่ยวข้อง
“ความดี” จึงเป็นหนึ่งในปัจจัยเหล่านั้น ที่จะทำให้ “ความดัง” ยังปรากฏอยู่ทั้งในการทำงาน และการทำหน้าที่ลักษณะต่างๆ คำถามมีว่า “กลุ่มคนเหล่านี้จะหาช่องทางในการสร้างความดีอย่างไร จึงจะให้ความดังยังคงอยู่ต่อไป”

(๑.๑) สร้างความดีด้วยวัตถุ ใช้ความดังเป็นสะพานสร้างความดี เนื่องจากกลุ่มคนเหล่านี้มีความดังอยู่แล้ว และกลุ่มคนอื่นๆ ในสังคมมักจะใช้คนดังเป็นเครื่องมือเชื่อมไปหาธุรกิจ หรือกิจกรรมอื่นๆ ในทางกลับกัน กลุ่มคนเซเลปอาจจะใช้ “ทฤษฏีไปกลับ” กล่าวคือ เมื่อคนกลุ่มพึ่งพาคนกลุ่มนี้ เขาเหล่านี้อาจจะใช้คนกลุ่มอื่นๆ คืนกำไรสู่สังคมโดยการนำสินค้าและการบริการไปพัฒนา หรือสร้างมูลค่าเพิ่มเพื่อตอบสนองแง่มุมเชิงบวกต่อกลุ่มอื่นๆ ที่ต้องการความช่วยเหลือ และต้องการการพึ่งพิง

(๑.๒) สร้างความดีด้วยการให้ปัญญา ผู้นำ และคนมีชื่อเสียงจำนวนมากในโลกนี้ มักจะใช้เวลาส่วนหนึ่งในการนำเสนอประสบการณ์ชีวิตและการทำงานที่ทรงคุณค่าแก่นักเรียน นักศึกษา และนิสิตในในสถาบันการศึกษา หน่วยงานภาครัฐและเอกชนต่างๆ โดยบางท่านได้ดำเนินการจัดตั้งมูลนิธิเพื่อสร้าง ถ่ายทอด รวมไปถึงการต่อยอดองค์ความรู้ในมิติต่างๆ เพื่อร่วมแก้ไขปัญหาให้แก่สังคมและโลกในลักษณะต่างๆ การดำเนินกิจกรรมแบบนี้ กำลังได้รับการสนองตอบและแพร่หลายในสังคมปัจจุบันนี้

(๑.๓) สร้างความดีด้วยการเป็นแบบอย่างที่ดีต่อเยาวชนและสังคม การสร้างความดีโดยกลุ่มชนคนเซเลปไม่จำเป็นต้องลงทุนลงแรง และทำได้ง่ายที่สุดคือ “การดำรงตนเป็นแบบอย่างที่ดีของเยาวชนและสังคม” การดำรงตนดังกล่าวหมายถึง “การมีพฤติกรรมในเชิงบวก ทั้งในแง่ของการพูด และการแสดงออกในสถานที่ หรือสื่อต่างๆ” เหตุผลสำคัญเกิดจากการที่เยาวชน หรือกลุ่มคนในสังคมจำนวนมากมีลักษณะเลียนแบบพฤติกรรม และพฤติกรรมที่มักจะได้รับการเลียนแบบมากที่สุดนั้น คือ “กลุ่มชนคนเซเลป” จะเห็นว่า “พฤติกรรมที่เหมาะสมย่อมนำมาซึ่งค่านิยมและวัฒนธรรมที่เหมาะสม” ด้วยเหตุนี้ การแต่งตัว ลักษณะคำพูด และพฤติกรรมของกลุ่มชนคนเซเลปในแง่มุมที่เหมาะสมย่อมทำให้เกิดกระบวนการเลียนแบบของเยาวชนในวิถีทางที่เหมาะสมเช่นเดียวกัน

(๓) ชื่อเสียงคือมายา: วันหนึ่งมา วันหนึ่งไป

แท้ที่จริงแล้ว แรกเริ่มเดิมที “ชื่อเสียง” ไม่ได้เกิดขึ้นมาพร้อมกับกลุ่มคนเซเลป หากแต่เกิดขึ้นจากความเพียรพยายามในการสร้างสรรค์ และจรรโลงให้มีขึ้น อย่างไรก็ดี ชื่อเสียงดังกล่าวเป็น “โลกธรรม” ที่ดำรงอยู่คู่โลกมนุษย์ ที่ทุกคนเฝ้าถวิลหา และปรารถนาที่จะมีและเป็นให้ยาวนานที่สุดเท่าที่เราจะไขว่คว้าหามาได้
ถึงกระนั้นและหากเรานำ “กฎไตรลักษณ์” มาเป็นมาตรวัด และประเมินแล้วจะพบความจริงที่ยากต่อการปฏิเสธว่า “ชื่อเสียงเป็นประดุจมายา” ที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ มีอยู่ และเสื่อมสลายไปตามเหตุและปัจจัยต่างๆ เข้ามากระทบและเกื้อหนุน ในความเป็นจริง “ชื่อเสียงไม่ได้มีอยู่จริงเช่นเดียวกันความดัง” สิ่งที่มีและปรากฏนั้น เกิดขึ้นจากใจของเราเข้าไปสมมติและทึกทัก

การเข้าใจความจริงดังกล่าว จะทำให้เราพบว่า “ชื่อเสียง” ที่เกิดขึ้นประดุจ “มายา” นั้น มีลักษณะที่ไม่ใช่สิ่งจริงแท้แน่นอนตามที่เราเห็นและประจักษ์ด้วยสายตา (อนิจจัง) เหตุผลที่เป็นเช่นนี้เพราะมันไม่สามารถคงอยู่ในสภาพเช่นเดิมดังที่เคยมีและเป็นได้ตลอดเวลาเนื่องจากต้องเปลี่ยนไปเปลี่ยนแปลงไปตามเวลาและตัวแปรต่างๆ การที่ชื่อเสียงต้องเปลี่ยนแปลงไปตามสภาวะ และตัวแปรต่างๆ นั้นเกิดจากการที่ “เราไม่สามารถที่จะไปบังคับบัญชา หรือสั่งการให้สิ่งเหล่านั้นมีอยู่และเป็นอยู่ตามที่ใจเราปรารถนาและอยากจะให้เป็น”
การเข้าใจความเป็นไตรลักษณ์ดังกล่าว จะทำให้เราเข้าใจความจริงว่า “ชื่อเสียงเป็นประดุจมายา: วันหนึ่งเกิดขึ้นมา และเดินจากไป” ผลดีที่จะเกิดตามมาคือ การพิจารณาเห็นกฎเกณฑ์ธรรมชาติ และเตรียมตัวและเตรียมใจที่จะน้อมรับความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นได้อย่างรู้เท่าทัน และไม่เป็นทุกข์ทรมานกับสิ่งที่จะเกิดขึ้น

(๔) รักษาความ “แรง” ด้วยความ “รู้”

กลุ่มชนคนเซเลปมักจะได้รับการเรียกว่า “เป็นกลุ่มคนที่มีความตื่นตัวสูง” (Active) ต่อข่าวสาร และความเป็นไปของสังคมรอบด้าน เหตุผลสำคัญเพราะสิ่งเหล่านี้มีผลต่อการดำเนินชีวิตในแง่ของใช้ข้อมูลต่างๆ มาประกอบการเลือกและการตัดสินใจดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่ง จะเห็นว่าองค์ประกอบของการตื่นตัวจึงมีทั้งการคิด การพูด และการตัดสินใจ โดยใช้ความ “เร็ว และแรง” ของเทคโนโลยีเข้ามาเกี่ยวข้อง และเชื่อมประสาน ซึ่งในหลายสถานการณ์คนกลุ่มนี้จึงได้รับการตั้งข้อสังเกตว่าเป็นกลุ่มคนที่ค่อนข้างโน้มเอียงในทาง “แข็งกระด้าง” (Aggressive) อันเนื่องมาจากความมั่นใจในตัวเองสูง

ถึงกระนั้น ชื่อเสียง และความดังที่เกิดขึ้นอย่าง “รวดเร็ว และรุนแรง” ตามสื่อ และวงการต่างๆ นั้น ได้ก่อให้เกิดผลในเชิงบวกที่ทำให้เยาวชน และกลุ่มคนอื่นๆ ในสังคมให้ความสนใจ และปรารถนาจะนำคนกลุ่มนี้มาเป็นเครื่องมือในการเพิ่มผลผลิตในแง่ของสินค้าและการบริการ รวมไปถึงการใช้คนเหล่านี้เป็นต้นแบบในการพัฒนาศักยภาพทางด้านพฤติกรรมและความคิด อย่างไรก็ดี ความแรงดังกล่าวย่อมก่อให้เกิดผลเสียได้เช่นเดียว หากกลุ่มคนเซเลปไม่สามารถที่จะกำกับ และควบคุมความแรงของตัวเองให้อยู่บนฐานของ “ความรู้”
ด้วยเหตุนี้ “ความรู้” จึงเป็นคู่แฝดกับ “ความแรง” ที่จะทำให้ความแรงมีคุณค่า และมีความหมายทั้งในเชิง “ปริมาณ และคุณภาพ” อีกทั้ง ความรู้จะทำให้ความแรงมี “ความยืดหยุ่น” มากยิ่งขึ้นในแง่ของการใช้งาน และปฏิบัติงาน หากความแรงคือการเคลื่อนไหว ความรู้จะทำให้การเคลื่อนไหวมีทิศทางและมีเป้าหมายที่ชัดเจน และทรงพลังมากขึ้น

การพัฒนา “ความรู้” คือ “การพัฒนาสติให้รู้เท่าทัน “ความแรง” ของสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นชื่อเสียง เงินตรา ความดัง ข่าวสาร และเทคโนโลยีที่เกิดขึ้น การรู้เท่าทันจะทำให้เกิดการตระหนักรู้ในคุณค่าแท้ของสิ่งต่างๆ โดยไม่เสพ และพึ่งพาสิ่งต่างๆ ด้วยอารมณ์และความรู้สึก (Emotion & Feeling) การรู้เท่าทันจะทำให้เราสามารถแยกแยะได้ว่า อะไรคือความจริงของความจริง และอะไรคือความจริงของความรู้สึก ซึ่งจะทำให้การดำเนินชีวิตของคนกลุ่มนี้มีคุณค่าและมีความหมายต่อตัวเอง และสังคมมากยิ่งขึ้น

๔. บทส่งท้าย

บทความเรื่อง “Dhamma Celebrity: รักษาความเป็นเซเลปอย่างไร จึงจะไม่เซเจ็บ” นี้ เกิดขึ้นจากการที่ผู้เขียนได้เห็นกลุ่มคนที่มีชื่อเสียงซึ่งอยู่ในวงการต่างๆ ทั้งวงการดารา ข้าราชการ ทหาร ตำรวจ และองค์กรเอกชนต่างๆ กำลังประสบกับปัญหาและชาตากรรมที่ไม่พึงประสงค์ในหลายๆ ด้าน อย่างไรก็ดี สิ่งที่ปรากฏชัดก็คือ ชื่อเสียง เงินตรา และความดังที่เกิดจากการสะสมและแสวงหาด้วยตัวเอง หรือจากครอบครัวก็ตาม ไม่สามารถที่จะช่วยแก้ปัญหา และวิกฤติการณ์ต่างๆ ที่คนเหล่านี้กำลังเผชิญหน้า

ยิ่งไปกว่านี้ ในขณะที่ชื่อเสียง เงินตรา และความสำเร็จเป็นที่มาของสิ่งอื่นๆ ทั้งวัตถุ อำนาจ และตำแหน่งทางการเมืองและสังคม แต่ในทางกลับกัน สิ่งเหล่านี้ได้หอบหิ้วเอาความทุกข์ ความเจ็บปวด หยาดน้ำตาและความโศกเศร้ามาให้สู่กลุ่มชนคนเซเลปได้เช่นเดียวกัน จะเห็นว่าคนกลุ่มนี้จำนวนไม่น้อยที่ตกอยู่ในกำดักของอารมณ์ ผลประโยชน์ ความต้องการ วัตถุนิยม ชื่อเสียง และเงินตรา ที่คนเหล่าสร้างเพียรพยายามและสร้างมาด้วยความยากลำบาก

ทางออกที่พึงประสงค์ในประเด็นนี้ คือ การมองโลก และชีวิตอย่างเข้าใจ และรู้เท่าทันจะเป็นบาทฐานสำคัญที่จะทำให้คนกลุ่มนี้ดำเนินชีวิตอย่างมีความสุข ยิ่งกว่านี้ การเข้าใจ และตระหนักรู้ความจริงดังกล่าวจะทำให้คนกลุ่มนี้มองเห็นชื่อเสียง เงินตรา และความสำเร็จที่ตัวเองเพียรพยายามสร้างสรรค์ และปั้นแต่งมาด้วยความยากลำบากนั้น ล้วนตกอยู่ภายใต้ “กฎของไตรลักษณ์” และจะนำไปสู่การมีท่าที และพฤติกรรมเป็นไปในเชิงบวกมากยิ่งขึ้น

ความจริงคือ หากกลุ่มชนคนเซเลปไม่ได้มีโอกาสคลุกเคล้า และสัมผัสกับความสุขในโลกีย์วิสัยซึ่งฉาบทาด้วยชื่อเสียง เกียรติยศ เงินตรา และความสำเร็จในหน้าที่และการงานอย่างดื่มด่ำ การตั้งคำถามว่า “อะไรคือความสุขแท้โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพิง และพึ่งพาวัตถุ ชื่อเสียง เงินตรา และอำนาจ และอะไรคือความสุขแท้ที่ไม่ต้องฉาบทาด้วยเสียงหัวเราะ ร้องไห้ และเนื้อหนังมังสา ” จะเกิดขึ้นได้อย่างไร และเป็นที่เชื่อมั่นได้ว่า เมื่อกลุ่มคนเหล่านี้ค้นพบคำตอบจากคำถามดังกล่าว เขาเหล่านี้จะทำหน้าที่ในการให้แสงสว่างเพื่อนำทางให้สังคมได้เรียนรู้ เข้าใจ และอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขในโลกยุคบริโภคนิยมมากยิ่งขึ้น

ตัวอย่างของความเป็น “Celebrity” ดังกล่าวค้นพบได้จากการที่มหาบุรุษนาม “สิทธัตถะ” ซึ่งหมายถึง “ผู้ที่สำเร็จความมุ่งหมายแล้ว หรือ ผู้ปรารถนาสิ่งใดย่อมได้สิ่งนั้น” ได้เผชิญหน้ากับชื่อเสียง เงินตรา และความสำเร็จ แต่สิ่งเหล่านั้นไม่สามารถหยิบยื่นความสุขที่แท้จริงให้แก่พระองค์ได้ จึงเป็นเหตุให้ตั้งคำถาม และเพียรพยายามแสวงหาความสุขที่แท้จริง จนทำให้ “สิทธัตถะ” ได้เปลี่ยนนามไปสู่ศาสดาที่ยิ่งใหญ่นาม “พระพุทธเจ้า” ในเวลาต่อมา
 

(Source: Article)
 
 
 
Copyright © Mahachulalongkornrajavidyalaya University All rights reserved 
Maintained by: webmaster@mcu.ac.th 
Last Update : Thursday February 9, 2012