มหาวิทยาลัยนาลันทากับมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เมื่อมองในแง่ความเป็นมาของที่ดินซึ่งเป็นที่ตั้งมหาวิทยาลัย ก็จะพบว่า มีส่วนคล้ายคลึงกันอย่างน่าสนใจ กล่าวคือ ที่ตั้งมหาวิทยาลัยนาลันทา เดิมเป็นสวนมะม่วงที่เศรษฐีชาวกรุงโกสัมพี ชื่อ ปาวาริกะ บริจาคทรัพย์ซื้อจากเจ้าของเดิมแล้วสร้างสังฆารามถวายพระผู้มีพระภาค สำหรับเป็นที่พำนักของพระองค์และภิกษุสงฆ์ สังฆารามนั้นจึงมีชื่อว่า ปาวาริกัมพวัน พระผู้มีพระภาคเสด็จมาประทับ ณ ที่นี้หลายครั้ง ครั้งสุดท้ายคือครั้งที่เสด็จผ่านไปปรินิพพานที่กรุงกุสินารา ทุกครั้งที่เสด็จมาประทับ พระองค์ได้ทรงแสดงธรรมสำคัญแก่พระภิกษุสงฆ์และพุทธบริษัทที่เข้าเฝ้า
หลังพุทธปรินิพพาน พระเจ้าอโศกมหาราช ราชวงศ์โมริยะหรือเมารยะได้ทรงสร้างสังฆารามขึ้นใหม่ในบริเวณปาวาริกัมพวันนี้ ต่อมา กษัตริย์ราชวงศ์คุปตะพระองค์หนึ่งพระนามว่าพระเจ้ากุมารคุปตะ ได้ทรงสร้างสังฆารามขึ้นใหม่อีก ณ บริเวณเดียวกัน และมีกษัตริย์ในราชวงศ์คุปตะและราชวงศ์อื่นๆ อีกหลายพระองค์ได้ทรงสร้างสังฆารามเพิ่มเติม จนกลายเป็นมหาวิทยาลัยทางพระพุทธศาสนาแห่งแรกในโลกที่เปิดสอนวิชาพระพุทธศาสนา พุทธปรัชญาและศาสตร์อื่น รวมทั้งศาสนาและปรัชญาฮินดู แก่นักศึกษาทั่วไปทั้งบรรพชิตและคฤหัสถ์ ทั้งชาวอินเดียและชาวต่างประเทศ จึงถือเป็นแหล่งเกิดศิลปวัฒนธรรมที่สำคัญแห่งหนึ่งของเอเชีย มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เป็นราชวิทยาลัยทางพระพุทธศาสนาที่พระบาท สมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ทรงสถาปนาขึ้น ที่วัดมหาธาตุยุวราช รังสฤษฎิ์ เพื่อเป็นที่ศึกษาพระไตรปิฎกและวิชาชั้นสูง เปิดสอนมาตั้งแต่วันที่ ๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๓๒ จนถึงบัดนี้ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยได้ขยายการศึกษาไปยังต่างจังหวัดทั่วทุกภาค มีวิทยาเขตในจังหวัดต่างๆ ถึง ๑๐ แห่ง และมีวิทยาลัยสงฆ์อีก ๔ แห่ง แต่ตัวมหาวิทยาลัยในส่วนกลางที่วัดมหาธาตุ มีสถานที่คับแคบ ไม่สามารถขยายงานให้เป็นศูนย์กลางการศึกษาของวิทยาเขตและวิทยาลัยสงฆ์เหล่านั้น ซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการพัฒนามหาวิทยาลัยเรื่อยมา บัดนี้ มีผู้มีจิตศรัทธาอันแรงกล้าอย่างปาวาริกเศรษฐีของอินเดีย คือ นายแทพย์รัศมีและนางสมปอง วรรณิสสร เจ้าของ โรงพยาบาลสยาม ได้ถวายที่ดิน เนื้อที่ ๘๔ ไร่ ๑ งาน ๓๗ ตารางวา ที่ตำบลลำไทร อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพื่อจัดสร้างศูนย์กลางการศึกษาของ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย โดยเสด็จพระราชกุศล เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๖ รอบ ๕ ธันวาคม ๒๕๔๒ มหาวิทยาลัยจึงได้กำหนดให้มีพิธีวางศิลาฤกษ์ขึ้นในวันที่ ๑๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๒ สรุปว่า มหาวิทยาลัยนาลันทา มีเศรษฐีบริจาคทรัพย์ซื้อที่ดินสร้างสังฆารามขึ้นเป็นปฐม ต่อมาพระมหากษัตริย์หลายพระองค์ทรงสร้างต่อเติมจนกลายเป็นมหาวิทยาลัยของรัฐ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย พระมหากษัตริย์ทรงสถาปนาขึ้นในสังฆารามหนึ่ง ต่อมามีผู้ถวายที่ดิน โดยเสด็จพระราชกุศลเพื่อให้เป็นที่ตั้งศูนย์กลางการศึกษาของมหาวิทยาลัยซึ่งจะได้พัฒนาให้เจริญก้าวหน้าเป็นประโยชน์แก่พระศาสนาและประเทศชาติสืบไป ขออนุโมทนาสาธุการในกุศลเจตนาของท่านผู้ถวายที่ดิน และท่านผู้มีส่วนร่วมในการก่อสร้างมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย อยุธยา เพื่อให้เป็นศูนย์กลาง การศึกษาของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยโดยรวม ขออานุภาพแห่งมหาทานครั้งนี้ จงเป็นพลวปัจจัยอำนวยผลให้ทุกท่านเจริญด้วย อายุ วรรณะ สุขะ พละ ปฏิภาณ ธนสารสมบัติ ปราศจากสรรพทุกข์ สรรพโศก สรรพโรค สรรพภัย ปรารถนาสิ่งใด จงประสบสมประสงค์ทุกประการเทอญ